Wed 12 May 2021

CITY WITHOUT LOVE PATH

เรื่องรักในหนังไทยเมื่อ 20 ปีก่อนกับการหายไปของพื้นที่โรแมนติกในทุกวันนี้

ภาพ: ms.midsummer

     หญิงสาวยืนรอรถไฟฟ้าขบวนสุดท้ายเพื่อกลับบ้านหลังเลิกงาน ชายหนุ่มวิศวกรรถไฟฟ้านั่งรถขบวนเดียวกันเพื่อจะไปทำงาน เขาและเธอยืนอยู่บนชานชาลาเดียวกัน ด้านล่างทางเท้าบริเวณสยามสแควร์เต็มไปด้วยคู่รักวัยรุ่น จับมือกันเดินอย่างเปิดเผย เด็กหนุ่มได้พบเพื่อนเก่าวัยเด็ก ทั้งคู่พูดคุยและแลกเบอร์โทรกัน โดยไม่รู้ว่าความรู้สึกที่พวกเขามีต่อกันจะพัฒนาไปเกินเพื่อน ขณะที่แท็กซี่หนุ่มขี้อายคนหนึ่งกำลังนั่งคอยเฝ้ารับสาวอาบ อบ นวดทุกค่ำคืน เพียงเพื่อจะได้นั่งเงียบๆ เฝ้ามองเธอจากกระจกมองหลังเท่านั้น

     ถ้าหากการเดินทางเป็นเหมือนเส้นเลือดของเมือง สวนสาธารณะก็ควรเป็นปอดของเมือง พื้นที่ที่ทั้งทางเท้า รถไฟฟ้า หรือแม้แต่ถนนควรเชื่อมติดถึงกัน เป็นพื้นที่กิจกรรมกลางแจ้งให้คนเมืองได้พบปะและพบรักกัน ดั่งเช่นสาวคนหนึ่งที่อาจจะพบความรักครั้งใหม่กับหนุ่มนักวิ่งที่อายุอ่อนกว่าเธอนับสิบปีในสวนสาธารณะกลางกรุงเทพฯ ที่มีเพียงไม่กี่แห่ง

     สองย่อหน้าข้างต้นคือฉากและทางเดินในหนังรักสี่เรื่องดังของสองทศวรรษก่อนหน้านี้ ทั้ง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ, รักแห่งสยาม, รัก 7 ปี ดี 7 หน และ เฉิ่ม ทั้งหมดนี้คือหนังรักสามช่วงวัย สามสถานที่ แต่มีฉากหลังร่วมกันคือความรักของคนเมือง ไม่ว่าจะวัยกลางคน วัยทำงาน หรือวัยรุ่นก็ตาม พวกเขาต่างใช้ชีวิตอยู่ในเมืองที่มีสวนสาธารณะน้อยแสนน้อยจนการออกกำลังกายกลายเป็นเรื่องพิเศษ และต่างต้องพึ่งพาการเดินทางสัญจร จากทางเท้าสู่รถไฟฟ้า เมื่อรถเมล์หมดก็ต้องนั่งแท็กซี่ 

     สำหรับหนังต่างประเทศบางเรื่อง การเดินทางมักเป็นส่วนหนึ่งของการสานสัมพันธ์ระหว่างสองคนในหนังโรแมนติก ไม่ว่าจะหนังรักเดินคุยอย่าง Midnight in Paris หรือ Before Sunrise ก็ทำให้เห็นว่าความรักสามารถเกิดขึ้นจากการเดินเท้า ขึ้นรถบัส นั่งรถรางด้วยกัน 

     ถ้าทุกการเดินทางนั้นปลอดภัยและเป็นมิตร เราอาจสบายใจที่จะหันมาสานสัมพันธ์กับคนข้างๆ มากกว่านี้ 

     ย้อนเวลาไป 10-20 ปีก่อน ยุคที่หนังไทยยังเป็นตัวเลือกต้นๆ ของผู้ชม หนังไทยเต็มไปด้วยความหลากหลายและมีกลุ่มผู้ชมเฉพาะแนวเป็นกลุ่มใหญ่ๆ หนังแนวหนึ่งที่ได้รับความนิยมเป็นลำดับต้นๆ คือหนังรัก ยิ่งในช่วงทศวรรษ 2540 ต่อมาถึงต้น 2550 อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุค ‘หนังรักคนเมือง’ ได้เลยด้วยซ้ำ 

