Mon 17 Jul 2023

COLLECT MONEY

‘ยอดมนุษย์เงินเดือน’ กับการมีเงินเป็นของสะสม

ภาพ: ms.midsummer

     หากให้ทุกคนลองเดาถึง ‘หนังเปลี่ยนชีวิต (ด้านการเงิน)’ ของผม (ลงทุนศาสตร์) หลายคนอาจนึกถึงหนังการเงินระดับตำนานอย่าง The Wolf of Wall Street ของ มาร์ติน สกอร์เซซี (Martin Scorsese) หรือ The Big Short ของ อดัม แมคเคย์ (Adam McKay)

     แต่ผิดทั้งหมด…

     หนังเปลี่ยนชีวิตด้านการเงินของผมเป็นหนังไทยที่หลายคนแทบจะจำชื่อไม่ได้หรือไม่สนใจจะดูด้วยซ้ำ เพราะหน้าหนังดูเป็นหนังรอมคอม ดูเล่นๆ ไม่ได้มีเนื้อหาหนักหน่วง หรือปมประเด็นแปลกประหลาดชวนกระชากใจ 

     หนังเรื่องนั้นมีชื่อว่า ยอดมนุษย์เงินเดือน ผลงานของ วิรัตน์ เฮงคงดี ผู้กำกับสายซิตคอมและวาไรตี้โชว์

     ย้อนกลับไปในปี 2555 ช่วงนั้นเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต ผมกำลังจะเรียนจบปริญญาตรีในช่วงต้นปี 2556 ผมค่อนข้างเคว้งคว้างกับชีวิต เพื่อนๆ คนอื่นมีเส้นทางชีวิตที่ชัดเจน จะเติบโตไปทางไหน จะทำงานอะไร แต่ตัวผมค่อนข้างแตกต่าง

     ถามว่าผมมีเส้นทางชีวิตที่ไม่ชัดเจนหรือ? 

     เปล่าเลย เส้นทางชีวิตของผมชัดเจนมากเกินไปต่างหาก 

     ผมเรียนคณะเภสัชศาสตร์ ครอบครัวทำธุรกิจโรงงานยา ไม่ว่าจะคิดในมุมไหน ผมก็ต้องสานต่อธุรกิจครอบครัวไปตลอดชีวิต ตัวเลือกคือไม่มีทางเลือก แถมพ่อผมยังป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย กิจการนี้จึงต้องการคนดูแล

     ผมเรียนจบท่ามกลางกระแสคนเจนวายวิ่งตามความฝัน หนังสือ การลาออกครั้งสุดท้าย ติดแท่นขายดีตลอดกาล ผู้คนตามหาความสุขของชีวิตตามแบบฉบับนิ้วกลม หรือไม่ก็ออกเดินทางท่องเที่ยวเรียนรู้ชีวิต หนังสือท่องเที่ยวรอบโลกท่วมชั้นหนังสือ คนเราเกิดมาเพื่อแสวงหาความหมายของชีวิตตน

     แต่ผมถูกกำหนดและเลือกเส้นทางเดินไว้ให้เรียบร้อยแล้ว ไม่สามารถแม้แต่จะใช้วันหยุดสักเดือนสองเดือนออกท่องเที่ยว ไม่สามารถแม้แต่จะลองไปใช้ชีวิตในบริษัทอื่นสักปีสองปี ภาระทางธุรกิจหนักหน่วงเพราะเสาหลักหนึ่งอย่างพ่อกำลังคลอนแคลน 

     ผมหลงทาง สิ้นหวัง และตั้งคำถามกับชีวิต

     ผมตีตั๋วเข้าไปดู ยอดมนุษย์เงินเดือน โดยไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่าความตลก เพราะตัวอย่างหนังเต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ ผู้ผลิตมาจากค่ายเวิร์คพอยท์ ผมจึงตั้งใจแค่จะฆ่าเวลาก่อนไปหาข้าวกินให้อิ่มสักมื้อแล้วกลับหอไปนอน แต่หนังเรื่องนี้เปลี่ยนชีวิตผมไปตลอดกาล

     ยอดมนุษย์เงินเดือน เล่าถึงชีวิตมนุษย์เงินเดือนในบริษัทแสนวุ่นวายแห่งหนึ่ง ตัวละครหลักของเรื่องคือ ปั้น (ติ๊ก—เจษฎาภรณ์ ผลดี) ผู้อำนวยการสุดหล่อ ผู้วางแผนชีวิตรอบคอบ ทำทุกอย่างเป็นระเบียบแบบแผนยิ่งกว่าไม้บรรทัด และมีความรักที่แสนสมบูรณ์แบบ

     เรื่องเล่าของหนังยังมีมุมมองของตัวละครอีกหลายคน หากทั้งหมดล้วนตั้งคำถามต่อสภาพการทำงานซึ่งเหมือนจะไม่ใช่สิ่งที่แต่ละคนตั้งเป้าหมายไว้ 

