Thu 27 Jul 2023

BARBIE IS EVERYTHING

เปิดเรซูเม่บาร์บี้ ประสบการณ์ 64 ปี เคยทำอาชีพอะไรมาบ้าง?

     นับตั้งแต่ปี 1959 ที่บาร์บี้ถือกำเนิด เธอได้สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการเล่นตุ๊กตาของเด็กผู้หญิงทั่วโลก เปิดประตูแห่งจินตนาการในการทำอาชีพต่างๆ ที่สังคมแต่ละยุคมองว่าบางอาชีพควรสงวนไว้สำหรับผู้ชาย จากอาชีพนางแบบสาว สู่นักกีฬาโอลิมปิก นักบินอวกาศ ประธานาธิบดีหญิง นักกีฎวิทยา และอาชีพอีกมากมาย

     เพื่อเป็นการต้อนรับภาพยนตร์ Barbie คอลัมน์ Data Journalread ประจำเดือนนี้จะพาไปสำรวจเส้นทางอาชีพตลอด 64 ปีที่ผ่านมาว่าตุ๊กตาพลาสติกสูง 29 เซนติเมตรตัวนี้เคยประกอบอาชีพอะไรมาแล้วบ้าง และเกิดอะไรขึ้นในสังคมถึงเป็นแรงบันดาลใจให้บาร์บี้ทำอาชีพแปลกๆ ในยุคที่ทุกคนยังมองว่าบางอาชีพเป็นของเด็กผู้ชาย         

     งาน Data Visualization ชิ้นนี้ใช้เครืองมือ 2 อย่างในการอธิบาย

     1. Timeline: อธิบายลำดับการปล่อยบาร์บี้แต่ละตัว ไล่มาตั้งแต่ปี 1959 จนถึงปัจจุบัน ถ้าภายในปีนั้นๆ มีบาร์บี้ที่อาชีพแตกต่างกันแต่อยู่ในหมวดเดียวกันเส้นจะหนาขึ้น

     2. Alluvial Diagram: เป็นไดอะแกรมที่แสดงปริมาณของข้อมูลจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง ยิ่งมีปริมาณมากเส้นจะยิ่งหนา ในงานชิ้นนี้แสดงข้อมูลของ ‘ปีที่บาร์บี้แต่ละรุ่นถูกผลิตขึ้น’ โยงไปยัง ‘กลุ่มของอาชีพนั้นๆ’

     นอกจากนี้ ‘สี’ ที่แตกต่างกันแสดงกลุ่มของอาชีพนั้นๆ

     สีชมพูบานเย็น: อาชีพเกี่ยวกับศิลปะและวงการบันเทิง (Art & Entertainment) เช่น นางแบบ นักดนตรี นักร้อง นักบัลเลต์ นักแสดง

     สีโอลด์โรส: อาชีพนักกีฬาหรือเกี่ยวข้องกับวงการกีฬา (Sport) เช่น นักกีฬาโอลิมปิก นักยิมนาสติก นักเทนนิส เชียร์ลีดเดอร์ นักสเกตน้ำแข็ง

     สีม่วงอ่อน: อาชีพเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (Science & Engineering) เช่น นักบินอวกาศ นักบรรพชีวินวิทยา วิศวกรคอมพิวเตอร์ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักกีฏวิทยา

     สีเขียวน้ำทะเล: อาชีพเกี่ยวกับวงการแพทย์ (Medicine) เช่น กุมารแพทย์ สัตวแพทย์ ทันตแพทย์ นางพยาบาล 

     สีม่วงเข้ม: อาชีพเกี่ยวกับการขนส่งเดินทาง (Transportation)  เช่น แอร์โฮสเตส นักบิน นักแข่งรถ 

     สีน้ำเงิน: อาชีพเกี่ยวกับการเมือง (Political) เช่น ประธานาธิบดีหญิง ทูตยูนิเซฟ (UNICEF)

     สีเหลือง: อาชีพเกี่ยวกับการศึกษา (Education) เช่น ครูอนุบาล ครูสอนภาษามือ ครูสอนเต้นแอโรบิก 

     สีเทาอมม่วง: อาชีพเกี่ยวกับทหาร (Military) เช่น ทหารเรือ ทหารอากาศ พลโดดร่ม 

     สีชมพูอ่อน: อาชีพอื่นๆ ที่ไม่เข้าหมวดหมู่อะไร (Other) เช่น ไลฟ์การ์ด นักดับเพลิง ทนายความ ซูเปอร์ฮีโร่ คาวเกิร์ล  

     สุดท้าย ‘สัญลักษณ์ดวงดาว’ บนงาน หมายถึงอาชีพนั้นๆ จะถูกกล่าวถึงในบทความ
ถ้าเข้าใจแล้วไปอ่านกันเลย! 