     เวลานั้น เราเห็นการบอกเล่าชีวิตความรักของคนเมือง ทางเท้าในสยามสแควร์ก่อให้เกิดบนสนทนาโรแมนติกระหว่างคู่รักได้ ลานน้ำพุกลางสยามอาจเป็นที่นัดพบสำคัญในท้ายเรื่อง รถไฟฟ้าทำให้คนแปลกหน้าได้พบและเริ่มต้นทำความรู้จักกัน คอนโดริมถนนกรุงเทพฯ ยังน้อยกว่าทุกวันนี้ ท้องฟ้ายังพอมองเห็นดาวและมีความโรแมนติกในแบบของมัน 

     ยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ท้องฟ้าของกรุงเทพฯ ถูกยึดครองโดยคอนโดและรางรถไฟราวใยแมงมุม ขณะที่ความโรแมนติกเล็กๆ—ทั้งในหนังและชีวิตจริง อย่างการแหงนหน้ามองฟ้าดูดาวด้วยกันบนถนนสักเส้นในกรุงเทพฯ บนทางเท้าสักแห่ง ในสวนสาธารณะสักที่ กลับอันตรธานหายไป

     จากภาพยนตร์สี่เรื่องข้างต้น เฉิ่ม (2548, คงเดช จาตุรันต์รัศมี) อาจเป็นเรื่องเดียวที่พูดถึงความรักด้วยอารมณ์ถวิลหาอดีต ผ่านเรื่องราวของคนขับแท็กซี่ผู้เจียมตัวอย่าง สมบัติ ดีพร้อม (เพ็ชรทาย วงษ์คำเหลา) ที่คอยรับส่ง นวล (วรนุช วงษ์สวรรค์) สาวบริการในอาบ อบ นวดทุกค่ำคืน 

     ความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก่อตัวขึ้นจากคนคุ้นหน้า คนขับ-ผู้โดยสารขาประจำ พัฒนามาสู่การเป็นเพื่อน เพื่อนคุย และเพื่อนร่วมกินข้าวต้มรอบดึกด้วยกัน จนท้ายที่สุดความรักก่อตัวขึ้นในใจสมบัติอย่างช้าๆ โดยไม่รู้ว่าเขาจะบอกนวลออกไปอย่างไรดี

     ลีลาความรักแบบเก่ายังคงปรากฏใน เฉิ่ม ทั้งการพูดผ่านจดหมาย การบอกเล่าความในใจผ่านเสียงเพลงที่ฝากให้ดีเจในรายการโปรดเปิด ตัดกับฉากหลังเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่ยามกลางคืนเต็มไปด้วยแสงสี ทว่ารถราที่วิ่งอยู่บนถนนนั้นน้อยเหลือเกินที่จะเป็นรถขนส่งสาธารณะ ยิ่งดึกยิ่งหายาก แท็กซี่จึงเป็นทางเลือกต้นๆ ของผู้ที่ไม่มีรถโดยสารในยามค่ำคืน 

     ปัญหาเรื่องเส้นทางและรถขนส่งสาธารณะปรากฏให้เห็นใน เฉิ่ม ผ่านเส้นทางที่นวลต้องเรียกรถกลับบ้าน บ้านของเธออยู่ลึกเข้าไปในซอย และเส้นทางที่จะไปนั้น ไม่มีรถเมล์วิ่งผ่านตั้งแต่หัวค่ำ ทางเลือกอันน้อยนิดทำให้เธอจำเป็นต้องนั่งแท็กซี่ 

     ขณะที่สมบัติ ดีพร้อม การขับแท็กซี่คือโอกาสทำงานในเมืองหลวงเท่าที่คนผู้ไม่ได้เกิดและเติบโตในเมืองอย่างเขาจะทำได้ ซึ่งก็ทำได้ดีถึงขั้นเป็นผู้ชำนาญเส้นทางสัญจรอันเต็มไปด้วยตรอกซอกซอยสลับซับซ้อน 

