Mon 20 Feb 2023

LAZINESS VS CAPITALISM

ขี้เกียจใช้เงินวันนี้ เศรษฐกิจขี้เกียจโตวันหน้า

ภาพ: NJORVKS

     กุเดทามะ (Gudetama) หรือที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยกันในชื่อ ‘ไข่ขี้เกียจ’ เป็นตัวการ์ตูนไข่แดงดิบที่มีนิสัยแสนขี้เกียจ สร้างโดยบริษัท Sanrio เมื่อปี 2013 ก่อนจะถูกนำมาสร้างเป็นการ์ตูนช่วงเช้าในช่อง TBS ของญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2014-2020 และกลายเป็นซีรีส์ขนาดสั้นบน Netflix เมื่อปี 2022 ซึ่งถ้าย้อนกลับไปในปี 2019 เจ้าไข่ขี้เกียจกุเดทามะถือเป็นตัวการ์ตูนที่สร้างกำไรให้กับ Sanrio สูงสุดเป็นอันดับสามของบริษัทเลยทีเดียว

     สำหรับผม เจ้าไข่ขี้เกียจกุเดทามะจึงเป็นสัญลักษณ์ที่งดงามยิ่งของมนุษยชาติ

     คุณอาจจรู้สึกว่าผมเขียนอะไรยิ่งใหญ่โอเวอร์ไปหน่อย แต่หากนึกย้อนกลับไปช่วงประมาณห้าปีที่ผ่านมา กระแสคอนเทนต์พัฒนาตัวเองมาแรงมาก การบริหารเวลา การออกกำลังกาย การเงินการลงทุน จนหลายครั้งเราต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ขอขี้เกียจบ้างได้ไหมนะ ขอนอนโง่ ๆ บ้างได้ไหมนะ ถ้าฟังเพลงตอนขับรถแทนการฟังพอดแคสต์นี่จะผิดไหม 

     ดูเหมือนเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสากลของคนทั่วโลกเลย คนจำนวนไม่น้อยกำลังโหยหาความขี้เกียจ และอาจด้วยเหตุนี้เจ้าไข่ขี้เกียจจึงกลายเป็นตัวการ์ตูนยอดนิยมภายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมา

     คำถามคือ ถ้าเราขี้เกียจแบบเจ้ากุเดทามะจะเกิดอะไรขึ้น

     คำถามนี้ทำให้ผมนึกถึงการ์ตูนเรื่องหนึ่งที่ผมรักมากชื่อว่า 34-sai Mushoku-san หรือที่แปลเป็นไทยแบบตรงตัวว่า ‘หญิงสาวว่างงานอายุ 34 ปี’ เขียนโดยอาจารย์อิเคดะ ทาคาชิ (Ikeda Takashi) และถูกแปลเป็นไทยในชื่อ วันนี้เจ๊ทำอะไร?

     การ์ตูนดังกล่าวเป็นเรื่องราวของผู้หญิงอายุ 34 ปีที่ไม่ทำงาน เธอเหมือนไข่ขี้เกียจเวอร์ชั่นคน ปัญหาใหญ่ในแต่ละวันคือการตื่นไม่ทันรอบเก็บขยะของรถเก็บขยะ ปัญหารองลงมาก็เช่นคิดไม่ออกว่าจะกินอะไร หรือเผลอนอนนานเกินไปจนหน้าเป็นรอยเพราะไปทับเสื่อ

     คำถามคือ ถ้าคนบนโลกขี้เกียจเหมือนเจ้าไข่จอมเบื่อหรือเจ๊วัย 34 ปีนี้กันหมด โลกจะเกิดอะไรขึ้น

     คำตอบคือ ระบบเศรษฐกิจจะเกิดปัญหาตามมาแน่นอน…

     การขี้เกียจของมนุษย์ส่งผลอะไรต่อภาพรวมเศรษฐกิจด้วยหรือ? ในเมื่อเราหาเงินได้ 100 ใช้ไป 100 เราเหลือ 0 หาได้ 1,000,000 ใช้ 1,000,000 เราก็เหลือ 0

     ความขี้เกียจของเราจะส่งผลต่อเศรษฐกิจอย่างไร ในเมื่อผลลัพธ์ก็ไม่แตกต่าง

     คำตอบคือแตกต่าง และแตกต่างอย่างมากเสียด้วย เพราะระบบเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณเงินที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ ยิ่งเงินไหลเวียนในระบบมาก คนหาเงินได้มาก ใช้จ่ายมาก ระบบเศรษฐกิจก็จะโต ตรงกับข้ามกับคนหาเงินได้น้อย ใช้จ่ายน้อย ระบบเศรษฐกิจก็จะฝืดเคือง

