Mon 28 Nov 2022

Happy 100 years Glico

ไทม์ไลน์จากวันที่ 1 สู่ปีที่ 100 ของบริษัทกูลิโกะ

     เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่นทุกคนนึกถึงอะไรกันบ้าง

     ในฐานะของนักออกแบบที่ในกระเป๋ามีขนมติดตัวเสมอ ก็ต้องนึกถึงขนมกล่องเล็กๆ จากญี่ปุ่นที่มีรสชาติอร่อยและแพ็กเกจสุดน่ารัก

     คอลัมน์ Data Journalread เดือนนี้จะพาไปสำรวจบริษัทขนมที่เพิ่งมีอายุครบ 100 ปีในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 อย่างบริษัท ‘กูลิโกะ’ (Glico) 

     จากจุดเริ่มต้นเล็กๆ อย่างการสร้างสรรค์ขนมเพื่อให้ลูกชายสุขภาพแข็งแรง กูลิโกะขึ้นมาเป็นบริษัทขนมอันดับต้นๆ ของญี่ปุ่นได้อย่างไร และตลอด 100 ปีที่ผ่านมา พวกเขาต้องผ่านกับอะไรมาบ้าง

     คอลัมน์ตอนนี้ใช้ ‘ไทม์ไลน์’ (Timeline) เครื่องมือที่มักจะถูกหยิบมาใช้อธิบายชุดข้อมูลที่มีระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยจะแบ่งออกเป็น 4 ช่วงตามยุคสมัยของบริษัท

     ยุคที่ 1: จุดเริ่มต้นของบริษัท (1922-1945)

     ยุคที่ 2: ยุคทองของขนม (1946-1970)

     ยุคที่ 3: ยุควัตกรรมใหม่ของขนม (1971-1995)

     ยุคที่ 4: ยุคขนมเพื่อสุขภาพ (1996-ปัจจุบัน)

     แต่ถ้าจะใช้ไทม์ไลน์แบบปกติ ก็ไม่สมมงคอลัมน์ Data Journalread เท่าไหร่ ไทม์ไลน์คราวนี้ออกแบบมาให้ดูได้สองด้าน คือด้านบนและด้านล่าง อธิบายสองเรื่องที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกัน โดยด้านบนเป็นไทม์ไลน์ขนมของบริษัทกูลิโกะ ซึ่งมีการอธิบายปีที่วางจำหนาย ชื่อขนม รูปร่าง และรสชาติของขนมนั้นๆ ส่วนด้านล่างเป็นไทม์ไลน์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น และสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น

ยุคที่ 1: จุดเริ่มต้นของบริษัท (1922-1945)

     ก่อนจะมาเป็นบริษัทขนมอันดับต้นๆ กูลิโกะมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘กูลิโกะคาราเมล’ (Glico Caramel) ลูกอมรูปหัวใจรสคาราเมลผสมสารไกลโคเจน (Glycogen) ซึ่งอยู่ในหอยนางรม โดยสารชนิดนี้ ‘คุณริอิจิ เอซากิ’ (Riichi Ezaki) ผู้ก่อตั้งบริษัท ทดลองให้ลูกชายซึ่งป่วยเป็นไข้ไทฟอยด์ (Typhoid—ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ป่วยจุกแน่นท้อง) รับประทานดูก่อน เมื่อลองแล้วปรากฏว่าอาการดีขึ้น เขาจึงอยากให้เด็กญี่ปุ่นทุกคนสุขภาพแข็งแรงจากการกินลูกอมคาราเมลรูปทรงหัวใจนี้ และเริ่มก่อตั้งบริษัท เอซากิ กูลิโกะ จำกัด (Ezaki Glico Co., LTD) เพื่อวางขายขนม ณ ห้างสรรพสินค้าในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 1922

     ผลตอบรับของขนมผสมสารสกัดช่วยให้เด็กแข็งแรงประสบความสำเร็จอย่างยอดเยี่ยม ปี 1933 บริษัทจึงเปิดตัวขนมใหม่ด้วยกลยุทธ์เดิม นั่นก็คือ ‘บิสโก้’ (Bisco) บิสกิตแซนด์วิชสำหรับเด็ก ซึ่งผสมสารและวิตามินที่มีประโยชน์ไว้มากมาย ก่อนที่ปีต่อมาบริษัทจะนำกำไรจากการประกอบธุรกิจ ก่อตั้งมูลนิธิเพื่อสุขภาพของแม่และเด็ก (สมัยนั้นญี่ปุ่นยังไม่มีกระทรวงสาธารณสุข)

