Wed 30 Nov 2022

SOCCER MANGA

จาก ‘Captain Tsubasa’ สู่ ‘Blue Lock’ การ์ตูนสร้างประวัติศาสตร์ฟุตบอลแห่งญี่ปุ่น

ภาพ: ms.midsummer

     บอกก่อนว่าขณะกำลังเขียนต้นฉบับคอลัมน์นี้ ญี่ปุ่นเพิ่งเอาชนะเยอรมนีไป 2-1 ในการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 รอบแบ่งกลุ่ม กลุ่ม E จึงเป็นจังหวะดีที่จะกล่าวถึงการ์ตูนสองเรื่องที่เรียกว่ามีอิทธิพลกับซอกเกอร์ญี่ปุ่นมากๆ (ขออนุญาตไม่เรียกว่า ‘ฟุตบอล’ แต่เรียก ‘ซอกเกอร์’ ตามต้นฉบับภาษาญี่ปุ่นที่จะเรียกกีฬาชนิดนี้ด้วยภาษาอังกฤษแบบอเมริกัน)

Captain Tsubasa

     ถ้าจะพูดถึงการ์ตูนซอกเกอร์ในญี่ปุ่น จะไม่พูดถึงเรื่อง Captain Tsubasa คงไม่ได้ เพราะเป็นการ์ตูนซอกเกอร์ระดับตำนาน 

     ก่อนหน้าที่การ์ตูนเรื่องนี้จะเผยแพร่สู่สาธารณชนในปี 1981-1988 (ภาคแรกเวอร์ชั่นต้นฉบับ) ซอกเกอร์ยังเป็นแค่กีฬาพื้นๆ ที่ไม่ฮิตอะไร เพราะกีฬายอดนิยมในประเทศญี่ปุ่นคือเบสบอล แต่พอหลังจาก Captain Tsubasa ออกมาสู่สายตาผู้อ่านและผู้ชม ก็เขย่าวงการซอกเกอร์ประเทศญี่ปุ่น มีแฟนคลับเกิดขึ้นทั้งในและนอกประเทศอย่างมาก สร้างความสนใจต่อกีฬาซอกเกอร์เป็นวงกว้าง และเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีอิทธิพลนำไปสู่การก่อตั้ง Japan Professional Football League (J.League) หรือการแข่งขันฟุตบอลอาชีพของญี่ปุ่นในปี 1991 เลยทีเดียว

     Captain Tsubasa มีความแหวกขนบจากการ์ตูนกีฬาเรื่องอื่นๆ เนื่องจากก่อนหน้านั้นการ์ตูนกีฬาจะฮิตแนวสู้เพื่อชีวิต คือเนื้อเรื่องจะต้องมีการฝึกซ้อมสุดโหด ตัวเอกยอมทิ้งทุกอย่างเพื่อกีฬาที่ตนใฝ่ฝัน ออกแนวเครียดๆ ทุ่มเทๆ แต่ Captain Tsubasa เลือกจะเสนออีกมุมคือ ‘ความสนุกของกีฬา’ และ ‘มิตรภาพของเพื่อนร่วมวงการ’ 

     ‘ลูกบอลนั้นคือเพื่อน’ คือคติพจน์ประจำใจของเหล่าตัวละครใน Captain Tsubasa โดยการ์ตูนเรื่องนี้มีจุดขายที่ความสดใส เน้นมิตรภาพอันอบอุ่น ตัวละครมีทั้งความสนุกและความสุขในการเล่นซอกเกอร์ 

     นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการเล่นซอกเกอร์เป็นทีม โดยมี ‘ซึบาสะ’ เป็นศูนย์รวมใจของตัวละครทุกตัวในเรื่อง รวมทั้งยังมีท่าไม้ตายเท่ๆ (ที่ในภาคแรกๆ ยังไม่เหนือมนุษย์จนเกินไปนัก) ซึ่งประเด็นเรื่องทีมเวิร์กนี้ก็เข้ากับนิสัยใจคอของชาวญี่ปุ่นที่เป็นชาติพันธุ์ซึ่งให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ตัวเองสังกัดอย่างมาก

