Wed 23 Jun 2021

DAYS AFTER THE REVOLUTION

อ่านเรื่องราว 24 มิถุนายน 2475 ผ่านจดหมายของบุคคลร่วมสมัยกับคณะราษฎร

ภาพ: NJORVKS

     24 มิถุนายน 2475

     วันเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ประชาธิปไตย ภายใต้การนำของคณะราษฎร อันประกอบไปด้วยกลุ่มคนหนุ่ม 114 คน ร่วมกัน ‘อภิวัฒน์สยาม’ ในเช้าวันดังกล่าว 

     แรงสะเทือนของเช้าวันนั้นไม่ได้ส่งผลต่อประวัติศาสตร์การเมืองไทยเพียงอย่างเดียว หากยังส่งผลถึงชีวิต ความคิด ความทรงจำ และความรู้สึกของผู้คนมากมายทุกระดับชั้น ทั้งจากฝั่งคนใกล้ชิดผู้ก่อการและฝั่งเจ้านายชั้นสูง 

     เนื่องในวาระครบรอบ 89 ปีการอภิวัฒน์สยาม จึงขอพากลับไปดูเหตุการณ์ในวันนั้นผ่านเรื่องเล่าหลากมุม ที่จะช่วยให้เห็นภาพกว้างและผลกระทบในเชิงปัจเจกต่อคนทุกฝ่ายได้ชัดเจนขึ้น

ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

     บ้านหลังหนึ่งแถวสีลมอันเป็นบ้านพักของนายปรีดี พนมยงค์ และภรรยา ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ พร้อมด้วยลูกๆ ในวันนั้นมีเพียงท่านผู้หญิงพูนศุขกับลูกสองคน คือคุณลลิตา และคุณปาล เนื่องจากคืนก่อน (23 มิถุนายน) นายปรีดีมาขอลา “ไปบวชที่อยุธยา” ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้นั่งรถไปส่งสามีที่สถานีรถไฟหัวลำโพงพร้อมลูกๆ ทั้งสอง

     “จนเช้ารุ่งขึ้นของวันที่ 24 มิถุนายน จำได้ว่าท้องฟ้ามืดครึ้มมีฝนตกปรอยๆ ตามปรกติเราจะถ่ายรูปลูกๆ เป็นระยะ ลูกปาลอายุครบหกเดือนจึงเอามาแต่งตัวด้วยเสื้อผ้าชุดใหม่ อุ้มลงไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกที่ตึกใหญ่ของคุณพ่อ พอสักครู่ท่านเจ้าพระยายมราช บ้านอยู่ศาลาแดงที่เป็นดุสิตธานีเวลานี้ ท่านเป็นญาติผู้ใหญ่ เป็นน้าของคุณแม่ ฉันเรียกท่านว่าคุณตา ก็มาที่บ้านป้อมเพชร์ ท่านถามว่ารู้เรื่องมั้ย เกิดเรื่องใหญ่ คนเรือของท่านที่อยู่ใกล้บางขุนพรหมมารายงานท่านว่า ที่วังบางขุนพรหมมีทหารมาจับทูลกระหม่อมชาย (สมเด็จฯ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้รักษาพระนครแทนพระองค์ในขณะนั้น)” 

     ตามแผนปฏิบัติการที่พระยาทรงสุรเดช (เทพ พันธุมเสน) ในฐานะอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาทหาร โรงเรียนนายร้อย เป็นผู้วางเอาไว้ จะนัดหมายรวมพลฝั่งทัพเรือที่บริเวณริมทางรถไฟถนนประดิพัทธ์ เวลา 5:00 น. ของเช้ามืดวันที่ 24 มิถุนายน 

     ส่วนทัพเรือโดยหลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) มารอที่ลานพระบรมรูปทรงม้า สวมรอยว่านำกำลังมาเตรียมปราบกบฏในเวลา 6:00 น. ก่อนจะกระจายกำลังไปทำภารกิจสำคัญที่สุดในลำดับถัดมาคือ การยึดสถานที่สำคัญและเชิญเจ้านายชั้นผู้ใหญ่มาเป็นตัวประกัน