     การเดินทางเงียบๆ บนรถแท็กซี่นั้นทำให้นวลรู้สึกปลอดภัยอย่างเห็นได้ชัด นวลคงไม่กล้ายืนรอรถเมล์ตามลำพัง เพราะเมื่อหนังตัดสลับกับภาพป้ายรถเมล์ยามค่ำที่เปลี่ยว ก็ได้แต่เห็นบรรยากาศที่วังเวง และสภาพของป้ายรถเมล์ที่กลายเป็นที่นอนของคนจรจัด

     ถ้าหากขนส่งสาธารณะในกรุงเทพฯ คำนึงถึงคนทำงานกลางคืนจนมีรถวิ่งตลอดคืนด้วยแล้วละก็ หนังเรื่องนี้อาจไม่เกิดขึ้น ความรักบนแท็กซี่อาจเป็นเรื่องของสาวนักท่องเที่ยวต่างชาติผู้ไม่รู้ทางกับคนขับหนุ่มที่เป็นไกด์จำเป็นให้เธอก็ได้ 

     การเดินทางในกรุงเทพฯ เริ่มมีทางเลือกมากขึ้น เมื่อมีการเปิดเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักอย่างสายหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินในปี 2542 รถไฟฟ้าทำให้คนทำงานตามเส้นทางดังกล่าวสามารถคำนวณเวลาการเดินทางได้มากขึ้น ไม่ต้องเผชิญปัญหาบนท้องถนน ทั้งจากการโดยสารรถประจำทางที่เวลาไม่แน่นอน หรือการใช้บริการแท็กซี่ที่มีการขึ้นค่าโดยสารต่อระยะทางปรับขึ้นเรื่อยๆ ถึงอย่างนั้น รถไฟฟ้าก็มีเวลาปิดสถานี คนกลางคืนส่วนใหญ่ที่เลิกงานหลังเที่ยงคืนหรือเกือบรุ่งสาง จึงต้องหันไปหวังกับรถเมล์ที่นานๆ จะมาที หรือกระทั่งซื้อความสบายนั่งแท็กซี่แทน

     ภาระการเดินทางที่ถูกผลักให้ประชาชนต้องรับผิดชอบนี้ นำมาสู่หนังอย่าง รถไฟฟ้า มาหานะเธอ (2552, อดิสรณ์ ตรีสิริเกษม) ที่บอกเล่าความรักระหว่าง เหมยลี่ (คริส หอวัง) สาวออฟฟิศ กับ ลุง (ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์) วิศวกรรถไฟฟ้า ผู้ที่มีโอกาสเจอกันเฉพาะตอนดึกเท่านั้น ในช่วงเวลาที่เธอเลิกงาน ส่วนเขากำลังจะเริ่มงาน

     อย่างไรก็ตาม รถไฟฟ้าไม่ได้แค่ขยายโอกาสทางการเดินทางของคนกรุงเทพฯ แต่ยังรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย เพราะบริการรถโดยสารสาธารณะในยุคนั้น ยังไม่ได้มีระบบสองภาษาให้ชาวต่างชาติรู้เส้นทาง ขณะที่การเดินทางด้วยรถรับจ้าง ไม่ว่าจะเป็นสามล้อเครื่อง (ตุ๊กตุ๊ก) หรือแท็กซี่ ชาวต่างชาติมักถูกโขลกราคาเกินจริงเสมอ 

     นอกเหนือจากทำให้การเดินทางเชิงท่องเที่ยวสะดวกขึ้นแล้ว การมาถึงของรถไฟฟ้ายังทำให้ที่ดินตามเส้นทางมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะที่ดินในบริเวณจุดขึ้น-ลงรถไฟฟ้าที่กลายเป็นทำเลทองไปเลย ประกอบกับการขยายตัวของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างคอนโดที่เน้นพื้นที่น้อย อยู่ใจกลางเมือง สะดวกต่อการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของผังเมืองในกรุงเทพฯ ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 

