SMALL DATA FROM THE GREATEST ENTERTAINMENT AWARD IN SOUTH KOREA
รวมข้อมูลซีรีส์จาก ‘Baeksang Arts Awards’ งานประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการบันเทิงเกาหลีใต้ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา
เรื่อง: ปุณณ์ พจนาเกษม
ภาพ: ปุณณ์ พจนาเกษม
‘Baeksang Arts Awards 2022’ งานประกาศรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในวงการบันเทิงเกาหลีใต้กลับมาอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม ในฐานะที่ผู้เขียนทำงานเกี่ยวกับ data visualization เป็นผู้แปลข้อมูลเรื่องตัวเลขและเรื่องนามธรรมออกมาเป็นภาพ แถมยังสนใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นในทวีปเอเชีย เลยไม่พลาดที่จะหยิบดาต้าเล็กๆ จากเวทีงานประกาศรางวัลด้านศิลปะการแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้มาพูดถึง โดยจะย้อนกลับไปดูข้อมูล 7 ปีล่าสุด พร้อมพาไปพิสูจน์คำถามว่า
“จริงหรือเปล่าที่ซีรีส์เรตติ้งสูงสุดประจำปีนั้นๆ จะไม่ชนะรางวัลใหญ่ด้านโทรทัศน์อย่างซีรีส์ยอดเยี่ยม (Best Drama)”
ก่อนจะไปอ่านข้อมูลทั้งหมด เราขอเวลาหนึ่งนาที พาผู้อ่านมาทำความเข้าใจแผนภูมิที่ใช้อธิบายดาต้าในครั้งนี้นิดนึง
เราประยุกต์แผนภูมิที่แสดงพื้นที่อย่าง ‘Proportional area chart’ นำมาแสดงเรตติ้งที่สูงที่สุดของซีรีส์เรื่องนั้นๆ ต่อ 1 ตอน (อ้างอิงจาก Nielsen Korea) ยิ่งเรื่องนั้นได้เรตติ้งสูง ขนาดของสี่เหลี่ยมก็จะใหญ่ขึ้น ตามวิธีการทำงานของ Proportional area chart (เรตติ้งถูกคำนวณจากจำนวนผู้ชมที่ดูซีรีส์สดๆ)
เพื่อให้การอ่านดาต้าสนุกมากขึ้น เราเลยออกแบบสี่เหลี่ยมธรรมดาให้อยู่ในรูปทรงของตั๋วดูหนัง สีที่แสดงคือประเภทของซีรีส์ มุมที่ถูกเจาะบนตั๋วหนังแสดงถึงรางวัลที่ซีรีส์เรื่องนั้นๆ ได้รับ สุดท้ายรูปทรงสี่เหลี่ยมและวงกลมของตั๋วหนังหมายถึงช่องทางการรับชม สี่เหลี่ยมคือฉายทางโทรทัศน์ก่อน จากนั้นค่อยลงระบบสตรีมมิง ส่วนวงกลมจะฉายในระบบสตรีมมิงอย่างเดียว
กลับมาที่คำถามเมื่อตอนต้น “จริงหรือเปล่าที่ซีรีส์เรตติ้งสูงสุดประจำปีนั้นๆ จะไม่ชนะรางวัลใหญ่ด้านโทรทัศน์อย่างซีรีส์ยอดเยี่ยม (Best Drama)”
คำตอบคือ จริง!