     ตลอดเช้าวันนั้น ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอยู่คณะราษฎรปีกฝ่ายพลเรือน กำลังลอยเรืออยู่ในคลองบางลำภูข้างวัดบวรนิเวศฯ เพื่อเตรียมแจกจ่ายแถลงการณ์ ‘ประกาศคณะราษฎร’ ซึ่งพิมพ์ที่โรงพิมพ์นิติสาสน์ (โรงพิมพ์ของปรีดีเอง) พอช่วงบ่ายแก่ 16:00 น. ปรีดีจะเดินทางไปสมทบกับกลุ่มคณะราษฎร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เพื่อจัดการประชุมร่วมกันสามฝ่าย คือคณะราษฏร, เสนาบดี และปลัดทูลฉลอง (มีฐานะเทียบเท่าปลัดกระทรวงในปัจจุบัน—กองบรรณาธิการ) เพื่อชี้แจงจุดประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง และขอความร่วมมือให้ดำเนินงานราชการแผ่นดินต่อไป 

     ช่วงเวลานั้น นายปรีดียังมีบทบาทสำคัญในการช่วยชี้แจงต่อสถานทูตต่างๆ ในพระนคร เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากต่างประเทศอีกด้วย 

ปรีดียืนข้างขวามือจอมพล แปลก พิบูลย์สงคราม (ยืนกลาง)

     “นายปรีดีให้คนมาส่งข่าวบอกว่าตอนนี้อยู่ที่พระที่นั่งอนันตสมาคม กองบัญชาการคณะราษฎร ไม่ได้กลับบ้านเลย ให้ช่วยส่งอาหารไปให้ นับแต่วันนั้นฉันก็ต้องจัดอาหารให้คนนำไปส่งนายปรีดีที่พระที่นั่งอนันต์ฯ จนกระทั่งวันที่ 3 กรกฎาคม นายปรีดีจึงมีจดหมายมาถึงฉัน ขอโทษที่ไม่ได้เล่าความจริงให้ฟัง เพราะถ้าเล่าให้ฟัง เดี๋ยวก็จะทำการไม่สำเร็จ ฉันอายุยังน้อยกลัวว่าจะไม่รักษาความลับ และอีกอย่างหนึ่งที่บ้านก็คุ้นเคยเจ้านายหลายวัง

     ภายหลังนายปรีดีย้ายจากพระที่นั่งอนันต์ฯ มาอยู่วังปารุสกวัน เลยมารับลูกเมียไปอยู่ด้วยกัน ตอนนั้นนายปรีดียังไม่สามารถกลับบ้านได้ เพื่อความสะดวกในการอารักขาความปลอดภัย จนกระทั่งเหตุการณ์เข้าสู่ภาวะปรกติจึงกลับบ้านได้”

     จดหมายที่ว่านั้นขึ้นต้นด้วยคำว่า “พูนศุข น้องรัก” ก่อนจะสารภาพถึงเหตุที่เขาต้องโกหกภรรยาอันเป็นที่รักว่าไปบวช รวมถึงเหตุที่ต้องปกปิดแผนการเปลี่ยนแปลงการปกครองไว้ตลอดมา ซึ่งจดหมายฉบับดังกล่าวนั้น ปรีดีเขียนขึ้นที่พระที่นั่งอนันตสมาคม ลงวันที่ 3 กรกฎาคม 2475 หรือเป็นเวลาเก้าวันนับจากวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง (ผู้อ่านสามารถอ่านจดหมายฉบับเต็มได้ที่นี่)

หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล

     อีกด้านหนึ่งของพระนคร ณ วังวรดิศ ย่านหลานหลวงใกล้ตลาดสะพานขาว เช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 กลับเป็นความวุ่นวายอย่าง ‘พลิกฟ้าคว่ำดิน’ ในมุมมองของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดา​ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ 

     หม่อมเจ้าพูนพิศมัยบันทึกไว้ในหนังสือที่เปรียบดังอัตชีวประวัติของพระองค์เองใน สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น รำลึกถึงความรู้สึกหลังได้อ่านประกาศคณะราษฎรในเช้าวันนั้น

กรมพระยาดำรงฯ พร้อมครอบครัวเสด็จประภาสพม่าเมื่อปี 2478 หม่อมเจ้าพูนพิศมัย (ขวาสุด)

     “ชายพิสิษฐ์น้องชายข้าพเจ้าที่กำลังเป็นทหารประจำการอยู่วิ่งถือประกาศที่พวกทหารทิ้งแจ้งความตามถนนเข้ามาถวายสเด็จพ่อ (กรมพระยาดำรงฯ)…

