LUCKY IN GAME
‘FORREST GUMP’ กับชีวิตที่โชคชะตาจัดสรร
เรื่อง: ลงทุนศาสตร์
ภาพ: ms.midsummer
หากพูดถึงหนังระดับโลก ผมว่า Forrest Gump จะเป็นชื่อหนึ่งที่ลอยขึ้นมาในหัวของใครหลายคน
Forrest Gump หรือในชื่อไทยว่า อัจฉริยะปัญญานิ่ม คือหนังแนวอัตชีวประวัติตลกเสียดสีสังคมดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อเดียวกัน เข้าโรงภาพยนตร์เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 1994 หรือประมาณสิบเก้าปีก่อนผมเขียนบทความนี้ นักแสดงนำของเรื่องคือ ทอม แฮงก์ส (Tom Hanks)
ท่ามกลางหนังระดับตำนานที่เข้าฉายหลายต่อหลายเรื่องในปีนั้น Forrest Gump ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากทั้งในแง่กล่องและการทำเงิน หนังคว้ารางวัลออสการ์ไป 6 รางวัล รางวัลลูกโลกทองคำอีก 3 รางวัล แล้วยังทำรายได้ไปกว่า 678 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 55 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
หนังบอกเล่าเรื่องราวชีวิตของ ฟอร์เรสต์ กัมป์ เด็กชายคนหนึ่งที่เกิดมาด้วยภาวะไม่สมประกอบ ไอคิวต่ำ และขาที่ไม่สามารถเดินได้เหมือนคนปกติ เขาไม่ใช่คนที่ฉลาดเฉลียวอะไรมากนัก ปล่อยให้ชีวิตเป็นไปตามโชคชะตาจะจัดสรร ขึ้นบ้าง ลงบ้าง เหมือนกล่องสุ่มขนมที่ไม่รู้ว่าอะไรอยู่ข้างใน
ในอดีต หนังเรื่องนี้ได้รับคำชื่นชมอย่างมาก แต่ปัจจุบันเรื่องราวกลับเป็นตรงกันข้าม Forrest Gump ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ด้วยมุมมองจากสังคมปัจจุบัน Forrest Gump จึงถูกมองว่าเป็นหนังโฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) ของฝ่ายอนุรักษนิยมขวาจัด
หากถอดความตามเรื่องเล่า เราจะเห็นว่าตัวละครนำฝ่ายชายเป็นตัวแทนของการเชื่อมั่นในทางเดินที่รัฐสร้างให้ เขาไอคิวต่ำ ไม่ตัดสินใจอะไรด้วยตนเอง อุทิศชีวิตเพื่อชาติ สมัครเป็นทหาร ออกรบ และเปิดกล่องสุ่มมาเจอขนมราคาแพงในชีวิตตอนจบ
แต่ตัวละครนำฝ่ายหญิง (คนที่กัมป์หลงรัก) กลับกลายเป็นตัวแทนของคนที่มีความคิดแบบเสรีนิยมซ้ายจัด ต่อต้านสงคราม ออกเดินทางตามหาชีวิต ถือขนบแบบเสรีชน และหนังพิพากษาให้เธอผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นโรคร้าย บั้นปลายชีวิตรานร้าว เปิดกล่องสุ่มขนมมาเจอแต่ความว่างเปล่าและสิ้นหวัง
เมื่อใส่แว่นตาของมุมมองปัจจุบัน เราคงต้องตั้งคำถามว่าหนังกำลังจะบอกให้เราใช้ชีวิตไปตามสัญชาตญาณ (ซึ่งในหนังจำเพาะเจาะจงลงไปอีกว่า คือการทำตามคำสั่งของ Higher Orders จากรัฐ) มากกว่าตั้งคำถามด้านตรรกะและเหตุผล แล้วเดี๋ยวโชคชะตา (หรือ Higher Orders) ก็จะจัดสรรสิ่งที่ดีมาให้เราในบั้นปลาย
สิ่งที่ตลกร้ายที่สุดคือหนังพิสูจน์เรื่องการใช้สัญชาตญาณข้ามผ่านเวลามาตบหน้าคนดู (ที่กำลังด่าหนัง) ในปัจจุบันว่า… ดูสิ สิ่งที่หนังพูดไม่ได้ผิดไปแม้แต่น้อย มนุษย์จะคิดมากทำไม แค่ทำอะไรตามสัญชาตญาณอย่างฟอร์เรสต์ กัมป์ เดี๋ยวโชคชะตาก็จัดกล่องสุ่มดี ๆ มาให้เอง
เพราะขณะที่ฟอร์เรสต์ กัมป์ เข้าสู่วัยกลางคน เขาได้ทำบริษัทขายกุ้งจนร่ำรวย แล้วเพื่อนของเขาแนะนำให้ลงทุนในบริษัทผลไม้แห่งหนึ่งชื่อว่า Apple Inc.