     รถไฟฟ้า มาหานะเธอ สร้างหลังจากรถไฟฟ้าเปิดบริการได้สิบปี เส้นทางส่วนต่อขยายครอบคลุมมากขึ้น จะเห็นว่าตัวละครหลักทั้งสองได้เดินทางไปสู่พื้นที่ต่างๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยรถไฟฟ้า ความโรแมนติกของหนังเกิดขึ้นบนรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการยืนรอคอยรถไฟฟ้าที่สถานี การยืนพูดคุยกันบนรถไฟฟ้า และในท้ายที่สุด รถไฟฟ้าก็เป็นขนส่งมวลชนยุคใหม่ที่นำพาเขาและเธอมาพบกัน ชนิดที่ว่าหากไม่มีรถไฟฟ้า เขาและเธอก็อาจไม่ได้เจอกัน และหนังเรื่องนี้คงไม่ได้เกิด 

     ทว่า แล้วกับบนพื้นล่ะ คนที่ไม่ได้อยู่ในวัยทำงาน ไม่มีเงินทองมากพอ ทางเท้าและสวนสาธารณะ ควรจะเป็นที่ที่โรแมนติกได้เช่นกันไม่ใช่เหรอ? 

     คำถามข้างต้นเป็นคำถามเดียวกันกับในห้อง Clubhouse ที่ผู้เขียนมีโอกาสเข้าไปฟัง อย่างห้อง ‘ความโสดทำให้รถติดหรือเมืองทำให้เราโสด’ หรือ ‘โสดเพราะดาวไม่ทำมุมหรือผังเมือง ปัดทินเดอร์ช่วยได้ไหม’ ซึ่งจัดโดยกลุ่มพลังคลับ เมื่อวันที่ 26 มีนาคมที่ผ่านมา 

     ทั้งสองห้องได้ตั้งคำถามน่าสนใจว่า ผังเมืองที่แย่ทำให้ความรักมีอุปสรรคหรือไม่ และนี่ก็เป็นอีกแรงบันดาลใจที่ทำให้เกิดบทความนี้ขึ้น 

     • ความโรแมนติกที่เกิดขึ้นบนขนส่งสาธารณะกลายเป็นเรื่องพิเศษ เลิกงาน กลับบ้านค่ำ รถไฟฟ้ามาช้าไม่ตรงเวลา รถเมล์จอดเลยป้าย ฝนตกน้ำท่วมต้องย่ำน้ำขึ้นรถ คุณจะหมดความโรแมนติกทันทีเมื่อใช้บริการขนส่งสาธารณะ เพราะทั้งเหนื่อยและเครียด

     • หากมีรถยนต์ส่วนตัวจะมีแต้มต่อพิเศษ เพราะการมีรถยนต์ส่วนตัวหมายความว่า เราสามารถช่วยคนรักหรือคนที่คบหากันในสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการดำเนินชีวิตในเมืองกรุงได้ นั่นคือการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง สิ่งนี้ทำให้เกิดชนชั้นของความรักขึ้นกลายๆ ระหว่างคนมีรถกับคนไม่มีรถ รถกลายเป็นหนึ่งในความมั่นคงของความรัก นอกเหนือจากบ้านและอาชีพการงาน เพราะระบบขนส่งสาธารณะไม่ได้ให้ความมั่นคง (และมั่นใจ) ในมุมคนเมือง

     • ระบบขนส่งสาธารณะเอื้อประโยชน์แก่ห้างสรรพสินค้า ทำให้สถานที่นัดเดตส่วนใหญ่คือการเดินห้าง สปีกเกอร์ท่านหนึ่งในห้องได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า การเดินห้างไม่ได้ช่วยให้เรียนรู้นิสัยใจคอคู่เดต ทุกอย่างถูกจัดวางด้วยแบรนด์แนมและร้านค้าดัง ไม่ได้บอกรสนิยม บุคลิก หรือความสนใจพิเศษ ต่างกับการเดินพิพิธภัณฑ์หรือสวนสาธารณะ ที่เปิดโอกาสให้เกิดการ Walk and Talk มากกว่า