     พออ่านจบข้าพเจ้าก็นึกว่า งานของชาวต่างประเทศจริงๆ หรือนี่ เพราะก่อนเกิดเหตุได้สัก 7 วัน ครูภาษาฝรั่งเศสของข้าพเจ้ามาบอกว่า ‘จะเกิดบอลเชวิคในเร็วๆ นี้’ ข้าพเจ้ากำลังเบื่อการอยากทำดีด้วยแล้วไม่ทำอะไรก็อิจฉาริษยากันเองอยู่เหลือกำลังแล้ว ก็พูดกับครูไป ‘ดี จะได้รู้กันเสียที ฉันก็เบื่อเต็มทีแล้ว’ ครูหน้าบึ้ง ‘มันจะไม่สนุกอย่างท่านหญิงคิดดอกนา’ ข้าพเจ้าก็หัวเราะมิได้คิดเอาเป็นจริงเป็นจัง เพราะไม่เคยได้ยินจากใครที่พอจะเชื่อถือได้ก่อนหน้านี้…

     “…เสด็จพ่อทรงส่งกระดาษแผ่นนั้นถวายทอดพระเนตร ยังไม่ทันทรงอ่านจบ ชายดิศกับชายนิพัท น้องชายของข้าพเจ้าก็วิ่งเข้ามาบอกว่า ‘มาแล้ว มาแล้ว’ แล้วก็กลับออกไปรับ และนำเข้ามาทางประตูเฉลียง ‘ทางนี้เสด็จอยู่นี่’ เรากำลังมองดูว่าใครเป็นคนมาและพิศวงว่าจะทำอะไรกัน ได้ยินเสียงรถยนต์ดังลั่นเข้ามาในบ้านเป็นแถว รวมทั้งรถแท้งค์ รถทรัคบรรทุกทหารทั้งนั่งและยืนกันมาราวคันละ 15-20 คน ถือปืนใส่หอกปลายปืนแล้วทั้งนั้น คันหนึ่งแล่นเข้ามาจอดหน้าโรงรถซึ่งอยู่หลังเฉลียงที่เรานั่ง พอรถแล่นเข้ามา นายทหารก็โดดลงๆ อย่างว่องไว วิ่งเข้ามายืนล้อมเฉลียงเป็นระยะรายไป 2-3 คน”

     สิ่งที่น่าสนใจในบันทึกของหม่อมเจ้าพูนพิศมัยก็คือ การบันทึกลำดับเหตุการณ์ตามเวลาในแต่ละวัน ตั้งแต่เช้าจรดหัวค่ำในวันที่ 24 และ 25 มิถุนายน 2475 นอกจากจะบันทึกโดยพระองค์เอง และพาผู้อ่านย้อนเวลากลับไปสู่เหตุการณ์ในวันดังกล่าวโดยละเอียดแล้ว ยังเห็นทั้งภาพเหตุการณ์ต่างๆ พร้อมด้วยบทสนทนาที่พระองค์ได้สนทนาและตอบคำถามกับบรรดาทูตจากแต่ละประเทศ รวมถึงเชื้อพระวงศ์ใกล้ชิดอีกหลายพระองค์ 

     นอกจากนั้น หม่อมเจ้าพูนพิศมัยยังเขียนบรรยายความรู้สึกส่วนพระองค์แทรกลงไป ซึ่งเต็มไปด้วยความคับแค้นต่อเหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือการเล่าถึงเหตุการณ์ที่ทหารเข้ามาเชิญกรมพระยาดำรงฯ ไปลงพระนามรับรู้การเปลี่ยนแปลงการปกครอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม 

