Tue 10 Jan 2023

FAMILY BUSINESS

ธุรกิจที่ครอบครองด้วยความเป็นครอบครัว

ภาพ: NJORVKS

     หากพูดถึงองค์ประกอบของ ‘ละครไทย’ เราจะนึกถึงอะไรกันบ้าง?

     ย้อนกลับไปสัก 20 ปีที่แล้ว ละครไทยมีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือมักจะมีความชวนฝัน นางเอกตกกระไดพลอยโจนได้รักกับพระเอกที่เป็นทายาทธุรกิจพันล้าน ระหว่างทางมีอุปสรรคมากมาย ทั้งญาติร่วมสายเลือดที่เข้ามาแก่งแย่งสมบัติ ไปจนถึงตัวร้ายที่คอยปั่นหัวพระเอกให้หลงกล แต่สุดท้ายพระ-นางก็ได้ครองคู่กันอย่างมีความสุขในตอนจบ

     เพื่อนายแค่หนึ่งเดียว Never Let Me Go คือซีรีส์วายที่จงใจสร้างโดยใช้องค์ประกอบเหล่านั้นอย่างครบถ้วน 

     เพื่อนายแค่หนึ่งเดียว คือซีรีส์วายของ GMMTV กำกับโดย ทิชากร ภูเขาทอง นำแสดงโดย ‘ปอนด์-ภูวินทร์’ หรือ ปอนด์—ณราวิชญ์ เลิศรัตน์โกสุมภ์ และ ภูวิน—ภูวินทร์ ตั้งศักดิ์ยืน ซึ่งเคยมีผลงานร่วมกันมาแล้วในซีรีส์วายรักโรแมนติกอย่าง ปลาบนฟ้า ก่อนจะพลิกบทบาทมาเล่นซีรีส์วายดราม่าหนักหน่วงในเรื่องนี้

     เนื้อหาใจความของซีรีส์พูดถึง ‘หนึ่งเดียว’ ลูกชายคนเดียวของบ้านเกียรติตระกูลเมธีที่พ่อถูกยิงตายในวันเกิดปีที่ 18 ของตัวเอง หนึ่งเดียวกลายเป็นความหวังเดียวของธุรกิจประจำตระกูล ท่ามกลางการปองร้ายจากคนรายรอบ แม่ของหนึ่งเดียวจึงขอให้คนขับรถคนสนิทพาลูกชายที่เป็นชาวประมงอย่าง ‘ปาล์ม’ มาช่วยดูแลหนึ่งเดียวไม่ให้ใครมาทำร้าย นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความรักที่ตั้งอยู่บนคำว่าหน้าที่ของเด็กหนุ่มสองคน

     หากหยิบซีรีส์เรื่องนี้หรือละครไทยยุคเดียวกันหลายๆ เรื่อง เช่น หงส์เหนือมังกร บัลลังก์เมฆ ไปให้เด็กอเมริกันสักคนดู พวกเขาคงไม่เข้าใจประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ นั่นคือทำไมตำแหน่งในธุรกิจจึงถูกส่งต่อให้ทายาททางสายเลือด ทำไมพ่อตายแล้วลูกจึงต้องขึ้นมาปกครองบริษัทในเครือต่อ

     บริษัทตะวันตก (ส่วนใหญ่) จะมีระบบบริหารและการถือหุ้นที่แข็งแรง แม้ว่าจะเป็นผู้ก่อตั้งหรือสมาชิกในครอบครัวผู้ก่อตั้ง แต่เมื่อขยายธุรกิจแล้วก็มักจะหาผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหาร ส่วนผู้ก่อตั้งจะถอยออกมาเป็นเพียงกรรมการบริษัท สังเกตได้จากบริษัทระดับโลกส่วนใหญ่ที่นามสกุลของซีอีโอกับผู้ก่อตั้งจะไม่เกี่ยวข้องกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่ก่อตั้งมาเป็นเวลานานแล้ว

     ในขณะที่บริษัทตะวันออก (ส่วนใหญ่) หรือจะเรียกว่าเป็นธุรกิจแบบเอเชียก็ได้ จะมีระบบบริหารและการถือหุ้นแบบครอบครัว ผู้ก่อตั้งและตระกูลผู้ก่อตั้งมักจะครองอำนาจตัดสินใจหลักในบริษัท สังเกตได้จากซีอีโอส่วนใหญ่จะมีนามสกุลเดียวกับผู้ก่อตั้ง การสืบทอดตำแหน่งเน้นคนในสายเลือดเดียวกันมากกว่าสรรหาคนนอกที่เหมาะกับตำแหน่ง

