Thu 20 Apr 2023

HIDDEN AGENDA

ข้อความที่ซ่อนอยู่หลังรางวัล

ภาพ: NJORVKS

     ไม่ว่าจะเป็นเวทีประกวดรางวัลใดก็มักจะมี ‘วาระซ่อนเร้น’ อยู่เสมอ

     ในโลกศิลปะ สิ่งที่การันตีความสามารถของศิลปินคนหนึ่งคงไม่มีวิธีใดแข็งแรงไปกว่าการให้รางวัลที่มีชื่อเสียง อย่างรางวัลซีไรต์ที่มอบให้ วีรพร นิติประภา ก็เปลี่ยนนักเขียนที่เพิ่งมีผลงานหนังสือเล่มแรกให้กลายเป็นคนดังระดับประเทศได้ หรืออย่างรางวัลเวทีนางงามก็เปลี่ยนผู้หญิงคนหนึ่งให้กลายเป็นคนใหม่ได้ภายในชั่วข้ามคืน

     คำถามคือรางวัลถูกมอบให้อย่างสมเหตุสมผลหรือไม่ 

     และถ้าไม่ รางวัลเหล่านั้นใช้วิธีตัดสินด้วยกรอบความคิดแบบใด

     หนังสือ The Formula: The Universal Laws of Success วิทยาศาสตร์แห่งความสำเร็จ เขียนโดย แอลเบิร์ต-ลาซโล บาราบาชี (Albert-László Barabási) กล่าวถึงเส้นทางการไปสู่ความสำเร็จโดยเฉพาะอย่างยิ่งแวดวงศิลปิน เล่าว่าในวงการศิลปะนั้น การมีเส้นสายและคนรู้จักเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่ผลงานถูกเลือกไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ชื่อดังได้ นั่นหมายถึงคุณกำลังจะกลายเป็นคนดังของวงการ 

     ในหนังสือยังเล่าอีกว่าเคยมีการทดลองให้นักชิมไวน์ฝีมือเยี่ยมมาชิมไวน์ราคาถูกและราคาแพงเปรียบเทียบกัน ผลปรากฏคือนักชิมไวน์เหล่านั้นแยกแยะไม่ได้ว่าแก้วไหนเป็นของราคาถูกหรือแพง ซึ่งก็อาจหมายถึงว่ามนุษย์เองก็ใช่ว่าจะสามารถแยกแยะความสูงส่งของศิลปะได้ดีพอ

     หลักคิดแบบนี้ส่งผลสำคัญต่อการตัดสินสารพัดรางวัลมาก เพราะเมื่อผลงานต่างๆ เข้ามาถึงรอบสุดท้ายแล้ว คุณภาพผลงานส่วนใหญ่ก็แทบจะไม่แตกต่างกัน เพียงแต่มีรูปแบบแตกต่างกันไป คนจะชอบหรือไม่ชอบมักขึ้นกับรสนิยมมากกว่า ดังนั้นมอบรางวัลให้ผลงานชิ้นไหน ผลลัพธ์ก็คงไม่ค้านสายตานัก

     หลายครั้งเวทีรางวัลจึงกลายเป็น ‘ช่องทางการสื่อสารของผู้มอบรางวัล’ เอง

     ยิ่งรางวัลได้รับความนิยมและถูกจับตามองมากแค่ไหน ผู้ที่ได้รับรางวัลจะกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของวงการไปโดยปริยาย ผู้จัดรางวัลจึงมัก ‘พูด’ สารบางอย่างออกมาผ่านรางวัลอย่างแนบเนียนว่าตัวตนขององค์กรผู้มอบรางวัลกำลังสนับสนุนสิ่งใด และอยากนำพาสังคมไปในทางไหน

     อย่างรางวัลออสการ์ หากวิเคราะห์กันแบบง่ายๆ ก็จะเห็นว่ามีการมอบรางวัลและสื่อสารไปถึงประเด็นบางอย่างที่หลายคนอาจจะรู้สึก หลายคนอาจจะไม่รู้สึก 

     ยกตัวอย่างเช่นรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมในหลายปีที่ผ่านมา 

     ปี 2017 Moonlight (หนังเกี่ยวกับ LGBTQA+) ได้รางวัล 

     ปี 2019 Green Book (หนังเกี่ยวกับคนผิวดำ) ได้รางวัล 

     ปี 2020 Parasite (หนังเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำในสังคมเอเชีย) ได้รางวัล 

     ปี 2022 CODA (หนังเกี่ยวกับคนหูหนวก) ได้รางวัล 

     ปี 2023 Everything Everywhere All at Once (หนังเกี่ยวกับคนเอเชียในสังคมตะวันตก) ได้รางวัล