     Captain Tsubasa จึงถือเป็นตำนานแห่งการ์ตูนซอกเกอร์ญี่ปุ่น มีนักเตะทั้งในและนอกประเทศญี่ปุ่นที่มีการ์ตูนเรื่องนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กลายเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และพยายามฝึกท่าไม้ตายบางท่าในเรื่องด้วย แม้แต่ชื่อซึบาสะ ก็กลายเป็นชื่อฮิตที่คนญี่ปุ่นในยุคใกล้ๆ กันนิยมเอามาตั้งชื่อลูก ถ้าบังเอิญเจอคนญี่ปุ่นคนไหนที่ชื่อว่าซึบาสะ ก็ให้สงสัยไว้เลยว่าผู้ปกครองของเขาน่าจะเป็นแฟนการ์ตูนเรื่องนี้แน่นอน

Blue Lock

     Blue Lock เป็นการ์ตูนซอกเกอร์ชื่อดังอีกเรื่อง แต่แย้งกับ Captain Tsubasa ในทุกประเด็น

     ในขณะที่ Captain Tsubasa เน้นความเป็นทีม Blue Lock เน้นความเป็นปัจเจกบุคคลแบบช่างหัวทีม 

     ความสนุกสดใสใน Captain Tsubasa ก็ตรงข้ามกับ Blue Lock ที่แข่งกันแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน 

     ความเป็นทีมเวิร์กใน Captain Tsubasa ก็ไม่เหลือให้เห็นเพราะ Blue Lock เน้นว่าซอกเกอร์เป็นกีฬาที่เล่นคนเดียว คนทำแต้มเท่านั้นที่ควรได้รับคำชื่นชม 

     ด้วยเหตุนี้ Blue Lock เลยได้รับการขนานนามจากนักอ่านและนักวิจารณ์ว่าเป็น ‘การ์ตูนซอกเกอร์ที่วิปลาสที่สุดในประวัติศาสตร์’

     การ์ตูนเรื่องนี้ตีพิมพ์ตั้งแต่ปี 2018 จนกระทั่งปัจจุบันก็ยังไม่จบ เนื้อเรื่องเป็นเหตุการณ์สมมติเล่าเรื่องคู่ขนานกับโลกความจริง คือหลังจากฟุตบอลโลกสิ้นสุดลงในปี 2018 และญี่ปุ่นทำได้เพียงเข้ารอบ 16 ทีมสุดท้าย หน่วยงานที่ชื่อว่า Japanese Football Union ก็มีโครงการที่จะปั้นสไตรเกอร์ (ศูนย์หน้า) ระดับโลกขึ้นมาภายใต้โครงการ Blue Lock ซึ่งเป็นโครงการบ้าคลั่งอย่างที่สุด คือรวมนักซอกเกอร์เยาวชนที่มีพรสวรรค์จากทั่วประเทศญี่ปุ่น 300 คนมากินนอนใช้ชีวิตในอาคารที่เรียกว่า Blue Lock จากนั้นก็ต้องเข้าโปรแกรมฝึกฝนด่านต่างๆ และความโหดคือ หากใครที่ไม่ผ่านในแต่ละด่าน จะต้องสูญเสียสิทธิ์ในการเล่นซอกเกอร์ทีมชาติญี่ปุ่นไปตลอดชีวิต เรียกว่าเป็นการ ‘ตาย’ จากวงการซอกเกอร์ญี่ปุ่นก็ว่าได้ 

     ที่สำคัญ โครงการนี้จะคัดให้เหลือเพียงคนเดียวที่จะวิวัฒนาการกลายเป็นสุดยอดสไตรเกอร์หลังจากเอาชีวิตรอดในโครงการ Blue Lock ไปได้