ปี 1959-1989 
จากอาชีพนางแบบ สู่นักบินอวกาศ และทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ

     จุดเริ่มต้นของบาร์บี้เกิดจากการสังเกตของ ‘รูธ แฮนด์เลอร์’ (Ruth Handler) ระหว่างที่เธอกำลังมองดูลูกๆ ทั้งสองคนเล่นของเล่นอยู่ ลูกชายคนเล็กมีทั้งตุ๊กตาหมอ นักดับเพลิง และนักบินอวกาศ แต่ทำไมลูกสาวของเธอกลับเล่นตุ๊กตากระดาษ เปลี่ยนเสื้อผ้าไปมา จากเจ้าสาว สู่คุณแม่ แล้วไปอุ้มเด็กทารก ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นค่านิยมของสังคมที่ใช้มองผู้หญิงในยุคสมัยนั้น จึงมีความคิดหนึ่งเข้ามาในหัวของเธอ

     “มันคงจะดีถ้าหากมีตุ๊กตาสำหรับเด็กผู้หญิง เพื่อจินตนาการว่าพวกเธอสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่อยากจะเป็น”

     หลังจากพัฒนาแบบอยู่สักพัก ปี 1959 ตุ๊กตาบาร์บี้ (ตั้งชื่อตามชื่อลูกสาวของรูธอย่างบาร์บารา) ตัวแรกของโลกก็ออกวางจำหน่ายในงานทอยแฟร์ที่นิวยอร์ก

     แต่ผลตอบรับกลับไม่เป็นอย่างที่บริษัทของเล่นแมทเทล (Mattel) ของรูธและสามีคาดคิดเอาไว้ เพราะการเปิดตัวของบาร์บี้ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร

     รูธจึงปรึกษานักวิเคราะห์จิตวิทยาเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องยอดขายตุ๊กตา หลังจากการทำวิจัยและโฟกัสกรุ๊ป พวกเขาก็ได้คำตอบว่าสิ่งที่เหล่าคุณแม่กังวลมากกว่าเรื่องลูกสาวรีบสวยหรือรีบโตเกินวัย คือกังวลว่าลูกสาวจะไม่สามารถหาสามีในอนาคตได้ 

     เนื่องจากค่านิยมของสังคมยุค 1950s การมีสามีหมายถึงความมั่นคงในชีวิต ดังนั้นรูธจึงต้องทำให้แม่ๆ มองข้ามเรื่องหน้าอกของตุ๊กตาที่แตกต่างจากตุ๊กตากระดาษของเด็กผู้หญิงในยุคนั้น แล้วคิดว่าคงไม่เสียหายอะไรถ้าจะซื้อตุ๊กตาที่ทำให้ลูกได้ฝึกแต่งตัวและดูแลตัวเองบ้าง ภาพโฆษณาแรกของบาร์บี้จึงเป็นตุ๊กตาที่สวมชุดเจ้าสาวชวนฝันฉายอยู่ในจอทีวี เพื่อให้เหล่าคุณแม่เปิดใจซื้อตุ๊กตามาให้ลูกสาวเล่น ซึ่งบาร์บี้ชุดนี้ก็ขายดีจนอย่างไม่น่าเชื่อ

     เมื่อแก้ไขปัญหาเรียบร้อย ก็ถึงเวลาที่รูธเริ่มทำตามความฝันของเธอในการปล่อยตุ๊กตาบาร์บี้ที่ประกอบอาชีพต่างๆ ในปี 1961 บาร์บี้เป็นทั้งแอร์โฮสเตส นักบัลเลต์ และนางพยาบาล สโลแกน ‘You can be Anything’ ก็ได้เริ่มขึ้นในยุคนั้น ก่อนจะถูกใช้มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในโฆษณา บนกล่องแพ็กเกจ รวมถึงถูกสอดแทรกในการ์ตูนทางโทรทัศน์