     • ทางเท้าที่ไม่มีคุณภาพและสวนสาธารณะที่มีจำนวนน้อย ทำให้การ Walk and Talk เพื่อเรียนรู้เข้าใจกันและกันไม่เกิดขึ้น ยากมากที่คู่รักจะเดินไปตามฟุตพาทในเมืองแล้วจะไม่เหยียบแผ่นกระเบื้องที่มีน้ำขัง หรืออาจพลาดพลั้งถึงขั้นตกท่ออย่างที่เป็นข่าว ส่วนสวนสาธารณะนอกจากจะจำนวนน้อยแล้ว ยังไม่กระจายตัว กระจุกอยู่ในชุมชนใหญ่ที่รอบบริเวณล้วนเป็นชุมชนผู้มีอันจะกิน กลายเป็นสวนสาธารณะที่ไม่ใช่ใครๆ จะเข้าถึงได้ง่าย 

     • ข้อเสนออีกข้อที่น่าสนใจและไม่ปรากฏในหนังไทยนักก็คือ การขาด Open Space ที่เปิดให้คนทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ว่าจะศิลปะ ดนตรี หรือกีฬา พื้นที่เหล่านี้จะสร้างการเรียนรู้เป็นหมู่คณะ สร้างกลุ่มก้อนคนที่มีความสนใจ-ทักษะและพื้นฐานอาชีพใกล้เคียงกัน ได้มีโอกาสเรียนรู้กันและกัน จนถึงพัฒนาความสัมพันธ์กันต่อไปได้ 

     ความโรแมนติกของทางเท้าในปารีส นิวยอร์ก มาดริด หรือแม้แต่ในโตเกียว ไม่เคยเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ ลำพังการหาทางเท้าที่ปลอดภัย เดินสะดวก และไม่มีสิ่งกีดขวางตลอดทางก็เป็นเรื่องยากมากแล้ว ทางเท้าที่ไม่เชื่อมต่อมียกพื้นลามไปจนถึงชำรุดผุพัง ทำให้การเดินทางเท้าในกรุงเทพฯ เป็นความวิบากมากกว่าจะโรแมนติก สิ่งเหล่านี้สะท้อนในหนังไทยช่วง 20 ปีมานี้ ความโรแมนติกที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับคนกรุงเทพฯ คือการนั่งรถคุยกัน ความรักในหนังไทยกลายเป็นเรื่องชนชั้นมีฐานะไปเสียได้ พร้อมๆ กันนั้นก็สร้างภาพความรักยุคใหม่ที่คนหนุ่มสาวต้องมีรถส่วนตัว เป็นปัจจัยที่ห้า เพื่อความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวที่ทางเท้าในกรุงเทพฯ ให้ไม่ได้

     ถึงกระนั้นในจำนวนอันน้อยนิด ผู้เขียนก็พบว่าอาจมีหนังไทยอยู่สองเรื่องที่พูดถึง ‘พื้นที่เปิด’ ‘ทางเท้า’ และความรักที่เกิดจาก Walk and Talk ไม่ใช่ความรักที่เกิดจาก ‘สถานการณ์บังคับ’ ประเภทเกิดเรื่องชุลมุนวุ่นๆ หรือจับพลัดพลูต้องเจอกัน เป็นความรักที่ค่อยๆ พัฒนาจากความสัมพันธ์ เรียนรู้กันและกันในแบบเรียบง่ายที่สุด ใช้ต้นทุนน้อยที่สุด และใครๆ ก็เข้าถึงได้ง่ายที่สุด 

     นั่นคือการเดินพูดคุยกัน

     รักแห่งสยาม (2550, ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) กลายเป็นหนังที่บันทึกภาพ ‘ทางเดินสยามสแควร์’ ในช่วงเวลาโรแมนติกที่สุดเอาไว้ได้ 

     ทางเดินในสยามฯ เป็นทางผ่านแห่งความรักของคู่รักหนุ่มสาวมากมายหลายทศวรรษ นับตั้งแต่มีการปรับพื้นที่เป็นศูนย์การค้าแบบเปิดในช่วงต้นทศวรรษ 2520 เป็นแหล่งวัยรุ่นสุดฮิตในทศวรรษ 2530 ก่อนจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่อย่างมากในทศวรรษที่ผ่านมา 