     “…เขาคงจะไม่รู้ได้ว่า เรากำลังกัดฟันอดทนต่อความเจ็บปวดรวดร้าวสักเพียงใด อนิจจายูนิฟอร์มอันมีเกียรติที่ชาติได้ไว้ใจให้ถืออาวุธได้แต่พวกเดียว ยูนิฟอร์มที่พ่อข้าพเจ้าเคยได้ใส่มาแต่พระชันษา 14 ปี ตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยจนได้เป็นนายพลเอก เราเป็นผู้รักและภูมิใจในยูนิฟอร์มนี้ว่าเป็นพวกเดียวกันในคำว่า กษัตริย์ แต่วันนี้ วันที่ 24 มิถุนายน 2475 นี้ พวกใช้ยูนิฟอร์มนี้ เป็นผู้นำอาวุธมาลากเอาพ่อข้าพเจ้าไป ปล่อยให้เราผู้เป็นผู้หญิงนั่งลงกัดฟันทน ปล่อยให้หลานเล็กๆ ของเรานั่งร้องไห้กันเป็นกลุ่มด้วยความตกใจกลัว และคนที่มีอายุ 6 ขวบ กระซิบถามเราว่า ‘ป้าจ๋า ทหารเขาจะเอาอะไร กำไลทับทิมของป้ามนม้าเครื่องแป้งเขาเอาไปรึเปล่า ให้เขาเสียซีจ๊ะ’ น่าอนิจจา”

     ในปี 2476 หม่อมเจ้าพูนพิศมัยก็จำต้องตามเสด็จกรมพระยาดำรงฯ ไปอยู่ปีนังร่วมสิบปี ก่อนทั้งสองพระองค์จะได้กลับมายังกรุงเทพฯ ในช่วงเดือนตุลาคม 2486 โดยจอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีขณะนั้น อนุญาตให้เดินทางกลับเข้าประเทศได้ หลังจากกองทัพญี่ปุ่นบุกยึดมาเลเซียได้สำเร็จ ทิ้งปีนังไว้เป็นเมืองขึ้นของกองทัพญี่ปุ่นโดยสมบูรณ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ 

     สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาชุ่ม ท.จ.ว. และเป็นองค์ต้นราชสกุลดิศกุล ทั้งยังเป็นพระบิดาของหม่อมเจ้าพูนพิศมัย 

     ขณะที่สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประสูติแต่พระสัมพันธวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพรรณราย 

     ทั้งสองพระองค์เป็นเจ้านายคนสำคัญในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความสำคัญในการวางรากฐานงานด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี พิพิธภัณฑสถาน รวมถึงงานดนตรีนาฏศิลป์และงานภาษา-หนังสืออีกด้วย 

สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (ซ้าย)
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (ขวา)

     ทั้งสองพระองค์มีความสนิทสนมกันเป็นพิเศษ เนื่องด้วยมีความสนใจในด้านต่างๆ ข้างต้นใกล้เคียงกัน มีการค้นพบจดหมายลายพระหัตถ์ตอบโต้กันระหว่างปี 2470-2486 (ยุติการเขียนเพราะกรมพระยาดำรงฯ สิ้นพระชนม์ไปในปี 2486) โดยจดหมายกว่าหลายร้อยฉบับถูกนำมารวบรวมจัดพิมพ์ในชื่อ สาส์นสมเด็จ

     ทว่าในบรรดาจดหมายมากมายเหล่านั้น มีอยู่จำนวนไม่กี่ฉบับที่กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ทั้งที่ทั้งสองพระองค์เป็น 2 ใน 5 อภิรัฐมนตรีในรัชสมัยของพระปกเกล้า (ดำรงตำแหน่งระหว่าง 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 ถึงวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2475) โดยตามพระราชดำรัสแต่งตั้งให้อภิรัฐมนตรีมีหน้าที่ “สำหรับพระเจ้าแผ่นดินทรงปรึกษาราชการทั้งปวงเปนนิจ เพื่อจะได้เป็นกำลังแก่การที่ทรงพระราชวินิจฉัยราชการทั้งปวง”

     กว่าที่กรมพระยานริศฯ อดีตอภิรัฐมนตรีองค์สำคัญ จะเขียนจดหมายถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ปาไปเกือบหนึ่งเดือนหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง คือจดหมายฉบับลงวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2475

