Mon 13 Feb 2023

WRITING THAT DOESN’T LOOK LIKE WRITING

การเขียนไดอะล็อกที่ดูเป็นธรรมชาติราวกับว่าไม่ได้เขียนของหนังไตรภาค Before

ภาพ: NJORVKS

     ความเข้าใจผิดอย่างหนึ่งที่ผู้คนมีต่อหนังไตรภาค Before Sunrise (1995), Before Sunset (2004) และ Before Midnight (2013) ก็คือเข้าใจว่าบทพูดระหว่างนักแสดงนำอย่าง อีธาน ฮอว์ก (Ethan Hawke) และ จูลี เดลปี (Julie Delpy) เป็นการด้นสดขณะถ่ายทำโดยไม่ได้ตระเตรียมซักซ้อมกันมาก่อน 

     ด้วยเหตุว่าวิธีการที่ทั้งคู่พูดคุยกันในหนังนั้นดูเป็นธรรมชาติเหลือเกิน รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ และอาการเขินอายของตัวละครเจสซีกับเซลีนดูเหมือนเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจริงๆ รวมถึงจังหวะการพูดที่มีทั้งช่วงที่เผลอพูดพร้อมกัน หรือบทจะเงียบก็เงียบพร้อมกันอีก ทำให้คนดูรู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ได้ถูกเซ็ตไว้ นี่คือหนังเกี่ยวกับคนสองคนที่พบกันโดยบังเอิญบนรถไฟ พูดคุยกันจนรู้สึกถูกชะตากับอีกฝ่าย และตัดสินใจลงรถไฟไปเดินพูดคุยกันต่อในเวียนนา และ ริชาร์ด ลิงก์เลเตอร์ (Richard Linklater) ผู้กำกับและคนเขียนบทหนังทั้งสามภาค คงตัดสินใจให้ไดอะล็อกที่เกิดขึ้นในหนังเป็นการพูดคุยกันไปเรื่อยๆ โดยไม่มีสคริปต์เป็นแน่แท้

     ทว่าความจริงแล้วหนังเรื่องนี้มีสคริปต์ บทสนทนาระหว่างฮอว์กกับเดลปีเป็นสิ่งที่ถูกเขียนขึ้นมาทั้งหมด และสาเหตุที่เรารู้สึกได้ถึงถึงความเป็นธรรมชาติในไดอะล็อกของหนัง ก็เพราะว่าทั้งฮอว์กกับเดลปีมีส่วนร่วมในการเขียนสคริปต์ด้วยนั่นเอง

     ด้วยความที่หนังทั้งเรื่องมีแต่บทสนทนาระหว่างผู้ชายกับผู้หญิง ลิงก์เลเตอร์จึงรู้สึกว่าควรมีคนเขียนบทที่เป็นผู้หญิงเข้ามาช่วยด้วย เพื่อให้น้ำเสียงไม่เอนเอียงไปทางผู้ชายมากเกินไป โดยเริ่มแรกเขาชวน คิม คริซาน (Kim Krizan) นักแสดงที่เพิ่งร่วมงานกันมาในหนังสองเรื่องก่อนหน้าของเขามาช่วยเขียน 

     ทีแรกลิงก์เลเตอร์คิดไว้ว่าจะเขียนให้เรื่องเกิดขึ้นที่สถานีรถไฟแถวบ้าน (ซานอันโตนิโอ) เพื่อประหยัดงบประมาณ แต่พอนำ Dazed and Confused ไปฉายในเทศกาลหนังที่เวียนนาก็พบว่าที่นั่นมีเงินช่วยเหลือสำหรับกองถ่ายหนังต่างประเทศที่มาถ่ายทำในเวียนนาอยู่ เขาจึงเขียนให้ตัวละครไปพบกันที่นั่นแทน

     ลิงก์เลเตอร์กับคริซานใช้เวลาเขียนบทกันแค่ 11 วันเท่านั้น แต่ใช้เวลาหลังจากนั้นอีกเกือบปีเพื่อแคสต์หานักแสดงที่เหมาะสม ซึ่งในสคริปต์ดราฟต์แรกไม่ได้ระบุว่าต้องเป็นผู้ชายอเมริกันกับผู้หญิงยุโรป มันจะเป็นผู้ชายยุโรปกับผู้หญิงอเมริกันก็ได้ถ้าหากลิงก์เลเตอร์รู้สึกว่าเคมีระหว่างนักแสดงเหมาะสมกัน 

     สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าคือนักแสดงที่จะมาร่วมงานกับเขาต้องช่วยเขียนบทได้ต่างหาก

     “ผมไม่ได้มองหาแค่นักแสดงที่หน้าตาดีสองคนเท่านั้น แต่มองหาพาร์ตเนอร์ที่จะมาร่วมแชร์ไอเดียกัน” ลิงก์เลเตอร์บอก เขาตั้งชื่อตัวละครว่าคริสกับเทอร์รี ซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ได้กับทั้งผู้หญิงและผู้ชายเพื่อเปิดโอกาสให้กับความเป็นไปได้ เพราะรู้ว่าสิ่งที่ตนเองกำลังมองหานั้นเป็นเรื่องยากเพียงใด “ในท้ายที่สุดกระบวนการจะต้องมีสองนักแสดงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอยู่ดี ดังนั้นสคริปต์ในตอนแรกจึงเหมือนเป็นแค่โครงสร้างมากกว่า แล้วหลังจากนั้นเราก็จะไปลงลึกกันอีกที”

     และสุดท้ายก็เป็นอีธาน ฮอว์ก กับจูลี เดลปี ที่ถูกเลือกให้มารับบทเจสซีกับเซลีนด้วยสองเหตุผล 

     หนึ่ง—ลิงก์เลเตอร์รู้สึกว่าเคมีของทั้งคู่เข้าขากัน 

     สอง—ทั้งคู่เคยเขียนบทและกำกับหนังสั้นมาก่อน

     “มันเป็นสคริปต์ที่แปลกมาก (หัวเราะ)” ฮอว์กเล่า “มันมีบทพูดของเจสซีประมาณหนึ่งหน้าครึ่งที่พูดเกี่ยวกับหนังของจอห์น ฮุสตัน เรื่อง The Dead (1987) ผมบอกริก (ลิงก์เลเตอร์) ว่า ‘ฟังนะ นอกจากนายแล้วก็ไม่มีใครอยากฟังธีสิสเกี่ยวกับหนังเรื่องนั้นหรอก’ แล้วเขาก็บอกผมว่า ‘มันเป็นแค่ตัวอย่างไดอะล็อกเฉยๆ ซีนนี้ฉันอยากให้ตัวละครแชร์แพสชั่นเรื่องศิลปะกัน’ เขาเขียนเป็นข้อๆ ไว้หมดแล้วว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นในหนังบ้าง เขารู้ว่าตอนจบของหนังจะเป็นยังไง แต่เขาอยากให้ผมกับจูลีช่วยแต่งแต้มสีสันให้หน่อย”

     “ตัวสคริปต์ต้นฉบับไม่ค่อยโรแมนติกเท่าไรนัก” เดลปีว่า “เชื่อไหมว่ามันเต็มไปด้วยการพูดคุยกันมากกว่าพาร์ตของความโรแมนติกเสียอีก ริชาร์ดจ้างพวกเราเพราะเขารู้ว่าเราสามารถเขียนบทได้ และเขาอยากให้เราเพิ่มความโรแมนซ์เข้าไปในหนัง เราใส่ความโรแมนติกหลายอย่างเข้าไปในนั้น”

     สามสัปดาห์ก่อนถ่ายทำ ฮอว์ก, เดลปี และลิงก์เลเตอร์ล่วงหน้าไปที่เวียนนา เพื่อซักซ้อมการแสดงและปรับไดอะล็อกในสคริปต์ให้เป็นธรรมชาติมากขึ้น ลิงก์เลเตอร์เอาสคริปต์ออกมาแล้วก็ถามฮอว์กกับเดลปีว่ามีตรงไหนที่ไม่ชอบบ้าง แลกเปลี่ยนความเห็นกันว่าสิ่งใดที่ควรเอาออก และสิ่งใดที่ควรเพิ่มเข้าไป

     นอกจากนั้น ลิงก์เลเตอร์ยังให้นักแสดงทั้งสองช่วยกันคิดไดอะล็อกอีกด้วย เขาเปรียบเทียบกระบวนการนี้ว่าเหมือนเขาเป็นคนแต่งทำนองแล้วเอามาให้นักแสดงทั้งสองช่วยเขียนเนื้อร้องอีกที 