     ทางเท้าของที่นี่มีจุดเด่นคือมันลัดตรอกซอยซอยภายในที่มีร้านค้าหลากหลาย ร้านไอศกรีม ร้านขนม ร้านโดนัท จนถึงร้านค้าเสื้อผ้าและแผ่นซีดี เป็นจุดนัดพบของวัยรุ่นหลังเลิกเรียนในวันธรรมดา และเป็นจุดเดินเล่นระหว่างรอเรียนพิเศษในช่วงสุดสัปดาห์ นอกจากนี้ สยามสแควร์ยังปรับปรุงทางเท้าให้เดินได้จากฝั่งถนนพระราม 1 ไปจนสุดกำแพงรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ตลอดเวลา 

     เส้นทางที่เดินง่าย ปลอดภัย และมีร้านรวงเต็มสองข้างทาง จะเข้าไปนั่งพักในร้านหรือยืนคุยอยู่ด้านหน้า ฟุตพาทขนาดกว้างเดินได้สบายไม่ต้องพะวงว่าจะต้องเบียดเสียดเช่นนี้ ทำให้สยามสแควร์กลายเป็น ‘ทางเดินแห่งรัก’ ของยุคสมัย อย่างที่หนังเรื่อง รักแห่งสยาม นำเสนอ 

     หนึ่งในฉากสำคัญของ รักแห่งสยาม คือฉากเปิดเรื่องและฉากจบ ตัวละครต่างพบกันและกันด้วยการเดินในสยามฯ โต้ง (มาริโอ้ เมาเร่อ) กำลังรีบไปตามนัดเดตแฟนสาวที่รอเขาอยู่ ระหว่างนั้นเอง โต้งได้พบกับมิว (วิชญ์วิสิฐ หิรัญวงษ์กุล) เพื่อนเก่าที่เคยอยู่ข้างบ้านกันสมัยประถม ทั้งคู่แลกเบอร์เพื่อติดต่อกัน ความเป็นเพื่อนหวนกลับมาหาทั้งสองอีกครั้ง ก่อนจะพัฒนาไปสู่ความสัมพันธ์ที่พิเศษ และในตอนท้ายเรื่อง เมื่อมิวกำลังร้องเพลงในลานน้ำพุ ลานกิจกรรมชื่อดังของสยามสแควร์ (ปัจจุบันถูกทุบไปแล้ว) โต้งวิ่งตามหาเสียงเพลง เสียงของมิวที่กำลังร้องเพลงให้เขา ทำให้ทั้งคู่ได้พบกันอีกครั้ง

     เป็นเพราะทางเท้าในสยามสแควร์ ที่ทำให้ความรักครั้งนี้บังเกิดขึ้นโดยแท้

     เรื่องสุดท้าย รัก 7 ปี ดี 7 หน (2555) มีตอนหนึ่ง (42.195, จิระ มะลิกุล) ที่เล่าเรื่องของผู้ประกาศสาววัย 40 (สู่ขวัญ บูลกุล) ที่กำลังเผชิญปัญหาชีวิตกระหน่ำ เธอเริ่มวิ่งในสวนสาธารณะก่อนจะได้พบชายหนุ่มวัยยี่สิบปลาย (นิชคุณ หรเวชกุล) ผู้ชักชวนให้เธอลงวิ่งมาราธอนด้วยกัน การได้พบเขาในสวนสาธารณะ การได้วิ่งด้วยกัน ทำให้จังหวะชีวิตที่หลงทิศของหญิงสาวพบเป้าหมายใหม่อีกครั้ง นั่นคือเส้นชัยของการวิ่งมาราธอน ระยะทาง 42.195 กิโลเมตร

