PLANNING FIRST
‘FAST & FEEL LOVE’ กับภาพชีวิตของคนที่ทำตามฝัน แต่ไม่ได้วางแผนการเงิน
เรื่อง: ลงทุนศาสตร์
ภาพ: NJORVKS
ผมเข้าโรงไปดู Fast & Feel Love เร็วโหด..เหมือนโกรธเธอ ด้วยความรู้สึกสารพัดอย่าง
อย่างแรกคงเป็นความอยากรู้อยากเห็นว่า ผู้กำกับอย่าง เต๋อ—นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ จะทำหนังแบบไหนมาให้เราดูอีก หลังจากทำหนังที่มีความจัดจ้านจนเป็นแบรนด์ไปเสียแล้วว่า หนังของเขา ‘ไม่เน้นแมส’ และมีแนวทางของตนเองอย่างชัดเจน ถึงแม้ว่าหลังๆ จะประนีประนอมต่อคนดูอยู่บ้าง แต่ก็ยังขึ้นชื่อเรื่องความไม่เหมือนใคร
ความจริงแล้ว ตอนที่ผมดูตัวอย่างหนังเรื่องนี้ก็ไม่ได้รู้สึกถึงขั้นว่าต้องไปจองตั๋วดูให้เร็วที่สุดเหมือนตอน ฮาวทูทิ้ง..ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือเธอ อาจเป็นเพราะผมไม่ใช่คนที่ชอบหนังแนวพาโรดี้หรือคอเมดี้สักเท่าไหร่ แต่เหมือนหนังเรื่องนี้จะนำพาไปในทิศทางเหล่านั้น
ผมดู Fast & Feel Love ด้วยสายตาของชนชั้นกลาง คนเมืองหลวง และผู้โหยหาความฝัน ผมรู้สึกได้ว่าหนังเรื่องนี้อัดแน่นไปด้วยความโดดเด่นหลายอย่าง อย่างน้อยในขณะที่หนังไทยส่วนใหญ่พยายามจะพาเราไปสู่บิ๊กไอเดียอย่างเรื่องผี ปีศาจ ซาตาน สัตว์ประหลาด แต่หนังเรื่องนี้พาเราไปพบกับชีวิตจริง
ผมจำไม่ได้แล้วว่ามีหนังเรื่องไหนบ้างที่พูดถึงชีวิตของคนเมืองหลวง โดยเฉพาะเรื่องของการทำงาน การต่อสู้เพื่อความฝัน การบริหารเงิน เท่าที่นึกออกเร็วๆ ก็คงจะเป็น ยอดมนุษย์เงินเดือน ที่ออกจะเก่าอยู่สักหน่อย หรืออาจจะเป็น รถไฟฟ้า มาหานะเธอ แต่นั่นก็ไม่ได้ขับเน้นไปที่เรื่องการทำงานโดยตรง
Fast & Feel Love เล่าเรื่องราวผ่านตัวละครหลักสองคน คือ เกา ชายหนุ่มผู้มีความฝันจะเป็นแชมป์กีฬาเรียงแก้วสแต็ก และ เจ หญิงสาวผู้มีความฝันสุดแสนธรรมดา นั่นคือการมีลูกสักคน
ปัญหาของเรื่องคือเกากับเจเป็นคนรักกัน แต่ความฝันของทั้งสองแทบจะพากันไปคนละทิศทาง อีกคนหนึ่งฝันใหญ่ระดับโลก อีกคนฝันเรียบง่ายระดับครอบครัว ความสัมพันธ์ดำเนินมาถึงจุดเปลี่ยน รักหรือเลิก ไปต่อหรือพอแค่นี้ และทุกอย่างก็มาติดขัดอยู่กับสิ่งที่เรียกว่า ‘เงิน’
เกาเป็นมนุษย์ที่สนใจแค่การพาตัวเองไปสู่แชมป์โลก แต่ไม่ได้สนใจเรื่องในชีวิตประจำวันนัก หนักที่สุดคงเป็นเรื่องการเงินที่เข้าขั้นวินัยย่ำแย่ ไม่รู้แม้กระทั่งการจ่ายค่าไฟให้ตรงเวลา การบริหารหนี้ผ่อนบ้าน หรือซื้อกองทุนลดหย่อนภาษี
หนังเรื่องนี้จึงกลายเป็นภาพสะท้อนของชีวิตจริงที่ว่า ‘ไม่มีอะไรง่ายเลย’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนชนชั้นกลางทั่วไปที่อยากจะทำตามความฝัน แต่สุดท้ายก็ถูกสิ่งที่เรียกว่าข้อจำกัดทางการเงินฉุดรั้งเอาไว้
ถ้าเกาเป็นเศรษฐี เรื่องทุกอย่างคงง่ายกว่านี้มาก เกาคงมีลูกได้สักสิบคนตามใจเจ มีพี่เลี้ยงวิ่งเป็นพรวน มีบ้านหลังยักษ์ ห้องเก็บเสียง แต่ในชีวิตจริงกลับเป็นตรงกันข้าม การนำพาตัวเองไปสู่ความฝันมีราคาที่ต้องจ่าย อย่างน้อยแค่การจะหาบ้านสักหลังที่สงบพอ ก็ต้องควักเงินจ่ายหลักล้าน
หนังเรื่องนี้ทำให้ผมตกตะกอนชีวิตหลายอย่าง คำถามที่วนอยู่ในหัวไม่หยุดคือ หากจำเป็นต้องเลือก เราควรจะเลือกอะไรก่อน ระหว่าง ‘ชีวิตจริง’ กับ ‘ความฝัน’
เราควรจะวิ่งตามความฝันให้ฝันนั้นจ่ายผลตอบแทนเราในที่สุด หรือเราควรจะทำงานหาเงินจนพร้อม เมื่อรวยก็ค่อยไปล่าฝันทีเดียว?
