Mon 12 Jun 2023

BTS Songs in Diagram

คู่มือการฟังเพลงของวง BTS ฉบับไดอะแกรม

     ตลอด 10 ปีในวงการเพลงของวง ‘BTS’ นั้น พวกเขาผลิตผลงานเพลงออกมามากมายนับไม่ถ้วน ถึงแม้ว่าแต่ละเพลงจะมีแนวทางที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวฮิปฮอป ป๊อปแดนซ์ หรืออาร์แอนด์บี แต่เมื่อนำบทเพลงมาอธิบายด้วยไดอะแกรมกลับมีรูปแบบ วิธีการแบ่งท่อน และจำนวนท่อนที่สมาชิกแต่ละคนได้ร้องที่คล้ายกันอย่างไม่น่าเชื่อ

     เพื่อเป็นการฉลองการเดินทางครบรอบ 10 ปีของวง BTS คอลัมน์ Data Journalread ประจำเดือนมิถุนายนนี้จึงจะพาไปสำรวจ 21 เพลงของวงว่ามีรูปแบบลำดับการร้องและการแบ่งท่อนร้องอย่างไรบ้าง

     งาน Data Visualization ชิ้นนี้ใช้เครื่องมือสองอย่างในการอธิบาย

     1. ไดอะแกรม: สำหรับอธิบายลำดับการร้องต่อหนึ่งเพลงของสมาชิกแต่ละคน โดยจะแบ่งเป็น 10 ท่อนตามองค์ประกอบหลักของเพลง ได้แก่ ท่อน Intro, ท่อน Verse 1, ท่อน Pre-Chorus 1, ท่อน Chorus 1, จากนั้นก็จะวนอีกรอบเป็นท่อน Verse 2, ท่อน Pre-Chorus 2, ท่อน Chorus 2, เปลี่ยนจังหวะเป็นท่อน Bridge, วนกลับไปที่ท่อน Chorus 3 และจบด้วย Outro 

     ถ้ามีวงกลมอยู่ตรงไหนในไดอะแกรมแสดงว่าสมาชิกคนนั้นเป็นคนร้องท่อนนั้นๆ 

     2. Stacked Bar Chart: เมื่อทราบแล้วว่าสมาชิกแต่ละคนร้องท่อนไหน ลำดับต่อมาคือชาร์ตแสดงผลสัดส่วนที่เมมเบอร์แต่ละคนได้ร้อง (Line Distribution) ผ่าน Stacked Bar Chart ซึ่งมีวิธีการอ่านคล้ายกับแผนภูมิแท่งสมัยประถมในวิชาคณิตศาสตร์ แต่มีการแสดงสัดส่วนเพิ่มเข้ามา 

     ยกตัวอย่าง Stacked Bar Chart  ในชีวิตประจำวัน เช่น การแสดงผล Storage บนไอโฟนที่จะแสดงว่าพื้นที่ในเครื่องนี้ถูกใช้ไปกับอะไรบ้างเป็นสัดส่วน ยิ่งบาร์มีขนาดยาวแสดงว่าพื้นที่ของไอโฟนหมดไปกับสิ่งนั้นเยอะ งานชิ้นนี้ก็เช่นเดียวกัน ถ้าสัดส่วนบาร์ของสมาชิกคนไหนมีขนาดยาวแสดงว่าได้ท่อนร้องเยอะ โดยผลรวมของสมาชิกทั้ง 7 คนจะเท่ากับ 100% (ถูกคำนวณผ่านวินาทีในการร้อง) 

     ทั้งนี้ ทั้งสองเครื่องมือจะใช้ ‘สี’ ในการแทนเมมเบอร์แต่ละคนภายในวง BTS

     สีชมพู—จิน (Jin)
     สีเทา—ชูก้า (Suga)
     สีฟ้า—เจโฮป (J-Hope)
     สีกรม—อาร์เอ็ม (RM)
     สีเหลือง—จีมิน (Jimin)
     สีเขียว—วี (V)
     สีม่วง—จองกุก (Jungkook)

