Wed 31 Aug 2022

A CONVERSATION WITH THE SUN

หนังสือที่มี AI เป็นคนเขียน

ภาพ: NJORVKS

     ช่วงกลางปีที่ผ่านมา BANGKOK CITYCITY GALLERY ได้จัดแสดงนิทรรศการงานหนึ่งชื่อว่า A CONVERSATION WITH THE SUN ของ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล’ ซึ่งนอกจากจะมีวิดีโอให้ได้ดูชมแล้ว งานนี้ยังประกอบสร้างขึ้นจากอีกสิ่งที่น่าสนใจ คือการสร้างสรรค์ผลงานโดยปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

     หลายคนอาจสงสัยว่างานจบไปแล้ว อยู่ๆ จะมาพูดถึงทำไม ก็ต้องบอกว่าขอเก็บตกถึงงานนี้สักหน่อย เพราะเราเพิ่งได้เปิดอ่านหนังสือที่มีชื่อเดียวกับนิทรรศการแล้วชอบมากกกก อ่านสนุกจนแทบไม่อยากเชื่อเลยว่านี่เป็นหนังสือที่มี AI เป็นคนเขียน แถมรูปเล่มก็ดีไซน์มาได้อย่างน่าสนใจ

     อย่ารอช้าอยู่ไย ตามไปดูกันต่อได้ว่าทำไมเราถึงให้หนังสือเล่มนี้เป็น ‘พิมพ์นิยม’

     ถึงจะบอกว่า AI เป็นคนเขียน แต่อยู่ๆ AI จะมาจุติเสกคำขึ้นมาเฉยๆ ก็คงไม่ได้ โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากการร่วมมือกันของอภิชาติพงศ์กับ ‘พัทน์ ภัทรนุธาพร’ นักเทคโนโลยีและนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ที่ใช้แพลตฟอร์มปัญญาประดิษฐ์​ GPT-3 ในการสร้างบทสนทนาโต้ตอบระหว่างอภิชาติพงศ์กับคนอื่นๆ ขึ้นมา

     พระอาทิตย์,​ ซัลบาดอร์ ดาลี, จิฑฑุ กฤษณะมูรติ, อาร์เธอร์ ซี. คลาร์ก, ทิลดา สวินตัน, โอลิเวอร์ แซกส์, หมาป่า, ฯลฯ คือรายชื่อของบุคคลและสรรพสิ่งที่อภิชาติพงศ์ได้พบปะพูดคุย

     อาจฟังดูเหวอๆ และงงๆ ว่าแต่ละคนมาอยู่รวมกันได้ยังไง แต่พอค่อยๆ อ่านบทสนทนาเหล่านี้ เราก็รู้สึกว่านี่ไม่ต่างอะไรจากนิยายแชต (หรือการคุยกับสิริ แต่เป็นสิริเวอร์ชั่นจารชนคนพันหน้า) เพราะสิ่งที่เราได้อ่านมีแต่ตัวอักษรเรียงกันเป็นพรืด และข้อความที่คอยบอกกำกับไว้ว่าใครเป็นคนพูดอะไร พูดคุยกันไปตั้งแต่หน้าที่การงาน จนถึงความทรงจำและความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งนั้นกับสิ่งนี้ ซึ่งแม้จะดูถกกันในเรื่องที่เหมือนจะจริงจังไปบ้าง และตัวละครที่ยุ่งเหยิงกันอีนุงตุงนัง แต่ตลอดการอ่าน เรากลับรู้สึกเพลิดเพลิน และคิดแผลงๆ ว่าถ้ามีใครเอาสิ่งนี้ไปทำเป็นละครเวทีก็คงสนุกดี 

