Wed 28 Oct 2020

KEEP OR SHARE

คอลัมน์ตอบจดหมายคลายใจจากทางบ้าน โดยนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา

ภาพ: erdy

     สวัสดีครับ ผมโดม—ธิติภัทร รวมทรัพย์ เพิ่งดร็อปจากการเรียน ป.โทศิลปะบำบัดที่อังกฤษเมื่อเดือนกันยาฯ นี้เนื่องจากเจ้าเชื้อโควิดระบาดหนัก ผมเลยมาเปิดเพจ he, art, psychotherapy เพื่อเล่าประสบการณ์และแชร์ความรู้ทางสุขภาพจิตให้ทุกคนได้ฟัง ด้วยความตั้งใจที่จะทำให้เรื่องจิตบำบัดและสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัวคนไทยมากขึ้น ปัจจุบัน ผมทำงานเป็นนักจิตวิทยาให้คำปรึกษาอิสระ เน้นกลุ่มวัยรุ่นและวัยทำงาน ด้วยความที่ผมอยากเห็นคนไทยมองเห็นว่าสุขภาพจิตเป็นเรื่องใกล้ตัว พอทาง CONT. เชิญชวนให้มาแชร์ความรู้ ความเข้าใจ และพาเรื่องสุขภาพจิตเขยิบเข้าไปใกล้กับทุกคนมากขึ้น ผ่านการตอบคำถามในคอลัมน์ Hidden Messages ผมจึงตอบตกลงโดยเร็ว เพราะต่อให้คอลัมน์นี้เราจะสื่อสารกันผ่านการเขียนหรือพิมพ์เป็นหลัก (ปกติในการบำบัดจะใช้การพูดคุยเห็นหน้ากัน) แต่การเขียนก็มีประโยชน์ของมันอยู่

     อย่างแรก การเขียนทำให้เราได้ทบทวนตัวเอง

     อย่างที่สอง การเขียนทำให้เราได้เรียบเรียงความคิดให้เป็นระบบระเบียบ และทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น

     อย่างที่สาม หลายๆ ครั้งการยอมรับถึงปัญหาหรือข้อเสียในชีวิต และพูดมันออกมานั้นเป็นเรื่องยาก การเขียนจึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยให้เราสามารถเผชิญหน้ากับปัญหานั้นๆ ได้ง่ายขึ้น

     การเขียนจึงเป็นอีกเครื่องมือที่ถูกหยิบมาใช้ในการบำบัดอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น ถ้าใครที่มีปัญหาที่ทับถมจับต้นชนปลายไม่ได้มันพันกันมั่วไปหมดและไม่รู้จะเริ่มจากตรงไหน ลองเริ่มจากการเขียนมาคุยกันเหมือนข้อความฉบับนี้ที่ผมได้รับมาก็ได้ครับ

     “เราเป็นคนหนึ่งที่เพื่อนชอบเลือกที่จะมาปรึกษาบ่อยๆ ก็คิดว่าตัวเองเป็นนักรับฟังที่ดี และให้คำปรึกษาได้ คิดไปเองว่าเพื่อนคงสบายใจที่จะมาคุยกับเราแหละ (มั้ง) และเราเป็นแบบนี้มาตลอดเลย

     แต่พอเป็นปัญหาของตัวเอง เรากลับไม่ค่อยชอบพูดถึง หรือเล่ามันเท่าไหร่ เราไม่ปรึกษา หรือน้อยมากๆ ที่จะพูดกับใคร เพราะคิดว่าจะไปลำบาก ไปเพิ่มความเครียดให้เขาไม่สบายใจเปล่าๆ เราก็เลยได้นั่งคิดว่า แล้วจริงๆ คนเราจำเป็นต้องเล่าความเครียด พูดสิ่งที่เป็นลบ กับคนอื่นบ้างไหม สุดท้ายแล้วการระบายความเครียดของเรา กลับเพิ่มความเครียดให้คนอื่น มันได้เหรอเนี่ย”

ณิชา

     เปิดหัวมาตอนแรกกับคำถามที่ว่า คนเราจำเป็นต้องเล่าความเครียดหรือสิ่งที่เป็นลบให้คนอื่นฟังหรือไม่? 