ถ้าพร้อมแล้ว เรามาดูข้อมูลแต่ละปีผ่านซีรีส์ที่มีชื่อเข้าชิงรางวัล Best Drama กัน (ทุกปีจะมีซีรีส์ที่ได้เข้าชิงรางวัลจำนวน 5 เรื่อง)
2016
ซีรีส์สองเรื่องที่มาแรงในปีนั้น คือ Descendants of the Sun ความรักในสนามรบระหว่างทหารหนุ่มและคุณหมอสาว ซึ่งได้รับการพูดถึงตั้งแต่เริ่มออกอากาศจนจบ ทำเรตติ้งสูงถึง 38.80% แถมยังคว้ารางวัล Grand prize หรือ รางวัลแดซัง (รางวัลใหญ่สุดประจำคืนประกาศรางวัล มอบให้ใครก็ตามที่มีผลงานโดดเด่นในปีนั้นๆ อาจจะเป็นซีรีส์ นักแสดง หรือผู้กำกับ ซึ่งแตกต่างจากรางวัล Best Drama ที่มอบให้เฉพาะซีรีส์เท่านั้น) กลับไปได้
Reply 1988 มิตรภาพและการเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในยุคปลาย 80s ของชาวซังมุนดง ซีรีส์ที่แจ้งเกิดนักแสดงมากมาย และส่งให้ผู้กำกับ ชิน วอนโฮ (Shin Won-ho) คว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมกลับไปในค่ำคืนนั้น
แต่ทั้งสองเรื่องก็พ่ายแพ้ให้แก่ Signal เรื่องราวของตำรวจแผนกสืบสวนคดีอาชญากรรมที่วันหนึ่งพบวิทยุสื่อสารรุ่นเก่าที่มีเสียงลึกลับจากตำรวจรุ่นพี่ที่หายตัวไปอย่างลึกลับ ผู้คนจากอดีตและปัจจุบันต้องร่วมมือกันทำคดีที่ไม่สามารถปิดลงได้ ปริศนาฆาตกรรมในเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากเรื่องจริง ชวนผู้ชมติดตามและคอยลุ้นไปกับการไขคดีผ่านวิทยุสื่อสารเครื่องเก่า ถึงแม้ว่าบรรยากาศของซีรีส์จะเต็มไปด้วยปมปริศนา ความดราม่า และบรรยากาศมืดๆ แต่กลับเป็นค่ำคืนที่สว่างไสวของ Signal เพราะสามารถกวาดไปได้ถึง 3 รางวัล ได้แก่ นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม—คิม ฮเยซู (Kim Hye-soo) เขียนบทยอดเยี่ยม—คิม อึนฮี (Kim Eun-hee) และรางวัลใหญ่อย่าง Best Drama
2017
หญิงสาวปลอมตัวเป็นชายหนุ่ม แกล้งทำตัวเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความรัก พรหมลิขิตทำให้เธอเข้าไปเกี่ยวข้องกับองค์รัชทายาทหนุ่มรูปงาม (มาก) เรื่องวุ่นวายในวังจึงเกิดขึ้นทุกครั้งที่พระจันทร์ฉาย Love in the Moonlight ซีรีส์ประวัติศาสตร์เรื่องเดียวที่เข้าชิงในปีนี้ และส่งให้ พัค โบกอม (Park Bo-gum) (ของพวกเรา) เป็นนักแสดงที่มาแรงที่สุดในช่วงปี 2016-2017
ต่อด้วย Guardian: The Lonely and Great God ซีรีส์แฟนตาซีว่าด้วยเรื่องของ ‘ก็อบลิน’ ที่มีดาบปักอกเหมือนเป็นคำสาปไม่ให้สามารถไปเกิดใหม่ได้ มีเพียง ‘เจ้าสาวก็อบลิน’ ที่จะสามารถถอนคำสาปโดยการดึงดาบนั้นออก เรื่องนี้ส่งให้ กงยู (Gong Yoo) คว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากการสวมบทเป็นก๊อบลิน (สุดหล่อ)
แต่ทั้งสองเรื่องก็แพ้รางวัล Best Drama ให้แก่ Dear My Friends ที่พูดถึงความสวยงามของการใช้ชีวิตในช่วงวัยที่เวลาในการอยู่บนโลกนี้เหลือน้อยลงเรื่อยๆ และทำให้นักเขียน โน ฮีคยอง (No Hee-kyung) ได้รับรางวัลเขียนบทยอดเยี่ยมกลับไป
2018
