Tue 14 Sep 2021

BAD COP, GREAT FILM

สำรวจ ‘ตำรวจเลว’ ใน ‘มือปืน’ หนังไทยชั้นดีจากปี 2526

ภาพ: NJORVKS

บทความนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของภาพยนตร์

     หนึ่งในมุกคลาสสิกที่คนดูหนังไทยยุคหนึ่งมักจะได้เห็นเสมอคือในตอนจบของเรื่อง หลังจากพระเอกมาดนักเลงปราบผู้ร้ายลงได้ด้วยปืนหรือหมัดเท้า เขามักจะเผยตัวเองต่อคนดูเสมอว่าเขาคือ “ร้อยตำรวจเอก (ใส่ชื่อ) ปลอมตัวมา”

     คำกล่าวอ้างข้างต้นที่บอกว่าเป็นตำรวจปลอมตัวมานั้น ไม่ใช่แค่พลอตหักมุมหรือมุกล้อเลียนแต่อย่างใด ตรงกันข้ามมันถูกออกแบบมาให้สอดรับกับโครงเรื่องของหนังไทยยอดนิยมในช่วงทศวรรษ 2500-2520 ที่บ้านเมืองกำลังเผชิญกับภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ รวมไปถึงอาชญากรรมในแถบจังหวัดตะเข็บชายแดนที่พัวพันเกี่ยวเนื่องกับสงครามในเวียดนามและสงครามกลางเมืองกัมพูชาตลอดช่วงสองทศวรรษดังกล่าว

     หนังที่มักถูกเรียกกันติดปากว่าหนังบู๊ภูธรอย่าง ชุมแพ (2519) เสือสี่แคว (2519) ข้ามาคนเดียว (2521) ลาบเลือด (2522) ฯลฯ จึงมักใช้พลอตซ้ำซากทำนองว่าพระเอกเป็นตำรวจต้องปลอมตัวเป็นโจร/นักเลง เพื่อกลับมาบ้านเกิด/ถิ่นเก่า ล้างอิทธิพลเถื่อนด้วยวิธีนอกกฎหมาย ตาต่อตาฟันต่อฟัน มึงยิงมากูยิงกลับ ไม่ต้องประพฤติตนตามกฎกรอบของกฎหมายอีกต่อไป เหล่าร้ายในหนังก็มีทั้งนักลงทุนต่างชาติ (ส่วนมากเป็นฝรั่งและจีน) ขบวนการคอมมิวนิสต์จีนและเวียดนาม คนไทยขายชาติ ซึ่งจะบอกว่าตัวละครเหล่านี้เป็นตัวแทน ‘ภัยของชาติ’ ในยุคดังกล่าวก็ว่าได้

     หนังไทยกลุ่มบู๊ภูธรได้รับความนิยมขึ้นมากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง การปราบปรามขบวนการคอมมิวนิสต์ที่ดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงปลายทศวรรษ 2510 จนถึงต้นทศวรรษ 2520 มีการสร้างออกฉายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความรุนแรงของเหตุการณ์ ทั้งจุดขายของหนังที่เต็มไปด้วยฉากแอ็กชั่นดุเดือด เนื้อหาเร้าใจ ในทางหนึ่งปฏิบัติการล้างเดนทรชนในหนังจึงค่อยๆ สร้างความชอบธรรมให้แก่การต่อสู้ระหว่างรัฐไทยกับคอมมิวนิสต์ตลอดช่วงเวลาเดียวกัน 

     จนกระทั่งรัฐบาลพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/2523 ใจความสำคัญคือใช้การเมืองนำการทหาร มุ่งเน้นขจัดความไม่เป็นธรรมในสังคม และ “ปฏิบัติต่อผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์หรือผู้หลงผิดที่เข้ามอบตัว หรือที่จับได้อย่างเพื่อนประชาชนร่วมชาติ ชี้แจงเพื่อให้ได้เข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลในปัญหานี้อย่างถ่องแท้ช่วยเหลือให้ใช้ชีวิตใหม่ร่วมกันต่อไปในสังคมอย่างเหมาะสม” ตามมาด้วยการยื่นข้อเสนอยุติการสู้รบกับพรรคคอมมิวนิสต์ในไทยเมื่อปี 2525 การต่อสู้กันด้วยอาวุธจึงสิ้นสุดอย่างเด็ดขาดในปี 2526