     เช่น ในซีนที่เจสซีกับเซลีนนั่งคุยกันบนรถไฟ ลิงก์เลเตอร์ถามฮอว์กว่า เขาจะพูดยังไงให้ผู้หญิงยอมลงรถไฟไปด้วยกัน ฮอว์กบอกว่าก็คงเป็นคำพูดแบบนั้นแบบนี้ ถึงแม้ลิงก์เลเตอร์จะเห็นดีเห็นงามกับไอเดียที่ฮอว์กเสนอ แต่เดลปีกลับเห็นต่าง เธอบอกว่าไดอะล็อกของฮอว์กน่าเบื่อและฟังดูโอหังเกินไป จากนั้นก็บอกว่าคำพูดที่จะทำให้เธอยอมลงรถไฟไปด้วยกันกับเขาควรจะเป็นประมาณไหน แล้วฮอว์กกับลิงก์เลเตอร์ก็ช่วยกันคิดอีกที พูดง่ายๆ ว่าทั้งสามคนต้องเห็นพ้องต้องกันเสียก่อน ไดอะล็อกนั้นจึงจะได้อยู่ในหนัง

     “พวกเขาฟังความเห็นของฉัน เพราะว่าฉันเป็นผู้หญิงคนเดียวในห้องนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่เราไปถึงเวียนนาแล้ว” เดลปีเล่าถึงกระบวนการก่อนถ่ายทำ “ริชาร์ด อีธาน และฉันสร้างสคริปต์ขึ้นมาด้วยกัน แม้ว่าอีธานกับฉันจะไม่ได้เครดิตใน Before Sunrise ก็ตาม แต่มันก็ถือเป็นการร่วมงานกันจริงๆ เราทั้งสามคนต้องเห็นตรงกันเกี่ยวกับซีนนั้นๆ เสียก่อน นั่นเป็นวิธีการที่เราทำ Before Sunset กับ Before Midnight ด้วยเหมือนกัน ถ้ามีใครคนใดคนหนึ่งไม่ชอบอะไรสักอย่าง สิ่งนั้นจะไม่ได้อยู่ในหนัง

     “เราเห็นไม่ตรงกันบ้าง แต่เราไม่เคยโต้เถียงกัน ไม่เคยมีโมเมนต์ที่อีธานเดินออกไปจากห้อง หรือฉันเดินออกไปจากห้อง หรือริชาร์ดเดินออกไปจากห้อง ไม่เคยเกิดเรื่องแบบนั้น มันมีแต่เสียงหัวเราะตลอด เราสนุกกันมากๆ

     “เป้าหมายของเราคืออยากทำให้แน่ใจว่ามันไม่ได้ถูกเล่าผ่านมุมมองของผู้ชายหรือผู้หญิงแต่เพียงเท่านั้น เราระมัดระวังมากเกี่ยวกับไดอะล็อกที่ต้องพูด เพราะถ้าหากมีไดอะล็อกที่มากเกินไป ไม่ว่าจากฝั่งผู้หญิงหรือผู้ชายก็อาจทำให้หนังพังไปเลย”

     ใน Before Sunset ซึ่งเล่าเรื่องราว 9 ปีหลังจากนั้นของเจสซี่และเซลีน ลิงก์เลเตอร์เปลี่ยนวิธีการทำงานเล็กน้อย เขาให้ฮอว์กกับเดลปีมาร่วมกันร่างเค้าโครงของสคริปต์คร่าวๆ เป็นเวลา 2-3 วัน จากนั้นก็ปล่อยทั้งคู่ไปทำงานอย่างอื่น แต่ถ้าระหว่างนั้นฮอว์กกับเดลปีมีไอเดียอะไรที่น่าสนใจก็จะเขียนมาบอกเขาทางอีเมล แล้วลิงก์เลเตอร์ก็จะนำไอเดียเหล่านั้นมาเรียบเรียงและเขียนใหม่อีกที 

     ส่วนใน Before Midnight ที่ความสัมพันธ์ของเจสซีกับเซลีนเริ่มจริงจังมากขึ้น กระบวนการเขียนสคริปต์ก็เข้มข้นตาม ลิงก์เลเตอร์ปล่อยให้ฮอว์กกับเดลปีคิดไปเรื่อยๆ ว่าหนังควรจะเป็นยังไงประมาณไหน (แต่ห้ามใครลงมือเขียนก่อน) แล้วพอทั้งคู่พร้อมก็ค่อยมารวมตัวกัน พกแล็ปท็อปมาคนละเครื่องและช่วยกันเขียนรวดเดียวจบ ซึ่งใช้เวลาหลายสัปดาห์ และถึงแม้ว่าจะได้สคริปต์มาแล้ว ก็ยังต้องเข้าสู่กระบวนการเดิมแบบในภาคแรก คือทั้งสามคนจะซักซ้อมการแสดงและช่วยกันปรับไดอะล็อกก่อนถ่ายทำอีกที

