Tue 10 Oct 2023

NOTHING LAST FOREVER

สัจธรรมแห่งชีวิตกับ ‘ANATOMY OF TIME’

ภาพ: ms.midsummer

     “ไม่มีใครอยู่เหนือเวลา…”

     นี่คือความรู้สึกแรกและความรู้สึกเดียวที่ผมได้รับจากการดูภาพยนตร์เรื่อง เวลา (Anatomy of Time) ผลงานการกำกับของ จักรวาล นิลธำรงค์ ที่ถูกเลือกให้ฉายรอบปฐมทัศน์และเข้าประกวดสาย Orizzonti ของเทศกาลภาพยนตร์เมืองเวนิส เมื่อเดือนกันยายน ปี 2021

     เวลา เล่าถึงเรื่องราวของ แหม่ม หญิงชราคนหนึ่งที่ต้องคอยปรนนิบัติดูแลสามีซึ่งป่วยเป็นผู้ป่วยติดเตียง โดยเล่าตัดสลับไปกับเหตุการณ์ในอดีต สมัยที่สามีของเธอยังนับได้ว่าเป็นนายทหารอันดับสูงในกลุ่มทหารยังเติร์ก และมีส่วนสำคัญกับเหตุการณ์การเมืองระดับชาติหลายประการ

     หนังบอกเล่าและชำแหละ ‘อายุขัย’ ของผู้คนจนสิ้นซาก การบอกเล่าความเสื่อมของสังขารทำออกมาได้สมจริงเสียจนหลายครั้งก็ชวนอึดอัด ผู้กำกับเหมือนกำลังบีบบังคับให้คนดูรับรู้ว่าความจริงของทุกสรรพสิ่งบนโลกเป็นอย่างไร เปรียบเทียบห้วงที่รุ่งโรจน์ที่สุดและตกต่ำที่สุดได้อย่างไม่อ้อมค้อม

     ขณะรับชม ผมฉุกคิดถึงหลักการลงทุนของตัวเองขึ้นมาแบบไม่รู้ตัว 

     นักลงทุน (รวมถึงนักอยากลงทุน) ทุกคนก็คงเป็นเหมือนกันว่า ภาพที่เราเห็นในหัวมักจะเป็นความรุ่งโรจน์หรือช่วงเวลาที่ดีที่สุดของกิจการ และจินตนาการว่าภาพนั้นจะคงอยู่ตลอดไป

     นักลงทุนหลายคนยึดคำพูดของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ (Warren Buffett) ที่ว่า “ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการถือหุ้นคือตลอดไป”

     แต่อาจจะไม่รู้ว่าประโยคดังกล่าวมีข้อความฉบับเต็มว่า “หากพื้นฐานของกิจการไม่เปลี่ยนแปลง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดของการถือหุ้นคือตลอดไป”

     คำถามคือ มีอะไรบนโลกนี้ไม่เปลี่ยนแปลงบ้าง?

     ผมคิดว่าคำตอบคือ ไม่มี… 

     ยิ่งหากพูดถึงธุรกิจอันเกี่ยวข้องกับผู้คนเป็นหมื่นเป็นแสนเป็นล้านด้วยแล้ว เมื่อผู้คนเปลี่ยนแปลง ธุรกิจย่อมเปลี่ยนแปลง ขึ้นอยู่กับว่าเปลี่ยนแปลงช้าหรือเร็วก็เท่านั้น

     ช่วงที่บัฟเฟตต์ลงทุนหุ้นใหม่ๆ ปู่ลงทุนในหุ้นหนังสือพิมพ์เยอะมาก ยิ่งอเมริกามีพื้นที่แต่ละรัฐแยกจากกัน มีกลุ่มเป้าหมาย มีกลุ่มลูกค้าของตนเอง แต่ละรัฐแต่ละเมืองจึงมีบริษัททำหนังสือพิมพ์ที่ครองตลาดอยู่ เรียกว่าเป็นผู้ชนะประจำพื้นที่เลยก็ได้ และปู่ก็จะไปกว้านซื้อหุ้นพวกนั้นมาเกือบหมด

     แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลง เปรียบเทียบกับตัวเราเองในปัจจุบันก็ได้ เราแทบไม่อ่านหนังสือพิมพ์กันเลย เพราะเทคโนโลยีเอื้อให้เสพข่าวได้ตลอดเวลาผ่านหน้าจอมือถือ รวดเร็วกว่า สะดวกกว่า และแทบจะไม่มีต้นทุนค่าอ่านเพิ่มจากการใช้งานปกติเลย

     ‘เวลา’ แทบจะเอาชนะหนังสือพิมพ์ไปได้อย่างเด็ดขาดในตลาดอเมริกา ยกตัวอย่างเช่น The New York Times หนังสือพิมพ์ที่น่าจะเรียกได้ว่ามีแบรนด์แข็งแรงที่สุดในอเมริกา หุ้นของบริษัทดังกล่าวซื้อ-ขายกันในชื่อ NYT (New York Times Company)

