Thu 20 Oct 2022

บ้านวิกลคนประหลาด

รีวิว ‘บ้านวิกลคนประหลาด’ โดย Uketsu

ภาพ: ms.midsummer

     ต้องออกตัวไว้ก่อนว่า ผมไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเรื่องสยองขวัญและได้อำลาการฟังคลื่นวิทยุรายการผีมาเป็นสิบปีแล้ว แต่ความที่ผมประกอบอาชีพสถาปนิกและบังเอิญไปเห็นการโปรโมตหนังสือ บ้านวิกลคนประหลาด ในช่องทางทวิตเตอร์ที่เอาแปลนผังบ้านสองชั้นมากางไว้ พร้อมคำโปรยที่ว่า “คุณดูออกไหมว่าบ้านหลังนี้ผิดปกติตรงไหน!?” ก็ทำให้ผมอดใจไม่ไหวต้องไปจับจองหนังสือเล่มนี้แทบจะทันที เพราะผมอยากรู้ว่าหนังสือจะเล่าเรื่องสยองขวัญผ่านผังบ้านได้อย่างไร ในมุมที่สถาปนิกนั้นอาจคาดไม่ถึง… (ในบทความนี้ไม่มีการสปอยล์เหตุการณ์สำคัญใดๆ ในหนังสือ)

     หนังสือ บ้านวิกลคนประหลาด ของ ‘อุเก็ตสึ’ แปลโดย ‘ฉัตรขวัญ อดิชัย’ จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Bibli เป็นหนังสือที่เล่าถึงนักเขียนอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านเรื่องลี้ลับ ซึ่งเจอผังบ้านมือสองหลังหนึ่งในโตเกียวจากคนรู้จัก แล้วเธอก็นำผังบ้านนี้ไปวิเคราะห์กับเพื่อนสถาปนิกที่ชอบเรื่องลี้ลับเหมือนกัน จนกลายเป็นว่าทั้งคู่ได้ค้นพบเรื่องราวของบ้านหลังนี้ไกลกว่าแค่เรื่องสยองขวัญ เกิดเป็นเงื่อนปมซับซ้อนสไตล์ญี่ปุ่น

     หลังจากที่ผมใช้เวลาไม่นานในการอ่านหนังสือให้จบ ก็พบว่าคุณผู้แต่งเล่มนี้นั้นไม่ธรรมดา มีฝีมือในการเล่าเรื่องที่เก่งมาก โดยเฉพาะเทคนิคการดำเนินเนื้อเรื่องทั้งหมดผ่านผังบ้านอย่างเดียว (ต้องชื่นชมผู้จัดลำดับรูปในหนังสือด้วย) และยังสามารถชี้ชวนให้ผู้อ่านจินตนาการถึงเหตุการณ์สยองขวัญได้เพียงแค่กวาดสายตาดูที่ผังบ้าน ซึ่งสร้างประสบการณ์ชวนขนลุกที่แปลกใหม่ และอาจทำได้ดีกว่าเล่าเรื่องสยองขวัญแบบตรงๆ เสียอีก

     การดีไซน์ผังบ้านของผู้เขียนให้ไหลลื่นไปกับการดำเนินเนื้อเรื่องได้แบบนี้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ผมเชื่อว่าผู้เขียนอาจเริ่มต้นวางแผนผังแบบนี้จากการจินตนาการเรื่องสยองขวัญที่จะเกิดขึ้นในบ้านเสียก่อน แล้วจึงกำหนดผังห้องสำหรับเหตุการณ์หลักขึ้นมาเป็นอย่างแรก หลังจากนั้นก็ค่อยๆ วางผังห้องบ้านทั่วไปเข้ามา เช่น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องกินข้าว โดยทุกห้องจะอยู่ล้อมห้องเหตุการณ์หลัก และจึงค่อยๆ จัดเรียงผังห้องใหม่อีกรอบ ให้สอดคล้องกับวิธีการเล่าเรื่องจากตัวละครในหนังสือ

     นอกจากนี้ ผมคิดว่าผู้เขียนน่าจะเอาห้องทั้งหมดที่วางไว้เสร็จแล้วมาเขย่าๆ ให้เกิดผังบ้านใหม่อีกรอบในขั้นตอนสุดท้าย โดยตั้งใจให้ความสัมพันธ์ของแต่ละห้องในบ้านนั้นดูกระจัดกระจายมากขึ้น แต่ก็ดูมีความเป็นเนื้อเดียวกัน โดยที่ยังซ่อนหัวใจหลักเอาไว้ ซึ่งวิธีการเขย่าครั้งสุดท้ายนี้อาจเป็นเคล็ดลับความสำเร็จในการออกแบบผังบ้านให้มีความสนุก สร้างความสยองขวัญ และความรู้สึกซับซ้อนแก่คนอ่านหนังสือเล่มนี้ได้