     คิดว่าอ่านมาถึงจุดนี้ทุกคน (อาจจะ) งงแน่นอน! เดี๋ยวจะย่อยสรุปให้อีกรอบก่อนไปอ่านงานจริง เอาแบบเพื่อนมาช่วยติวคณิตศาสตร์ก่อนเข้าห้องสอบห้านาทีสุดท้าย (ด้วยอินเนอร์ของคนที่มักจะถูกเพื่อนเรียกไปช่วยติวหน้าห้องสอบจริงๆ สมัยมัธยม) 

     นั่นก็คือในหนึ่งเพลงจะถูกอธิบายด้วยไดอะแกรมแสดงลำดับการร้องของสมาชิกแต่ละคนในท่อนต่างๆ ตามโครงสร้างของเพลง สีที่แตกต่างกันแทนด้วยสมาชิกในวงแต่ละคน แต่ว่าถ้ามีแค่ไดอะแกรมเฉยๆ จะไม่สามารถเห็นได้ว่าแต่ละคนได้ร้องเยอะหรือน้อยขนาดไหน ชาร์ตด้านล่างแสดงการแบ่งท่อนร้องของสมาชิกแต่ละคน ยิ่งร้องเยอะจะมีขนาดบาร์ที่ยาว

     ถ้าเข้าใจแล้ว ไปอ่านกันเลย!

ปี 2013: 
นายมีความฝันปะ?

     BTS เดบิวต์ด้วย No More Dream เพลงแนวฮิปฮอป ส่งผลให้อาร์เอ็ม ผู้เป็นแรปเปอร์หลักและหัวหน้าวงได้ท่อนร้องมากที่สุด เปิดด้วยท่อนอินโทรที่ให้ความรู้สึกแบบฮิปฮอปยุค 90s ท่อนเวิร์ส 1 แสดงเอกลักษณ์ของวงในช่วงปีแรกได้อย่างชัดเจนโดยการแรปและร้องด้วยจังหวะฮิปฮอปที่มีเสน่ห์ ท่อนพรีคอรัส 1 และ 2 อาร์เอ็มกลับมาร้องท่อนเดียวกับอินโทรอีกครั้ง พร้อมถามซ้ำๆ ว่า “นายมีความฝันปะ?” 

     N.O ยังคงเป็นเพลงแนวฮิปฮอปและอาร์เอ็มทำหน้าที่ร้องเปิดในท่อน Intro เหมือนเดิม เพิ่มเติมด้วยการดึงเสน่ห์ของจองกุก น้องเล็กของวงที่สามารถทำได้ทั้งร้องนำและแรปเข้ามาทำให้เพลงมีมิติมากขึ้น จบด้วย Dance Break ที่ให้จีมินเดินเหินบนหลังสมาชิกแต่ละคน

ปี 2014: 
ทำไมต้องมาเขย่าหัวใจกันแบบนี้ด้วย     

     หลังจากเปิดตัวเป็นหนุ่มฮิปฮอปไปแล้ว ปี 2014 ขอเปลี่ยนลุคมาเป็นผู้ชายแมนๆ กับเพลง Boy in Luv โดยพวกเขาได้โชว์เสน่ห์ที่แตกต่างจากสองเพลงก่อนหน้า ลดความเป็นฮิปฮอปลง เพิ่มความเป็นป๊อปแดนซ์มากขึ้น พร้อมกับบทบาทของจองกุก จีมิน และวีที่เข้ามามีท่อนร้องมากขึ้น

     ความพิเศษของเพลงนี้คือท่อนของวีที่แม้จะไม่ได้ร้องท่อนคอรัสเหมือนจองกุกและจีมิน แต่ในเพลงนี้ วีได้ท่อน Refrain ซึ่งทำหน้าที่ร้องซ้ำๆ ให้ติดหู ถ้าพูดถึงเพลงนี้เชื่อว่าทุกคนต้องนึกถึงท่อน “ทำไมต้องมาเขย่าหัวใจกันแบบนี้ด้วย” ของวีแน่นอน