     ธีมที่เรื่อง Blue Lock เน้นอย่างมากคือ ‘อีโก้’ เพราะการจะเป็นสไตรเกอร์นั้น ทีมเวิร์กไม่สำคัญเท่าอีโก้ของตัวเอง ต้องมีอีโก้ มีความกระหายประตูอย่างมาก และแคร์เพื่อนในทีมให้น้อยที่สุด เน้นการเล่นเดี่ยวแบบเน้นความเป็นปัจเจกบุคคลขั้นสูงสุด เพื่อนทุกคนในทีมคือศัตรู ทำทุกอย่างเพื่อล่าประตูให้ได้ก็พอ ดังนั้น ผู้คุมโครงการ Blue Lock จึงมีชื่อว่า ‘เอะโกะ จิมปะชิ’ โดยคำว่า ‘เอะโกะ’ เป็นการเล่นเสียงกับคำว่าอีโก้ในภาษาอังกฤษ ให้เห็นชัดๆ กันไปเลยว่าผู้คุมคนนี้คือศูนย์รวมแห่งอีโก้ทั้งปวงไว้ในตัวเอง ฝึกนักเตะด้วยวิธีที่ไม่แคร์โลกทั้งใบว่าใครจะว่าเหี้ยมโหดไร้มนุษยธรรมเพียงใด

     Blue Lock ยังมีการจิกกัดเรื่อง Captian Tsubasa ผ่านบทพูดที่ว่า “บอลน่ะไม่ใช่เพื่อนหรืออะไรทั้งนั้น เป็นแค่ไอ้เบ๊ลูกกลมๆ ที่มีไว้ให้ฉันสร้างผลงานเด่นๆ เท่านั้นเอง” 

     นอกจากนี้ ยังมีการจิกกัดวงการเบสบอลตอนที่เอะโกะพยายามอธิบายถึงลักษณะนิสัยของคนญี่ปุ่นว่า 

     “เบสบอลคือกีฬาที่เล่นเป็นทีม และแบ่งหน้าที่ชัดเจนว่าใครต้องทำอะไร จึงเข้ากับนิสัยของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดีที่ชอบทีมเวิร์กแบบไม่ต้องคิดอะไรมากและไม่มีการปะทะกันของร่างกายในการแข่งอีกด้วย แต่กับซอกเกอร์ที่ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัวสูงมาก แม้จะมีการแบ่งตำแหน่ง แต่ทุกคนก็สามารถยิงประตูได้ และต้องมีการปะทะกันแรงๆ ในสนามบ่อยๆ ดังนั้นคนญี่ปุ่นจึงไม่มีวันเก่งซอกเกอร์”

     เรียกว่าขยี้ได้แบบไม่กลัวเสียงประณามจากแฟนกีฬาเบสบอล และแฟน ๆ Captain Tsubasa กันเลยทีเดียว

     แม้ว่า Captain Tsubasa กับ Blue Lock จะเป็นการ์ตูนซอกเกอร์คนละแนวกันอย่างสิ้นเชิง โดย Captain Tsubasa เน้นความจริงว่าคนญี่ปุ่นเป็นชาติพันธุ์ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มที่ตัวเองสังกัดอย่างมาก หรือที่ในวงวิชาการเรียกลักษณะนี้ว่า Collectivism ในขณะที่ Blue Lock เน้นความเป็นปัจเจกที่เรียกว่า Individualism ซึ่งเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกับนิสัยดั้งเดิมของคนญี่ปุ่นอย่างสุดโต่ง 

     อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธได้ยากว่า ทั้งสองเรื่องต่างเป็นการ์ตูนซอกเกอร์ที่ทรงอิทธิพลกับสังคมญี่ปุ่นและสังคมระดับโลกอย่างมาก โดยเฉพาะ Captain Tsubasa ที่มีประวัติศาสตร์คือเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ผลงานมานานจนกระจ่างชัด พวกเราเองก็ได้แต่เฝ้ามองว่า Blue Lock จะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทีมชาติญี่ปุ่นและสังคมญี่ปุ่น รวมทั้งวงการซอกเกอร์ทั่วโลกได้มากน้อยเพียงใด 

     และจะทำได้เหมือนที่ Captain Tsubasa เคยทำสำเร็จหรือไม่

อ้างอิง

• Hofstede, G., Hofstede, G. J., & Minkov, M. (2010). Cultures and Organizations: Software of the Mind: Intercultural Cooperation and Its Importance for Survival. (3rd ed.). McGraw-Hill.
• Makino, S. (1996). The Study of Culture of In-Group and Out-Group [Uchi to Soto no Gengo-Bunka]. ALC.