     “กราบทูลทราบฝ่าพระบาท

     ตั้งใจไว้ว่ามาเฝ้าจะทูลปรึกษาความข้อหนึ่ง แต่ครั้นมาถึงพูดอะไรๆ ไปเลยลืมเหลวไม่ได้ทูล ข้อความที่จะทูลปรึกษานั้นคือว่าเจ้าพระยาวรพงศ์ทำกำหนดการพระราชทานเพลิงหมู่ใหญ่ทูลเกล้าฯ ถวาย ในนั้นมีเรียนพระราชปฏิบัติอยู่หลายข้อ ได้ทรงนำออกปรึกษาในที่ประชุมอภิรัฐมนตรีแต่ข้อเดียว ซึ่งฝ่าพระบาทได้ทูลถวายความเห็น ให้งดพระศพกรมหลวงสมรรัตนไว้พระราชทานเพลิงเมรุกลางเมืองต่อสมเด็จชายก็เปนอันตกลงไปแล้ว ส่วนข้ออื่นพระราชทานลงมาให้เกล้ากระหม่อมพิจารณาถวายความเห็น ยังไม่ทันเขียนความเห็นถวายก็มาเกิดความหัวไม่เปนตีนขึ้นเลยค้างอยู่* บัดนี้เจ้าพระยามหิธรเตือนมาจะเอาความเห็นนั้น เกล้ากระหม่อมก็กำลังเขียนอยู่

     แต่มาเกิดสงสัยขึ้นที่พระเมรุกลางเมืองนั้น เปนสเตตฟิวเนราลต้องจ่ายเงินแผ่นดิน จะทำได้หรือไม่ได้ด้วยเขาจะอนุญาตหรือไม่นั้นเปนข้อน่าสงสัย** ถ้าทำไม่ได้พระศพสมเด็จชายกับกรมหลวงสมรก็ต้องมาเข้าหมู่ใหญ่นี้ แต่เราจะควรพูดไปในความเห็นนั้นหรือไม่ควรเปนข้อสงสัย ถ้าไม่พูดจะเปนขาดความรอบคอบไปหรือไม่ อีกนัยหนึ่งถ้าพูดจะเปนล้นไปหรือไม่ อย่างใดจะเปนการสมควร ขอประทานพระดำริเปนคู่คิดเพื่อความแน่ใจ

ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด”

     ในข้อความแรกที่ผู้เขียนทำตัวหนาไว้นั้น กรมพระยานริศฯ ได้กล่าวถึงเหตุการณ์วันที่ 24 มิถุนายน 2475 ด้วยคำว่า “เกิดความหัวไม่เปนตีนขึ้น” ซึ่งเป็นคำที่ใช้เรียกเหตุการณ์ของคณะราษฎรในหมู่เจ้านายชั้นฝ่ายปกครอง 

     ส. ศิวรักษ์ เองก็เคยนำคำนี้มาใช้เป็นชื่อหนังสือ ซึ่งรวบรวมบทความทางการเมืองของท่านเอง ตีพิมพ์เมื่อปี 2535 โดยสำนักพิมพ์ศึกษิตสยาม และอธิบายความหมายเพิ่มเติมว่า “เป็นคำเตือนให้แสดงการอโหสิ ของเจ้านายในฝ่ายชนชั้นปกครอง ที่ถูกคณะราษฎรยึดอำนาจไปเมื่อปี ๒๔๗๕ ดยเปรียบว่าแต่ปีนั้นจนบัดนี้ (พ.ศ. ๒๕๓๕) เป็นระยะเวลา ๕ รอบนักษัตรพอดี เวลา ๖๐ ปีที่ผ่านมานี้เขาหวังว่า หัวจะเป็นหัว ตีนจะเป็นตีน คือราษฎรจะได้เป็นใหญ่ ประชาธิปไตยที่แท้จะมีทางฝังรากลึกในผืนแผ่นดินไทย” 

     ลึกๆ คำนี้เป็นคำที่แสดงทั้งความไม่พอใจและความบิดเบี้ยวผิดฝาผิดตัว อันเป็นผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวที่ปรากฏชัดสุดในจดหมายฉบับนี้ เกิดความหัวไม่เปนตีนขึ้นเลยค้างอยู่ถือเป็นข้อความเพียงไม่กี่คำที่ปรากฏการตอบโต้ทางการเมืองระหว่างเจ้านายทั้งสองพระองค์หลังเหตุการณ์ 2475 เป็นต้นมา ตราบจนจดหมายฉบับสุดท้าย 

     ทว่ากรมพระยาดำรงฯ เลี่ยงที่จะไม่พูดถึงการเมืองผ่านจดหมายเลย อาทิคำตอบต่อปัญหาข้างต้นในจดหมายลงวันที่ 22 กรกฎาคม 2475 