     BTS ต่อยอดความสำเร็จด้วยการปล่อย Danger ออกมา คราวนี้ถึงตาจีมินเป็นคนที่ได้ท่อนร้องเยอะที่สุด โดยได้ร้องท่อนพรีคอรัสทั้งสองท่อนคู่กับจิน ได้ร้องท่อนคอรัสกับจองกุกและวี สุดท้ายยังได้ท่อน Refrain คู่กับวีอีกด้วย เท่ากับว่าทุกท่อนที่เป็นท่อนร้องจะมีเสียงจีมินตลอดทั้งเพลง

ปี 2015: 
ยินดีต้อนรับ นี่คือครั้งแรกของคุณกับบังทันใช่ไหมครับ?

     I Need U เป็นเพลงที่ทำให้ BTS เป็น BTS ในทุกวันนี้ 

     ความสำเร็จระดับโลกวันนั้นเริ่มจากเพลงแนวอิเล็กโทรป๊อป (เพลงที่ผสมความเป็นอิเล็กโทรนิกส์กับป๊อปเข้าไว้ด้วยกัน) หลังจากท่อนคอรัสของจีมิน จองกุก และอาร์เอ็มจบลงก็จะเป็นท่อนที่ปล่อยให้ดนตรีโซโล่ 

     สิ่งที่น่าสนใจของเพลงนี้คือ การนำนักร้องทั้งสี่คนของวงมาร้องท่อนบริดจ์ด้วยกัน เริ่มจากจิน วี จองกุก จบด้วยจีมิน โดยหลังจากนี้เราจะได้เห็นรูปแบบการร้องท่อนบริดจ์สี่คนแบบนี้ในอีกหลายเพลง

     ส่วน Dope คือเพลงที่ต่อยอดความสำเร็จต่อจาก I Need U เป็นเพลงอีดีเอ็มสนุกๆ ท่อนคอรัสจะเป็นดนตรีที่ให้เหล่าสมาชิกได้แสดงทักษะการเต้นแทนการร้องแบบปกติ

     Run เป็นเพลงที่ปล่อยมาในช่วงปลายปี ท่อนบริดจ์ใช้รูปแบบเหมือน I Need U แต่สลับลำดับกัน เริ่มจากวี จองกุก จิน จบด้วยจีมินและจองกุกร้องไฮโน้ต 

ปี 2016: 
ขอบคุณที่มาเป็น ‘พวกเรา’

     ปี 2016 บังทันกลับมาพร้อมเพลงแนวอีดีเอ็มแบบเต็มตัว

     Fire เปิดด้วยท่อนพูดของซูก้า ท่อนคอรัสเป็นเพลงบรรเลงและมีวีร้องประสาน ซึ่งด้วยความที่เป็นเพลงแนวอีดีเอ็มทำให้จำนวนท่อนและจำนวนนาทีที่ได้ร้องของแต่ละคนไม่ต่างกันมากเท่าไหร่

     Save me เป็นเพลงแนว Future Bass ถึงแม้จะเป็นเพลงจังหวะสนุกๆ ไม่ถึงกับชวนเต้นมากเท่าเพลงแนวอีดีเอ็ม แต่เมื่อดูความหมายแล้ว จริงๆ เพลงนี้เป็นเพลงขอบคุณแฟนคลับที่คอยช่วยบังทันในช่วงเวลาที่ลำบาก 

     สิ่งที่น่าสนใจของ Save me คือท่อนบริดจ์ที่ปกติมักเป็นท่อนแสดงทักษะการร้องของสมาชิก แต่เพลงนี้เป็นท่อนแรปโดยอาร์เอ็ม (ตอนไปดูคอนเสิร์ตถึงแม้ว่าตัวจะโยกตาม แต่มือสองข้าง ซับน้ำตาอยู่)

“ขอบคุณที่ทำให้ผมได้เป็นผมในทุกวันนี้”
“ที่ทำให้ผมบินได้”
“ที่มอบปีกให้กับผม”
“ที่คอยเป็นกำลังใจ”
“ที่ปลุกผมขึ้นมาจากความฝัน”
“ขอบคุณที่มาเป็นพวกเรา”