     หากเป็นตามที่ผมจินตนาการไว้จริง จึงไม่น่าแปลกเลยที่เราจะเห็นถึงความตั้งใจในการลดทอนความสมจริงของผังบ้าน แม้ว่าการดำเนินเรื่องจะมีตัวละครสถาปนิกคอยอธิบายความสมเหตุสมผลเรื่องบ้านอยู่ตลอดก็ตาม ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้มากๆ เช่นกัน เพราะหากหนังสือเล่มนี้จะต้องยึดติดกับความเป็นจริงมากเกินไป อาจจะทำให้ความสนุกและเนื้อเรื่องนั้นไม่บรรลุเป้าหมายได้

     ขอย้ำอีกครั้งว่า ผมไม่ได้คิดจะไปแก้ผังบ้านในหนังสือด้วยจริตสถาปนิกเพื่อให้ถูกใจใดๆ แต่การที่ผมมีโอกาสเขียนถึงหนังสือเล่มนี้ ซึ่งมีคอนเซปต์การเล่าเรื่องที่พยายามชี้ชวนให้ผู้อ่านได้อ่านผังบ้านตามตัวละครเป็นหลักแล้ว ผมเลยคิดว่าน่าจะลองชี้ชวนดูรายละเอียดยิบย่อย และให้เกร็ดความรู้สนุกๆ ในการดูผังบ้านในชีวิตจริง (แบบบริบทไทย) กับเพื่อนๆ ผู้อ่าน เผื่อไว้ว่าวันหนึ่งเกิดความจำเป็นต้องมานั่งอ่านผังบ้าน เราจะได้เข้าใจมันมากขึ้น 

     โดยผมอาจจะขอใช้ภาพบ้านที่ใช้โปรโมตหนังสืออยู่แล้วเป็นตัวอย่าง

1. ตำแหน่งเสาบ้าน (หรือแนวโครงสร้างหลักของบ้าน)

     ปกติแล้ว การได้เข้าไปสำรวจอาคารเก่าหรือบ้านมือสองที่มีอายุหน่อย (ส่วนใหญ่แบบพิมพ์เขียวมักจะสูญหาย หรือหากมีเก็บไว้ แบบก็มักจะไม่ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ต้องเขียนผังบ้านใหม่เสมอ) สิ่งแรกที่เราจะต้องทำและต้องหาให้เจอก่อนก็คือ ‘ตำแหน่งเสาบ้าน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากๆ เพราะเป็นเหมือนกระดูกสันหลังของบ้านทั้งหมด

     เมื่อเราหาเสาบ้านได้และนำมาวาดตำแหน่งลงในกระดาษครบทุกต้นแล้ว เราก็จะเห็นความสัมพันธ์และเหตุผลเกือบทั้งหมดของการก่อสร้างบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลของการมีผนังก่ออิฐซ้อนกันสองชั้น ที่อาจเป็นเทคนิคการซ่อนเสาให้เรียบร้อยไปกับผนัง หรือเหตุผลของผังห้องชั้นสองที่มีการตีกรอบสัดส่วนของห้องให้ดูแปลกๆ เฉพาะตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะมีเสาจากชั้นหนึ่งมากำหนดกรอบห้องไว้แล้ว โดยแบบผังบ้านที่ดีก็มักจะมีการระบุเสาบ้านอยู่แล้วนั่นเอง แต่ถ้าบ้านหลังนั้นถูกสร้างด้วยระบบพิเศษแบบไร้เสาจริงๆ ผมก็มองว่าต้องหาแนวโครงสร้างหลักบางอย่างมาทดแทนอยู่ดี อย่างเช่นแนวผนังที่รับน้ำหนักพิเศษ เป็นต้น

     จากผังบ้านตัวอย่างขนาด 2 ชั้นของหนังสือเล่มนี้ จะเห็นได้ว่าไม่มีตำแหน่งเสาปรากฏ หรือการระบุถึงแนวโครงสร้างหลักเลย เดาได้ว่าเป็นความตั้งใจของผู้เขียนเอง เพราะหากพยายามใส่สิ่งเหล่านี้เข้ามา อาจจะกลายเป็นปัญหาและเบนความสนใจต่อเนื้อเรื่องก็เป็นได้