     ทว่า กลิ่นอายความรุนแรงยังคงอยู่ ตำรวจซึ่งเคยเป็นด่านหน้าสำคัญในท้องถิ่นเพื่อต่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์ในจอหนัง ยังต้องเผชิญกับผู้ร้ายหน้าใหม่ ‘ภัยสังคม’ ในช่วงกลางและปลายทศวรรษ 2520 ที่มีเป้าหมายเป็นผลร้ายทางสังคมและเศรษฐกิจมากขึ้น ไม่ได้ส่งผลในเชิงการเมืองระดับประเทศดังเช่นผู้ร้ายในยุคก่อน ภัยสังคมเหล่านี้ประกอบไปด้วย พ่อค้าคนกลาง นักค้าไม้เถื่อน นักการเมือง ตลอดจนมือปืน โจรปล้นชิงทรัพย์ แม้กระทั่งตำรวจด้วยกันเอง 

     สาเหตุหนึ่งมาจากที่ตำรวจกลายเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในเหตุการณ์รุนแรงสองเหตุการณ์ช่วงปลายทศวรรษ 2510 ต่อต้น 2520 ได้แก่ เหตุการณ์จราจลที่แยกพลับพลาไชยในปี 2517 และเหตุการณ์ปราบปรามนักศึกษาและประชาชนในเช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งข่าวใหญ่ในปี 2524 อย่างการวิสามัญจอมโจรตี๋ใหญ่เมื่อปี 2524 ซึ่งภาพข่าวศพตี๋ใหญ่นั่งตายคาพวงมาลัยรถนั้นถูกตีพิมพ์ไปในหนังสือพิมพ์ทุกฉบับ

     ตำรวจในมโนสำนึกของประชาชนยุคนั้น จึงผูกติดอยู่กับความรุนแรงในการปราบปรามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เป็นข่าว และไม่เป็นข่าว หากบนจอหนังไทยนั้น น้อยนักที่จะมีหนังพูดถึงบทบาทของตำรวจในด้านมืด เว้นก็แต่…

มือปืน
(2526)

     เริ่มต้นด้วยเหตุมือปืนรายหนึ่งบุกยิงเป้าหมายอย่างอุกอาจในร้านอาหารกลางกรุง ผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่ามือปืนรายนี้มีจุดสังเกตคือเป็นคนขาพิการเดินกระเผลกหรือขาเป๋ ตำรวจในกรุงเทพฯ จึงต้องออกควานหาคนพิการทั่วทั้งกรุงมาสอบสวนเพื่อหาตัวมือปืนรายนี้ให้ได้

     อีกด้านหนึ่ง กรมตำรวจได้มอบหมายให้มือปราบปืนโหดอย่างสารวัตรธนู (รณ ฤทธิชัย) เข้ามาทำคดีตามล่าตัวมือปืนขาเป๋รายนี้โดยเฉพาะ สารวัตรธนูนั้นมี ‘ชื่อเสียง’ อย่างมาก ฉายาของเขาคือ ‘ไอ้มือดำ’ เพราะชอบใส่ถุงมือดำตอนจับกุมผู้ต้องหา ฉากเปิดตัวละครนี้บนโรงพักถูกเล่าผ่านนักข่าวสองคนคุยกัน คนแรกเป็นนักข่าวหน้าใหม่ที่ถามสารวัตรตรงๆ เรื่องถุงมือดำดังกล่าว ก่อนจะได้คำตอบว่า “พี่ไม่ชอบให้เขม่าดินปืนเปื้อนมือพี่ พี่น่ะชอบเป็นตำรวจมือสะอาดน่ะน้อง” ทว่า คำตอบนี้กลับถูกนักข่าวรุ่นใหญ่อีกคนขยายความแทนเพื่อให้นักข่าวหนุ่ม (และคนดู) เข้าใจชัดขึ้นว่า “ถ้าหากมีการใส่ถุงมือดำเมื่อไหร่ นั่นหมายถึงว่าไม่มีการจับเป็นต่างหาก”

     มือปืน เป็นหนังไทยที่แตกต่างจากหนังบู๊ทั้งก่อนหน้าและหลังจากนี้โดยสิ้นเชิง เพราะไม่ได้เน้นไปที่ฉากแอ็กชั่นดุเดือด แต่กลับเน้นไปที่การค่อยๆ เผยความเป็นมนุษย์ที่เปราะบาง มีปัญหา ผ่านชีวิตผู้ชายสองคนที่สูญเสียความเป็นชายสมบูรณ์แบบไปหลังผ่านสมรภูมิสงครามมาด้วยกัน 