     ปลายปี 2016 BTSกลับมาพร้อมกับ Wings อัลบั้มเต็มลำดับที่ 2 โดยมีเพลงไตเติ้ลอย่าง Blood Sweat & Tear ที่เป็นเพลงแนวมูมบาห์ตัน (Moombahton—เป็นเพลงอีดีเอ็มประเภทหนึ่ง เป็นการผสมระหว่างเพลงแบบเฮาส์กับเร็กเกตันเข้าด้วยกัน) รูปแบบการร้องก็จะคล้ายสองเพลงก่อนหน้าคือท่อนคอรัสทั้งสามท่อนจะเป็นท่อนดนตรี

ปี 2017: 
ได้โปรดรอคอยจนกว่าฤดูใบไม้ผลิจะมาถึง 

     คนเรามักเปรียบเทียบช่วงฤดูใบไม้ผลิเหมือนการเริ่มต้นใหม่ เป็นช่วงที่ประสบความสำเร็จ เป็นช่วงเวลาที่มีความสุขของชีวิต และนอกจากต้นปี 2017 จะเป็นฤดูใบไม้ผลิของวงแล้ว ยังปล่อยเพลงที่มีความหมายเกี่ยวกับฤดูใบไม้ผลิออกมาด้วย 

     เมื่อดูจากการแบ่งท่อนร้องใน Spring Day จะเห็นว่าเจโฮปได้ท่อนร้องไปเยอะมาก โดยได้ทั้งร้องท่อนเปิดและได้แรปสั้นๆ ในท่อนคอรัส นอกจากนี้ ยังเป็นเพลงแรกของ BTS ที่ได้รับรางวัล Song of The Year จากเวที Melon Music Awards ชาร์ตเพลงที่มีผู้ใช้งานมากที่สุดของเกาหลี   

     ปลายปี 2017 BTS ก็ปล่อยเพลง DNA ออกมา เป็นเพลงแนวฟิวเจอร์เบส (Future Bass) ซาวด์ล้ำๆ ซึ่งท่อนบริดจ์ของเพลง พวกเขานำรูปแบบการร้องที่เป็นเอกลักษณ์ของวงกลับมาอีกครั้ง โดยให้สมาชิกที่เป็นนักร้องเสียงหลักมาร้องต่อกัน เริ่มจาก วี จิน จองกุก และจบด้วยจีมิน

ปี 2018: 
คุณห้ามให้ผมหยุดรักตัวเองไม่ได้หรอก

     หลังจากเป็นวัยรุ่นสดใส หนุ่มดอกไม้ตามหารักแท้มาตลอดห้าปี Fake Love ซึ่งเป็นเพลงไตเติ้ลของ Love Yourself: Tear อัลบั้มชุดที่ 3 ก็จะมาพูดถึงความรักที่ถูกหลอกลวงบ้าง

     ในบรรดาเพลงทั้งหมดที่เลือกมาทำไดอะแกรม Fake Love มีรูปแบบซับซ้อนที่สุด เริ่มต้นเพลงด้วยจังหวะช้าๆ โดยวีและจองกุก ซึ่งท่อนนี้จะถูกร้องอีกรอบโดยจีมินและจินในท่อนพรีคอรัส 1 อีกทั้งท่อนนี้ยังถูกใส่ไว้ในท่อนเอาต์โทรอีกรอบ โดยคราวนี้เอาทั้งสี่คนมาร้องด้วยกัน วีกับจีมินร้องคู่กันก่อน ตามด้วยจองกุกกับจิน เมื่อดูจากไดอะแกรมจะเห็นว่ามีลูกศรโยงอยู่จากท่อนอินโทรไปพรีคอรัส 1 และจบที่เอาต์โทร 

     นอกจากนี้ ยังมีท่อน Refrain ซึ่งทำหน้าที่ร้องซ้ำให้ติดหูของจีมินและจิน ถูกร้องอยู่ตลอดทั้งเพลง อย่างท่อน