     คำตอบคือ จำเป็นครับ…แต่ไม่เสมอไป 

     ขอเริ่มพูดกว้างๆ ก่อนแล้วกัน ตามหลักจิตวิทยาแล้ว ความรู้สึกทุกอย่างต้องการการระบายออก ไม่เฉพาะความรู้สึกทางลบเท่านั้น ความรู้สึกดีๆ ก็เช่นกัน

     ลองนึกภาพเวลาคนเรามีความสุขมากๆ ก็จะอยากกู่ร้องแหกปากตะโกนมันออกไป ซึ่งถ้าเราถูกห้ามไม่ให้แสดงออก หรือเวลาที่เรารู้สึกภูมิใจ แต่หันไปแล้วไม่รู้จะเล่าให้ใครฟัง ความสุขที่มีมันก็จะกลายเป็นความรู้สึกเฉาๆ อึดอัด หน่วงๆ การที่ไม่มีใครให้แชร์ความรู้สึกดีๆ หรือความภูมิใจนี่สามารถส่งผลต่อตัวตนเราได้เลย

     ถ้ายังไม่เห็นภาพ ผมขอยกตัวอย่างสักหน่อย สมมติคุณไปแข่งขันกิจกรรมบางอย่างแล้วได้รางวัลชนะเลิศกลับมา ภายในใจเต็มไปด้วยความตื่นเต้น ความสุข ความดีใจ  แต่พอจะไปเล่าหรืออวดให้ใครฟัง กลับไม่มีใครสนใจ ไม่มีใครพร้อมรับฟังความรู้สึกดีๆ เหล่านี้เลย…มันก็เศร้านะ

     กลับมาที่เรื่องความรู้สึกลบ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ประสาทแพทย์ชาวออสเตรีย ผู้เป็นที่รู้จักในฐานะบิดาแห่งจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) บอกไว้ว่า สภาพจิตใจของคนเราก็เหมือนเขื่อน ถ้าไม่ระบายน้ำออก วันหนึ่งเขื่อนก็จะแตกทะลัก และอาการหลายๆ อย่างก็จะตามมา เช่น การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม ไปจนถึงอาการป่วยทางจิต ทว่าการเก็บความรู้สึกลบต่างจากความรู้สึกบวกตรงที่มันบั่นทอนเจ้าของความรู้สึกนั้นมากกว่า และหากความเครียดค้างคาสะสมมากๆ เข้าก็สามารถส่งผลต่อสุขภาพกายได้เลย

     แต่อย่างที่ผมบอกไปตอนต้นว่า การระบายไม่ใช่เรื่องจำเป็นเสมอไป คือถ้าเราจัดการปัญหาหรือความรู้สึกตัวเองได้ทุกครั้ง ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปเล่า ปรึกษา ระบายให้ใครฟัง ถ้ามีปัญหาสิบเรื่อง เราอาจจะจัดการได้เองสักเก้าเรื่องก็เป็นได้ ไอ้เก้าเรื่องนั้นเลยไม่จำเป็นที่จะต้องเอาไปพูดกับใคร 