     คนหนึ่งสูญเสียขาไปทำให้กลายเป็นคนพิการ ไม่อาจเป็นผู้ชายสมบูรณ์ทางกายภาพได้ ขณะที่อีกคนรอดชีวิตครบ 32 แต่กลับสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง เขากลายเป็นคนที่มีปัญหาทางความมั่นใจและพยายามกลบเกลื่อนตัวเองด้วยภาพลักษณ์ชายชาตรีสมบูรณ์แบบ ในฐานะสารวัตรมือปราบชื่อดัง

     สองตัวละครนี้โดยปกติแล้ว หากอยู่ในหนังบู๊ยุคราว 2510-2520 แน่นอนว่าสารวัตรธนูคงจะเป็นพระเอก และมือปืนขาเป๋คงจะเป็นผู้ร้ายอย่างแน่นอน

     ทว่าในปี 2526 ทุกอย่างกลับตาลปัตร ‘หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล’ ผู้กำกับที่มีผลงานโดดเด่นในการทำหนังสะท้อนสังคมมาหลายต่อเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น เขาชื่อกานต์ (2516) และ เทพธิดาโรงแรม (2517) หนังสองเรื่องที่ออกฉายในช่วงก่อนและหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เป็นหนังที่พูดถึงสภาพสังคมภายใต้ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านจากยุครัฐบาลถนอมสู่ยุคประชาธิปไตยเต็มใบ โดยเฉพาะ เทพธิดาโรงแรม ที่ให้ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงขายตัว ถือว่าพลิกค่านิยมหนังไทยทุกเรื่องที่เคยมีมา ล้างความเชื่อที่ว่านางเอกต้องบริสุทธิ์ผุดผ่องไร้ราคี เทพธิดาโรงแรม จึงเป็นหนึ่งในหนังชีวิตของคนยุคแสวงหาในช่วง 14 ตุลาฯ อย่างแท้จริง

     เวลาผ่านไปสิบปี หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล เลือกทำ มือปืน ด้วยกรอบคิดคล้ายคลึงกับ เทพธิดาโรงแรม แต่คราวนี้พลิกบทพระเอกกับผู้ร้ายตามสูตรหนังบู๊ภูธรให้กลับตาลปัตร คนร้ายกลายเป็นตำรวจ ส่วนพระเอกกลายเป็นมือปืนที่ต้องฆ่าคนหาเลี้ยงปากท้อง

     นอกจากความสนใจส่วนตัวของผู้กำกับแล้ว มือปืน ยังออกฉายในยุคสมัยที่หนังบู๊ภูธรเสื่อมความนิยม ขณะที่สภาพสังคมไทยแม้ไม่เหลือภัยภายนอกคุกคามแล้ว แต่ภัยสังคมภายในทั้งอาชญากรรมและการคอร์รัปชั่นกลับยังคงอยู่ วงการที่แทบไม่เคยถูกสำรวจในหนังไทยเลยคือตำรวจ เราได้ดูหนังตำรวจปลอมเป็นโจรเป็นนักเลง เราได้ดูหนังที่ตำรวจเก่ากลายเป็นผู้ร้าย แต่ไม่เคยมีหนังเรื่องไหนที่ฉายภาพตำรวจในเครื่องแบบ คนที่อิงแอบอ้างกฎหมายและหน้าที่รับใช้ความยุติธรรม ให้เป็นเครื่องสนองตัณหาเถื่อนเช่นเรื่องนี้มาก่อน

ไอ้มือดำ—นักฆ่าในคราบตำรวจ

     “ระหว่างนำกำลังตำรวจเข้าล้อมจับผู้ร้ายรายหนึ่งในซ่อง สารวัตรธนูสวมถุงมือดำและยิงหัวผู้รายรายนั้นกระจุยทั้งๆ ที่จับตัวประกันสาวเอาไว้”

     การตายของผู้ร้ายคนหนึ่งในเรื่องไม่ได้สะเทือนความรู้สึกคนดูแม้แต่น้อย ตรงกันข้าม คนดูกลับค่อนข้างเห็นด้วยกับการตัดสินใจของสารวัตรธนู 

     1. เพราะผู้ร้ายรายนี้ถูกให้ข้อมูลผ่านปากตัวละครสารวัตรธนู และสายข่าวของเขาในฉากก่อนการจับกุมว่า เป็นบุคคลอันตรายอย่างยิ่งยวด 