“I’m so sick of this Fake love Fake love Fake love 
I’m so sorry but it’s Fake love Fake love Fake love”
 

     เมื่อดูจากการแบ่งท่อนจะเห็นว่าสมาชิกทั้ง 7 คนได้ท่อนที่มีระยะเวลาพอๆ กัน ไม่มีใครร้องเยอะจนเด่นเกินไป หรือไม่มีใครได้ร้องน้อยจนจมหายไปกับเพลง   

     Idol เป็นเพลงอีดีเอ็มที่ผสมดนตรีพื้นบ้านเกาหลีเกาหลีลงไป ท่อนคอรัสจึงเป็นดนตรีไม่มีเนื้อร้อง ด้วยความที่เพลงมีจังหวะสนุกสนานจึงเข้ากับเนื้อเสียงที่สูงของจีมิน ทำให้กลายเป็นคนที่ได้ร้องเยอะที่สุดในเพลงนี้ มาพร้อมเสียงท่อน “You can’t stop me loving myself” อันเป็นเอกลักษณ์

ปี 2019: 
พูดตรงๆ เลยนะ บางครั้งก็ทะนงในชื่อเสียงเหมือนกัน

     Boy With Luv หรือชื่อเพลงภาษาเกาหลีคือ 작은 것들을 위한 แปลเป็นไทยตรงตัวเลยว่า ‘บทกวีสำหรับสิ่งเล็กน้อย’ นอกจากจะได้ ฮาลซีย์ (Halsey) มาร่วมแจมด้วยแล้ว เพลงนี้อาร์เอ็มได้กลับมาแรปท่อนบริดจ์อีกครั้ง ซึ่งเนื้อเพลงนั้นก็เป็นการขอบคุณแฟนคลับอีกด้วย

“พูดตรงๆ เลยนะ บางครั้งก็ทะนงในชื่อเสียงเหมือนกัน
ยิ่งบินสูงขึ้น ฮอลล์คอนเสริตใหญ่ขึ้น บางครั้งผมก็อ้อนวอนขอให้ได้หนีไป
แต่ความเจ็บปวดของคุณก็คือความเจ็บปวดของผม เมื่อผมตระหนักได้ จึงสาบานกับตัวเอง
ด้วยปีกของอิคารัสที่คุณมอบให้ ผมจะไม่บินขึ้นไปหาดวงอาทิตย์ แต่จะบินไปหาคุณ จะบินไปหานะ”

     อาร์เอ็มที่เป็นคนแต่งเนื้อแรปท่อนนี้ เปรียบเทียบความรักที่แฟนคลับมอบให้เหมือนเป็นปีก โดยอิคารัสที่เขาหมายถึงคือตัวละครในตำนานกรีก-โรมัน ซึ่งได้รับปีกที่สร้างจากขนนกกับขี้ผึ้งจากพ่อ ด้วยความทะเยอทะยานว่าตัวเองสามารถบินเหนือมนุษย์คนอื่น จึงตัดสินใจบินเข้าไปใกล้ดวงอาทิตย์ แต่เมื่อยิ่งใกล้ดวงอาทิตย์ ปีกที่ทำมาจากขนนกกับขี้ผึ้งดันละลาย ทำให้สุดท้ายอิคารัสตกน้ำทะเลตาย

     แต่สำหรับอาร์เอ็มและสมาชิกของวง BTS เมื่อได้รับปีกมาจากแฟนคลับ พวกเขาจะไม่บินขึ้นไปหาดวงอาทิตย์ หรือทะเยอทะยานขึ้นไปสูงกว่านี้ แต่ขอบินหาไปคนที่มอบปีกนี้ให้แทน 