     “3. หม่อมฉันคิดเห็นว่าในส่วนพระองค์ท่านที่จะแก้ปัญหาที่ตกค้างนั้น ควรแก้อยู่ในวงความตามปัญหา อย่าปรารภถึงเหตุการณ์เลยจะดีกว่า เมื่อพระเจ้าอยู่หัวท่านทรงปรารภจะแก้ไขไปตามเหตุการณ์ตรัสถามย้อนออกมา จึงค่อยคิดแก้ไขถวายตามพระประสงค์ หม่อมฉันคิดเห็นดังนี้”

     สำหรับข้อความที่สองที่ทำตัวหนาไว้นั้น โดยปกติแล้ว การตั้งพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ให้พระราชทานเพลิงเมรุกลางเมืองนั้นเป็นธรรมเนียมสืบปฏิบัติมาช้านาน ทว่าเหตุการณ์ 24 มิถุนายน 2475 ได้ทำให้ระเบียบประเพณีดังกล่าวต้องชะงักไป 

     การตั้งคำถามเล็กๆ ถึงการจัดพระเมรุกลางเมืองที่ต้องใช้ “เงินแผ่นดิน” เพราะนับเป็น “สเตตฟิวเนราล” ซึ่งทับศัพท์ ‘State Funeral’ อันหมายถึงการจัดงานศพระดับชาติที่รัฐบาลเป็นเจ้าภาพ เดิมมักสงวนให้เฉพาะกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์เท่านั้น ทว่าประเทศยุโรปส่วนใหญ่หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วงศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมาจนถึงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 จากระบอบกษัตริย์สู่ระบอบต่างๆ จึงสามารถจัดสเตตฟิวเนราลให้สามัญชนก็ได้ แม้กระทั่งในสหราชอาณาจักรเองที่ยึดถือกฎระเบียบนี้อย่างเคร่งครัดมาตลอด ก็ยังจัดงานศพระดับชาติให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรี วินสตัน เชอร์ชิล (Winston Churchill) ในปี 1965 

     ข้อสงสัยที่กรมพระยานริศฯ ตั้งเอาไว้ว่า “เขา” จะอนุญาตหรือไม่นั้น หมายถึงคณะราษฎรซึ่งได้จัดตั้งรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยเป็นที่เรียบร้อย 

     จดหมายฉบับนี้ (22 กรกฎาคม) เขียนหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 27 มิถุนายน 2475 หัวข้อ พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช 2475 เนื่องในหมวด 2 ข้อ 7 ได้ระบุไว้ว่า “การกระทำใดๆ ของกษัตริย์ต้องมีกรรมการราษฎรผู้ใดผู้หนึ่งลงนามด้วย โดยได้รับความยินยอมของคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ มิฉะนั้นจะเป็นโมฆะ”

     คณะกรรมการราษฏรนี้นับเป็นคณะรัฐมนตรีชุดแรกของสยาม (ระหว่าง 24 มิถุนายน-10 ธันวาคม 2475) แต่งตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับแรก ส่วนชะตากรรมของสองเจ้านายผู้เป็นเสาหลักในยุคสุดท้ายของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ต่างผกผันไปคนละทาง แม้เช้าวันนั้นทั้งสองพระองค์จะถูก ‘ทูลเชิญ’ ไปคุมตัวยังพระที่นั่งอนันตสมาคมทั้งคู่ ก่อนจะถูกปล่อยตัวและถูกปลดจากราชการเพียงไม่กี่วันหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จ

     หลังเหตุการณ์กบฏบวรเดชระหว่าง 11-24 ตุลาคม 2476 มีผลให้เจ้านายชั้นสูงหลายพระองค์ถูกเพ่งเล็งจับตาจากฝ่ายรัฐบาลอย่างมาก ตามมาด้วยการกวาดล้างจับกุมผู้เกี่ยวข้อง 

     กรมพระยานริศฯ ได้เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ภายหลังจากพระองค์เสด็จประพาสยุโรปก่อนจะทรงประกาศสละราชสมบัติในอีกหกเดือนถัดมา (2 มีนาคม 2477) 