     ถึงอย่างนั้น หนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้มีแค่บทสนทนาระหว่างอภิชาติพงศ์กับ AI เท่านั้น เพราะยังมีอีกสองบท ประกอบไปด้วย A CONVERSATION WITH PAT หรือการพูดคุยกับพัทน์ ที่คราวนี้เป็นการคุยกันของมนุษย์จริงๆ ไม่มี AI มาเนียนๆ อีกต่อไป และ A CONVERSATION WITH GPT-3 ที่เป็นเหมือนการอธิบายกลายๆ ว่าเจ้าปัญญาประดิษฐ์นี้มันคืออะไร และกระบวนการได้มาซึ่งบทสนทนาก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นจากอะไรบ้าง

     สำหรับผมแล้ว สองบทนี้ไม่ต่างอะไรจากการเฉลยข้อสอบ เป็นเหมือน behind the scene ของ digital fiction ในบทแรกว่ามันมีความเป็นมาอย่างไร แล้วโลกเราทุกวันนี้พัฒนาไปถึงขั้นไหน แล้วอีกนานมั้ยที่นักเขียนซึ่งมีลมหายใจแบบเราจะใกล้ตกงาน (…เดี๋ยวนะ)

     อีกสิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ก็คือการออกแบบรูปเล่มที่ทำให้หยิบขึ้นมาอ่านได้อย่างกะทัดรัด อย่างตอนแรกเรากะจะเปิดอ่านเล่นๆ แล้วไปทำอย่างอื่นต่อ แต่พอเห็นว่าพลิกแต่ละหน้าได้ไวๆ เลยอ่านจนติดลม รู้ตัวอีกทีก็คือซัดไปครึ่งเล่ม 

     นอกเหนือจากนี้ ยังประทับใจในการเข้ารูปเล่มแบบออตาบายด์ (otabind) ซึ่งทำให้เปิดอ่านได้ 180 องศา แถมยังมีปกที่คลี่ออกเพื่อดูรูปภาพที่เกิดจากการ generate ผ่านเทคโนโลยีได้อีก (ส่วนภาพในเล่มนั้นเป็นฝีมือของอภิชาติพงศ์)

     เรียกได้ว่า เสพทั้งความสุนทรีในเนื้อหาและการออกแบบไปพร้อมๆ กันได้เลย

     นอกเหนือไปจากสิ่งที่เรากล่าวถึง ในเล่มยังมีชุดภาพถ่ายฝีมืออภิชาติพงศ์เป็นการปิดท้าย แถมทาง BANGKOK CITYCITY GALLERY ยังทำให้นักอ่านอย่างเราต้องลำบากใจ เพราะเขาจัดทำหนังสือเล่มนี้มาแบบสองปก โดยมีชื่อเรียกเฉพาะสำหรับแต่ละปกด้วย

     หน้าปกที่เป็นเหมือนผ้าไหวๆ สีขาวๆ มีชื่อเรียกว่า Fabrics of Light ส่วนหน้าปกที่ด่างๆ ดำๆ มีชื่อเรียกว่า Concrete Universe ซึ่งปกหลังนี้มีความพิเศษหน่อย ตรงหน้าปกจะมีการไดคัต เจาะเป็นรูๆ ให้เห็นสีสันที่ซ่อนอยู่ในกระดาษข้างหลัง

     อย่างที่บอกไปว่านิทรรศการ A CONVERSATION WITH THE SUN นั้นแสดงจบไปแล้ว แต่สำหรับหนังสือชื่อเดียวกับนิทรรศการเล่มนี้ ปัจจุบันยังมีขายอยู่ในราคา 780 บาท ตีพิมพ์เพียงปกละ 500 เล่มเท่านั้น อ้อ แต่บอกก่อนว่าเนื้อหาในเล่มเป็นภาษาอังกฤษล้วนนะ ถึงอย่างนั้นก็อ่านไม่ยากเท่าไหร่ เป็นศัพท์ที่พบเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

     หากใครสนใจอยากอ่าน digital fiction หรือที่เราบอกไปว่าเป็นนิยายแชต แต่เป็นเวอร์ชั่นที่เขียนโดย AI ก็สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ facebook.com/bangkokcitycity 

     รีบหน่อยนะ ก่อนของหมดดดด