     หากตีความรางวัลออสการ์อย่างมี ‘วาระซ่อนเร้น’ แล้ว การมอบรางวัลหลักเกือบทุกประเภทในปีนี้ให้กับ Everything Everywhere All at Once อาจหมายถึงการฉายสปอตไลต์ไปที่เรื่อง ‘การมีอยู่ของคนเอเชียในสังคมตะวันตก’ หมายถึงการพยายามเปิดรับสังคมพหุวัฒนธรรมของชาวตะวันตกมากขึ้น และเป็นสัญลักษณ์อันดีต่อมุมมองเชิงสังคมด้วย

     เพราะอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้ โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีอเมริกาเคยใช้นโยบายเชิงรุกอย่างกำแพงภาษีเพื่อกีดกันเสรีการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศจีนซึ่งถูกมองว่าเป็นคู่แข่งสำคัญ เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งความปั่นป่วนของตลาดหุ้นทั้งฝั่งอเมริกาและจีนเป็นอย่างมาก

     แต่หลังจากวิกฤตผ่านพ้นไป กระแสลมในชาติมะกันก็เคลื่อนผ่านจากอนุรักษนิยมมาเป็นเสรีนิยมในที่สุด ผู้ชนะการเลือกตั้งคนใหม่คือ โจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ซึ่งมีความเสรีเปิดกว้างชัดเจน ความกดดันเรื่องปัญหาระหว่างอเมริกากับจีนก็เบาบางลงในที่สุด

     โลกกำลังหมุนมาทางเอเชียมากขึ้นทุกที เพราะที่นี่มีทรัพยากรมหาศาลให้ระบบเศรษฐกิจเข้ามาตักตวงได้ 

     สิ่งที่แข็งแรงที่สุดคงหนีไม่พ้นสถานะการเป็นประเทศที่กำลังเติบโต ผู้คนชนชั้นกลางเยอะ อัตราการเกิดของประชากรยังสูง และตัวเลขเชิงเศรษฐกิจยังมีการขยายตัวต่อเนื่อง

     ทุกวันนี้แบรนด์ขนาดใหญ่ของโลกต่างก็ปฏิเสธตลาดเอเชียไม่ได้แล้ว

     ขณะที่ตลาดฝั่งตะวันตกมีตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ยกตัวอย่างอเมริกาที่มี GDP Growth อยู่ที่ 2.9% ในปี 2018 (ใช้ตัวเลขปี 2018 เพื่อลดผลกระทบที่เกี่ยวข้องจากโควิด-19 ไป) ขณะที่ปีเดียวกัน จีนมี GDP Growth อยู่ที่ 6.7% หรืออย่างอินเดียก็มี GDP Growth สูงถึง 6.5% 

     รางวัลออสการ์จึงอาจเป็นภาพสะท้อนว่าโลกกำลังจับตามองเอเชียในแง่เศรษฐกิจ ว่าที่นี่คือขุมทรัพย์สำคัญในการเติบโตใหม่ และอาจหมายถึงเวลาที่บริษัททั้งหลายจะเข้าไปตักตวงผลประโยชน์ใดๆ ในแง่กิจการอีกด้วย 

     ประเทศจีนน่าจะเป็นตัวอย่างชั้นดีเรื่องการเติบโตของชนชั้นกลางระดับมหาศาล 

     เมื่อคนมีเงินมากขึ้น คนจะใช้เงินมากขึ้นตามฐานะที่ตนมี เราจึงได้เห็นปรากฏการณ์นักท่องเที่ยวจีนซื้อของแบรนด์เนมกันแบบจัดเต็ม ได้เห็นคนจีนแบกเงินลงทุนออกไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ต่างประเทศเพื่ออยู่อาศัย หรือแม้แต่การเปิดกิจการค้าขายในประเทศนั้นๆ ได้ในอนาคต

     นี่อาจจะเป็นสัญญาณว่าโลกกำลังหมุนมาฝั่งเอเชียแล้ว

     เงินทุนจากธุรกิจและตลาดทุนก็มีแนวโน้มแบบเดียวกัน คือมีความสนใจดินแดนที่เคยถูกมองว่าล้าหลัง วันนี้เอเชียกำลังกลายเป็นแหล่งเงินแหล่งทองและแหล่งการเติบโตใหม่ของเงินแล้ว 

     จักรวาลนี้อาจจะมีหลายมัลติเวิร์สก็ได้ แต่รางวัลออสการ์ปีนี้อาจกระซิบเราอยู่ว่า ในเวลาอันใกล้นี้อาจจะถึงคราวของพหุจักรวาลอันมีนามว่า ‘เอเชีย’ เสียที