     ทีนี้ถ้านำเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มาเปรียบเทียบอาชีพของตุ๊กตาบาร์บี้จะเห็นอะไรบ้าง

     สี่ปีก่อนบาร์บี้ถือกำเนิด ในปี 1955 เป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหภาพโซเวียตในการเดินทางเหนือข้อจำกัดของมนุษย์ขึ้นไปยังอวกาศในช่วงสงครามเย็น

     ปี 1963 วาเลนตินา เทเรห์โควา (Valentina Terehkova) จากสหภาพโซเวียต เป็นผู้หญิงคนแรกที่ขึ้นไปอวกาศสำเร็จ อีกสองปีต่อมาบาร์บี้จากอเมริกาก็ขอขึ้นไปสำรวจอวกาศด้วย!  

     ตั้งแต่ปี 1974-1977 บริษัทเริ่มปล่อยบาร์บี้ที่เป็นนักกีฬาออกมามากขึ้น เพื่อต้อนรับมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1976 ที่เมืองมอนทรีออล (Montreal) ประเทศแคนาดา เช่น บาร์บี้นักยิมนาสติก บาร์บี้นักว่ายน้ำ บาร์บี้สเกตน้ำแข็ง เป็นต้น 

     หนึ่งในอาชีพสุดแปลกในเรซูเม่ของบาร์บี้คงจะเป็น ‘ทูตสันถวไมตรียูนิเซฟ’ (UNICEF Ambassador) ในปี 1989 หรืออีก 30 ปีต่อมานับจากวันที่ออกขายครั้งแรก ใครจะคิดว่าจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่อยากให้ลูกสาวได้เล่นตุ๊กตาบทบาทสมมติในการทำอาชีพในฝันจะขึ้นมาเป็นทูตสันถวไมตรีขององค์กรยูนิเซฟ อีกทั้งยังมีการออกแบบหน้าตา สีผิวและรูปร่างที่หลากหลายเพื่อเป็นต้นแบบให้เด็กผู้หญิงทั่วโลกมองเห็นภาพของตัวเองประกอบอาชีพนั้นๆ ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

ปี 1990-1999
จากทหารประจำกองทัพอเมริกา สู่นักบรรพชีวินวิทยา และคุณครูสอนภาษามือ 

     ต้นปี 90s เป็นช่วงสงครามอ่าวเปอร์เซีย พลทหารบาร์บี้ขอสละชีพเข้าร่วมรบด้วยค่ะ! 

     ปี 1991 บาร์บี้ทิ้งชุดสีชมพูบานเย็นอันเป็นเอกลักษณ์ สวมชุดทหารทั้งสามเหล่าทัพเข้าร่วมรบในฐานะของเล่นเด็ก หลังสงครามจบลงในปีเดียวกัน พวกเธอก็กลับไปทำอาชีพเดิม ไปเป็นเชียร์ลีดเดอร์ ไลฟ์การ์ด คุณครูอนุบาล ซูเปอร์ฮีโร่ และกุมารแพทย์  

     หลังจากความสำเร็จของภาพยนตร์ Jurassic Park ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก (Steven Spielberg) ในปี 1993 บริษัทแมทเทลทราบอยู่แล้วว่าภาคสองของภาพยนตร์เรื่องนี้จะเข้าฉายในปี 1997 ดังนั้นในปี 1996 บาร์บี้ก็ขอไปสำรวจโลกไดโนเสาร์ยุคจูราสสิกด้วยคน โดยครั้งนี้บาร์บี้รับบทเป็นนักบรรพชีวินวิทยา (Paleontologist) เหมือนกับตัวละครเอกในเรื่อง Jurassic Park ที่ศึกษาเกี่ยวกับไดโนเสาร์และซากดึกดำบรรพ์ 

     อีกหนึ่งอาชีพที่ไม่คิดว่าทางบริษัทแมทเทลจะนำมาเป็นต้นแบบของการทำตุ๊กตาคือ ‘คุณครูสอนภาษามือ’ ต้องไม่ลืมว่าไม่ใช่เด็กผู้หญิงทุกคนจะเกิดมาสมบูรณ์แบบ มีเด็กผู้หญิงที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอีกมากที่ต้องการของเล่นที่ทำให้พวกเธอมีความฝันเหมือนเด็กผู้หญิงคนอื่นเช่นกัน 

