FROM BARN TO GREENHOUSE, FROM LITERATURE TO CINEMA
ว่าด้วยการดัดแปลงเรื่องสั้นความยาวไม่กี่หน้าของ ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ ให้กลายเป็นหนังความยาวสองชั่วโมงครึ่งของ ‘อี ชางดง’
เรื่อง: ทานเกวียน ชูสง่า
ภาพ: ms.midsummer
บทความนี้ (จำต้อง) เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ Burning (2018)
“มีโรงนาอยู่มากมายในโลก และผมเกิดความรู้สึกที่ว่า โรงนาพวกนั้นกำลังรอคอยให้ถูกเผา โรงนาที่ตั้งอยู่ริมทะเล โรงนาที่ตั้งอยู่กลางทุ่ง…ยังไงดีล่ะ โรงนาทุกชนิด ที่จริงไม่ใช่อะไรเลยนอกจากสิ่งซึ่งพร้อมจะถูกเผาให้วอดวายได้ในสิบห้านาทีอย่างประณีตหมดจดงดงาม ราวกับนี่คือเหตุผลที่เขาสร้างมันขึ้นมาตั้งแต่ต้น ไม่มีใครสำนึกเสียใจ มันแค่…สาบสูญไป หนึ่ง สอง พรึ่บ” (1)
ถ้อยคำดังกล่าวมาจากเรื่องสั้น Barn Burning ของ ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) เมื่อตัวละครหนึ่งในเรื่องได้เปิดเผยความลับสำคัญให้ตัวละครอีกคนฟัง ความลับที่ว่าเขามีกิจวัตรอย่างหนึ่งคือการออกไปเผาโรงนาของชาวบ้านทุกๆ สองเดือน โรงนาเล็กๆ ที่เมื่อเผาไปแล้วจะไม่ทำให้เกิดเพลิงไหม้ลุกลามใหญ่โต โรงนาที่ถูกทิ้งให้รกร้างซอมซ่อ สถานที่ซึ่งไม่อยู่ในความสนใจของผู้คนและสังคม
ไม่ได้โกรธแค้นใครมาจากไหน เขาเพียงแต่ยืนยันว่ามันเป็นสิ่งที่สมควรทำ โรงนาคือสิ่งที่รอคอยให้ใครสักคนมาเผาทำลายให้วอดวาย และเขาเป็นเหมือนฝนที่เข้าไปซัดสาดกวาดสรรพสิ่งให้เลือนหายไปก็เท่านั้น
เรื่องสั้นดังกล่าวประกอบไปด้วยตัวละครหลักสามคน ได้แก่ ‘ผม’ ‘เธอ’ และ ‘เขา’ โดยสองคนแรกนั้นรู้จักกันมาก่อนแล้ว ทั้งคู่พบปะพูดคุยกันเดือนละครั้งสองครั้ง ก่อนที่ ‘เธอ’ จะเดินทางไปเที่ยวแอฟริกาและกลับมาพร้อมชายหนุ่มอีกคนซึ่งก็คือ ‘เขา’
จากนั้นทั้งสามคนก็นัดเจอกันอีกหลายครั้งหลายครา จนกระทั่งบ่ายวันหนึ่งที่ ‘เธอ’ กับ ‘เขา’ ตัดสินใจจะมาหา ‘ผม’ ที่บ้าน ทั้งสามจัดปาร์ตี้เล็กๆ กันแบบฉุกละหุก พูดคุยกันในบรรยากาศล่องลอยเคล้าคลอเสียงเพลงแจ๊สของ ไมลส์ เดวิส ร่วมดื่มกินทั้งไวน์ เบียร์ และสูบกัญชาซึ่งทำให้ ‘เธอ’ ฟุบหลับไปก่อนใครเพื่อน หลังจากที่เมากัญชากันจนได้ที่ ‘เขา’ ก็เริ่มเล่าเรื่องเผาโรงนาให้ ‘ผม’ ฟัง ก่อนปิดท้ายด้วยว่าโรงนาที่เขาเล็งเอาไว้ว่าจะเผาเป็นหลังต่อไปนั้นอยู่ใกล้กับบ้านของ ‘ผม’ นี่เอง
ครั้งแรกที่ อี ชางดง (Lee Chang-dong) อ่านเรื่องสั้นเรื่องนี้ เขาคิดว่าน่าสนใจดีที่ตัวเรื่องมีเพียงแค่เหตุการณ์เดียวที่ตรึงความสนใจของคนอ่านไปได้จนจบ และตอนจบของเรื่องก็ไม่คลี่คลายหรือเปิดเผยอะไรมากไปกว่านั้น
ตัวละคร ‘ผม’ คอยเฝ้าจับตาดูโรงนาทั้งห้าแห่งที่อยู่ในละแวกบ้าน ก่อนจะพบว่าไม่มีแห่งใดเลยที่ถูกเผา แม้ว่าในการพบกันครั้งต่อมาระหว่าง ‘ผม’ กับ ‘เขา’ ฝ่ายหลังจะยืนยันว่าเขาเผามันไปแล้วก็ตาม เผาอย่างหมดจดงดงามตามที่เคยบอกไว้
