Wed 10 Mar 2021

CURRENTLY READING

หนังสือที่เราอยากชวนอ่าน

ภาพ: NJORVKS

หนังสือ: แด่การผลัดทิ้งซึ่งหญิงชาย แด่ความลื่นไหลที่ผลิบาน (Beyond the Gender Binary)
Alok Vaid-Menon เขียน
มุกดาภา ยั่งยืนภราดร แปล

สำนักพิมพ์ soi

     LGBTQIA+, นอนไบนารี่ (Non-binary) ฯลฯ คำศัพท์เหล่านี้กำลังเป็นที่คุ้นหูคุ้นตาของสังคมไทย พร้อมๆ กับที่อีกแง่หนึ่งก็อาจสร้างความสับสนงุนงงอยู่บ้างว่าแต่ละคำหมายถึงอะไรกันแน่ และความหมายของแต่ละคำนั้นเหมือนกัน แตกต่างกัน หรือมีจุดร่วมกันอย่างไร 

     คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าความสับสนงุนงงดังกล่าวนี้คือสิ่งที่อลก เวดเมนอนผู้เขียนหนังสือเล่มนี้พยายามจะอภิปรายและถกเถียง ทว่าไม่ใช่เพื่อขีดเส้นแบ่งหรือตีกรอบความหมายของแต่ละคำ แต่เพื่อฉายให้เห็นว่าความหลากหลายของตัวตนทางเพศเหล่านั้นมีความลื่นไหลเกินกว่าจะยึดจับด้วยกรอบตายตัวใดๆ ได้ โดยเฉพาะกรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์ (gender binary) ที่พยายามจะนิยามและแบ่งแยกอย่างตายตัวว่าตัวตนทางเพศของคนเรานั้นมีเพียงแค่ชายจริงกับหญิงแท้เท่านั้น 

     ในแง่นี้ความสับสนงุนงงที่เกิดขึ้น จึงไม่ใช่เพราะว่าความลื่นไหลนั้นแตกตัวจนยึดจับไม่ได้ (ซึ่งความจริงก็เป็นเช่นนั้น) แต่เพราะกรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์ต่างหากที่คับแคบ แห้งแล้ง และไม่เพียงพอจะโอบรับสีสันอันหลากหลายเหล่านั้นได้ 

     คีย์เวิร์ดสำคัญของหนังสือคือคำว่า gender non-conforming people ซึ่งผู้แปลเลือกที่จะแปลคำนี้ว่าคนที่ปฏิเสธ/ละทิ้ง/แหกบรรทัดฐานทางเพศของสังคมและผู้มีความลื่นไหลทางเพศแตกต่างกันไปตามบริบท ทั้งนี้เพื่อแตกสเปกตรัมของความหมายออกมาให้เห็นว่า ความหลากหลายและลื่นไหลทางเพศนั้น ไม่ใช่แค่การที่ปัจเจกเลือกที่จะปฏิเสธหรือแหกบรรทัดฐานทางเพศของสังคมเท่านั้น แต่มันเป็นสภาวะที่ดำรงอยู่ก่อนหน้า และดำรงอยู่โดยตัวมันเองอย่างแหกกรอบและนอกกรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์อยู่แล้ว ไม่ว่ามันจะถูกนำไปปะทะหรือคัดง้างกับกรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์หรือไม่ก็ตาม 

     หนังสือเล่มนี้เริ่มต้นด้วยเรื่องเล่าจากประสบการณ์ของอลก เวดเมนอน นักเขียนและศิลปินสัญชาติอินเดียอเมริกัน ตั้งแต่ชีวิตวัยเด็กที่เติบโตขึ้นในชุมชนชาวอินเดียอพยพในเมืองคอลเลจ สเตชัน รัฐเท็กซัส ชีวิตในวัยเด็กที่กรอบคิดเรื่องเพศแบบทวิลักษณ์ยังไม่ได้เข้ามาควบคุมมากนัก ทำให้เธอค้นพบความเป็นไปได้ในตัวตนทางเพศของตัวเอง เธอสนุกกับการร้องเล่นเต้นรำและแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าลายดอกไม้สีสันสดใสฉูดฉาดแบบผู้หญิงท่ามกลางเสียงชื่นชมปรบมือของคนในครอบครัว ซึ่งมองว่าเป็นเพียงการละเล่นไร้เดียงสาแบบเด็กๆ ต่อมาเมื่อเธอเติบโตขึ้นและกรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์เริ่มเข้ามายึดกุมชีวิต ความเป็นไปได้ทางเพศอันหลากหลายจึงถูกลดทอนเหลือเพียงการต้องเลือกว่าจะเป็น  ‘ผู้ชายหรือผู้หญิงมิหนำซ้ำความรู้สึกภาคภูมิใจในวัยเด็กที่ทำให้เธอรู้สึกว่าตัวเองได้รับการยอมรับจากสังคม ยังถูกกวาดทิ้งด้วยเสียงหัวเราะหยามหยันที่มองเห็นเธอเป็นเพียงตัวตลกและเด็กที่ไม่รู้จักโตเท่านั้น