My Golden Life ซีรีส์ดราม่าครอบครัวขนาดยาวจำนวน 52 ตอน ว่าด้วยเรื่องของหญิงสาวที่กำลังจะประสบความสำเร็จ แต่กลับมีจุดพลิกผันจนทำให้ชีวิตติดลบ เรื่องราวการค้นหาความสุขในช่วงเวลาที่ยากลำบากทำเรตติ้งสูงสุดในตอนจบที่ 45.10%
การสืบหาความจริงของคดีปริศนาโดยอัยการหนุ่มที่ไร้ความรู้สึกกับตำรวจสาว แต่ยิ่งสืบก็ยิ่งเจอเรื่องราวการทุจริตในวงข้าราชการและผู้มีอำนาจที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง ถึงแม้จะได้เรตติ้งไปเพียงแค่ 6.56% แต่ Stanger ก็คว้าไปได้ถึง 3 รางวัล นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม—โจ ซึงอู (Cho Seung-woo) เขียนบทยอดเยี่ยม—อี ซูยอน (Lee Soo-yeon) และรางวัลใหญ่อย่าง Grand prize
แต่ทั้งสองเรื่องก็แพ้ให้แก่ Mother ซีรีส์ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างคุณครูคนใหม่กับเด็กประถมที่ถูกครอบครัวทำร้าย ด้วยเรื่องราวสุดเข้มข้นพร้อมสะท้อนปัญหาสังคม Mother จึงสามารถคว้ารางวัล Best Drama ประจำปีนั้นไป
2019
การศึกษาเป็นเรื่องเจ็บปวดเสมอสำหรับครอบครัวเอเชีย SKY Castle เล่าเรื่องการชิงดีชิงเด่น การผลักดันลูกตัวเองให้เข้าคณะแพทย์ในมหาวิทยาลัยชั้นนำ โดยบรรดาแม่ๆ ในสังคมชนชั้นสูงที่มีปมปริศนามากมายในชีวิต SKY Castle เข้าชิงทั้งหมด 11 รางวัล และคว้ามาได้ถึง 4 รางวัล ได้แก่ ผู้กำกับยอดเยี่ยม—โจ ฮยอนแทค (Jo Hyun-tak), สมทบชายยอดเยี่ยม—คิม บยองชอล (Kim Byung-chul), นักแสดงหญิงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม—คิม ฮเยยุน (Kim Hye-yoon) และและนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม—ยอม จองอา (Yum Jung-ah)
Mr. Sunshine ซีรีส์อิงประวัติศาสตร์ช่วงที่เกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่นปลายทศวรรษ 1800 ถึงต้นทศวรรษ 1900 พระเอกเป็นชายเกาหลีสัญชาติอเมริกา นางเอกเป็นหญิงในตระกูลสูงศักดิ์ที่หัวก้าวหน้า และไม่ชอบทำตามธรรมเนียมเดิมจึงแฝงตัวเข้าไปกองกำลังลับ เรียกร้องอิสรภาพจากญี่ปุ่น ซีรีส์สุดเข้มข้นที่ส่งให้ อี บยองฮุน (Lee Byung-hun) คว้ารางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครอง
ทว่าทั้งสองเรื่องโปรเจ็กต์ยักษ์ใหญ่ก็แพ้รางวัล Best Drama ให้แก่เรื่องราวแสนธรรมดาที่เรตติ้งไม่สูงเท่าอย่าง My Mister ซึ่งเล่าเรื่องผ่านหญิงสาววัย 20 ที่มีชีวิตแสนเศร้าและเปราะบาง แต่กลับแสดงออกด้วยท่าทีแสนเย็นชา เพื่อปกปิดความอ่อนแอในชีวิตเอาไว้ แต่ชีวิตของเธอก็เปลี่ยนไป เมื่อได้รู้จักคุณลุงคนหนึ่ง
2020
2020 เป็นปีที่รางวัล Best Drama ชิงกันอย่างดุเดือดและเป็นปีแรกที่ซีรีส์จาก Netflix สตรีมมิงเจ้าดังได้เข้าชิงรางวัลนี้
ไล่ไปตั้งแต่ Kingdom ซีรีส์ว่าด้วยโรคประหลาดที่ทำให้คนตายสามารถฟื้นคืนชีพได้ องค์รัชทายาทต้องร่วมมือกับแพทย์สาวเพื่อจัดการโรคระบาดที่แพร่ไปทั่วอาณาจักร Kingdom เป็น original series ของ Netflix ที่จับเอาเรื่องสยองขวัญกับประวัติศาสตร์มารวมกัน กลายเป็นพล็อตที่สร้างปรากฏการณ์ไปทั่วเอเชีย
