Tue 26 Jul 2022

BEFORE REVOLUTION

การ ‘ถูกดุล’ และยาปราบเชื้อหนองใน
ณ ห้วงเวลาก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง

ภาพ: NJORVKS

     คุ้นเคยมาตั้งแต่ครั้งผมเรียนวิชาสังคมศึกษาชั้นมัธยมต้น กับคำว่า ‘ถูกดุล’ หรือ ‘ถูกดุลย์’ ช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อันหมายถึงกรณีที่ข้าราชการต้องถูกให้ออกจากงาน 

     สืบเนื่องจากภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลงในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1918 (ตรงกับ พ.ศ. 2461) ทั่วโลกเริ่มเผชิญปัญหาด้านเศรษฐกิจหลายอย่าง จวบจนราวปลาย ค.ศ. 1929 (ตรงกับ พ.ศ. 2472) เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (The Great Depression) ในยุโรปและอเมริกาเหนือ ทั้งยังแพร่ลามขยายวงกว้างไปยังนานาประเทศ มิเว้นกระทั่งประเทศไทย ซึ่งได้รับผลกระทบทางการคลังหนักหน่วงนับแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2460 จวบจนต้นทศวรรษ 2470 

     รัฐบาลสยามตัดสินใจแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยการลดทอนงบประมาณรายจ่ายของแผ่นดิน โดยลดจำนวนข้าราชการและลูกจ้าง เพื่อให้งบประมาณไม่ขาดพร่องและรักษา ‘ดุลยภาพ’ ทางการเงินของประเทศ

     ห้วงเวลานั้น ผู้ครองยศถาบรรดาศักดิ์ไม่น้อยราย ‘ถูกดุล’ จนต้องกราบบังคมทูลลาออกจากราชการเสียเอง แน่นอนทีเดียว ย่อมมีคนจำนวนมากไม่พอใจกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ และนี่ก็เป็นหนึ่งในมูลเหตุที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร เมื่อวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475

     ควรเน้นย้ำอีกว่า พ.ศ. 2565 นับเป็นวาระครบรอบ 90 ปีเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงไม่แปลกถ้าจะมีใครๆ หวนระลึกเอ่ยถึงเหตุการณ์นี้กันค่อนข้างหนาหูในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา 

     หากสิ่งที่ผมจะบอกเล่าต่อไปนั้น คือเรื่องราวของการ ‘ถูกดุล’ กับการขายยารักษาโรคหนองใน อาจฟังดูพิกลๆ และอาจทำให้คุณผู้อ่านฉงนบ้าง ว่าเรื่องของข้าราชการที่ถูกให้ออกจากงานไปเกี่ยวข้องกับยาปราบเชื้อกามโรคได้อย่างไร!

     กามโรคก่อปัญหาให้สังคมสยามมาตั้งแต่ก่อนทศวรรษ 2460 แล้ว รัฐบาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้ประกาศใช้ ‘พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127’ ใน พ.ศ. 2451 กำหนดให้เจ้าสำนักโสเภณีและหญิงโสเภณีต้องมีใบอนุญาตและต้องขอรับใบอนุญาตทุกๆ สามเดือน หญิงใดจะขายบริการทางเพศต้องสมัครใจ อายุเกิน 25 ปี และปลอดโรค ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกที่ใช้ควบคุมหญิงโสเภณี ทว่าพระราชบัญญัติข้างต้นไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ลุล่วง เพราะเจ้าหน้าที่รัฐหวังผลรายได้จากการจดทะเบียนขออนุญาตค้าประเวณีมากกว่าจะเอาจริงเอาจังในการตรวจโรค