     “ริกจริงจังมากๆ กับการซ้อม” ฮอว์กเล่า ด้วยความที่หลายๆ ซีนในหนังเป็นลองเทกที่เต็มไปด้วยบทสนทนายาวเหยียด จึงทำให้ทั้งฮอว์กกับเดลปีต้องจดจำทุกอย่างให้แม่นยำทั้งมูฟเมนต์และตำแหน่งของกล้อง อีกทั้งยังต้องพูดไดอะล็อกออกมาให้เป็นธรรมชาติที่สุด 

     “การต้องจำไดอะล็อกเยอะขนาดนั้นเป็นเรื่องทรมานมาก” เดลปีบอก “ฉันเป็นนักแสดงตั้งแต่อายุ 14 แต่ไม่มีอะไรที่ยากไปกว่าการทำเรื่องธรรมดาๆ อย่างการเดินและพูดคุยกันอีกแล้ว”

     เดลปีเป็นคนเสนอให้เรื่องราวใน Before Sunset เกิดขึ้นตามเวลาจริง (เพียงชั่วโมงครึ่งเท่านั้นที่ตัวละครคุยกัน ซึ่งเท่ากับความยาวของหนัง) ทั้งยังเสนอว่าเซลีนควรจะร้องเพลงของ นีน่า ซีโมน (Nina Simone) ในตอนจบ ส่วนฮอว์กเป็นคนเสนอไอเดียว่าเจสซีกับเซลีนควรจะกลับมาเจอกันได้อย่างไรในหนังภาคนี้ รวมถึงเป็นคนที่คิดว่า Before Midnight ควรจะจบอย่างไร ฮอว์กบอกว่าซีนในห้องพักของโรงแรมซึ่งยาวประมาณสามสิบหน้า (ประมาณครึ่งชั่วโมงของเวลาในหนัง) เป็นซีนที่ยากที่สุดที่เขาเคยทำมา

     “จนถึงทุกวันนี้พวกเขาก็ยังไม่ค่อยได้เครดิตในฐานะนักแสดงเท่าไร เพราะทุกคนคิดว่าพวกเขาแสดงโดยใช้วิธีด้นสดกัน” ลิงก์เลเตอร์พูดถึงนักแสดงทั้งสอง “มันถือเป็นคำชมนะเวลาที่คนคิดว่าสิ่งที่เห็นในหนังคือการด้นสด แต่ผมไม่คิดว่าจะมีใครเข้าใจหรอกว่าพวกเขาต้องทำงานหนักกันขนาดไหน”

อ้างอิง

nytimes.com/2020/01/22/movies/before-sunrise-ethan-hawke-julie-delpy.html
en.wikipedia.org/wiki/Before_Sunrise
creativescreenwriting.com/as-a-woman-you-have-to-assume-it-wont-get-made-but-keep-writing-anyway-julie-delpy-on-lolo/
•  youtube.com/watch?v=daoKkpBmDMw&t=1506s
filmmakermagazine.com/archives/issues/spring2004/features/paris_day.php
youtube.com/watch?v=50_1zPwlciE
youtube.com/watch?v=eb4viSqeTdk
youtube.com/watch?v=t5H2drFBEuQ
youtube.com/watch?v=RWZDhlUcAnY
youtube.com/watch?v=U8pYb23zwhA
• theguardian.com/film/2019/nov/04/julie-delpy-ethan-hawke-how-we-made-before-sunrise-trilogy-sunset-midnight
• independent.co.uk/arts-entertainment/interviews/ethan-hawke-maudie-before-sunrise-sunset-midnight-trilogy-boyhood-blaze-richard-linklater-interview-a7873666.html
• reddit.com/r/IAmA/comments/1eubxw/iam_richard_linklater_director_of_before_midnight/
• youtube.com/watch?v=-CBFMAaW
w_Y
• youtube.com/watch?v=aLdeVf3rfCk