Tue 29 Jun 2021

CHINESE SECRET SOCIETY

อ่านความหมายของ ‘อั้งยี่’ คำจีนที่คนจีนไม่รู้จัก แต่คนไทยเอามาใส่ในกฎหมาย

ภาพ: 24celsiusc

     “มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร…” 

     ในช่วงเจ็ดปีให้หลัง หรือจากรัฐประหารปี 2557 เป็นต้นมา ข้อหา ‘อั้งยี่-ซ่องโจร’ ถูกฟื้นคืนมาใช้กล่าวหาเพื่อดำเนินคดีทางการเมืองกับผู้หนึ่งผู้ใดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

     หลายครั้งที่ได้ยินได้ฟังก็นึกขำ ในแง่ที่ว่า นอกจาก ‘อั้งยี่’ จะเป็นคำที่ให้ความหมายกำกวม ฟังดูออกจะคร่ำครึล้าสมัยที่สุดแสนจะจีนแล้ว กว่านั้นยังเป็นคำจีนที่ถูกบัญญัติไว้ในกฎหมายไทย คำนี้จึงน่าสนใจขึ้นมา 

     จะว่าไปก็ได้ยินบ่อยเข้าจนคล้ายจะเข้าใจความหมาย แต่มันเป็นอย่างนั้นจริงหรือ 

     หากนิยามว่า “อั้งยี่คือพวกซ่องสุ่มกำลังโจร มั่วสุมรวมคนตั้งแต่สองคนขึ้นไป” ก็คงจะเป็นการเหมารวมไปหน่อย

     เช่นนั้นแล้ว อั้งยี่มาจากอะไร ทำไมคำโบราณที่ทั้งคนจีนและไทยต่างก็ไม่แน่ใจในความหมายนี้ยังถูกตราไว้เป็นข้อกฎหมายไทยที่ใช้กันเกร่อในปัจจุบัน 

อั้งยี่ในพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน

     พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายของอั้งยี่ไว้สองความหมาย 

     ความหมายแรก อั้งยี่ (คำนาม) สมาคมลับของคนจีน และความหมายที่สอง (กฎ) เป็นฐานความผิดอาญา ที่ผู้กระทำเข้าเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย 

     ถ้ารู้ความหมายแล้ว แต่ยังเข้าใจไม่กระจ่าง #เราคือเพื่อนกัน ชวนเลื่อนสายตาลงสู่บรรทัดถัดไป

อั้งยี่ในนิยามของกฎหมาย

     ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 บัญญัติไว้ว่า 

     “มาตรา ๒๐๙ ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และปรับไม่เกินหนึ่งแสนสี่หมื่นบาท 

     ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท”

     iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมาย​ประชาชน) ยังระบุอีกว่า “ในช่วงก่อนการรัฐประหารไม่พบว่ามีการดำเนินคดีข้อหาอั้งยี่กับกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ส่วนกลาง หากเป็นการชุมนุมทางการเมืองจะใช้ ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 และมาตรา 216 การมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองเสียมากกว่า ส่วนมากข้อหาอั้งยี่จะถูกใช้กับผู้มีอิทธิพลที่ทำธุรกิจผิดกฎหมาย เช่น ปล่อยเงินกู้ เปิดบ่อนพนัน เป็นต้น และกลุ่มที่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่มากอีกกลุ่มหนึ่ง ก็คือ ผู้ต้องหาคดีความมั่นคงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มักจะถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงโดยพ่วงข้อหาอั้งยี่เข้าไปด้วยเสมอ” 

     แล้วหลังรัฐประหาร ใครบ้างที่ถูกตั้งข้อหาอั้งยี่ ลองไล่ดูจากรายชื่อก็น่าจะคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เช่น คดีวัดพระธรรมกาย คดีแนวร่วม กปปส. พระพุทธอิสระ และล่าสุดคือ กลุ่มวีโว่ กลุ่มคนเหล่านี้ล้วนถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานอั้งยี่ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 ทั้งสิ้น

     ข้างต้นคืออั้งยี่ในตัวบทกฎหมาย ชวนไปดูอั้งยี่ที่เป็นตัวบท ‘นอกกฎหมาย’ กันบ้าง

อั้งยี่ = สมาคมลับ?