     ข้อเสนอของผมจากการวิเคราะห์ผ่านหลักฐานก็คือ รัฐบาลสยามได้ปรับเปลี่ยนมาใช้วิธีการนำเสนอภาพของกามโรคให้น่าหวาดกลัวและอันตรายต่อชีวิต ตรงจุดนี้ ถ้าจะมองแบบแนวคิดของ มิเชล ฟูโกต์ (Michel Foucault) นักประวัติศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ก็ถือเป็นการนำองค์ความรู้ทางการแพทย์มาสร้าง ‘อำนาจวาทกรรม’ เพื่อเข้ามาจัดการควบคุมชีวิตของพลเมืองโดยอ้างระบบสาธารณสุข 

     เห็นได้จากการที่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ครองบทบาทสำคัญในรัฐบาลสยามขณะนั้น เรียบเรียงหนังสือ การสุขาภิบาลสำหรับบุคคลและครอบครัว เป็นความรู้เรื่องการต่อสู้กับข้าศึกที่เราไม่เห็นตัว ออกเผยแพร่เมื่อ พ.ศ. 2461 บ่งชี้ว่ากามโรคอยู่ในฐานะ ‘อบายมุขคือความฉิบหายของคน’ จัดเป็น “…อันตรายใหญ่โตสำหรับคนหนุ่มสาวซึ่งจะทำให้เสียคนได้ตลอดชีวิต” 

     ช่วงแรกๆ สื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ยังช่วยประโคมเผยแพร่ความน่ากลัวและความอันตรายของกามโรค แต่ผมคิดว่าจุดเปลี่ยนปรากฏขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ปิดฉากลง เมื่อสินค้านานาถูกนำเข้าจากต่างประเทศมาสู่เมืองไทย จนเกิดการเปลี่ยนแปลงการบริโภคและรสนิยมของผู้คนในสังคม 

     สื่อสิ่งพิมพ์ถือเป็นสินค้าประเภทหนึ่งที่ถูกผลิตออกมามากโข ขณะเดียวกัน สื่อสิ่งพิมพ์เองก็เป็นพื้นที่เอื้ออำนวยให้แต่ละห้างร้านจัดจำหน่ายสินค้าต่างๆ

     ลองสังเกตดู ตามหน้าสื่อสิ่งพิมพ์นับแต่ต้นทศวรรษ 2460 เรื่อยมา จะเต็มไปด้วยประกาศโฆษณาของยาที่สามารถปราบและรักษาเชื้อกามโรคให้หายขาด โดยเฉพาะเชื้อหนองในหรือโกโนเรีย (gonorrhea) ซึ่งมีจากหลากหลายสำนัก มีทั้งยาแบบรับประทานและยาฉีด ส่วนเชื้อซิฟิลิส (syphilis) อาจจะยังมิสามารถรักษาให้หายขาดได้ชะงัดเท่ากับเชื้อหนองใน 

     แม้จะมียารักษากามโรคผลิตออกมาดาษดื่น หากรัฐบาลสยามมิวายกังวลกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ค่อนข้างมาก จึงพยายามควบคุมดูแลเข้มงวด ทางกรมสาธารณสุข (ขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย เพิ่งจะมาสถาปนากรมสาธารณสุขขึ้นเป็นกระทรวงสาธารณสุข เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2485) ก็หมั่นตักเตือนให้คนระมัดระวังตัวเพื่อป้องกันกามโรค โดยเฉพาะผู้ชาย

     หนองในเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ ‘ไนซีเรีย โกโนเรียอี’ (Neisseria gonorrhoeae) คนหนุ่มแห่งทศวรรษ 2460 ผู้มีพฤติกรรมซุกซน ชอบคลุกคลีอยู่ตามซ่องโสเภณี และเปลี่ยนคู่ร่วมเสพสมกามารมณ์เนืองๆ ย่อมมิแคล้วได้ทำความรู้จักและถูกเล่นงานงอมแงม 

     เมื่อติดเชื้อหนองใน ประมาณสักห้าวันเป็นต้นไป ร่างกายจะแสดงอาการปวดแสบเวลาขับถ่ายปัสสาวะ และมีหนองไหลออกมาเป็นสีเหลืองข้น วิธีรักษาโรคในยุคนั้นคือรับประทานหรือฉีดยาปฏิชีวนะ