     NYT เข้าตลาดมาในยุค 1990s ก่อนจะทำราคาสูงสุดไว้แถวๆ 50 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้นในปี 2000 หลังจากนั้นกราฟราคาหุ้นก็ออกข้าง ไม่พุ่งขึ้น ไม่ดิ่งลง อย่างในปัจจุบันก็มีราคาอยู่แถวๆ 40 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น สำหรับใครที่ถือหุ้นมายาวๆ ก็จะพอได้ปันผลบ้าง แต่ภาพรวมคือผลตอบแทนไม่ค่อยดีนัก

     ที่สำคัญ นี่อาจเป็นภาพที่ถือว่าดูดีมากในอุตสาหกรรมหนังสือพิมพ์แล้ว เพราะ The New York Times ก็ยังรักษาแบรนด์และปรับธุรกิจมาจับตลาดออนไลน์มากขึ้นจนขับเคลื่อนบริษัทไปต่อได้ ในขณะที่ธุรกิจหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจำนวนมากต้องล้มหายตายจาก เพราะทั้งรายได้และกำไรลดลงอย่างต่อเนื่อง

     บัฟเฟตต์เองที่เคยชื่นชอบและกล่าวชื่นชมธุรกิจหนังสือพิมพ์ว่า “ไม่มีวันตาย” สุดท้ายก็ต้องเทขายหุ้นหนังสือพิมพ์ออกไปเป็นจำนวนมาก และยอมรับว่าพื้นฐานธุรกิจสิ่งพิมพ์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้แข็งแกร่ง อยู่ยั้งยืนยงเหมือนสมัยก่อน

     ในทางธุรกิจ เราจะยึดหลักข้อหนึ่งคือ ทุกธุรกิจจะเป็นไปตาม ‘วงจรธุรกิจ’ (Business Life Cycle) กล่าวคือแต่ละธุรกิจจะมีช่วง (1) เริ่มต้น (2) เติบโต (3) คงตัว และ (4) ถดถอย โดยระยะเวลาวงจรนี้จะแตกต่างกันไปตามอุตสาหกรรม อาจสั้นบ้าง ยาวบ้าง แต่ส่วนใหญ่ที่ยอมรับกันจะอยู่ในช่วงประมาณสิบปี

     คำถามคือ ธุรกิจที่อยู่รอดมาหลายสิบปีแปลว่าเอาชนะวงจรนี้ได้แล้วหรือเปล่า 

     คำตอบคือ ไม่ แต่เป็นเพราะในขณะที่ส่วนธุรกิจหนึ่งของบริษัทนั้นๆ กำลังถดถอย บริษัทก็ต้องหาส่วนธุรกิจอื่นเพื่อดันการเติบโตขึ้นมาชดเชย ดังนั้นบางบริษัทที่ดูเหมือนรายได้และมีกำไรคงที่มาก จริงๆ แล้วภายในกลับประกอบไปด้วยการเติบโตและถดถอยของหลายส่วนธุรกิจประกอบกัน

     ธุรกิจที่ปรับตัวตลอดเวลา หาธุรกิจใหม่มาเสริมธุรกิจเก่า หรือทำธุรกิจเดิม แต่เปลี่ยนแปลงสินค้า ปรับปรุงการตลาด และพยายามเข้าถึงผู้บริโภคตลอดเวลาก็มีโอกาสรอดมากกว่า อย่าง Uniqlo ก็พิสูจน์ตัวเองว่าสามารถปรับตัวได้ไวและสู้กับเวลาได้เก่งกว่าเพื่อนร่วมอุตสาหกรรมฟาสต์แฟชั่นอย่าง H&M

     ภาพยนตร์เรื่อง เวลา จึงเป็นภาพสะท้อนสัจธรรมของทุกสิ่งทุกอย่างบนโลกจริงและโลกเสมือนอย่างตลาดหุ้นได้ดีถึงที่สุด

     ไม่มีใครอยู่เหนือเวลา… อาจจะเป็นประโยคที่นักลงทุนต้องย้ำเตือนตัวเองอยู่เสมอ การสั่งซื้อหุ้นแล้วปิดจอนอน หวังว่าหุ้นที่ซื้อมานั้นจะราคาขึ้นตลอดไป ดีตลอดไป แข็งแกร่งตลอดไป คือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย สุดท้ายเราต้องกลับมาทำการบ้านว่าหุ้นที่เราสนใจนั้นสามารถต่อสู้กับเวลาด้วยกลวิธีใดบ้าง

     บทเรียนที่น่าจะช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ได้ดี อาจจะเป็นกรณีความล่มสลายของหุ้นใหญ่ธุรกิจยักษ์ในอดีต บริษัทที่ใครต่อใครบนโลกล้วนคิดว่าไม่มีวันล้ม แต่ก็ล้ม 

     อาจจะเป็นเหมือนสามีของป้าแหม่มในภาพยนตร์ ที่ไม่เคยมีใครคิดว่าเขาจะสูญสิ้นอำนาจ แต่สุดท้ายก็มีบั้นปลายชีวิตเป็นผู้ป่วยติดเตียง