     อั้งยี่ ทั้งในแง่ของคำและคนมีที่มาพร้อมกับที่ชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มอพยพเข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งผู้คนต่างเข้าใจว่าเป็นคำใช้เรียกชาวจีนผู้มีอิทธิพลที่ก่อตั้งเป็นสมาคมที่อยู่นอกกฎหมาย เพื่อใช้จัดการดูแล รวมถึงแสวงหาผลประโยชน์กันเองในกลุ่มคนจีนอพยพที่เข้ามาเป็นแรงงาน และค้าขายในประเทศไทย มีการปกครองกันด้วยระเบียบและกฎที่ตั้งขึ้นกันเองในแต่ละสมาคมนั้นๆ 

     คนจีนที่อพยพเข้ามาล้วนเป็นแรงงานนอกกฎหมาย ส่วนคนจีนที่มาอยู่ก่อนหน้า พอเริ่มตั้งตัวได้ ก็ชวนกันก่อตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อเป็นที่พึ่งและปกครองคนที่เพิ่งเข้ามาใหม่ ด้วยความที่ทั้งหมดล้วนเป็นคนนอกกฎหมาย จึงต้องตั้งกฎหมู่ขึ้นเพื่อปกครองกันเองภายในสมาคม

     เมื่อแต่ละสมาคมเริ่มเกิดความขัดแย้งกันเอง จนประชาชนที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ รัฐไทยจึงออกกฎหมายเพื่อปราบปรามการกระทำอันมิชอบนี้ ตอนนั้นเองที่อั้งยี่ถูกบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษรในกฎหมายไทยครั้งแรกในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 ช่วง ร.ศ.116 หรือ พ.ศ. 2441 คือ พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการกระทำในลักษณะอั้งยี่ ร.ศ.116 

     ต่อมาเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 การกระทำในลักษณะอั้งยี่ได้พัฒนาเป็นประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 209 

     แม้จะมีการแก้ไขมาตราอื่นกี่ครั้ง ข้อหาอั้งยี่ก็ยังคงอยู่

จากอั้งยี่นอกระบบ สู่ร่มพระบรมโพธิสมภาร

     ถ้าจะยกอั้งยี่ชื่อดังมาสักคน ก็คงไม่พ้นที่จะผายมือไปยัง พระอนุวัติราชนิยม (ฮง เตชะวณิช) หรือที่คุ้นหูกันในนาม ยี่กอฮง เขาคือหัวหน้าอั้งยี่ที่ก่อร่างสร้างตัวจนเป็นนายอากรผู้ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ในสมัยรัชกาลที่ 6 

     ยี่กอฮง เริ่มจากการเป็นพ่อค้า ประกอบธุรกิจทั้งถูกและผิดกฎหมาย เมื่อค้าขายจนมั่งคั่งแล้วก็หาทางเอาตัวรอดได้อย่างที่คุณคงพอจะจินตนาการออก คือเขาเจียดเงินบางส่วนให้กับรัฐในนามของการบริจาค สร้างสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น โรงเรียนเผยอิง โรงเรียนโยธินบูรณะ สะพานฮงอุทิศ โรงพยาบาลเทียนฟ้า ไปจนถึงเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง และเขายังมีส่วนในการรณรงค์หาเงินเข้าสภากาชาดไทยเป็นจำนวนมาก รวมถึงการบริจาคเงินส่วนหนึ่งเพื่อสร้างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 

