Fri 07 Oct 2022

everywhere girl

‘everywhere girl’ ไดอารี่บันทึกการเติบโตและการเดินทางสำรวจยุคสมัย 

ภาพ: ms.midsummer

     9/10/22 

     ขอให้วันนี้เป็นวันที่ดี 

     ถ้าให้จดไดอารี่ประจำวันนี้แบบไวๆ เราคงเขียนไปแค่นั้น ซึ่งก็ดูจะเป็นบันทึกส่วนตัวทั่วไปเขียนอะไรไว้อ่านเองก็ได้ แต่กับ everywhere girl บันทึกความคิด ความทรงจำ และชีวิตบางวันที่ตัวเองเจอ ด้วยลายมือยุกยิก แนบภาพประกอบสีสันสดใสของ ‘juli baker and summer’ ดูจะไม่ใช่แบบนั้น

     เพราะเมื่อบรรจงอ่านให้ลึกลงไปแล้ว การจดสิ่งที่ทำ ภาพทรงจำที่เคยมี สถานที่ที่เคยไป กลับมีประเด็นละเอียดอ่อนซุกซ่อนอยู่ ประเด็นซึ่งมาจากการตั้งคำถามกับสังคม ระบบโครงสร้าง สวัสดิการ เมือง ทุนนิยม หรือแม้แต่ตัวเองท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านยุคสมัย

     เราคิดว่าเรื่องเล่าของหญิงสาวคนนี้ น่าจะผูกโยงเข้ากับชีวิต ความรู้สึก และประสบการณ์ในช่วงเวลาแห่งการเติบโตของใครหลายคน รวมถึงต่อเติมความหวัง ชุบชูหัวใจให้เราเผชิญหน้ากับปัจจุบันได้บ้าง เลยมาใช้พื้นที่คอลัมน์ ‘พิมพ์นิยม’ พาทุกคนแง้มดูไดอารี่ของเธอช้าๆ ว่ามีอะไรน่าสนใจ และทำไมเราถึงอยากชวนคุณให้มาร่วมอ่านไดอารี่เล่มนี้

     เจ้าของบันทึกในนาม ‘juli baker and summer’ คือ ‘ป่าน—ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา’ ศิลปินนักวาดอิสระ ซึ่งหลายคนอาจพอคุ้นเคยผลงานของเธอผ่านลายเส้นไม่เนี้ยบแต่งแต้มสีสันสดใส ซึ่งประทับอยู่บนกระเป๋า เสื้อผ้า ปกอัลบั้มเพลง ปกหนังสือ ไปจนกำแพงในเมืองกรุง 

     หรือใครที่เป็นนักอ่านสาย travelogue ก็คงเคยคุ้นหน้าปกหนังสือสีเหลืองซึ่งเป็นผลงานเล่มแรกของป่านชื่อ NOWHERE GIRL บันทึกลายมือและภาพวาดเล่าถึงการใช้ชีวิตตัวคนเดียว ออกไปเที่ยวเล่น และทำความรู้จักผู้คนในต่างแดน เมื่อครั้งเดินทางไปฝึกงานสามเดือนที่สตูดิโอแบรนด์เสื้อผ้าเด็ก ประเทศเยอรมนี ตีพิมพ์เมื่อปี 2017

     ในช่วงเวลาที่การเก็บกระเป๋าสะพายเป้ออกเดินทางไปเยือนที่ต่างๆ เป็นสิ่งที่หลายคนตกหลุมรัก หมายมั่นปั้นมือจดเข้า to do list ที่ต้องทำ แน่นอนว่าป่านก็เป็นหนึ่งในนั้น หลังทริปฝึกงาน เธอยังเตร็ดเตร่ออกเดินทางไปมองโลกกว้าง ส่องวัฒนธรรม พบเจอผู้คน ดื่มด่ำผลงานศิลปะ และเทศกาลดนตรีตามประเทศอยู่เรื่อย โดยฝากเรื่องราวและพาผู้อ่านไปเยือนด้วยกันผ่านลายมือยุกยิก ภาพวาด ภาพถ่ายในคอลัมน์ Nowhere Girl ลงนิตยสาร a day ช่วงปี 2018 ก่อนจะย้ายมาลงบนเว็บไซต์ในปี 2019

     แต่ก็อย่างที่เรารู้ ทุกคนรู้ ช่วงปลายปี 2019 อยู่ๆ ก็มีไวรัสตัวร้ายชื่อนายโควิด-19 มาเยือน การเดินทางของทุกคนก็ถูกพับเก็บเข้าลิ้นชัก

     สถานการณ์โลกเปลี่ยน วิถีชีวิตเปลี่ยน คอลัมน์ ‘Nowhere Girl’ ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ป่านบอกลาการเดินทาง ใช้เวลาส่วนมากอยู่บ้าน ซึ่งเวลานั้นเองก็เป็นช่วงที่การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชนในประเทศกำลังคุกรุ่น ประเด็นต่างๆ ถูกหยิบยกมาพูดถึงในสังคมมากขึ้น ป่านจึงเริ่มต้นบทบันทึกใหม่ที่เล่าถึงความคิดด้านอื่นๆ 

     จากคอลัมน์พาท่องเที่ยว เสพศิลปะ-วัฒนธรรมต่างแดน หวังให้การเดินทางไปข้างนอกเป็นเครื่องชุบชูหัวใจ ทดแทนความรู้สึกไม่สบายใจในเมืองที่อยู่ สู่การใช้คอลัมน์พูดเรื่องละเอียดอ่อน แตะประเด็นสังคมที่ซุกไว้ใต้พรม ซึ่งผู้คนต่างรู้สึกและมีประสบการณ์ร่วมยิ่งขึ้น จนนำมาตีพิมพ์เป็นรูปเล่มโดยสำนักพิมพ์แซลมอน เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาในชื่อ everywhere girl