     ส่วนใครที่ไม่มีคนคอยรับฟัง ผมแนะนำให้ลองมองหาคนคนนั้นดู เลือกคนที่เราสบายใจ ค่อยๆ สังเกตฟีดแบ็กของเขาว่าเขาโอเคหรือไม่เวลาที่เราไประบายกับเขา อาจเป็นคนที่รู้จักกันอยู่แล้ว หรือสมัยนี้ก็มีแอพมากมายที่ช่วยให้เราได้พูดคุยกับคนมากหน้าหลายตาที่ไม่ได้รู้จักกันมาก่อน ซึ่งก็ต้องใช้ความพยายามและเข้าใจว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย อีกตัวเลือกหนึ่งคือไปรับบริการจากนักจิตวิทยาหรือนักจิตบำบัดครับ กลุ่มคนเหล่านี้เกิดมาเพื่อรับฟังและพร้อมจะใช้เวลาทั้งหมดทำความเข้าใจสิ่งที่เราระบายออกมา หรือหากคุณไม่อยากยุ่งกับใครหรือหาใครไม่ได้จริงๆ สุดท้ายแล้วการเขียนอาจเป็นอีกตัวเลือกที่ช่วยเราได้ครับ ให้เวลากับความรู้สึกและเขียนมันออกมา

     หรือถ้ายังกังวลว่าการระบายความเครียดของเราจะไปเพิ่มความเครียดให้คนอื่นนั้น ผมแนะนำว่าให้ลองพยายามมองมันเป็นเรื่องธรรมดาก่อนครับ มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ให้ทำความเข้าใจก่อนว่า ในโลกนี้ไม่มีใครอยู่ได้โดยไม่เคยพึ่งคนอื่น ดังนั้นการขอความช่วยเหลือคือเรื่องธรรมชาติของมนุษย์

     กลับกัน หากใครทำหน้าที่เป็นผู้ฟังบ่อยๆ มีคนมาระบายกับเราเยอะเหลือเกิน จนเราเครียดแทนเพราะรับรู้แต่ปัญหา ตามความเข้าใจของผม ปัญหาลักษณะนี้เกิดจากการที่ฟังแล้วนำมาคิดต่อหรือคิดไปก่อน ซึ่งถ้าเป็นกรณีนี้ คอยสำรวจตัวเองครับว่ากำลังคิดไปก่อนหรือเปล่า ถ้าใช่ก็ควรหยุด เพราะคิดไปก็ไม่ได้คำตอบ 

     ในอีกกรณีคือ ความเครียดที่ช่วยเขาไม่ได้ สำหรับกรณีนี้ ลองมองแบบนักจิตวิทยาดู ถ้าทำได้จะช่วยได้แน่นอนครับ…เราแบกโลกทั้งโลกไม่ได้ เราต้องแยกให้ออกระหว่างปัญหาของเขากับปัญหาของเรา เขามาปรึกษา เรามีหน้าที่ช่วยในส่วนของเรา เราทำเต็มที่ หลังจากแยกย้ายแล้ว หากปัญหาของเขายังคงอยู่ สิ่งนั้นยังคงเป็นปัญหาของเขา และเราต้องแยกตัวเองออกมา เพราะมันไม่ใช่ปัญหาของเรา หากลองเปรียบเทียบให้เห็นภาพ…หมอไม่สามารถช่วยคนไข้ได้ทุกคน หากเราทำสุดความสามารถแล้ว นั่นก็คือเกินขอบเขตของเราแล้ว…เราแบกโลกทั้งโลกไม่ได้

     ลองนึกถึงตัวเองดูก็ได้ครับ ลองหาชื่อใครสักคนในโลกนี้มาสักหนึ่งชื่อ ที่คิดว่าเขาไม่เคยขอความช่วยเหลือจากใครเลย…คุณอาจจะค้นพบว่ามันไม่มีคนคนนั้นหรอก แม้แต่คนอย่างสตีฟ จ๊อบส์, แจ็ก หม่า ที่ว่าเป็นยอดคน หรือกระทั่งพระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเป็นศาสดา หากลองไปอ่านประวัติพวกเขาดูก็จะพบว่าต่างก็เคยพึ่งพาคนอื่นมาแล้วทั้งสิ้น

     เพราะไอ้เราก็คนธรรมดาจะไปฝืนธรรมชาติได้ยังไง

สำหรับผู้มีปัญหา อยากส่งข้อความมาปรึกษา หรือระบายความในใจ สามารถส่งมาได้ที่ bonjour@cont-reading.com