ปี 2000-2010 
จากประธานาธิบดีหญิง สู่วิศวกรคอมพิวเตอร์ 

     เป็นธรรมเนียมทุกปีของบาร์บี้ ถ้าปีไหนมีการเลือกตั้งประธานธิบดีของอเมริกา บาร์บี้ขอเป็นแคนดิเดตชิงตำแหน่งด้วยคนค่ะ! โดยบาร์บี้อยู่มาแล้วทุกยุค ตั้งแต่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิ้ลยู บูช, บารัค โอบาม่า และ โดนัลด์ ทรัมป์

     ถึงแม้ว่าในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกายังไม่เคยมีผู้นำเป็นผู้หญิง แต่บาร์บี้ในบทบาทของประธานธิบดีก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าเด็กผู้หญิงรู้สึกถึงความเป็นไปได้

     ช่วงเวลาดังกล่าวบาร์บี้ยังคงย้ายงานไปมา เหมือนตลอด 40 ปีก่อนหน้า จนกระทั่งปี 2010 แมทเทลเชิญชวนผู้คนมาโหวตอาชีพที่ 126 ของบาร์บี้ โดยมีตัวเลือกทั้งหมด 5 อาชีพ ได้แก่ วิศวกรคอมพิวเตอร์ สถาปนิก นักสิ่งแวดล้อม ผู้ประกาศข่าว และศัลยแพทย์ โดยอาชีพที่ได้รับการโหวตสูงสุดคือ ‘วิศวกรคอมพิวเตอร์’ จากการประชาสัมพันธ์โดยสมาคมวิศวกรหญิง (Society of Women Engineers) ให้ช่วยกันเข้าไปโหวต เพื่อจะได้เห็นตุ๊กตาที่เป็นเพื่อนเล่นสมัยเด็กขึ้นมาทำอาชีพเดียวกันกับเธอ และส่งต่อแรงบันดาลให้กับเด็กผู้หญิงที่สนใจงานด้านวิศวกรรม

ปี 2011-2019
จากนักบินอวกาศสำรวจดาวอังคาร 
สู่นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักกีฏวิทยา และนักอนุรักษ์สัตว์ป่า  

     หลังจากเปลี่ยนสายงานไปมาอยู่บนโลกมนุษย์จนเบื่อแล้ว บาร์บี้ก็ขอกลับไปปฏิบัติภารกิจบนอวกาศอีกครั้ง ในปี 2013 แมทเทลร่วมกับนาซ่า (NASA) ปล่อยบาร์บี้นักสำรวจดาวอังคารออกมา ความพิเศษของบาร์บี้รุ่นนี้คือในกล่องตุ๊กตาจะมีเกร็ดความรู้เกี่ยวกับประวัตินักสำรวจอวกาศหญิงของอเมริกาอีกด้วย

     ครอบรอบ 60 ปีของบาร์บี้ ปี 2019 แมทเทลจับมือกับเนชั่นแนล จีโอกราฟิกปล่อยเซตบาร์บี้ในสายอาชีพ STEM (กลุ่มอาชีพด้านวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยี-วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์) มา 5 อาชีพ ได้แก่ นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ นักกีฏวิทยา นักอนุรักษ์สัตว์ป่า นักชีววิทยาทางทะเลขั้วโลก และช่างภาพสารคดีสัตว์ป่า  

     การร่วมงานกันครั้งนี้ ทำให้สโลแกน ‘You can be Anything’ ของบาร์บี้ถูกขยายขอบเขตให้กว้างมากขึ้น จากเมื่อ 60 ปีที่แล้วบาร์บี้ทำแต่อาชีพของผู้หญิงไม่ว่าจะเป็นนางแบบ นักแสดง นางพยาบาล คุณครูอนุบาล แต่ปัจจุบันในวันที่สังคมเปิดกว้างเรื่องเพศมากขึ้น บาร์บี้สามารถทำอาชีพอะไรก็ได้  เด็กผู้หญิงสามารถมีความฝันไม่ต่างจากเด็กผู้ชาย