ถึงแม้ว่าหนังจะกวนประสาทว่ามันเป็นแค่บริษัทผลไม้ แต่ความจริงมันก็คือบริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าเทคโนโลยีชั้นนำของโลกอย่างไอโฟน ไอแพด รวมไปถึงบริการหลังการขายสืบเนื่อง
บริษัท Apple Inc. มีรายได้ในปี 2022 สูงถึง 394.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตัวเลขดังกล่าวทำให้ Apple Inc. ขึ้นแท่นเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีอันดับ 1 ของโลก (อ้างอิงจากรายได้) และเป็นบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่สุดอันดับ 1 ของโลก ณ ปัจจุบัน (อ้างอิงจากมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดของวันที่เขียนบทความฉบับนี้)
ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงฉากสั้น ๆ ที่เล่าว่ากัมป์ลงทุนในหุ้นนี้และไม่ได้บอกรายละเอียดเกี่ยวกับการลงทุนนัก ว่าเขาซื้อหุ้นมาในราคาหุ้นเท่าไหร่ มูลค่ารวมที่ซื้อมามากแค่ไหน แล้วซื้อมาตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ไม่ว่าจะคิดด้วยมุมมองแบบใด ถ้าวันนี้เขายังไม่ขายหุ้นทิ้งเสีย กัมป์ก็น่าจะกลายเป็นมหาของมหาเศรษฐีคนหนึ่งเลย
อ้างอิงจากวันเข้าฉายวันแรกของหนัง Forrest Gump (6 กรกฎาคม 1994) ราคาของหุ้น Apple Inc. มีราคาอยู่ที่ 0.24 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น (ปรับการแตกพาร์แล้ว) ในขณะที่ผมเขียนบทความนี้ (1 สิงหาคม 2023) ราคาของหุ้น Apple Inc. มีราคาอยู่ที่ 196.45 ดอลลาร์สหรัฐต่อหุ้น หรือคิดเป็นผลตอบแทนจากการลงทุน 19,621% หรือเทียบเท่ากับผลตอบแทน 42.12% เฉลี่ยทบต้นต่อปี ชนะผลตอบแทนตลาดอย่างขาดลอย
คำถามคือตัวนักลงทุนอย่างกัมป์รู้อะไรเกี่ยวกับ Apple Inc. บ้าง?
นึกย้อนไปถึงปี 1994 ที่หนังเรื่องนี้เข้าฉาย Apple Inc. ยังเป็นเพียงบริษัทตั้งไข่หน้าใหม่ที่ใครต่อใครก็ไม่เชื่อว่าจะขึ้นแท่นเป็นบริษัทอันดับหนึ่งของโลกได้ คนทำหนังก็ไม่รู้ คนดูก็ไม่รู้ หรือแม้แต่ตัวกัมป์ก็ไม่รู้ เขาซื้อเพราะนึกว่าเป็นบริษัทผลไม้
ถึงแม้หนังจะตบหน้าเราซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่เราก็ต้องยอมรับข้อหนึ่งว่า ‘ดวง’ เป็นส่วนประกอบที่สำคัญมากในการลงทุน การลงทุนคือการคาดเดาอนาคต ใครจะรู้ว่าอีก 10-20 ปีข้างหน้า หุ้นไหน บริษัทใดจะเติบโตมากได้เท่านี้ อย่าว่าแต่นักลงทุนเลย ผู้บริหารบริษัทเองก็ยังไม่รู้
สิ่งสำคัญที่นักลงทุนต้องทำคือการสร้างสมดุลระหว่างตรรกะและสัญชาตญาณให้ดี หลายครั้งการคาดเดาอนาคตก็ต้องอาศัยความเชื่อบางอย่าง แม้จะดูขัดแย้งกับหลักการลงทุนที่บอกว่าเราต้องมีตรรกะอยู่เสมอ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าหลายครั้งจินตนาการก็สำคัญกว่าความรู้เหมือนกัน
ผมมักจะแนะนำให้นักลงทุนลองเสี่ยงลงทุนในอนาคต (ที่ดูเหมือนจะเลื่อนลอย) ได้ในอัตราส่วนที่จำกัด เช่น ไม่เกิน 10% ของพอร์ตฯ อย่างตอนที่สกุลเงินดิจิทัลโด่งดังมากๆ ผมก็ไม่คัดค้านใคร แค่บอกว่าจัดการความเสี่ยงให้ดี ผมเองก็เคยแบ่งพอร์ตฯ ไปลงทุนในบริษัทเกิดใหม่ (Startups) ที่เรียกได้ว่ามีความเสี่ยงสูงเช่นกัน
นอกจากจำกัดความเสี่ยงแล้ว ผมแนะนำให้ติดตามผลประกอบการอย่างต่อเนื่องด้วย หลายครั้งบริษัทยังไม่มีรายได้หรือกำไรเป็นกอบเป็นกำ แต่เราต้องติดตามว่าบริษัทดำเนินการไปทางที่เราคาดไว้หรือเปล่า มุ่งมั่นไปตามสินค้าและตลาดที่เราคาดไว้ไหม และที่สำคัญบริษัทประกอบกิจการอย่างโปร่งใสหรือเปล่า
หลายครั้งการลงทุนก็อาศัยสัญชาตญาณเป็นอย่างมาก เราจะยืมตัวตนของฟอร์เรสต์ กัมป์ มาสวมเป็นนักลงทุนในหัวของเราบ้างก็ได้
แต่สิ่งสำคัญคือ…ต้องอยู่ในสัดส่วนที่พอเหมาะพอควร