     ยาปราบเชื้อหนองในที่แพร่หลายค่อยๆ ส่งผลให้คนผ่อนคลายความหวาดกลัวต่อกามโรคชนิดนี้ ยิ่งช่วงปลายทศวรรษ 2460 จะพบว่าลักษณะการนำเสนอและน้ำเสียงการโปรยถ้อยคำเชิญชวนซื้อยารักษาของสำนักต่างๆ บนหน้าสื่อสิ่งพิมพ์เป็นไปในเชิงอารมณ์ขัน ประหนึ่งว่าหนองในหรือโกโนเรียถูกทำให้เป็นความบันเทิงประกอบการขายสินค้า 

     เท่าที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์เก่าๆ ในยุคเกือบหนึ่งร้อยปีที่ผ่านมา และจัดเจนสายตาต่อสารพัดโฆษณายารักษากามโรคหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นยาตัดรากโรคบุรุษ โดยเฉพาะแผลหนองในให้หายขาดภายในสามวัน ของบ้านเลขที่ 2249 ก. หน้าห้างแบดแมน เชิงสะพานผ่านพิภพลีลา ขายขวดละ 1 บาท โหลละ 8 บาท หรือยาปราบโกโนเรียของห้างชินโอสถ ย่านนางเลิ้ง ราคาขวดละ 1 บาท 40 สตางค์ 

     ทว่ามีโฆษณายาปราบหนองในอยู่ชิ้นหนึ่งที่ดึงดูดผมอย่างจัง เพราะหยิบยกเอาสถานการณ์ทางสังคมยุครัชกาลที่ 7 นั่นคือกรณีที่ข้าราชการถูกให้ออกจากงานหรือ ‘ถูกดุล’ มายั่วล้อด้วยความขบขัน เพื่อจำหน่ายสินค้า กล่าวคือเป็นประกาศขายยารักษาหนองในของห้างลูกจันทน์ ซึ่งเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ปีที่ 7 ฉบับที่ 208 ประจำวันศุกร์ที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2469

ท่านขุนถูกดุลย์

     “ท่านขุนผู้ไม่ปรากฏชื่อได้ถูกดุลยภาพ ก็เนื่องมาจากทางราชการไม่ต้องการผู้ที่เป็นหนองในไม่หยุด พอไม่กี่เดือนก็เปนอีก ความจริงถ้าท่านใช้แต่เฉพาะยาแอนตี้ ๒ บาท ของห้างลูกจันทน์แล้ว ผมเชื่อว่าท่านขุนไม่ถูกดุลย์ เพราะยานี้ทำให้หายเรียบร้อยสนิทสนมเสียยิ่งกว่าฉีดยา ทั้งเดี๋ยวนี้หาซื้อก็ง่าย เพราะมีขายแทบทุกห้างที่มีแพทย์ประกาศนียบัตร์ในกรุงเทพฯ”

     ห้วงยามนั้น ห้างลูกจันทน์เพิ่งถูกศาลฟ้อง เนื่องจากทางจังหวัดโคราชได้สั่งยาแอนตี้โกโนเรียไปแจกจ่าย แต่พอส่งไปรษณีย์แล้ว กลับไม่ได้ยาครบตามจำนวนที่สั่ง เพราะยากำลังขาดแคลน มหาชนจึงไปฟ้องร้อง แต่ห้างลูกจันทน์ก็ชนะคดี หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง ปีที่ 7 ฉบับที่ 209 ประจำวันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2469 เผยแพร่กรอบข่าวเรื่อง ‘คดีห้างลูกจันทน์’ และมีเสียงของทางห้างคือ “เชื่อว่าต่อไปกระผมจะไม่ยอมให้ใครมาฟ้องได้เปนอันขาด จริงๆ ครับ กล่องละ ๒ บาทเท่านั้น หายเสด็จเทียวครับชงัดนัก”