     ความเรียงขนาดสั้นเล่มนี้เป็นทั้งถ้อยแถลงส่วนตัวและข้อถกเถียงเชิงสังคม กรอบคิดทางเพศแบบทวิลักษณ์นั้นไม่เพียงแต่เถลิงอำนาจผ่านสายตาของผู้อื่นที่มองเราอย่างแยกเหยียดและเป็นอื่น แต่ในขั้นสูงสุดนั้นคือการทำให้เรามองตัวเองด้วยสายตาเป็นอื่นและรู้สึกแปลกแยกต่อตัวเอง 

     เวดเมนอนเล่าว่ากว่าที่เธอจะมายืนอยู่ในจุดที่ยอมรับตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิได้อย่างทุกวันนี้ เธอต้องเผชิญทั้งการกดปราบ ปรับเปลี่ยน และการเซ็นเซอร์ตัวเองอย่างรุนแรง ความรู้สึกเจ็บปวดที่สุดคือการต้องทำตัวเป็นผู้ชาย (ทั้งที่ไม่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ชาย) เพื่อให้รอดพ้นจากการถูกคุกคามรังแก  

     ในแง่นี้ความเป็นชายจึงไม่ใช่สารัตถะทางเพศอย่างที่มันพยายามจะเอ่ยอ้าง หากแต่เป็นบรรทัดฐานทางสังคมอย่างหนึ่งที่บีบบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติตามเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเอง ประเด็นนี้เปิดทางไปสู่หนึ่งในข้อถกเถียงสำคัญของหนังสือที่ว่า ความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจที่สังคมมีต่อผู้มีความลื่นไหลทางเพศ แท้จริงแล้วคือความรู้สึกสั่นคลอนในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเองต่างหาก มันคือความรู้สึกว่าอัตลักษณ์ทางเพศที่ตัวเองสวมใส่อยู่นั้นกำลังถูกตั้งคำถาม ถูกลากพามาอยู่ในความปั่นป่วนลื่นไหลที่ปราศจากคำนิยามตายตัว

     ในครึ่งหลังของหนังสือ เวดเมนอนผละจากเรื่องเล่าเชิงประสบการณ์ส่วนตัวไปสู่การถกเถียงในประเด็นทางสังคมโดยตรง ข้อถกเถียงที่เป็นการตอบโต้ต่อมายาคติและข้อกล่าวหาต่างๆ ที่ผู้มีความลื่นไหลทางเพศต้องพบเจออยู่บ่อยๆ เช่น ข้อกล่าวหาที่ว่าทำไมเอะอะก็ต้องลากทุกอย่างเข้าเรื่องเพศด้วย เงียบๆ ไปเดี๋ยวปัญหามันก็หายไปเองแหละน่า

     เวดเมนอนตอบโต้ข้อกล่าวหานี้ได้อย่างน่าประทับใจว่า “…สิ่งที่เรากำลังพยายามทำอยู่คือการทำให้เรื่องเพศเป็นประเด็นน้อยลง ตลกดีที่สังคมหันมาโทษว่าเป็นความผิดของเราที่พูดถึงเรื่องเพศไม่หยุดหย่อน ทั้งที่จริงถ้าลองมองไปรอบๆ พวกเขาต่างหากที่ลากทุกอย่างเข้าเรื่องเพศไม่ว่าจะเป็นการจัดปาร์ตี้ฉลองเพศทารกแรกเกิด (gender-revealing party) การระบุเพศในสูติบัตร การแบ่งโซนเสื้อผ้าชายหญิงในห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงการระบุเพศในใบขับขี่ นี่ไม่ใช่วิธีที่สังคมยัดเยียดเรื่องเพศเข้าไปในทุกอย่างหรอกหรือ?…”