Wed 10 May 2023

HEALTHCARE

ความรักและสุขภาพ

ภาพ: ms.midsummer

     จะเกิดอะไรขึ้น หากคุณตกหลุมรักคนที่ไม่สามารถเข้าใกล้ได้เกินห้าฟุต?

     Five Feet Apart เป็นหนังโรแมนติกดราม่าว่าด้วยความรักที่ไม่อาจเข้าใกล้ กำกับโดย จัสติน บัลโดนี (Justin Baldoni) ดัดแปลงมาจากนวนิยายดังในชื่อเดียวกันของ เรเชล ลิปพินคอตต์ (Rachael Lippincott), มิกกี ดอทรี (Mikki Daughtry), โทไบอัส ไออาคอนิส (Tobias Iaconis)

     เรื่องราวเกี่ยวกับความรักของ สเตลลา (รับบทโดย เฮลีย์ ลู ริชาร์ดสัน) กับ วิล (รับบทโดย โคล สเปราส์) หนุ่มสาววัย 17 ปีที่ตกหลุมรักกันในโรงพยาบาล ซึ่งความรักของเขาและเธอคงไม่ใช่เรื่องยาก หากทั้งสองคนไม่ได้ป่วยเป็นโรคซิสติกไฟโบรซิส (Cystic Fibrosis) 

     ซิสติกไฟโบรซิสเป็นโรคทางพันธุกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยผลิตสารคัดหลั่งออกมาผิดปกติ ก่อให้เกิดภาวะสารคัดหลั่งอุดตันในระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจซึ่งมักจะพบภาวะปอดอ่อนแอ ไปจนถึงพบเมือกในปอดปริมาณสูง ผู้ป่วยจะต้องได้รับการปลูกถ่ายปอดในกรณีที่อาการรุนแรง

     ผู้ป่วยโรคนี้อย่างสเตลลากับวิลจะต้องใช้ชีวิตยาวนานอยู่ในโรงพยาบาลตั้งแต่เด็ก เพราะปอดของผู้ป่วยจะอ่อนแอและติดเชื้อได้ง่าย ผู้ป่วยต้องหลีกเลี่ยงการออกไปใช้ชีวิตข้างนอกที่มีเชื้อโรคอยู่มากมาย รวมถึงการเข้าใกล้ระหว่างผู้ป่วยด้วยกันเอง เพราะผู้ป่วยแต่ละคนก็อาจจะมีเชื้อโรคอยู่ในตัวที่แตกต่างกันออกไป

     Five Feet Apart จึงเป็นหนังที่ขยายความคำว่า ‘รักกันแต่เข้าใกล้กันไม่ได้’ ได้ออกมาเป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว สเตลลากับวิลมีเงื่อนไขว่าห้ามเข้าใกล้กันมากกว่าหกฟุต แต่สิ่งที่เขาและเธอทำได้มากที่สุดก็คือผ่อนผันให้ตัวเองโกงระยะทางไปอีกหนึ่งฟุต เหลือระยะทางเพียงห้าฟุตไว้คั่นกลางระหว่างกัน

     มากไปกว่าความรักแล้ว Five Feet Apart ยังสะท้อนถึงความสำคัญอย่างยิ่งยวดของระบบรัฐสวัสดิการ เพราะโรคซิสติกไฟโบรซิสไม่สามารถป้องกันการเกิดได้ ตัวผู้ป่วยและครอบครัวจึงต้องแบกรับค่ารักษามหาศาล ตั้งแต่ค่ากินค่าอยู่ในโรงพยาบาล ค่ายา ค่าหมอ รวมไปถึงค่าผ่าตัดเปลี่ยนปอดที่ต้องทำซ้ำทุก 4-5 ปี

     เป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ป่วยโรครุนแรงเหล่านี้จะสามารถแบกรับค่ารักษาไหว (หากไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่ร่ำรวยมหาศาล) อย่างชีวิตของสเตลลาก็กำลังเดินมาถึงจุดเปลี่ยน เพราะระบบสวัสดิการของรัฐจะดูแลค่ารักษาให้จนถึงอายุ 18 ปี หลังจากเธอบรรลุนิติภาวะแล้ว เธอจำเป็นต้องหาเงินมาจ่ายค่ารักษาทั้งหมดเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบเป็นไปไม่ได้ เพราะแค่ออกจากโรงพยาบาลยังทำไม่ได้เลย

     นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่รัฐสวัสดิการจำเป็นต้องโอบอุ้มคนเหล่านี้ และแนวคิดการแทรกแซงปัญหาสุขภาพจากแต่ละรัฐบาลก็มีหลายแบบ อย่างประเทศไทยก็มีระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือประชาชนทุกคนมีสิทธิ์รักษาพยาบาลฟรี รวมไปถึงระบบประกันสังคมที่นายจ้างต้องทำประกันสุขภาพให้กับลูกจ้าง ในขณะที่บางประเทศจะมีกฎหมายบังคับให้ประชาชนที่มีรายได้เพียงพอจำเป็นต้องทำประกันสุขภาพ เช่น นโยบาย Obamacare ที่อเมริกา

     องค์กรในระบบเศรษฐกิจที่จะเข้ามาเกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการเชิงสุขภาพจึงหนีไม่พ้น หนึ่ง—บริษัทประกันภัย และสอง—บริษัทผู้ให้บริการด้านการแพทย์

     อ้างอิงจากขนาดตลาดประกันชีวิตในไทยที่มีภาพรวมการเติบโตต่อเนื่อง อย่างในช่วงปี 2561-2564 มีการเติบโอยู่ที่ 4.26%, -2.63%, -1.75% และ 4.26% ตามลำดับ (ข้อมูลจากสมาคมประกันชีวิตไทย) จะเห็นว่าถึงแม้บางปีขนาดตลาดจะหดตัวจากผลกระทบเรื่องโรคระบาด แต่ตลาดก็กลับมาโตได้เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น 

     การเติบโตของตลาดประกันภัยสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญด้านการประกันความเสี่ยงเรื่องสุขภาพ จากทั้งตลาดบุคคลและตลาดองค์กร ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง เนื่องจากคนหันมาสนใจวางแผนการเงินกันมากขึ้น และธุรกิจประกันภัยก็เป็นธุรกิจที่มีความน่าสนใจมากในประเทศที่มีกฎหมายบังคับให้ทำประกันภัย

     ส่วนบริษัทผู้ให้บริการด้านการแพทย์อย่างกลุ่มโรงพยาบาลก็มีความน่าสนใจไม่แพ้กัน 

     อุตสาหกรรมใดก็ตามที่รัฐเข้าไปแทรกแซงจะได้รับผลกระทบหลายแบบเสมอ ข้อดีคือขนาดตลาดมีแนวโน้มจะใหญ่ขึ้น เพราะเม็ดเงินจากภาครัฐมีขนาดใหญ่ แต่ข้อเสียก็อาจจะหมายถึงการถูกควบคุมด้วยกฎหมายต่างๆ ที่จะส่งผลให้การตั้งราคาสินค้าและบริการทำได้ยากขึ้น

     แต่ความน่าสนใจของตลาดโรงพยาบาลในประเทศไทยเกิดขึ้นในอีกลักษณะ เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศของโลกที่มีระบบการประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประชาชนสามารถเข้าใช้บริการโรงพยาบาลรัฐได้ฟรี ปริมาณผู้ป่วยในโรงพยาบาลรัฐจึงสูงมาก ส่งผลให้เกิดภาวะที่โรงพยาบาลรัฐไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้มาใช้บริการได้เพียงพอ

     ช่องว่างดังกล่าวทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ สำหรับโรงพยาบาลเอกชนราคาแพงก็จะจับกลุ่มเป้าหมายลูกค้าต่างชาติและคนมีรายได้สูงอยู่แล้ว แต่โรงพยาบาลเอกชนที่มีค่าบริการไม่สูงมาก ประชาชนกลุ่มเดียวกันกับเป้าหมายของประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่สามารถจ่ายเงินค่าบริการเองได้ ก็จะหันไปเลือกใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนแทนเพื่อความสะดวกสบาย ความสามารถในการจัดสรรเวลาพบแพทย์ ยิ่งบางที่เบิกประกันสังคมได้ด้วยก็ยิ่งทำให้ตลาดกลุ่มนี้โต

     การเติบโตของโรงพยาบาลเอกชนราคาไม่แพงจึงมาพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของรายได้โดยเฉลี่ยของประชากรประเทศ ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของสังคมนิยม (รัฐสวัสดิการ) หรือทุนนิยม (กฎหมายบังคับทำประกันภัย) ตลาดประกันภัยและอุตสาหกรรมการแพทย์ย่อมจะเติบโตไปตามลักษณะสังคมเสมอ 

     Five Feet Apart จึงกลายเป็นหนังรักที่บอกเล่าข้อเท็จจริงของความเจ็บป่วยที่ไม่สามารถหลีกหนีได้ และขยายสายตาของผู้สังเกตให้เห็นว่า ตลาดทางการแพทย์จริงแท้แล้วยังมีมุมมองอีกหลายอย่างรอให้ค้นพบ

     อย่างเช่นความโรแมนติกที่ซ่อนอยู่ในรัฐสวัสดิการ