     อีกหนึ่งสิ่งที่สามารถสังเกตได้อย่างชัดเจนจากไดอะแกรม คือกลุ่มอาชีพที่เป็นที่นิยมของบาร์บี้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลง ช่วงเวลา 50 ปีก่อนหน้าอาชีพที่นิยมของบาร์บี้จะเกี่ยวกับศิลปะและวงการบันเทิง เช่น นางแบบ นักดนตรี นักร้อง นักบัลเล่ต์ นักแสดงที่แม้ว่าจะออกมาบ่อยแค่ไหนก็ยังได้รับความนิยมเสมอ แต่ช่วงปี 2011-2019 กลุ่มอาชีพกีฬากลับได้รับความนิยมแซงขึ้นมาเป็นอันดับ 1 เช่น นักฟุตบอล นักยิมนาสติกลีลา นักปีนผา เป็นต้น   

ปี 2020-ปัจจุบัน
จากผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม สู่ก้าวต่อไปในอนาคตของบาร์
บี้

     ในวันที่โลกตระหนักเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น บาร์บี้ในวัย 63 ปีที่ทำขึ้นจากพลาสติกก็ทำการเปลี่ยนแปลงตัวเอง พร้อมกับกลุ่มอาชีพใหม่ในฐานะ ‘ผู้นำด้านสิ่งแวดล้อม’ เป็นเซตบาร์บี้สี่ตัว ซึ่งทำจากพลาสติกรีไซเคิลให้ตรงคอนเซปต์ของพวกเธอ (ยกเว้นบางส่วนของบริเวณหัวและผม) ทั้งสี่ตัวประกอบไปด้วยนักอนุรักษ์วิทยาศาสตร์ วิศวกรพลังงานหมุนเวียน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายความยั่งยืน และผู้สนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังมีแนวโน้มว่าในอนาคตบาร์บี้จะย้ายมาทำในสายงานวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงยุคใหม่ 

     จากการสังเกตของผู้เป็นแม่ระหว่างที่ลูกสาวของเธอกำลังเล่นตุ๊กตากระดาษเปลี่ยนเสื้อผ้าไปมาจากเจ้าสาว สู่คุณแม่ แล้วไปอุ้มเด็กทารก ซึ่งเป็นค่านิยมของผู้หญิงในสมัยนั้น ใครจะคิดว่าอีกหกสิบกว่าปีต่อมา บาร์บี้เปลี่ยนงานไปแล้วมากกว่า 200 อาชีพ สร้างแรงบันดาลใจให้เด็กผู้หญิงทั่วโลกฝันในสิ่งที่อยากเป็น เหมือนสโลแกน ‘You can be Anything’

     “เราเปิดประตูให้เด็กสามารถจินตนาการในการทำสิ่งต่างๆ เด็กผู้หญิงในวันนี้ สามารถเป็นอะไรก็ได้ ถ้าพวกเธอเชื่อมั่นใจตัวเองและพยายามอย่างสุดความสามารถ”

—จูดี้ แชกเคิลฟอร์ด

อดีตรองประธานอาวุโสแผนกของเล่นเด็กผู้หญิงบริษัทแมทแทล
บทสัมภาษณ์จากสารคดี The Toy That Made Us

Season 1 EP2: Barbie

     ว่าแต่บาร์บี้อยากมาทำงานด้าน Data Visualization บ้างไหมนะ

อ้างอิง:
insider.com/how-barbie-dolls-changed-evolution-2018-3#1987-29
en.wikipedia.org/wiki/Barbie%27s_careers
• data
.world/judkacag/barbies-careers-1959-2020
• cnet.c
om/pictures/barbies-careers-though-60-years-from-fashion-designer-to-robotic-engineer/13/
• rmg.co.uk/stories/topics/space-race-timeline
• britannica.com/list/persian-gulf-war-timeline
• en.wikipedia.org/wiki/Jurassic_Park_(film)
• en.wikipedia.org/wiki/Computer_Engineer_Barbie#cite_note-Computerworld-3
• space.com/22247-mars-barbie-doll-nasa-mattel.html
• nationalgeographicpartners.com/2
019/03/mattel-partnership-barbie/
• creations.mattel.com/products/barbie-eco-leadership-team-2022-career-of-the-year-four-doll-set-hcn25
The Toy That Made Us Season 1 (2017) EP2: Barbie