     จะเห็นได้ว่าจากสถานะหัวหน้าอั้งยี่ ก็สามารถเข้ามาอยู่ในอ้อมกอดของเจ้านายได้เช่นกัน หากผู้นั้นมีเงินจำนวนมากและกระทำการในสิ่งที่เรียกว่า ‘คุณงามความดี’ มอบแก่รัฐ

     สิ่งที่ซับซ้อนย้อนแย้งกว่านั้น คือเมื่อยี่กอฮง นักธุรกิจนอกกฎหมายผู้นี้เสียชีวิตลง รูปเคารพของเขากลับถูกตั้งเป็นศาลเจ้า ตระหง่านอยู่บนดาดฟ้าของสถานีตำรวจพลับพลาไชย (ลองนึกถึงการมีอนุสาวรีย์เจ้าของบ่อนหรือเจ้ามือหวยคนดังตั้งอยู่บนสถานีตำรวจ) ด้วยเหตุว่าครอบครัวของเขาได้บริจาคที่ดินซึ่งเดิมเป็นบ้านพักอาศัยส่วนตัวให้กับทางการ โดยหลวงอดุลเดชจรัส ผู้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในขณะนั้น นำที่ดินบริเวณดังกล่าวมาสร้างโรงพักพลับพลาไชย แทนโรงพักสามแยกที่ไฟไหม้ไป

     มิหนำซ้ำในปัจจุบัน ศาลยี่กอฮงเป็นที่เคารพสักการะอย่างมาก ในช่วงวันที่ 1 และ 16 ของทุกเดือน มีคนเข้าไปสักการะอย่างล้นหลาม บ้างเข้าไปกราบไหว้ขอเลขขอหวย บ้างนิยมยี่กอฮงถึงกับผลิตเหรียญขึ้นมาห้อยบูชา เรียกได้ว่าจากหัวหน้าอั้งยี่ที่ถูกเดียดฉันท์ กลายมาเป็นเจ้าพ่อหวยแห่งสยามประเทศ ถูกอวยยศเป็นพ่อปู่ที่นักพนันเคารพบูชา เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภไปเสียดื้อๆ 

อั้งยี่ในพงศาวดาร

     ใน พระราชพงศาวดาร รัชกาลที่ 5 นิพนธ์ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีทัศนคติต่ออั้งยี่ในทางลบ ทั้งที่กรมพระยาดำรงฯ ได้ทำการศึกษาเรื่องราวของอั้งยี่มาจากพระอนุวัติราชนิยม (ยี่กอฮง) ด้วยตัวเอง แต่ดูเหมือนการศึกษานั้นไม่ได้นำไปสู่ความเข้าใจบริบทโดยรอบ กรมพระยาดำรงฯ กลับมองอย่างเหมารวมเพียงว่า อั้งยี่ก็ไม่ต่างอะไรกับแก๊งโจร 

     “…ฝ่ายกบฏกรีดเลือดสาบาน ตั้งมั่นว่าจะต้องโค่นล้มราชวงศ์ลงให้ได้ แล้วแยกย้ายกันไปตั้งสมาคมลับ ตั้งแบบแผนสมาคม ทั้งวิธีสบถสาบาน รับสมาชิกและข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับทั้งกิริยาอาการที่จะแสดงความลับกันในระหว่างสมาชิกให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน

     “กบฏกลุ่มนี้ ชาวสยามเรียกแบบสะดวกปากว่า “อั้งยี่”

     “…อาวุธปืนเป็นของหายาก เหล่ามือสังหารมังกรจีนได้หันมาใช้กรรไกรแกะขาออกมาข้างหนึ่ง แล้วเอาริบบิ้นสีแดงเขียนอักษรจีนด้วยหมึกดำว่า ฮั่งคั่ง ไปดักสังหารเหยื่อตามคำสั่ง ในแผ่นดินจีนมีคดีกรรไกรขาเดียว เสียบท้องชาวจีนที่ไปค้าขายกับญี่ปุ่นมหาศาล