Barn Burning เหมือนจะเป็นอีกหนึ่งเรื่องสั้นในสไตล์ของมูราคามิที่เน้นบรรยายถึงบรรยากาศและไลฟ์สไตล์ของตัวละคร มีควันบุหรี่ มีแผ่นเสียง มีดนตรีแจ๊ส ไม่ต่างไปจากผลงานของมูราคามิเรื่องอื่นๆ แต่พอ โอ จองมี (Oh Jung-mi) อดีตลูกศิษย์ซึ่งกลายมาเป็นผู้ร่วมงานของอี ชางดง ในเวลาต่อมา (รวมถึงเป็นคนแนะนำเรื่องสั้นเรื่องนี้ให้เขาอ่าน) ออกความเห็นว่าความคลุมเครือในงานของมูราคามิเปิดช่องว่างให้คนอ่านตีความได้หลากหลาย ใช่ว่าสิ่งที่เขียนจะต้องมีความหมายตายตัวเสมอไป
โอ จองมี เห็นว่าการเผาโรงนาอาจเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อถึงการฆาตกรรมได้เหมือนกัน ดังจะเห็นได้จากตอนท้ายเรื่องที่ ‘เธอ’ หายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย คำว่าโรงนาเน่าๆ ที่ตัวละครพูดถึงจึงอาจหมายถึงชีวิตของคนคนหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจก็ได้
การเผาอาจเป็นได้ทั้งการเผาจริงๆ หรือเป็นอย่างอื่น และโรงนาก็อาจหมายถึงโรงนาจริงๆ หรือหมายถึงอย่างอื่น ช่องว่างที่เว้นไว้ให้คนอ่านตีความกันเอาเองคือสิ่งที่ดึงดูดความสนใจของอี ชางดง ทำให้เขาหยิบเอาเรื่องสั้นชิ้นนี้มาทำเป็นหนัง และเปลี่ยนฉากหลังของเรื่องจากญี่ปุ่นเป็นเกาหลี
อี ชางดง ไม่ได้มองว่าวัตถุดิบอันน้อยนิดในงานของมูราคามิเป็นอุปสรรค แต่มองว่าเรื่องสั้นที่มีแค่พล็อตและตัวละครไม่กี่ตัวชิ้นนี้สามารถนำมาขยายเพื่อรองรับบางประเด็นที่ใหญ่โตกว่านั้นได้
“แทนที่จะเอาแต่มองหาว่าอะไรที่ทำให้เรื่องราวยังไม่สมบูรณ์ ผมกลับสนใจความเรียบง่ายในการเล่าเรื่องพอๆ กับความลึกลับพิศวงในงานเขียนของมูราคามิ สิ่งนี้ดึงดูดความสนใจของผม เพราะมันเปิดช่องให้ผมนำไปพัฒนาและขยายเป็นภาพยนตร์ได้”
ก่อนจะมาเป็นผู้กำกับ อี ชางดง เคยเป็นครูและนักเขียนนิยายมาก่อน ตัวละครในหนังของเขาจึงเต็มไปด้วยรายละเอียด และมีเลือดเนื้อหนักแน่นราวกับเป็นผู้คนที่มีลมหายใจอยู่จริงๆ
ใน Poetry (2010) เขาเล่าชีวิตของคุณยายที่พยายามจะเขียนบทกวีให้ได้ทั้งที่ชีวิตกำลังล่มสลายลงไป ทั้งจากอาการอัลไซเมอร์ที่ส่งผลให้คลังคำและความทรงจำในหัวค่อยๆ สาบสูญลบเลือน และจากปัญหาที่หลานชายก่อขึ้นจากการเข้าไปมีส่วนพัวพันในเหตุฆ่าตัวตายของวัยรุ่นคนหนึ่ง ซึ่งส่งผลให้เธอต้องเข้ามารับผิดชอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หรือใน Secret Sunshine (2007) เขาเล่าเรื่องของแม่คนหนึ่งที่แตกสลายย่อยยับจากการสูญเสียลูกชายไปเพราะเหตุการณ์ลักพาตัว และเริ่มหันไปพึ่งพาความศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจ ก่อนจะตั้งคำถามว่าการตัดสินใจของพระองค์นั้นยุติธรรมจริงไหม เมื่อเธอพบว่าคนร้ายที่ก่อเหตุก็มีความศรัทธาต่อพระเจ้าดุจเดียวกัน และเขาบอกเธอว่าพระผู้เป็นเจ้าให้อภัยแก่ความผิดของเขาแล้ว