น่าเสียดายว่าชีวิตจริงไม่มีสูตรสำเร็จ และตัวเลือกแต่ละข้อก็อาจจะมีคำตอบเฉลยในตอนท้ายว่าถูกหรือผิดต่างกันไปในแต่ละคน แต่สิ่งที่ผมเชื่อที่สุดคือ หนังเรื่องนี้เน้นย้ำให้เราเห็นถึงความสำคัญของการวางแผนการเงิน และการทำความเข้าใจชีวิตตัวเองด้านการเงินให้ดีพอ
ไม่มีใครอยู่กับเราไปตลอดชีวิตนอกจากตัวเราเอง วันหนึ่งเจอาจจะเดินจากเกาไป แม่เกา ผู้จัดการ แม่บ้านคนสนิท ความสัมพันธ์ในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเปราะบางมาก และเรื่องเงินก็เป็นเรื่องที่สำคัญเกินกว่าจะฝากให้ใครดูแล
สุดท้ายแล้วความผิดพลาดหนักหนาที่สุดของเกา อาจจะเป็นการไม่เคยวางแผนอะไรอย่างชัดเจนด้วยตัวเอง เกาแทบไม่รู้รายละเอียดในชีวิตของตนเอง เช่น หากไม่ได้เป็นแชมป์โลกจะทำอย่างไร หากเป็นแชมป์โลกแต่เงินหมดจะทำอย่างไร อะไรคือแผน 1 แผน 2 แผน 3
การวางแผนการเงินที่รัดกุมจะเป็นเหมือนเข็มขัดนิรภัยในถนนของชีวิต แน่นอนว่ามันไม่สามารถกันอุบัติเหตุได้ 100% แต่อย่างน้อยก็ช่วยลดความรุนแรงเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจริงๆ
ผมอาจจะเป็นคนโชคดีเสียหน่อยที่ทำตามความฝันได้อย่างเต็มที่ เพราะอาศัยช่วงเวลาหลังเรียนจบทุ่มเทกับการหาเงินจนมีอิสรภาพทางการเงินแล้ว นั่นก็ช่วยผ่อนความตึงเครียดด้านการเงินไปได้มาก อย่างน้อยผมก็ยังคงเอาตัวรอดได้ หากผมต้องเป็นเกาที่ไม่มีเจในวันหนึ่ง
หนังเรื่องนี้สะท้อนภาพการต่อสู้กับโลกทุนนิยมได้เป็นอย่างดี แต่คำว่าทุนนิยมก็ใช่ว่าจะเป็นผู้ร้ายเสมอไป สำหรับผม ทุนนิยมก็คือทุนนิยม หากการกำกับดูแลทางกฎหมายเป็นไปอย่างราบรื่น ทุนนิยมก็อาจจะกลายเป็นเครื่องมือในการดำรงชีวิตหนึ่งของมนุษย์
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นฝันไหน ฝันเล็ก ฝันใหญ่ ฝันระดับโลก ฝันธรรมดา มนุษย์เราก็ยังหนีปัญหาเงินๆ ทองๆ และโลกทุนนิยมไปไม่ได้ สิ่งที่ดีที่สุดคงจะเป็นการหันไปจัดการปัญหาอย่างจริงจัง และวางแผนอยู่กับมันให้ปกติสุข
คุณจะไขว่คว้าหาอิสรภาพทางการเงินจนสำเร็จแล้วค่อยไปล่าฝันก็ได้ หรือจะวิ่งตามฝันตั้งแต่วันนี้ แต่มีแผนที่รัดกุมเพียงพอก็ได้เช่นกัน หากสิ่งสำคัญที่สุดคงจะเป็นความจริงที่ว่าเราหนีปัญหาการเงินไม่ได้ ดังนั้น อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัย
ใส่ใจเรื่องการเงินไว้ ก่อนจะออกไปล่าฝันแบบเร็วโหด.. เหมือนโกรธทุนนิยม