     “ด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลจีนรู้ว่าใครเป็นพวกอั้งยี่ก็จับฆ่า…

     “อั้งยี่อยู่ที่ไหนก็เป็นอั้งยี่ ไม่สามารถทิ้งนิสัยเดิมได้ เพราะในเมืองจีน เคยปล้น ฆ่า รีดไถ ลักตัวเรียกค่าไถ่ เรียกค่าคุ้มครองมาตลอด ทำมาหากินแบบสุจริตไม่เป็น” 

     ข้อความที่คัดมาบางส่วนคงพอจะยืนยันมุมมองที่รัฐไทยมีต่อบางอั้งยี่ได้ดี

อั้งยี่ในภาคธุรกิจ 

     เมื่อธุรกิจหวย ซ่อง บ่อน และฝิ่น ไม่มีกฎหมายมารองรับ หรือไม่มีการทำให้ถูกกฎหมายเพื่อเรียกเก็บภาษีให้ถูกต้อง แถมยังไม่เคยได้รับการยอมรับว่ามีอยู่ ผู้ประกอบการทั้งหลายจึงจำเป็นต้องกระทำการอย่างผิดกฎหมายต่อไป (ก็เมื่อไม่ทำให้มันถูก มันก็ผิดไง) อั้งยี่ในภาคธุรกิจจึงเป็นการทำมาหากินอยู่นอกกฎหมาย และเอาตัวรอดมาด้วยการต่อรองกับผู้มีอำนาจผ่านการจ่ายเงินใต้โต๊ะ 

     ด้วยเหตุนี้ จึงคลี่คลายความสงสัยที่ว่า ทำไม ‘แป๊ะเจี๊ยะ’ (白食) ที่แปลว่า ‘เงินกินเปล่า’ ถึงเป็นคำจีนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน 

     แล้วทำไมอั้งยี่ต้องข้องเกี่ยวกับธุรกิจนอกกฎหมายด้วย? 

     เดิมทีสมาคมลับเหล่านี้มีอุดมการณ์เดียวกันคือ ‘โค่นล้มราชวงศ์ชิง กอบกู้ราชวงศ์หมิง’ (清復明 ฟ่านชิงฟู่หมิง) มีการต่อตั้งสมาคมเทียนตี้ (天地會) ขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายที่ต้องการโค่นล้มราชวงศ์ชิงเพื่อขับไล่ชาวแมนจู ขณะเดียวกันก็ต้องการกอบกู้ราชวงศ์หมิงให้กับชาวฮั่นที่เป็นบรรพบุรุษของตน สมาคมที่ว่านี้เริ่มกระจายไปทุกหนแห่งที่ชาวจีนอพยพไปถึง โดยมุ่งหมายจะให้เป็นที่พักพิง พึ่งพา และรักษาผลประโยชน์แก่ชาวจีนอพยพด้วยกัน ซึ่งกลุ่มที่เรียกว่าอั้งยี่ก็แตกแขนงมาจากการรวมตัวในลักษณะเดียวกันนี้

     เมื่ออยู่นอกกฎหมายนานเข้าก็กลายเป็นผู้ข้องเกี่ยวกับเรื่องผิดกฎหมาย คนจีนที่อพยพเข้ามาเป็นแรงงานล้วนเข้าเมืองมาอย่างผิดกฎหมาย พวกเขาจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบาง (Vulnerable) ที่มักถูกรีดไถ และเอารัดเอาเปรียบสารพัดจากเจ้าหน้าที่รัฐ โดยที่ไม่สามารถเรียกร้องเอาผิดด้วยข้อกฎหมายได้ เพราะตัวพวกเขาเองนั่นแหละที่จะถูกตราหน้าว่าเข้ามาอย่างไม่ถูกกฎหมาย 