Hyena เรื่องราวการต่อสู้ระหว่างทนายความสองคนที่มีอุดมการณ์ต่างกัน พร้อมจะกัดอีกฝ่ายยามเผลอ ถือเป็นปีทองของ จู จีฮุน (Ju Ji-hoon) ที่การแสดงนำของเขาได้ชิงทั้งสองเรื่อง คือ Kingdom และ Hyena
เรื่องราวความรักที่บังเอิญโคจรมาเจอกันระหว่างนักธุรกิจสาวสวยจากเกาหลีใต้กับสหายพลทหารมาดนิ่งจากเกาหลีเหนือใน Crash Landing on You ซีรีส์ซึ่งเป็นที่พูดถึงทั่วเอเชียตลอดทั้งปี และทำเรตติ้งสูงถึง 21.68%
When the Camellia Blooms ว่าด้วยชีวิตแม่เลี้ยงเดี่ยวที่เปิดบาร์ หาเลี้ยงลูกชายด้วยตัวคนเดียว แต่แล้วเธอก็ต้องเจอเรื่องวุ่นวายจากผู้ชายสามคนที่เข้ามาในชีวิต แถมยังมีปมปริศนาฆาตกรรมที่ดันมาเกี่ยวข้องกับนางเอกอีก ซีรีส์กวาดเรตติ้งไปได้มากถึง 23.80% และคว้างรางวัล Grand prize ไปครอง
นอกจากนี้ ยังมีซีรีส์ที่โด่งดังอีกมากมายที่ไม่ได้เข้าชิงรางวัล Best Drama ในปีนี้ ทั้ง Search: WWW, Hotel Del Luna, Vagabond, Itaewon Class หรือแม้กระทั่ง The World of the Married
แม้จะมีเรื่องฮอตฮิตมากแค่ไหน แต่ Best Drama ก็มีเพียงรางวัลเดียว และตกเป็นของ Hot Stove League เรื่องราวของโค้ชนักกีฬาเบสบอล กีฬายอดนิยมในเกาหลีใต้และเป็นซีรีส์ที่มีผู้ชมสูงสุดถึง 3.9 ล้านคน พร้อมเรตติ้งตอนจบอยู่ที่ 19.10% กลายเป็นใบเบิกทางให้กับซีรีส์กีฬา ทั้งแก๊งน้องแบดมินตันใน Racket Boys และคู่หูนักกีฬาฟันดาบ นา ฮีโด กับ โก ยูริม ใน Twenty-Five Twenty-One
2021
ปี 2019 เป็นปีของซีรีส์ดราม่า
ปี 2020 เป็นปีของซีรีส์โรแมนติก
ปี 2021 เป็นปีของซีรีส์สยองขวัญ
ถึงแม้ว่าความนิยมทางด้านเรตติ้งของซีรีส์ในปี 2021 จะน้อยเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ แต่ก็เป็นปีที่มีแต่เรื่องคุณภาพและพล็อตเรื่องที่แปลกใหม่
It’s Okay to Not Be Okay ความสัมพันธ์ระหว่างเจ้าหน้าที่แผนกจิตเวช ซึ่งมีพี่ชายเป็นออทิสติก และนักเขียนนิทานเด็กผู้มีปมในวัยเด็ก ทั้งสามคนมีเรื่องที่คอยเติมเต็มกันและกันในช่วงเวลาที่ไม่เหลือใคร เป็นซีรีส์เยียวยาหัวใจที่ส่งให้ โอ จองเซ (Oh Jung-se) คว้ารางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยยมมาครอง
Flower of Evil ซีรีส์สยองขวัญ สืบสวน ดราม่า เรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่เหมือนจะสมบูรณ์แบบ แต่มีเรื่องราวในอดีตของสามีที่ภรรยาผู้เป็นตำรวจยังไม่เคยรู้มาก่อน ซีรีส์สุดเข้มข้นที่ทำให้ คิม ชอลกยู (Kim Cheol-kyu) ได้รับรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยม
แต่ทั้งสองเรื่องก็แพ้ให้กับ Beyond Evil เรื่องราวการตามหาตัวคนร้ายของตำรวจหนุ่มต่างวัยสองคนในคดีฆาตกรรมต่อเนื่องเมื่อ 20 ปีก่อนที่ชนบทห่างไกลจากความเจริญ โดยที่ทุกคนในหมู่บ้านมีสิทธิเป็นฆาตกรกันหมด แม้กระทั่งตัวของพวกเขาเอง ซีรีส์เรื่องนี้ถ่ายทอดบรรยากาศความน่ากลัวของชนบทได้อย่างยอดเยี่ยม และได้ไปถึง 3 รางวัล ทั้ง Best Drama, เขียนบทยอดเยี่ยม—คิม ซูจิน (Kim Soo-jin) และนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมที่แทบจะไม่ต้องลุ้นเลยสำหรับการแสดงของ ชิน ฮาคยุน (Shin Ha-kyun)