     ตัวเลขสำคัญที่ใช้ชี้วัดความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจคือ ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product หรือ GDP) ซึ่งสามารถคำนวณได้โดยการนำรายได้ของทุกหน่วยเศรษฐกิจ (บุคคลและนิติบุคคล) ในประเทศมารวมกัน ยิ่งรายได้มากก็แสดงถึงความมั่งคั่งมาก

     สังเกตว่าตัวเลข GDP ไม่ได้สนใจเงินในกระเป๋าเท่ากับรายได้ที่ประชาชนหาได้ นั่นหมายถึงต่อให้คุณมีเงินเก็บอยู่หมื่นล้าน แต่คุณไม่เอาออกมาใช้จ่ายหรือลงทุนทำธุรกิจเลย นั่นก็จะไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ มิหนำซ้ำอาจจะส่งผลเสียทางอ้อมต่อระบบเศรษฐกิจด้วยซ้ำ

     ทำไมการไม่ใช้เงินถึงเป็นปัญหา?

     เพราะเมื่อมีคนหนึ่งในระบบไม่ใช้เงิน เงินค่าใช้จ่ายของคนคนนั้นซึ่งตามปกติจะถูกจับจ่ายใช้สอยและกลายเป็นรายได้ของอีกคนหนึ่งก็จะหายไปจากระบบด้วย 

     พอคนหนึ่งขาดรายได้ เขาก็จะลดค่าใช้จ่ายไปโดยปริยาย กลายเป็นการลดเงินในระบบต่อไปเป็นทอดๆ เศรษฐกิจก็จะซบเซาในที่สุด

     ดังนั้น ‘ความไม่ขี้เกียจ (ใช้เงิน)’ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากทางเศรษฐกิจ

     ประชาชนที่ขี้เกียจ กินน้อยใช้น้อย ไม่ส่งผลดีต่อประเทศ ยิ่งคิดถึงแนวคิดเรื่อง minimalism ครอบครองเท่าที่จำเป็น ถือเป็นปัญหาใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ 

     คนกินน้อยลง อุตสาหกรรมอาหารแย่ลง 

     คนซื้อเฟอร์นิเจอร์น้อยลง อุตสาหกรรมผลิตแย่ลง 

     คนไปเที่ยวน้อยลง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวแย่ลง

     ทุกครั้งที่รัฐตั้งใจจะกระตุ้นเศรษฐกิจ รัฐจึงกระตุ้นให้เรา ‘ใช้’ เงินเสมอ ไม่ใช่เก็บออม 

     ลองนึกถึงโครงการช้อปช่วยชาติ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เที่ยวด้วยกัน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนมุ่งหมายให้เรานำเงินในกระเป๋าออกมาใช้ทั้งสิ้น เพราะเมื่อเงินหมุน เศรษฐกิจจึงจะเดิน

     เศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงเป็นภาวะที่ติดอยู่ในหล่มของ ‘ความขี้เกียจ (โต)’ มานาน มองย้อนหลังกลับไป 10 ปี ตั้งแต่ปี 2012-2022 GDP ของประเทศญี่ปุ่นไม่เคยโตมากกว่า 2% เลยสักปี ทำได้ดีที่สุดคือปี 2013 ที่เติบโตจากปี 2012 ประมาณ 2% นอกนั้นก็อยู่ในระดับ 1% บวกลบมาโดยตลอด 

     ขนาดในปี 2020 ที่ประสบวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ส่งผลให้ GDP หดตัวไปถึง 4.5% แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวในปีถัดมา ญี่ปุ่นกลับสร้างการเติบโตได้เพียง 1.7% เท่านั้น ทั้งที่ในปีก่อนหน้ามีตัวเลขเป็นฐานที่ต่ำกว่าปกติแล้วด้วยซ้ำ

     ‘ความขี้เกียจ’ ไม่เคยเป็นเรื่องน่าพิสมัยสำหรับผู้บริหารประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารที่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจซึ่งต้องการให้คนขยันและออกมาใช้เงินกันให้มากๆ 

     ไม่รู้ว่าโชคดีหรือโชคร้ายที่เทรนด์ความขี้เกียจยังไม่ระบาดในไทยเท่ากับเทรนด์วัยรุ่นสร้างตัว รวมถึงไลฟ์สไตล์กินอร่อยเที่ยวหรูอยู่สบาย อย่างน้อยหากมองในภาพกว้าง คนไทยก็ยังคงดิ้นรนหาเงินเพื่อซื้อความสุขที่อยากมีและอยากใช้

     หากประชาชนหันไปนอนขี้เกียจแบบเจ้ากุเดทามะกันเสียหมด ระบบทุนนิยมต้องถึงคราวกุมขมับกันแน่นอน