     เช่นนั้นแล้ว ชาวจีนอพยพจึงจำเป็นต้องไปพึ่งพิงกับอำนาจนอกระบบ ซึ่งก็คือคนจีนที่อยู่มาก่อนจนเริ่มตั้งตัวได้ บ้างก็ร่ำรวยเป็นเจ้าสัว (อย่างยี่กอฮง ที่ยกตัวอย่างไป) กลายเป็นการตั้งครอบครัวสมมติในนามสมาคมขึ้นมา พร้อมกันนั้นก็แต่งตั้ง ‘ตั่วเฮีย’ หรือพี่ใหญ่ ให้เป็นหัวหน้าสมาคม และเคารพกฎหมู่ในครอบครัวสมมตินี้มากกว่าจะเคารพกฎหมายของบ้านเมืองโดยปริยาย อีกในทางหนึ่ง การตั้งสมาคมก็คือการรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับรัฐนั้นๆ เช่นกัน 

     ที่ว่ามาเป็นเพียงบางส่วน เพราะใช่ว่าทุกสมาคมจีนจะข้องเกี่ยวกับธุรกิจผิดกฎหมายเสมอไป สมาคมบางแห่งก็ตั้งขึ้นเพียงเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้พวกพ้องเท่านั้น 

อั้งยี่ในคำจีน

     อั้งยี่ที่หมายถึง สมาคมลับ เป็นคำที่เพี้ยนหรือมีที่มาจากกลุ่มภาษาพื้นถิ่นทางตอนใต้ของจีน เรียกว่า ‘ภาษาหมิ่นหนาน’ (閩南話) ซึ่งใช้ในหมู่ชาวฮกเกี้ยนและชาวแต้จิ๋วในสำเนียงที่แตกต่างกันไป 

yaopai ป้ายห้อยไว้ที่เอวเพื่อแสดงตัวตนของสมาคมหงเหมิน

     ว่าง่ายๆ คือ อั้งยี่เป็นวิธีการออกเสียงในสำเนียงภาษาถิ่น ที่ไม่ใช่ภาษาจีนกลาง (Mandarin Chinese) ดังนั้น คนจีนแผ่นดินใหญ่หรือคนจีนในภูมิภาคอื่นอาจไม่เข้าใจคำนี้เมื่อถูกออกเสียงด้วยสำเนียงอื่นก็เป็นได้ เพราะภาษาจีนกลางจะเรียกสมาคมลับว่า ‘หงเหมิน’ (洪門) (เปรียบเทียบได้ว่าถ้ามีคนใช้ภาษาถิ่นพูดว่า หย่านัด ก็ใช่ว่าคนที่ใช้ภาษากลางทุกคนจะเข้าใจว่าคือสับปะรด)

     ย้อนกลับไปยังคำถามที่ว่า อั้งยี่มาจากคำไหนนั้นยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัด บ้างว่ามาจากแท่นบูชาของพรรคที่มักมีกระดาษสีแดงแปะไว้ เรียกว่า ‘หงจื้อ’ (紅字 อักษรสีแดง) ในสำเนียงหมิ่นหนาน 

     บ้างก็ว่ามาจากคำว่า ‘หงจื่อ’ (洪子) แปลว่าลูกชายของจักรพรรดิหง (จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์หมิงซึ่งมีความสำคัญในประวัติศาสตร์จีน เพราะเป็นผู้กู้ชาติให้ชาวฮั่น (กลุ่มชาติพันธุ์ที่เป็นคนส่วนใหญ่ในจีน) ให้พ้นจากการปกครองของราชวงศ์หยวนซึ่งเป็นชาวมองโกล ทว่าราชวงศ์หมิงก็กลายเป็นราชวงศ์สุดท้ายของชาวฮั่น เมื่อถูกราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นชาวแมนจูล้มล้างไป) ซึ่งเป็นสมาคมลับแห่งหนึ่งที่แพร่หลายกว่าสมาคมอื่นในประเทศไทย ทำให้คนไทยเหมารวมเรียกสมาคมลับจีนทุกสมาคมว่าอั้งยี่ 