     นอกจากนี้บริษัทเอเชียก็มักจะถูกถือหุ้นโดยตระกูลใหญ่เพียงตระกูลเดียว แม้จะเป็นบริษัทมหาชน แต่ถ้ามองโดยโครงสร้างการถือหุ้นแล้ว บริษัทยังถูกครอบงำในลักษณะธุรกิจครอบครัวไม่เปลี่ยนแปลง อาจแบ่งความเป็นเจ้าของให้คนนอกประมาณ 20-30% เท่านั้น แต่อำนาจตัดสินใจยังอยู่ในมือเจ้าของชุดเดิม ผู้ถือหุ้นรายย่อยจะรวมตัวกันมาเปลี่ยนแปลงบริษัทได้ยาก

     หนังสือ Value Investing in Asia: The Definitive Guide to Investing in Asia (เขียนโดย Peir Shenq (Stanley) Lim และ Mun Hong Cheong) เขียนถึงประเด็นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า หากคุณคิดจะลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย คุณหนีจากธุรกิจลักษณะนี้แทบไม่ได้เลย เพราะไม่ว่าตลาดหุ้นไหน ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ จีน เกาหลี หรือญี่ปุ่น คุณก็จะเจอบริษัทครอบครัวแบบนี้อยู่เต็มไปหมด และแน่นอนว่าหลักการคิดกับการมองธุรกิจก็จะคิดเหมือนกันไม่ได้

     การถ่ายทอดอำนาจโดยยึดทางสายเลือดเป็นหลักไม่สามารถหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมได้เท่ากับเปิดรับผู้สมัครจากบุคคลทั่วไปแน่ เวลาลงทุนเราจึงจำเป็นต้องอ่านด้วยว่าผู้บริหารรุ่นต่อไปมีความสนใจในธุรกิจมากแค่ไหน เก่งเหมือนรุ่นก่อนหน้าหรือเปล่า แนวโน้มในการทำธุรกิจต่อไปจะเป็นอย่างไร ไม่เหมือนกับซีอีโอรับจ้างที่เราพอเชื่อได้ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมประมาณหนึ่ง

     อีกประเด็นที่ควรรู้คือ เมื่ออำนาจการถือครองหุ้นยังเป็นของตระกูลผู้ก่อตั้ง ผู้ลงทุนจึงมีสถานะเป็นรายย่อยเสมอ การจะรวมตัวเพื่อเปลี่ยนแปลงหรือขับเคลื่อนนโยบายในธุรกิจอะไรก็ทำได้ยาก แม้ว่าเราจะถือหุ้นสูงในระดับ 10-20% ดังนั้นเราต้องทำใจและตัดสินใจจากแนวคิดของผู้บริหารเป็นหลักว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย และเราอาจทำได้แค่ตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นเท่านั้น

     แต่ข้อดีของการมีเจ้าของบริษัทชัดเจนก็มี นั่นคือนักลงทุนจำพวก Activist ที่เข้ามาซื้อกิจการเพื่อแยกบริษัทออกเป็นส่วนๆ ก่อนขายสินทรัพย์ทิ้งนั้นจะทำได้ยาก เพราะไม่ว่าจะรวมหุ้นมากเท่าไหร่ก็มักสู้กลุ่มผู้ก่อตั้งไม่ได้ ดังนั้นในแง่ของการถือหุ้นระยะยาว ถ้ารู้สึกว่าเรายังอยู่ฝั่งเดียวกับเจ้าของเดิม เราจะสบายใจในการถือหุ้นมากกว่า เพราะเป็นไปได้ยากที่หุ้นจะถูกโจมตี

     เพื่อนายแค่หนึ่งเดียว จึงเป็นกรณีศึกษาที่ใช้ทำความเข้าใจบริษัทแบบเอเชียได้ดีมากๆ เพราะขนาดผู้ก่อตั้งตาย เหลือเพียงลูกชายวัย 18 ปีที่ไม่อยากสืบทอดและยังเรียนไม่จบ แต่ความหวังและหน้าที่ทุกอย่างก็ถูกส่งต่อมาให้เด็กชายที่ยังไม่มีความพร้อมสักอย่างคนนี้

     นี่คือลักษณะของความเป็นเอเชียที่เห็นได้ทั่วไปทั้งในและนอกตลาดหุ้น

     เรามักจะให้ความสำคัญของความเชื่อ (ความสัมพันธ์ที่ถ่ายทอดทางสายเลือด) มากกว่าเหตุผล (ความสามารถที่จริงแท้ของปัจเจกชน) เราจึงเห็นองค์กรจำนวนมากอยู่ในสภาพล่มแหล่ไม่ล่มแหล่เพราะว่าผู้ก่อตั้งสร้างทุกอย่างไว้ดี แต่ภาระอันยิ่งใหญ่ดันถูกสืบทอดมาให้คนรุ่นลูกที่ไม่พร้อมจะรับช่วงต่อ จนกลายเป็นว่าสิ่งที่สร้างมาทุกอย่างแทบจะพังทลายลง

     ถ้าเราทำลายมายาคติตรงนี้ไม่ได้ ความเสี่ยงแบบนี้ก็จะอยู่คู่กับแนวคิดแบบเอเชียสืบไป