     2. ผู้ร้ายรายนี้จับตัวประกันสาวเอาไว้ และมีท่าทีคลุ้มคลั่งอย่างชัดเจน ซ้ำหนังยังไม่ได้จับภาพสีหน้าและแววตาของผู้ร้ายรายนี้ชัดๆ เลย ตัวละครผู้ร้ายจึงไม่ได้มีสถานะเป็นมนุษย์ในสายตาคนดู เป็นเพียงแค่ตัวละครทั่วไปที่เดี๋ยวก็ถูกพระเอกยิงตายๆ ไปเสียตามบท  

     นั่นคือครั้งแรกที่คนดูได้เห็น ‘ไอ้มือดำ’ ลงมือวิสามัญผู้ร้ายกับตาจริงๆ ทั้งความเลือดเย็น ไม่ปราณี ฉากนี้ถูกถ่ายทำด้วยบรรยากาศทึมทึบ สารวัตรธนูถูกปกคลุมอยู่ในเงามืดตลอดเวลา จนเราแทบไม่มีโอกาสเห็นหน้าเขาชัด กระทั่งถึงจังหวะลั่นไกสังหารผู้ร้ายนั่นแหละ เราถึงเห็นสีหน้าเขาชัดเจนขึ้น

     หนังค่อยๆ เดินเรื่องเล่าสลับระหว่างสารวัตรธนูกับนายสมหมายซึ่งในปัจจุบันตามเรื่อง มีอาชีพบังหน้าคือเป็นช่างตัดผมเปิดร้านเล็กๆ ในชุมชนริมคลองแห่งหนึ่ง ชีวิตของนายสมหมายดูไปก็เป็นคนธรรมดาซื่อๆ คนหนึ่ง ตรงข้ามกับชีวิตสารวัตรธนูที่ผู้ชมได้เห็นเหลือเกิน เขามีรถทันสมัยขับ อยู่ในบ้านที่แตกต่างอย่างมีฐานะ มีชื่อเสียงตามหน้าหนังสือพิมพ์ สองคนนี้ไม่มีอะไรเหมือนกันเลย นอกจากอย่างเดียวคือพวกเขาหากินด้วยปืนทั้งคู่

     พฤติการณ์ ‘ปืนโหด’ ของสารวัตรธนูหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหนังเดินไปถึงกลางเรื่อง เราเริ่มเห็นด้านมืดของตัวละครนี้ถูกเปิดเผยชัดขึ้น ทั้งปัญหาครอบครัวระหว่างตัวสารวัตรเองกับภรรยา ภรรยานี่แหละคือตัวละครที่เปิดเผยปมลึกๆ ของสารวัตรธนูให้ผู้ชมรู้จากบทสนทนาของทั้งคู่

     สารวัตรธนู: “อาจเพราะเราอยู่ใกล้กันมากเกินไป เลยไม่เห็นว่าฉันเป็นคนยังไงน่ะสิ”

     ภรรยา:“ก็แล้วเป็นคนยังไงล่ะฮะ”

     สารวัตร: “อาจจะไม่ใช่คนดีเลิศอย่างที่แฉล้มคิด แต่ก็พยายามที่จะเป็นคนดี

     ภรรยา: “คนดี? คนดีที่กลบปมด้อยของตัวเองด้วยการไปเที่ยวยิงคนอื่น แล้วเอาหน้าที่มาบังหน้าอย่างนั้นน่ะเหรอ”

     สารวัตร: “ไม่ใช่หรอก ฉันบังเอิญต้องทำงานปราบปรามเกี่ยวกับพวกมือปืนรับจ้างโดยเฉพาะ แล้วพวกนี้ส่วนมากน่ะนะมันก็ไม่ยอมให้จับเป็น”

     ภรรยา: “ก็เลยถูกใจคุณใช่มั้ยล่ะ ที่ได้จับตายมีชื่อเสียง คนรู้จักกันทั้งเมืองว่าเป็นไอ้มือดำ มือปราบปืนโหด”

     สารวัตร: “ก็ดีกว่าปล่อยให้บ้านเมืองไม่มีขื่อมีแป ใครอยากปล้นก็ปล้น ใครอยากฆ่าก็ฆ่า”

     ภรรยา: “ฉันไม่คิดอย่างนั้นหรอก ฉันคิดว่าที่คุณทำน่ะเป็นการสนองตัณหาของคุณเอง กลบปมด้อยว่าคุณน่ะขี้ขลาด ครั้งหนึ่งน่ะเคยทิ้งให้เพื่อนตายในสงคราม”