ขณะที่ตัวละครของอี ชางดง ล้วนแล้วแต่หนักแน่นสมจริง และเต็มไปด้วยมิติความเป็นมนุษย์ ตัวละครของฮารูกิ มูราคามิ ก็เป็นเสมือนด้านตรงข้าม
อาจเพราะการที่เคยเปิดบาร์แจ๊สมาก่อนทำให้เขาเขียนหนังสือเหมือนกำลังบรรเลงดนตรี ภูมิหลังหรือเจตจำนงของตัวละครไม่ใช่สิ่งสำคัญ เพราะเรื่องราวที่เขาเล่าไม่ได้เรียกร้องต้องการสิ่งใดมากไปกว่านั้น ตัวละครใน Barn Burning ถูกเล่าเพียงแค่ว่าเป็นนักเขียน นางแบบโฆษณา และคนที่ทำงานเกี่ยวกับการค้า (จากปากคำของตัวละครเอง) อาชีพที่อาจกล่าวได้ว่าไม่มีผลกับเรื่องราวเท่าไรนัก โรงนาสามารถถูกเผาได้อยู่ดีต่อให้เราเปลี่ยนวิชาชีพของพวกเขาเป็นอย่างอื่น
เมื่อธรรมชาติในการเล่าเรื่องต่างกัน สิ่งแรกที่อี ชางดง ทำในการดัดแปลงงานของมูราคามิจึงเป็นการเติมมิติและรายละเอียดให้แก่ตัวละคร จากที่ทั้งสามล้วนเป็นชนชั้นกลางฐานะมั่นคง อี ชางดง เปลี่ยนให้สองในสามกลายเป็นคนชั้นล่าง กล่าวคือเป็นชนชั้นแรงงาน ผู้คนที่ปากกัดตีนถีบและต้องดิ้นรนในการใช้ชีวิต ภูมิหลังของตัวละครที่เปลี่ยนไปขับเน้นให้เรื่องราวเข้มข้นกดดันมากขึ้น รวมถึงเปิดโอกาสให้อี ชางดง สอดแทรกประเด็นทางสังคมที่เขาอยากจะเล่า เรื่องราวความเดือดดาลคับแค้นของคนหนุ่มสาว และความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นของสังคมเกาหลีในช่วงเวลานั้น
“คนหนุ่มสาวชาวเกาหลีต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก พวกเขาได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง พวกเขาไม่อาจมีความหวังกับสถานการณ์ในปัจจุบัน อีกทั้งมองไม่เห็นเลยว่าอนาคตจะดีขึ้นได้ยังไง การไม่สามารถตั้งเป้าหมายใดๆ ให้กับชีวิตได้เลยทำให้พวกเขารู้สึกโกรธแค้น พวกเขารู้สึกว่าตัวเองไร้อำนาจ
“ฉากหลังในเรื่องสั้นของมูราคามิเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่น แต่ก็เหมือนกับงานชิ้นอื่นๆ ที่เขาไม่ได้เขียนรายละเอียดเฉพาะเจาะจงเท่าไรนัก ผมจึงคิดว่ามันไม่ได้ยากอะไรที่จะเปลี่ยนให้เรื่องมาเกิดขึ้นในเกาหลี อันที่จริง ผมคิดว่าเปลี่ยนเรื่องให้ไปเกิดขึ้นที่ไหนในโลกก็ได้เหมือนกัน”
Burning ในเวอร์ชั่นของอี ชางดง เล่าผ่านมุมมองของ จงซู (รับบทโดย ยู อาอิน) ชายหนุ่มผู้มีพื้นเพเป็นลูกเกษตรกรจากต่างจังหวัด เขาอยากเป็นนักเขียนแต่ยังไม่รู้ว่าจะเขียนอะไร ได้แต่ทำงานพาร์ตไทม์ส่งของเพื่อหาเลี้ยงชีพ เช่นเดียวกับเพื่อนสมัยเด็กของเขาที่เข้ามาทำงานในเมืองหลวงอย่าง แฮมี (รับบทโดย จอน จงซอ) เด็กสาวที่พยายามดิ้นรนขยับสถานะพาตัวเองขึ้นไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า ทั้งคู่พบกันอีกครั้งในวันที่จงซูเข้าเมืองไปส่งของให้ร้านเสื้อผ้าในเมือง แฮมีทำงานเป็นพริตตี้อยู่ที่ร้านนั้น แต่เขาจำเธอไม่ได้เพราะเธอไปทำศัลยกรรมมา