อั้งยี่ ลูกผู้ชายพันธุ์มังกร ภาพยนตร์แอ็คชั่นทุ่มทุนสร้างระหว่างไทย – ไต้หวัน พ.ศ. 2543

     หากอ้างอิงจากเรื่องเล่า ผู้เขียนมีความเห็นว่าที่มาของหงจื่อ—ลูกชายของจักรพรรดิหง ดูเป็นไปได้มาก แต่หากพิจารณาในแง่การออกเสียง กลับทำให้หงจื้อ—อักษรสีแดง มีน้ำหนักมากเช่นกัน 

     เนื่องจาก ‘จื้อ’ () ในภาษาจีนกลาง ออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า ‘ยี่’ (ตัวอย่างคำอื่น เช่น จื้อห้าว (字號) ออกเสียงว่ายี่ห้อ ที่แปลว่า เครื่องหมายการค้า) ส่วน ‘หง’ () ในภาษาจีนกลาง ออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า ‘อั่ง’ หรือ ‘อั้ง’ (ตัวอย่างเช่น หงเปา (紅包) ออกเสียงว่าอั่งเปา ที่แปลว่า ซองแดง)  

     ส่วน ‘จื่อ’ () ที่แปลว่าลูกชาย ในภาษาจีนกลาง จะออกเสียงแบบแต้จิ๋วว่า ‘จี้’ (ตัวอย่างเช่น เซิ่นจื่อ (腎子) ออกเสียงว่าเซี่ยงจี้ ที่แปลว่าเครื่องใน หรือ ‘โกวฉีจื่อ’ (枸杞子) ออกเสียงว่า ‘เก๋ากี๋จี้’ ที่แปลว่าลูกเก๋ากี้)

     กล่าวโดยสรุปก็คือ ถ้าอั้งยี่มาจากหงจื่อ—ลูกชายของจักรพรรดิหง จำเป็นจะต้องออกเสียงว่า อั้งจี้ แต่ถ้ามาจากหงจื้อ—อักษรสีแดง ก็จะออกเสียงได้ตรงตัวมากกว่า

     ไม่ว่าอั้งยี่จะมาจากคำไหนนั้น คงไม่สำคัญเท่ากับที่มาของเรื่องเล่าทั้งหลายที่สอดคล้องกันพอสมควร ส่วนสิ่งสำคัญที่ควรสงสัย คือความคลุมเครือของการบังคับใช้กฎหมายมาตรานี้ของไทยต่างหาก

     ท้ายที่สุดจะเห็นว่าเหล่าผู้ปกครองไม่ได้หวาดกลัว “การกระทำอันเป็นอั้งยี่” อย่างที่ตราไว้ในกฎหมายที่มีโทษหนัก หากการกระทำอันเป็นอั้งยี่นั้นไม่สร้างความกระด้างกระเดื่องแก่รัฐ ก็พอจะเกี่ยเซี้ย (行成 — Compromise) กันได้เสมอ

     อั้งยี่ที่ไม่เชลียร์รัฐบาลต่างหากคือผู้ชังชาติที่ต้องปราบให้ราบคาบ เหลือไว้เพียงอั้งยี่ที่ศิโรราบให้อยู่ยั้งยืนยงอย่างที่ยังเหลือสตางค์มาเจียดเป็นค่าน้ำร้อนน้ำชาให้พวกท่าน

     …ร้อยกว่าปีมาแล้ว

อ้างอิง

freedom.ilaw.or.th/node/598

silpa-mag.com/history/article_26876

matichon.co.th/article/news_1198807

gypzyworld.com/article/view/736

th.wikipedia.org/wiki/พระอนุวัฒน์ราชนิยม_(ฮง_เตชะวณิช)

youtube.com/watch?v=xaJZnbs-eaQ