     ช่วงเวลานั้นไม่มีอะไรมาหยุดความสำเร็จของกูลิโกะได้เลย จนกระทั่งการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงงานทั้งสามแห่งของกูลิโกะในโตเกียวและโอซาก้าถูกระเบิดทำลายจนแทบไม่เหลือ

     คุณเอซากิและพนักงานจะจัดการกับวิกฤตครั้งนี้ยังไงกันนะ

ยุคที่ 2: ยุคทองของขนม (1946-1970)

     หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ทั้งประเทศญี่ปุ่นรวมถึงบริษัทกูลิโกะเองต้องยืนขึ้นมาใหม่อีกรอบ 

     ตลอดช่วงเวลาที่มีสงคราม กูลิโกะไม่ได้ผลิตขนมใหม่เลยเป็นระยะเวลา 22 ปี ตั้งแต่ปี 1933 จนกระทั่งปี 1955 ได้นำอัลมอนด์จากอเมริกาเข้ามาเป็นส่วนประกอบหลัก และเปิดตัวขนมใหม่อย่าง ‘อัลมอนด์ กูลิโกะ’ (Almond Glico) ก่อนที่ในปี 1958 จะเริ่มนำไปจับคู่กับช็อกโกแลต จนได้ ‘อัลมอนด์ ช็อกโกแลต’ (Almond Chocolate) ที่ตั้งชื่อกันง่ายๆ ตรงตัวเลย เพราะเป็นช็อกโกแลตที่มีถั่วอัลมอนด์อยู่ตรงกลาง ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาสูตรเป็น ‘อัลมอนด์ พราลีน ช็อก’ (Almond Praline Choc) ในปัจจุบัน

     ยุครุ่งเรืองของบริษัทก็กลับมาอีกครั้งในช่วงปี 1960 ช่วงเวลาเดียวกับที่โตเกียวเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างกีฬาโอลิมปิกในปี 1964  

     ช่วงนั้นกูลิโกะผลิตขนมออกมาเยอะและได้รับความนิยมอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น ‘เพรทซ์’ (Pretz) ขนมในรูปแบบแท่งที่ได้แรงบันดาลใจมาจากเพรทเซล (Pretzel) ของเยอรมนี โดยรสชาติแรกที่วางจำหน่ายคือรสโซดา หรือ ไอศครีม ‘กูลิโกะโคน’ (Glico Cone) ซึ่งต่อมาถูกพัฒนาสูตรเป็น ‘ใจแอนท์ คาปุลิโกะ’ (Giant Caplico) จากเนื้อไอศครีมถูกเปลี่ยนเป็นช็อกโกแลตเนื้อฟูแทน สิ่งที่น่าสนใจของขนมชิ้นนี้คือ การเขียนคำว่า Giant เป็นภาษาไทยว่า ‘ใจแอนท์’ ไม่ใช่ ‘ไจแอนท์’ แบบปกติ ถือเป็นกิมมิกน่ารักของขนมชิ้นนี้      

     ในปี 1966 กูลิโกะเปิดตัวขนมที่ไม่เคยปรากฏที่ไหนมาก่อนบนโลก เป็นขนมแท่งบิสกิตที่พัฒนามาจากเพรทซ์ นำมาเคลือบช็อกโกแลต เว้นไว้ตรงปลายสำหรับจับ ขนมนั้นมีชื่อว่า ‘ป๊อกกี้’ (Pocky) มาจากการถอดเสียงเวลาที่กัดขนมชิ้นนี้ โดยในช่วงสองปีแรก ป๊อกกี้สามารถทำยอดขายได้ถึง 3 หมื่นล้านเยน และฮิตมากในหมู่วัยรุ่น ต่อมาได้ออกรสชาติใหม่ๆ ได้แก่ อัลมอนด์, สตรอว์เบอร์รี่, นม, มัทฉะ ฯลฯ ปัจจุบันยังคงทดลองผลิตรสชาติใหม่ๆ อยู่เสมอ

ยุคที่ 3: ยุคนวัตกรรมใหม่ของขนม (1971-1995)

     ในยุค 70s เศรษฐกิจของญี่ปุ่นกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง นอกจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าแล้ว การแข่งขันในวงการขนมก็ดุเดือดไม่แพ้กัน มีบริษัทผลิตขนมเกิดใหม่เยอะมาก แล้วกลยุทธ์ก้าวต่อไปของกูลิโกะจะทำยังไง 