เธอชวนเขาไปดื่ม ชวนเขาไปที่ห้องและมีเซ็กซ์ เธอบอกว่าเก็บเงินมาได้สักพักแล้วและกำลังจะไปแอฟริกา ขอให้เขาช่วยเลี้ยงแมวที่ห้องให้หน่อยในช่วงที่เธอไม่อยู่ หลายเดือนผ่านไป เธอกลับมาพร้อม เบน (รับบทโดย สตีเวน ยอน) ชายหนุ่มอีกคนที่เจอกันตอนติดอยู่ในสนามบินไนโรบี ทั้งสามคนได้พบเจอกันหลายครั้ง ก่อนที่แฮมีจะชวนเบนไปที่บ้านของจงซู ซึ่งนำไปสู่บทสนทนาเรื่องการเผาในที่สุด
อี ชางดง ทั้งขยายและเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในงานของมูราคามิ เช่น จากที่อายุห่างกันสิบปีในเรื่องสั้น เขาเปลี่ยนอายุของตัวละครให้เป็นรุ่นราวคราวเดียวกัน รวมถึงเปลี่ยนสถานะความสัมพันธ์ของตัวละครให้มีกลิ่นอายความเป็นรักสามเส้ามากขึ้น นอกจากนั้น รายละเอียดของตัวละครที่เคยเว้าแหว่งยังถูกถมให้หนักแน่นกว่าเดิม ด้วยภาษาภาพยนตร์ที่เขาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อแสดงให้เห็นในสิ่งที่หนังสือไม่อาจทำได้
ความแตกต่างทางชนชั้นของตัวละครปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนในหลายๆ ฉาก ทั้งรถบรรทุกคันเก่าสนิมเกรอะกรังของจงซูที่จอดติดกับรถสปอร์ตคันหรูของเบน อพาร์ตเมนต์ของเบนที่แสนจะโอ่อ่ากว้างขวางเปรียบเทียบกับห้องเช่าอันคับแคบของแฮมี หรือเปรียบเทียบกับบ้านอันซอมซ่อในชนบทของจงซูที่อยู่ไม่ไกลจากพรมแดนเกาหลีเหนือจนสามารถได้ยินเสียงตามสายของโฆษณาชวนเชื่อที่ดังก้องมาจากอีกฝั่ง
มิติทางชนชั้นยังสะท้อนให้เห็นผ่านไดอะล็อกของตัวละคร จงซูบอกว่าเบนเป็นเหมือนกับ แกตสบี้ ตัวละครในนวนิยาย The Great Gatsby ของ เอฟ. สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F. Scott Fitzgerald) ซึ่งเป็นคนหนุ่มที่ร่ำรวยล้นฟ้า แต่เราไม่รู้หรอกว่าเขาทำงานทำการอะไร เบนคือด้านตรงข้ามของเขาแทบทุกอย่าง ทั้งมุมมองความคิดและสถานะทางสังคม และเมื่อเบนถามจงซูว่าใครคือนักเขียนคนโปรด จงซูตอบว่า วิลเลียม โฟล์คเนอร์ (William Faulkner) เพราะอ่านงานของโฟล์คเนอร์ทีไร เขาก็รู้สึกเหมือนได้อ่านเรื่องราวชีวิตของตัวเอง
โฟล์คเนอร์เคยเขียนเรื่องสั้นชื่อ Barn Burning เช่นเดียวกับมูราคามิ (บางความเห็นบอกว่าเรื่องสั้นของโฟล์คเนอร์เป็นต้นทางให้งานเขียนของมูราคามิอีกที) แต่ในขณะที่ตัวละครของมูราคามิเผาโรงนาอย่างเพลิดเพลินเริงรมย์ ตัวละครของโฟล์คเนอร์กลับเผาโรงนาด้วยความโกรธแค้น
เรื่องสั้นของโฟล์คเนอร์เล่าถึงชาวนาที่เผาทำลายโรงนาของเจ้าของเพื่อระบายความอัดอั้นเรื่องชนชั้น และลูกชายที่ตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนกับการเป็นพยานรู้เห็นในอาชญากรรมของพ่อ แต่ต้องขึ้นให้การเพื่อปกป้องคนในครอบครัว
อี ชางดง หยิบรายละเอียดในงานชิ้นนี้ของโฟล์คเนอร์มาใส่ในหนัง เขาเขียนให้พ่อของจงซูไปก่อเหตุทำร้ายร่างกายเพื่อนบ้าน ทำให้จงซูต้องตกอยู่ในภาวะกระอักกระอ่วนไม่ต่างกัน เพื่อเป็นภาพสะท้อนของไดอะล็อกดังกล่าว เพราะในขณะที่เบนเหมือนหลุดออกมาจากงานเขียนของฟิตซ์เจอรัลด์ ตัวละครอย่างจงซูก็เหมือนหลุดออกมาจากงานของโฟล์คเนอร์