     คนที่รักบริษัทยิ่งชีพจนเพื่อนร่วมงานเกลียด คนที่ทำงานเช้าชามเย็นชามหาเงินไปใช้หนี้ คนที่ทำงานไปอย่างไร้เป้าหมาย คนที่อยากผ่านทดลองงานทั้งที่ประสิทธิภาพไม่เพียงพอ

     ผมทาบทับตัวเองกับตัวละครเอกอย่างปั้นมากที่สุด 

     ปั้นเป็นคนทำทุกอย่างเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย วางแผนรอบคอบ จนกระทั่งคนรักยังตั้งคำถามว่าเขาไม่คิดจะมีชีวิตด้านอื่นนอกจากงานบ้างหรือ เขาไม่คิดจะสะสมอะไร ไม่คิดจะมีงานอดิเรก ไม่มีความหลงใหลใฝ่ฝันแบบมนุษย์คนหนึ่งควรจะมีบ้างหรือ

     คำถามนั้นตีแสกหน้าผมอย่างจัง

     มนุษย์ทุกคนต้องมีความชอบหรือเปล่า มนุษย์ทุกคนต้องมีความฝันหรือเปล่า เราสามารถใช้ชีวิตไปวันๆ ได้ไหม ทำงานที่ไม่ได้รักแต่ก็ไม่ได้เกลียด เพียงแค่มีหน้าที่ต้องทำ ทำงานหาเงินไปเรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบที่ไม่ได้หายใจเข้า-ออกเป็นความสุขตลอดเวลาได้หรือเปล่า

     ผมไม่คิดว่าหนังจะให้ทางลงกับคำถามได้ดีเด่อะไรมากมาย ผมตีตั๋วเข้ามาดูหนังตลก ไม่ใช่หนังชีวิต แต่สิ่งที่ไม่น่าเชื่อที่สุดคือผมค้นพบคำตอบในหนังเรื่องนี้ จากการที่ปั้นตอบกลับคนรักของเขาไปว่า “ผมมีของสะสมเป็นเงิน ผมมีความฝันคือการทำงาน ผมรักผมฝันกับสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เหรอ”

     ผมยังจำคำพูดนั้นได้จนถึงวันนี้ ท่ามกลางกระแสสังคมที่บอกว่าคุณจะต้องทำอะไรสักอย่างสิ คุณจะต้องเป็นอะไรสักอย่างสิ คุณจะต้องเท่ ต้องไต่เขาล่องเรือ ดำน้ำดูปลาโลมา ท่องเที่ยวโลกที่ไม่มีใครรู้จัก ชงกาแฟสุดอร่อย ทำงานศิลปะแสนเข้าใจยาก ใฝ่ฝันจะเป็นนักร้องมืออาชีพ

หนังเรื่องนี้กลับบอกผมว่า ‘คุณเป็นคนธรรมดาได้นะ’

     คนธรรมดาที่แค่สนุกกับงาน มีความฝันที่เรียบง่าย เติบโตในหน้าที่การงาน มีชีวิตครอบครัวที่ปกติสุข และอมยิ้มทุกครั้งที่เงินในบัญชีเพิ่มมากขึ้น คุณสะสมเงินเป็นของสะสมก็ได้ คุณไม่เห็นต้องมีโมเดลสุดหรู รถสุดเท่ นาฬิกาหายาก หรืองานศิลปะแปลกประหลาดอะไรเลย คุณจะสะสมเงินก็ได้ ไม่ว่ามันจะดูไม่โรแมนติกแค่ไหนก็ตาม

     ในวันนั้นผมปราศจากความหลงใหลใฝ่ฝันใดอื่นโดยสิ้นเชิง ผมมองไม่เห็นแม้แต่อนาคตตัวเองด้วยซ้ำ ผมรู้เพียงว่าต้องเรียนจบมาทำงานที่บ้าน วนไปวันต่อวันต่อวันจนผมตายไปนั่นแหละ ผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะทำไปทำไม ผมมองไม่เห็นความสุขอะไรกำลังรอผมอยู่เลย

     แต่เมื่อผมได้ความคิดว่า ‘เงินคือของสะสม’ ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป ผมตั้งโจทย์กับตัวเองว่าในเมื่อเรายังไม่อยากได้อะไร เราก็สะสมเงินไปพลางๆ ก่อนก็ได้ ผมเริ่มศึกษาวิธีการเอาเงินที่มีไปต่อยอด ทำอย่างไรให้เงินเดือนที่ได้จากพ่อแม่งอกเงย ทำอย่างไรให้เงินที่ผมสะสมเติบโตขยายร่างออกไปได้เรื่อยๆ

     หากจะเรียกว่าผมได้แนวคิดพื้นฐานด้านการเงินและการลงทุนจากหนัง ยอดมนุษย์เงินเดือน ก็คงไม่ผิดนัก จวบจนถึงทุกวันนี้ เวลามีคนถามว่าผมมีของสะสมอะไร ผมก็ยังคงตอบคำตอบเดิม… ผมสะสมเงินครับ!