     สิ่งที่กูลิโกะทำมีอยู่สองอย่าง 

     หนึ่ง—บุกตลาดไอศกรีม เริ่มต้นจาก ‘พาแนปป์’ (Panapp) ในปี 1978 โดยได้แรงบันดาลใจมาจากไอศครีมพาร์เฟต์ (Parfait) แต่กูลิโกะเปลี่ยนวิธีการกินใหม่ จากปกติต้องไปกินที่ร้านไอศครีมก็เปลี่ยนมาอยู่ในแพ็กเกจรูปถ้วยขนาดยาวที่สามารถกินได้ทุกที่  

     ปี 1985 เปิดตัว ‘เซเว่นทีน ไอซ์’ (Seventeen Ice) ตู้กดไอศกรีมอัตโนมัติที่ภายในมีไอศกรีมแท่งให้เลือกมากถึง 17 รสชาติ โดยสถานที่แรกตั้งตู้กดนี้คือลานโบว์ลิ่งแห่งหนึ่งกลางกรุงโตเกียว เนื่องจากต้องการเจาะกลุ่มตลาดวัยรุ่น และแน่นอนว่าประสบความสำเร็จถล่มถลายอีกตามเคย จากตู้แรกที่ลานโบว์ลิ่งพัฒนาเป็น 20,000 ตู้ทั่วประเทศ รสชาติที่ได้รับความนิยมที่สุดคือรสคุกกี้แอนด์ครีม

     สอง—การก่อตั้งห้องทดลองชีวเคมีสำหรับวิจัยเทคโนโลยีทางชีวภาพใหม่ๆ เพื่อนำสารสกัดใส่ลงในสินค้า คล้ายกับจุดเริ่มต้นของกูลิโกะโดยคุณริอิจิ เอซากิ ที่ใส่ไกลโคเจนลงในลูกอมคาราเมลรูปหัวใจ  

ยุคที่ 4: ยุคขนมเพื่อสุขภาพ (1996-ปัจจุบัน)

     ตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา กูลิโกะให้ความสำคัญกับ ‘สุขภาพของผู้บริโภค’ เช่น การใส่สารให้ความหวานแทนน้ำตาล แต่ยังคงความอร่อยไว้อยู่ อย่างในปี 2005 เปิดตัว ‘กาบา’ (GABA) ช็อกโกแลตที่ช่วยให้ผ่อนคลายและนอนหลับได้สนิทมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีส่วนผสมของ GABA ซึ่งเป็นกรดอะมิโนที่ช่วยคลายความเครียดและทำให้หลับง่าย ปี 2017 เปิดตัว ‘ซูนาโอะ ไอซ์’ (SUNAO Ice) ขนมหวานไม่เติมน้ำตาลทรายและเป็นมิตรต่อสุขภาพที่มาในรูปแบบของไอศครีมและบิสกิต 

     ในช่วงใกล้เคียงกันนั้น โตเกียวก็ได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาโอลิมปิกอีกครั้งในปี 2020 แต่เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องเลื่อนไปจัดการแข่งขันในปี 2021

     อาจพูดได้ว่าตลอด 100 ปีของกูลิโกะ สิ่งที่พวกเขาทำอยู่เสมอคือการยึดเอาคำพูดของคุณเอซากิมาใช้เป็นแนวทางในการทำธุรกิจ

     “การค้าเป็นมากกว่าการเลี้ยงชีพ แต่ยังสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้เช่นกัน” 

     ขนมที่ออกมาจากกูลิโกะจึงมีรสชาติอร่อย ผลิตจากวัตถุดิบคุณภาพ และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้มาจากจุดเริ่มต้นเล็กๆ จากคุณพ่อผู้ต้องการให้ลูกชายอันเป็นที่รักของตัวเองสุขภาพดี ก่อนจะกลายเป็นบริษัทที่มีขนมในเครือมากมาย และเป็นที่รักของคนทั้งโลกมาถึงปัจจุบัน

อ้างอิง: 

pocky.glico.com/global/about/history.html
snackhistory.com/pocky/
glico.com/global/about/history/product/
brandbuffet.in.th/2018/01/key-success-factor-of-glico/
blockdit.com/posts/60c86e086776cf0c69227d5e
glico.com/global/100th/message/
tokyoweekender.com/2021/04/10-japanese-inventions-that-changed-the-way-we-live-and-travel/
en.wikipedia.org/wiki/Timeline_of_Japanese_history
japan-lover.com/food-drink/frozen/seventeen-ice/