     ถึงอย่างนั้น ต้องบอกก่อนว่าเนื้อหาในเล่มไม่ใช่เพียงการรวมคอลัมน์เฉยๆ แล้วจบไป หากแต่คัดสรรเฉพาะบทบันทึกช่วงปี 2020-2022 ที่ป่านตั้งคำถามถึงระบบโครงสร้าง สังคม เมือง ผู้คน และตัวเอง ซึ่งเผยให้เห็นร่องรอยแห่งการเติบโตของผู้หญิงคนหนึ่งไว้ โดยขัดเกลางานเขียนและภาพวาด ดีไซน์รูปเล่มให้เฉียบคมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

     บันทึกที่ป่านยังคงพาเราออกเดินทางผ่านลายมือและภาพวาดเหมือนเดิม แต่เป็นการเดินทางครั้งใหม่ที่จูงมือเราไปมองเรื่องไกลและใกล้ตัวในช่วงที่กำลังเติบโต และอยู่ท่ามกลางการผลัดเปลี่ยนยุคสมัย

     ป่านค่อยๆ พาไปดูเรื่องใกล้ตัว (ที่ใครอาจมองว่าไกลตัว) อย่าง ‘ระบบโครงสร้าง’ และ ‘การเมือง’ ทั้งจากบันทึก one day trip เดินเล่นสำรวจประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ซุกซ่อนอยู่บนถนนราชดำเนิน ไล่เรียงตั้งแต่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย สนามหลวง ไปจนลานโพธิ์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นพื้นที่ชุมนุมในเหตุกาณ์ 6 ตุลาคม 2519 บันทึกการไปร่วมม็อบเรียกร้องประชาธิปไตย แวะไปพิพิธภัณฑ์แรงงานเพื่อทบทวน ‘สิทธิแรงงาน’ ที่ควรมีในสังคม ทำความเข้าใจ ‘fast fashion’ ผ่านอีเวนต์รณรงค์แฟชั่นที่ทำลายสิ่งแวดล้อม

     ยังรวมไปถึงการย้อนนึกถึงความทรงจำวัยเด็ก หลายปัจจัยที่สังคมตีกรอบให้กับ ‘ความเป็นผู้หญิง’ ทั้งสิทธิการทำงาน ชนชั้นอำนาจในสังคม และสวัสดิการของการมีประจำเดือน

     ส่วนเรื่องไกลตัวที่ว่านั้น เราหมายถึงขณะที่ป่านจดบันทึกมุมมองส่วนตัวถึงประเด็นต่างๆ ก็มักจะสอดแทรกแนวคิด วัฒนธรรม รัฐสวัสดิการ การซัพพอร์ตพลเมืองที่ประเทศต่างๆ มี ไม่ว่าจะพื้นที่ที่เอื้อให้ศิลปินสร้างสรรค์ผลงาน ตลอดจนเมืองที่อนุญาตให้คนได้มีโอกาสใช้ชีวิตลองผิดลองถูก และค้นหาความฝันดังใจต้องการได้ไว้อยู่เรื่อยๆ 

     เราคิดว่าการอ่านไดอารี่บรรจุความคิดและเรื่องราวชีวิตของ ‘juli baker and summer’ ที่แม้ดูเป็นมุมมองส่วนบุคคล แต่ก็ได้โยงผู้คนและประเด็นสังคมที่ต้องเจอเอาไว้ จึงน่าจะมีหลายเรื่องเล่าที่เราและคุณพยักหน้าเห็นด้วย หลายเรื่องราวช่วยปลุกไฟความหวังในการต่อสู้ และอีกหลายคำพูดช่วยปลอบใจในการใช้ชีวิตที่เมืองแห่งนี้

     นอกจากเนื้อหาแล้ว อีกหนึ่งเหตุผลที่เรานิยมสิ่งพิมพ์ชิ้นนี้ และหยิบมาเล่าให้ฟังก็คือปกแข็งและการเข้าเล่มเย็บกี่ ซึ่งสามารถกางอ่านได้อย่างสะใจ เห็นภาพกันแบบเต็มๆ โดยไม่ต้องมานั่งพะวงว่ากระดาษจะหลุดออกมาอีกต่อไป คู่ควรกับการเก็บสะสมเป็นอย่างยิ่งงงง อีกทั้งในเล่มยังแถมโปสเตอร์ภาพวาดจากป่านขนาด A3 ให้ได้ใส่กรอบ ติดฝาผนังที่บ้านด้วย

     หากใครเป็นแฟนคลับป่านอยู่แล้ว เราก็อยากชวนซื้อเก็บสะสม แต่หากใครต้องการหนังสือสักเล่มที่ชวนทบทวนการเติบโตของเราและยุคสมัยในช่วงเวลาสองปีที่ผ่านมา เราก็ชวนรับไดอารี่ของป่านไปลองพลิกอ่านดู เพราะจนถึงที่สุดแล้ว everywhere girl ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่ง แต่อาจเป็นพวกเราทุกคน

     everywhere girl ขนาด 6 x 8.75 นิ้ว จำนวน 192 หน้า พิมพ์สี่สี ภาพประกอบจัดเต็ม ตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์แซลมอน  สามารถสั่งซื้อได้ในราคา 445.50 บาท ที่นี่เลย