2022
การประกาศรางวัล Baeksang Art Awards 2022 ครั้งที่ 58 เรียกได้ว่าเป็นปีของซีรีส์ที่ฉายผ่านช่องทางสตรีมมิง เพราะได้รับการเสนอเข้าชิงถึงสามเรื่องด้วยกัน และทุกเรื่องมีประเภทไม่ซ้ำกันเลย
รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม—อี จุนโฮ (Lee Jun-ho) จาก The Red Sleeve เรื่องราวอิงประวัติศาสตร์ในสมัยโชซอนระหว่างกษัตริย์และหญิงสามัญชน
รางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมชนะแบบไม่ค้านสายตาใคร—คิม แทรี (Kim Tae-ri) จาก Twenty-Five Twenty-One ซีรีส์ที่ถ่ายทอดเรื่องราวความฝัน ความหวัง ความรัก มิตรภาพ และช่วงวัยที่เปลี่ยนผ่านของคนหนุ่มสาว กับการใช้ชีวิตในยุคที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1998
ส่วนรางวัล Best Drama ตกเป็นของซีรีส์สะท้อนปัญหาการเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้ ผ่านหน่วยพิเศษที่ทำหน้าที่คอยตามล่าทหารซึ่งหนีออกจากค่ายอย่าง D.P. ซึ่งฉายทาง Netflix
ปิดท้ายด้วยรางวัล Grand Prize รางวัลสุดท้ายประจำค่ำคืน ผู้ชนะคือ Squid Game ซีรีส์ที่สร้างปรากฏการณ์ฮิตถล่มถลายไปทั่วโลก ด้วยการผสมผสานเรื่องราวความเป็นชาติเกาหลี ตั้งแต่การละเล่นเด็ก จนไปถึงปัญหาทางสังคม เล่าเรื่องผ่านการเล่นเกมเซอร์ไวเวิลที่มีทั้งความสยองขวัญ ฉากแอ็กชั่น และฉากดราม่าเรียกน้ำตาคนดูตลอดทาง
ตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ผู้อ่านอาจจะสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นของแนวซีรีส์ที่ได้เข้าชิง โดยซีรีส์ที่เป็นที่พูดถึงหรือกระแสดีมักจะไม่ได้รางวัล Best Drama แต่รางวัลนี้จะตกเป็นของซีรีส์สะท้อนสังคมและยกประเด็นทางสังคมขึ้นมาพูด ทั้งการสืบสวนหาความจริงในสังคมที่มืดมิด คุณค่าของการใช้ชีวิตในช่วงบั้นปลาย บทบาทของความเป็นแม่ที่ไม่ได้เป็นผู้ให้กำเนิด การใช้ชีวิตที่แสนเรียบง่ายในเมืองใหญ่ การทำตามความฝัน หรือแม้กระทั่งปีล่าสุดก็พูดถึงประเด็นการเกณฑ์ทหารที่มีคนหนีค่ายทหารอยู่เสมอ พร้อมกับตั้งคำถามถึงความจำเป็นของการเกณฑ์ทหารในยุคปัจจุบัน
ด้วยเหตุนี้ จึงอาจพูดได้ว่ารางวัล Best Drama ไม่ได้มอบให้แก่ซีรีส์ที่เป็นกระแส แต่มอบให้กับซีรีส์ที่ผู้ชมจะได้ตั้งคำถาม ย้อนมองตัวเอง และตั้งคำถามในสังคมที่เราอยู่
อ้างอิง
• en.wikipedia.org/wiki/Baeksang_Arts_Award_for_Best_Drama
• en.wikipedia.org/wiki/Korean_drama#Ratings_and_viewership
• preview.ph/culture/top-20-highest-rating-korean-dramas-a00268-20200519-lfrm
• kultscene.com/why-signal-beat-descendants-of-the-sun-for-best-drama/
• asianwiki.com/My_Golden_Life