ปี 2020: 
ปลดปล่อยความสนุกสนาน
เหมือนระเบิดไดนาไมต์ด้วยดนตรีของพวกเรา 

     ปี 2020 BTS ปล่อยเพลงไตเติ้ลสามสไตล์ที่มีแนวทางแตกต่างกัน อย่าง On ซึ่งเป็นเพลงที่ดุดัน Black Swan เพลงที่แสดงความเป็นศิลปะผ่านการแสดงบนเวทีและมิวสิกวิดิโอ ส่วน Dynamite เป็นเพลงที่เข้ากับบรรยากาศในช่วงฤดูร้อน โดยเป็นเพลงภาษาอังกฤษล้วนเพลงแรกของวง มาด้วยเพลงแนวดิสโก้ และส่งให้พวกเขาโด่งดังระดับโลก โครงสร้างเพลงไม่มีอะไรซับซ้อน ถ้าอ่านมาถึงจุดนี้ผ่านไดอะแกรมยากๆ มาหมดแล้ว คงจะเข้าใจไดอะแกรมอธิบายเพลง Dynamite ได้ไม่ยาก 

ปี 2021: 
เพราะเราไม่ต้องขออนุญาตใครมาเต้น 

     ปี 2021 BTS ปล่อยเพลงภาษาอังกฤษล้วนออกมาสองเพลงคือ Butter และ Permission to Dance โดยทั้งสองเพลงมีไดอะแกรมแสดงวิธีการร้องที่เข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อนเมื่อเทียบกับเพลงในยุคแรกของวง  
เพลง Butter เป็นเพลงจังหวะฟังกี้ดิสโก้ และนำ Dance Break กลับมา ซึ่งเป็นท่อนที่ดนตรีจะเปลี่ยนไปนิดนึง และให้สมาชิกแต่ละคนออกมาเต้น ส่วน Permission to Dance เป็นเพลงป๊อปแดนซ์ ฟังสบายๆ ชวนทุกคนออกมาเต้นในช่วงฤดูร้อน

ปี 2022: 
มีความฝันหรือเปล่า 
แล้วเส้นทางนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน

     เพลงสุดท้ายของบทความนี้ Yet to Come เป็นเพลงที่มีไดอะแกรมรูปแบบการร้องน่าสนใจและสวยมาก

     ท่อนอินโทรเริ่มต้นด้วยเสียงของจองกุก วี จีมิน และจิน ท่อนดังกล่าวจะถูกร้องอีกหนึ่งครั้งตรงเอาต์โทรก่อนจบเพลง โดยสลับตำแหน่งกัน จินร้องก่อน ตามด้วยจองกุก จีมิน และวี

     ท่อนที่เพราะที่สุดของเพลงคือท่อนคอรัสที่ออกแบบวิธีการร้องสลับกันไปมาระหว่างแรปเปอร์และนักร้องของวง โดยจะแรปและร้องสลับท่อนกันไปเรื่อยๆ 

“มีความฝันหรือเปล่า แล้วเส้นทางนี้จะไปจบลงที่ตรงไหน?”
ช่วงเวลานั้นอาจจะยังมาไม่ถึง
“ทางกลางค่ำคืนที่เงียบสงัด พวกเราก็ไม่เคยหยุดนิ่ง”
ช่วงเวลานั้นอาจจะยังมาไม่ถึง
“ขอเอื้อมไปสัมผัสท้องฟ้า ก่อนพวกเราจะตายสักครั้ง”
ช่วงเวลานั้นอาจจะยังมาไม่ถึง

     นอกจากจะสร้างความสุขให้แฟนเพลงแล้ว สิบปีที่ผ่านมาวง BTS ก็ได้สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่าไอดอลรุ่นใหม่หลายต่อหลายคน ความสำเร็จของวงกลายเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ที่น่าจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์เคป๊อป 

     ขอบคุณสำหรับบทเพลงดีๆ ตลอดเวลาที่ผ่านมา และหวังว่าจะได้ยินเสียงพวกคุณไปอีกนานแสนนาน ไว้ครบรอบ 20 ปี เราจะมาทำไดอะแกรมใหม่ให้นะ 🙂 

อ้างอิง

ibighit.com/bts/kor/discography/
• koreab
oo.com/lists/bts-proof-songs-line-distributions/
• koreaboo.com/lists/line-distributions-23-bts-main-singles/
• youtube.com/watch?v=EmDRD1CyZEs&t=306s