     นับจากฉากนี้เป็นต้นไป คนดูจะเริ่มเห็นพฤติการณ์แปลกแยกของสารวัตรอย่างชัดเจน เราอาจจำแนกได้ว่าเขาวางตัวเองไว้สามบุคลิก เมื่ออยู่บ้านเขาเป็นคนที่อ่อนแอและร้อนตัวเสมอเมื่อถูกภรรยาจี้ปมในใจจนต้องใช้กำลังกลบเกลื่อน เมื่ออยู่ต่อหน้าลูกน้องเขาเป็นคนหมกมุ่นกับอำนาจ ไม่ว่าจะการให้ความสนใจกับการขัดสีฉวีวรรณปืนขณะที่ลูกน้องรายงานคดี หรือการที่เขาใช้อำนาจปล่อยตัวสายข่าวออกจากคุกได้ง่ายๆ ทุกครั้งที่ถูกตำรวจจับกุม และสุดท้ายเมื่ออยู่ต่อหน้าสื่อ เขากลายเป็นดารา วางตัวเป็นพระเอกปราบผู้ร้าย เขายิ้มให้แก่กล้อง พูดจาน่าเชื่อถือกับนักข่าว แต่สำหรับตำรวจบางคนที่มองเขาออก สารวัตรธนูก็เป็นเพียงแค่คนที่อยากดังมีหน้าตา เพื่อกลบปมเลวร้ายในอดีตสมัยเป็นทหารรับจ้างเท่านั้น 

     ช่วงครึ่งหลังของหนังเราเห็นการ ‘สนองตัณหา’ ของสารวัตรธนูในการฆ่าคนแทบทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเมื่อครั้งสารวัตรธนูได้รับวิทยุแจ้งเหตุปล้นที่ท่าเรือคลองเตย เขาและลูกน้องไม่รอช้ารีบไปยังที่เกิดเหตุเพื่อสะกัดจับกลุ่มคนร้ายทันที แม้จะรู้ว่าเป็นการทำงานนอกพื้นที่ของตัวเอง แต่สารวัตรก็ไปถึงที่พร้อมกำลังตำรวจ สารวัตรธนูสวมถุงมือสีดำอย่างใจเย็น ถือปืนลูกซองไว้ในมืออย่างเปี่ยมพร้อม เขารู้ด้วยว่ามีผู้สื่อข่าวอยู่คอยจับภาพเหตุการณ์จับกลุ่มครั้งนี้อยู่ แค่ไม่กี่อึดใจ กลุ่มคนร้ายขับมอเตอร์ไซค์พุ่งเข้ามาหา สารวัตรธนูยกปืนขึ้นสาดกระสุนใส่ไม่ยั้ง จนทั้งคนและรถล้มลงไปคันแล้วคันเล่า ไม่เหลือผู้รอดชีวิตแม้เพียงคนเดียว

     หรือการบุกจับกุมผู้ร้ายในโรงพนันและบ่อนยา ถึงจะเป็นฝีมือลูกน้องคนสนิทที่ยิงผู้ร้ายตัวเอ้จบชีวิต สารวัตรธนูกลับชิงเอาหน้า วางท่าถือปืนให้ผู้สื่อข่าวถ่ายรูปคู่กับศพคนร้ายอย่างหน้าชื่นตาบาน พร้อมกับสวมถุงมือดำคู่ใจ

     สำหรับผู้เขียนแล้ว สารวัตรธนูเป็นตัวละครที่ท้าทายสังคมและกรอบคิดของไทยอย่างมาก กรอบคิดของการถูกครอบไว้ด้วยอาชีพและหน้าที่ อาชีพบางอาชีพกลายเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่ยากจะเปิดให้คนนอกเข้าไปสำรวจ ตรวจสอบ ตั้งคำถาม สายตาของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิมเมื่อมองอาชีพตำรวจใน มือปืน จึงคล้ายคลึงกับสายตาของผู้กำกับรายนี้เมื่อครั้งมองอาชีพหมอในเรื่อง เขาชื่อกานต์ มองอาชีพโสเภณีใน เทพธิดาโรงแรม มองอาชีพดาราและนักข่าวบันเทิงใน กาม