     สวนสาธารณะใน 42.195 เป็นพื้นที่กิจกรรมสำคัญที่ทำให้ตัวละครทั้งสองมาพบกัน สานสัมพันธ์กัน ทำความรู้จักกัน อย่างน้อยๆ ชุดที่เขาสวม นาฬิกาที่เขาใส่ รองเท้าที่เขาใช้วิ่ง ก็น่าจะบอกรสนิยม-บุคลิกส่วนตัวได้บ้าง ยามคุณเหนื่อยเขาคอยยื่นขวดน้ำให้หรือเปล่า ตอนคุณเจ็บเขาช่วยคุณได้ไหม ความใส่ใจเล็กๆ น้อยๆ จากกิจกรรมเหล่านี้เป็นจุดเริ่มต้นการสานสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนเสมอ

     อย่างไรก็ตาม อาจเพราะผังเมืองไม่โรแมนติก หรือเพราะการใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ มันไม่ได้เป็นแฟนตาซีสำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว หนังไทยหลายเรื่องจึงข้ามช็อตไปเล่าความโรแมนติกในต่างแดนแทน ไม่ว่าจะเป็น แฟนเดย์..แฟนกันแค่วันเดียว (2559, บรรจง ปิสัญธนะกูล) Friend Zone ระวัง..สิ้นสุดทางเพื่อน (2562, ชยนพ บุญประกอบ) 

     เรื่องแรกฉากเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นเป็นส่วนใหญ่ เรื่องหลังมีฉากในฮ่องกงและต่างจังหวัดในไทย เช่น เชียงใหม่และภูเก็ต ต่อให้มามีเหตุการณ์ในกรุงเทพฯ เรากลับพบว่าตัวละครในหนังต่างอุดอู้อยู่ในคอนโด ออฟฟิศ หรือสถานที่ใดที่หนึ่งจำเพาะ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากผังเมืองและการเดินทางเลย 

     หมายความว่าเรามีพื้นที่พวกนี้น้อย หรือเพราะความโรแมนติกมีราคาแพงขึ้น ต้องซื้อทริปหรู ต้องซื้อคอร์สมื้ออาหารบนชั้นดาดฟ้า ทุกอย่างกลายเป็นเงินทอง เริ่มต้นสร้างความประทับใจด้วยเงินในกระเป๋าหรือเปล่า

     พื้นที่เริ่มต้นความสัมพันธ์ พื้นที่เล็กๆ ที่ช่วยให้เรารู้สึกถึงกันและกันกลับค่อยๆ หายไป 

     หนังไทยเองก็เช่นกัน ความรักในหนังไทยเหือดแห้งห่างหาย ความโรแมนติกเล็กๆ ที่ทุกคนเข้าถึงกลับกลายเป็นของหายาก กรุงเทพฯ จึงไม่เคยถูกจัดให้ติดอันดับเมืองสุดโรแมนติกของโลก ไม่ว่าจะใน 10 หรือ 20 อันดับแรก ความโรแมนติกเริ่มถูกผูกพ่วงกับการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไปโรแมนติกที่ทะเล ไปโรแมนติกที่ภูเขา ยิ่งห่างไกล ยิ่งบริสุทธิ์เท่าไหร่ก็ยิ่งโรแมนติก

     ทำไมเมืองที่เราอยู่จึงไม่มีพื้นที่บริสุทธิ์ให้เกิดความโรแมนติกได้แล้ว? 

     พื้นที่ธรรมดาง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถใช้ชีวิตและมีกิจกรรมร่วมกันได้ การเดินทางที่โยงใยทั่วถึง ไม่ว่าคุณจะรวยหรือจน จะเดินเท้าหรือนั่งรถไฟฟ้า ก็ควรถึงที่หมายได้เช่นกัน 

     การสร้างเส้นทางอันหลากหลายและเห็นประโยชน์ของทุกชนชั้นในสังคม จะทำให้เมืองพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน ขนส่งสาธารณะก็ควรให้ความสำคัญกับคนทำงานกลางคืนรวมถึงคนรายได้น้อยด้วย 

     เมื่อถนนและการสัญจรเหมือนเส้นเลือดในร่างกาย ถ้าหากมันมีติดขัดอุดตัน การใช้ชีวิตของเมืองๆ นั้นก็คงมีปัญหาไม่จบสิ้นเช่นกัน