     ฝ่ายกรมพระยาดำรงฯ หลังเหตุกบฎบวรเดชก็เกรงจะเกิดความไม่ปลอดภัยแก่พระองค์และครอบครัว จึงตัดสินพระทัยเสด็จไปประทับยังปีนังพร้อมพระธิดาทั้งสามพระองค์ โดยย้ายไปช่วงเดือนพฤศจิกายน 2476 และเขียนจดหมายตอบโต้ถึงกรมพระยานริศฯ (เขียนที่หาดใหญ่ จังหวัดสงขลา) ขณะที่พระองค์ประทับอยู่ที่บ้านอัษฎางค์ เมืองปีนัง เพื่อยืนยันว่าการตัดสินใจไปครั้งนี้เกี่ยวข้องกับเหตุผลทางการเมือง แม้ตัวพระองค์เองจะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกบฏบวรเดช แต่มีข่าวลือว่าอาจมีการจับ ‘เจ้านายไว้เป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับในหลวง’ ดังเนื้อความในจดหมาย

     “…มาคิดดูว่าโปรแกรมของพระองค์ท่านจะเปนอย่างไร เมื่อได้เข้าไปเฝ้าขอเรียนพระราชปฏิบัติแล้ว คิดเห็นว่ามีเปน ๓ อย่าง คือ อย่าง ๑ คงประทับอยู่ที่หาดใหญ่ต่อไป ถ้าอย่างนี้มาอยู่ปีนังสบายและสดวกกว่า อย่างที่ ๒ ถ้าในหลวงเสด็จกลับเข้าไปกรุงเทพฯ เช่นพระองค์ท่านและตัวหม่อมฉันไม่มีความจำเปนจะตามเสด็จเข้าไป และดูยังไม่ปลอดภัย เพราะไม่มีอะไรเปนประกันว่าที่ในกรุงเทพฯ จะเรียบร้อยได้โดยเร็ว ส่วนพระเจ้าอยู่หัวเชื่อว่าปลอดภัย แต่ส่วนเรายังเชื่อไม่ได้ว่าปลอดภัยจากถูกจับเปนตัวจำนำสำหรับบังคับ​ในหลวง จึงคิดว่ารออยู่ห่างๆก่อนจะดีกว่า…”

     ท้ายสุดแล้วเหตุการณ์ทั้งสามเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของชุดเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผลสืบเนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวสร้างรอยร้าวระหว่างฝ่ายคณะราษฎรและฝ่ายเจ้าอย่างมากตลอดช่วงเวลาเกือบ 25 ปี จนถึงจุดที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นจุดสิ้นสุดแท้จริง คือการรัฐประหารรัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ผู้นำคณะราษฎรคนสุดท้ายลงในปี 2500 โดยจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์

     ทว่ายังมีจดหมายฉบับหนึ่งที่อาจนับเป็นผลพวงจากเหตุการณ์ในเช้าวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ก็ได้ คือจดหมายของปรีดี พนมยงค์ ที่เก็บไว้ในหอจดหมายเหตุกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศส เป็นชุดจดหมายที่มีชื่อในฐานข้อมูลว่า Dossier de Pridi Panomyong โดยทางหอจดหมายเหตุฯ ระบุว่า “เอกสารนี้จะเปิดให้ดูได้ในปี 2024”

     จดหมายฉบับนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ช่วงใดของปรีดี และบอกเล่าถึงผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 หรือไม่ เราคงต้องติดตามกันต่อไป แต่ที่แน่ๆ อีกเพียงสามปีข้างหน้า หน้าประวัติศาสตร์ใหม่จะถูกเปิดขึ้น ซึ่งอาจคลี่คลายปริศนาลี้ลับทางประวัติศาสตร์การเมืองไทยก็เป็นได้

อ้างอิง

• บทสัมภาษณ์ พูนสุข พนมยงค์ โดย ทีมงานเว็บไซต์ปรีดี-พูนศุข พนมยงค์ – 85 ปี จดหมายถึง “พูนศุข น้องรัก”

อ่านเพิ่มเติม

24 มิถุนายน 2475 ยุทธการพลิกแผ่นดินสยาม

ติดเกาะ! ตามสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไป “ลี้ภัยการเมือง” ที่ปีนัง

เปิดวินาทีทหารคณะราษฎรชักปืนใส่ “เจ้านาย” ในปฏิวัติ 2475 จากบันทึกเจ้านายสตรี 

ที่มาภาพ

silpa-mag.com/

the101.world/

pridi.or.th/th/libraries/gallery