     เป็นไปได้ว่าสารวัตรธนูพยายามปกปิดปมด้อยการเป็นชายของตัวเอง เขาพยายามแกร่งและเก่งเหนือใคร เขาแสดงโหดเหี้ยมเกินความจำเป็นต่อหน้าลูกน้องและผู้สื่อข่าว เขาฆ่าคนอย่างไม่กระพริบตา เขายิ้มหลังการฆ่าทุกครั้ง แต่ทำไมเขากลับหวาดหวั่นภรรยาตัวเล็กๆ นัก 

     ทำไมเขาถึงตัวสั่นเมื่อเธอพูดจี้ใจดำ ทำไมเขาถึงอัดรูปตัวเองใส่กรอบขนาดใหญ่ไว้ในบ้าน ทำไมเขาถึงปัดความเกี่ยวข้องกับนายสมหมายทุกครั้งที่ลูกน้องถามถึง อดีตที่เปิดเผยความอ่อนแอและ ‘ไม่สมชายชาตรี’ ทำให้เขาฝังจิตใจจนกลายเป็นนักฆ่าในคราบตำรวจอย่างนั้นหรือ?

     กระแสตอบรับของ มือปืน ในปีที่ออกฉายถือว่ายอดเยี่ยม ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์ กวาดรางวัลสำคัญจากสองเวทีใหญ่ประจำปีอย่างรางวัลตุ๊กตาทองและรางวัลสุพรรณหงส์ทองคำ ได้ทั้งรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (สรพงษ์ ชาตรี) บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม (ม.จ. ชาตรีเฉลิม ยุคล) และถ่ายภาพยอดเยี่ยม (มจ. ชาตรีเฉลิม ยุคล) แต่ก็น่าสนใจที่ทั้งสองเวทีนั้น มือปืน พลาดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมให้แก่เรื่อง เพื่อนแพง (กำกับโดย เชิด ทรงศรี) ซึ่งมีลักษณะหวนไห้รำลึกถึงความงดงามของสังคมไทยในอดีต ตรงกันข้ามกับการขุดคุ้ยความจริงอันมืดมิดใน มือปืน อย่างสิ้นเชิง

     เรื่องเล่าสุดท้ายเกี่ยวกับ มือปืน นำมาจากคำบอกเล่าของ มโนธรรม เทียมเทียบรัตน์ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ผู้เล่าให้ผู้เขียนทราบว่า ครั้งหนึ่งราวปลายปี 2528 เคยมีการฉายหนังเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เป็นการฉายประกอบการเสวนาที่มีประเด็นเกี่ยวกับรัฐไทยซึ่งมีส่วนสร้าง ‘มือปืน’ ขึ้นมา [1] 

     เหตุการณ์ที่ทำให้การฉายครั้งนี้เป็นตำนาน คือมีการ ‘ตัดจบ’ ไม่ให้เห็นฉากจบที่แท้จริงว่านายตำรวจชื่อแฉล้ม หยิบปืนขึ้นมายิงสมหมาย ตัวละครมือปืน ตามตอนจบในฉบับฉายโรงเมื่อปี 2526 โดยฉากสุดท้ายของการฉายในครั้งนั้นจบลงที่ตอนสารวัตรธนูตะโกนว่า “อย่า!! คุณแฉล้ม” หลังฉายจบมีผู้ชมประท้วงทวงถามถึงสาเหตุของการตัดจบดังกล่าว แต่กลับไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน ซึ่งเหตุการณ์นี้ถูกบันทึกไว้ในจดหมายที่ผู้อ่านส่งหานิตยสารภาพยนตร์ต่างประเทศของไทยฉบับหนึ่ง [2] ในปี 2528

     แม้หนังจะมีอายุล่วงเลยมานานกว่า 38 ปีแล้ว หากตัวละครสารวัตรธนูยังคงเป็นตัวละครตำรวจที่ถูกตรวจสอบมิติรอบด้านได้ครบและน่าสนใจมากที่สุดในประวัติศาสตร์หนังไทย ตั้งคำถามที่แม้จากอดีตในขณะหนังออกฉายจนถึงปัจจุบัน คำถามเดิมนั้นก็ยังรอคำตอบต่อไป 

เชิงอรรถ

[1] สามารถอ่านบทความที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นนี้ได้ในบทความ ฆาตกรรมกับความก้าวหน้าในสยามยุคใหม่ เขียนโดย เบน แอนเดอร์สัน ตีพิมพ์รวมชุดในหนังสือ ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา ของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน

[2] นิตยสาร เอนเตอร์เทน ฉบับหน้าปก Rocky IV