     กลายเป็นว่า เรื่องราวการ ‘ถูกดุล’ ช่วงก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มาเชื่อมโยงเข้ากับการขายยารักษาโรคหนองในได้อย่างเกินคาดคะเน อีกทั้งประกาศโฆษณาข้างต้นยังส่งน้ำเสียงเป็นนัยๆ มุ่งเสียดสีข้าราชการในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เยี่ยง ‘ท่านขุน’  ซึ่งเป็นเสมือนตัวแทนของพวกขุนนางศักดินายุคนั้น ทำนองว่ามัวหมกมุ่นกับพฤติกรรมทางเพศจนติดเชื้อกามโรค แทนที่จะเอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อบ้านเมือง ท้ายสุดจึงถูกเลือกให้ออกจากราชการในช่วงภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ

     หลังวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 หนังสือพิมพ์ ศรีกรุง นำโดยเจ้าของคือ พี่น้องตระกูลวสุวัต (มานิต และ เภา หรือหลวงกลการเจนจิต) ซึ่งมานิตรั้งตำแหน่งผู้จัดการรวมถึงกองบรรณาธิการ แสดงออกตัวตนอย่างชัดเจนว่าเลื่อมใสระบอบประชาธิปไตย และสนับสนุนคณะราษฎร ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง

     อ้อ! ขอเสริมอีกนิด เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือที่แวดวงวรรณกรรมเรียกขานว่า ‘ครูเทพ’ ซึ่งเรียบเรียงหนังสือที่สะท้อนความน่ากลัวและความอันตรายของกามโรคนั้น ท่านก็เป็นคนหนึ่งที่กราบบังคมทูลลาออกจากราชการในห้วงเวลาแห่งการ ‘ถูกดุล’ เช่นกัน

     ครับ ผมเองมิอาจละเลยต่อความสำคัญของข้อมูลทางประวัติศาสตร์นี้ แม้เป็นเพียงจุดเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม จึงตั้งใจจะนำมาเขียนเป็นบรรณาการต่อคุณผู้อ่าน

เอกสารอ้างอิง

• ชลธิรา สัตยาวัฒนาและคณะ. ครูเทพ (เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: ผีเสื้อ, 2558.
• ธรรมศักดิ์มนตรี, เจ้าพระยา. การสุขาภิบาลสำหรับบุคคลและครอบครัว เป็นความรู้เรื่องการต่อสู้กับข้าศึกที่เราไม่เห็นตัว. ม.ป.ท. : ม.ป.พ., 2461.
• ประเสริฐ พงศ์พิสิฐสันต์. ประวัติและวิวัฒนาการงานควบคุมกามโรคของประเทศไทย. กรุงเทพฯ : กองกามโรค กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข, 2545.
พระราชบัญญัติป้องกันสัญจรโรค ร.ศ. 127. กรุงเทพฯ: บำรุงนุกูลกิจ, 2451.
• ไพรัช ดีสุดจิต. โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted diseases). พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2527.
เรื่องเอกสารสาธารณสุข. แจกในงารทำบุญร้อยวันศพ อำมาตย์เอก พระยาพินิจนัยนิเทศ วันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2469. พระนคร: กรมสาธารณสุข, 2469.
ศรีกรุง. ปีที่ 7 ฉบับที่ 208 (10 ธันวาคม 2469)
ศรีกรุง. ปีที่ 7 ฉบับที่ 209 (11 ธันวาคม 2469)
อนุสรณ์กระทรวงสาธารณสุขครบ ๑๕ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕-๒๕๐๐. พระนคร : กระทรวงสาธารณสุข, 2500.
• Dreyfus, Hubert L. and Rabinow, Paul. Michel Foucault: Beyond Structuralism and Hermeneutics. Chicago: University of Chicago Press, 1983.
• Foucault, Michel. Power/Knowledge: Selected Interviews and Other Writings, 1972-1977. New York: Pantheon, 1980.