นอกจากนั้น อี ชางดง ยังเปลี่ยนโรงนา (Barn) ในหนังสือให้เป็นเรือนเพาะชำ (Greenhouse) เพื่อขับเน้นประเด็นเรื่องชนชั้นที่เขาต้องการจะเล่า โรงนาอาจถูกปล่อยทิ้งให้รกร้างได้ แต่เรือนเพาะชำนั้นไม่ใช่ เพราะเต็มไปด้วยเมล็ดพันธุ์ที่กำลังเติบโตงอกงาม เต็มไปด้วยความหวังของชนชั้นล่างที่อาจไม่ได้มีเวลาพอจะคิดใคร่ครวญเรื่องความฝันใฝ่อย่างที่ชนชั้นกลางมี
การเผาทำลายในเรื่องสั้นของมูราคามิถูกขยายจากการกระทำของปัจเจกให้กลายเป็นการปะทะกันระหว่างชนชั้น การเผาทำลายที่อาจเป็นเพียงการละเล่นเพื่อความเพลิดเพลินของชนชั้นสูงอาจหมายถึงความสูญเสียแทบสิ้นเนื้อประดาตัวของผู้คนในอีกชนชั้น
แต่อย่างที่บอกว่าโรงนาหรือเรือนเพาะชำอาจมีความหมายตรงตัว หรือมีความหมายแฝงอย่างอื่นก็ได้ Burning จึงเป็นหนังที่เต็มไปด้วยสัญญะให้ต้องขบคิดตีความ และความสนุกของหนังก็คือมันไม่ได้มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัวเพียงคำตอบเดียว
เราอาจจะอ่านความหมายผิด ตีความพลาด สิ่งที่เราคิดอาจจะผิดไปจากที่คนทำหนังตั้งใจจะสื่อสารก็ได้ แต่ใช่ว่าสิ่งที่อ่านผิดไปนั้นจะไม่น่าสนใจ หรือสมควรถูกลบไปจากกระดาน เพราะสำหรับอี ชางดง แล้ว หนังไม่จำเป็นต้องมีคำตอบเดียว
“ผมไม่เคยเสนอทางออกหรือมอบคำตอบใดๆ สิ่งที่ผมต้องการคือการถามคำถาม” เขาว่า “สำหรับผมแล้วมันดูเหมือนว่าภาพยนตร์ในยุคนี้พยายามจะเล่าเรื่องให้ง่ายที่สุดเข้าไว้ เพราะคนดูเหมือนจะต้องการแบบนั้น แต่ผมอยากจะสวนกระแสด้วยการทำหนังที่โยนคำถามใส่คนดูอย่างไม่รู้จบ คำถามเกี่ยวกับโลกอันซับซ้อนใบนี้ และหนังเรื่องนี้คือผลลัพธ์ของการทดลองที่ว่า”
หมายเหตุ
(1) ประโยคนี้คัดลอกมาจากเรื่องสั้น มือเพลิง ของฮารูกิ มูราคามิ แปลโดย วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา จากหนังสือ เส้นแสงที่สูญหาย เราร้องไห้เงียบงัน จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กำมะหยี่
อ้างอิง
• pen-online.com/culture/filmmaker-lee-chang-dong-adapts-a-short-story-by-murakami/
• lwlies.com/interviews/lee-chang-dong-burning/
• hollywoodreporter.com/movies/movie-news/oscars-interview-lee-chang-dong-burning-1167869/
• criterion.com/current/posts/6185-big-bad-world-a-conversation-with-lee-chang-dong
• mubi.com/notebook/posts/mysterious-elements-lee-chang-dong-discusses-burning
• moviemaker.com/interview-with-lee-chang-dong/
• hothouselitjournal.com/2022/02/24/from-barns-to-greenhouses-adapting-murakami-in-burning/
• glasgowfilm.org/latest/programmeNotes/burning
• .youtube.com/watch?v=fjAiEEDuFok
• youtube.com/watch?v=3V8-PbBmdBA
• en.wikipedia.org/wiki/Burning_(2018_film)