     แตกต่างกับชีวิตจริง ถ้าบ้านไม่มีโครงสร้างหลักใดๆ ยึดเป็นแกนค้ำอาคารเลยนั้นจะมีความแข็งแรงต่ำและสิทธิ์ที่จะพังถล่มลงมาได้ง่าย โดยเฉพาะการสร้างถึง 2 ชั้นก็ยิ่งเสี่ยงอันตราย เป็นอะไรที่ไม่ควรทำเลยหากไม่ได้ผ่านการคำนวณทางวิศวกรรมมาเสียก่อน

2. ช่อง Shaft หรือช่องท่องานระบบ

     เวลาเราเห็นแบบผังบ้านโดยทั่วๆ ไป บางครั้งอาจจะเจอลักษณะเหมือนผนังที่เป็นกรอบช่องว่างอยู่ภายในบ้าน ซึ่งอาจอยู่กลางบ้านหรือมุมบ้านก็ได้ แต่ไม่ต้องตกใจไปว่ามันคือผนังลับหรืออะไรใดๆ อนุมานไว้ก่อนว่ามันคือ ช่อง Shaft หรือช่องท่องานระบบของบ้าน ไม่ว่าจะระบบประปาหรือระบบไฟฟ้า 

     ในบ้านโดยทั่วไปหากไม่ได้เดินท่องานระบบโชว์ที่ด้านนอก ส่วนใหญ่ก็มักจะมีช่อง Shaft ปรากฏอยู่ในบ้าน ซึ่งการมีอยู่ของช่อง Shaft นั้นค่อนข้างสำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการซ่อนท่อของบ้านให้ดูเรียบร้อยแล้ว เวลาเกิดปัญหาน้ำรั่วหรืออะไรใดๆ ช่างที่เข้ามาซ่อมก็จะสามารถเข้ามาเริ่มดูปัญหาที่ช่อง Shaft นี้ก่อน เพราะท่อหลักส่วนใหญ่จะถูกรวบไว้ที่ช่องนี้นั่นเอง

     ตำแหน่งช่อง Shaft นี้โดยส่วนมากมักจะอยู่ติดหรืออยู่ข้างใต้ห้องน้ำ เพื่อสะดวกกับช่างตอนก่อสร้างเวลารวบเดินท่อ ซึ่งถ้าเทียบกับผังบ้านตัวอย่างจากหนังสือเล่มนี้ เห็นได้ว่ามีช่องผนังว่างๆ อยู่ใต้ตำแหน่งห้องอาบน้ำชั้น 2 ซึ่งเราอาจอนุมานว่ามันคือช่อง Shaft และไม่ได้เป็นช่องลับใดๆ ก็เป็นได้

3. ขนาดสัดส่วนของประตูหน้าต่าง เฟอร์นิเจอร์ และอื่นๆ

      อีกหนึ่งปัญหาใหญ่สำหรับหลายคน คือเกิดความสับสนเมื่อได้เห็นตัวบ้านจริงๆ เนื่องด้วยขนาดสัดส่วนของประตูหน้าต่างและเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงทางเดินนั้นดูไม่เหมือนตามแบบผังบ้านที่ได้เห็นเท่าไหร่

     เหตุการณ์แบบนี้หลายครั้งอาจเกิดจากความตั้งใจของผู้เขียนแบบที่พยายามวาดผังบ้านแบบไม่ได้สมจริงเพื่อให้ดูเข้าใจง่ายแทน รวมถึงการที่บางครั้งต้องพิมพ์แบบผังบ้านออกมาบนขนาดกระดาษที่ค่อนข้างเล็ก การวาดแบบผังที่มีขนาดไม่สมจริงก็อาจมีความจำเป็น อีกทั้งพวกขนาดเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ ซึ่งสัดส่วนผิดเพี้ยนไปบ้าง ก็เป็นเพราะบางครั้งต้องใส่เข้ามาในแบบผังก่อนเพื่อให้ได้เห็นภาพรวมของบ้านนั่นเอง

     ทั้งหมดนี้ผมอาจจะบอกไม่ได้เต็มปากว่าเป็นการกระทำที่ผิดร้ายแรง เพราะผังบ้านลักษณะนี้มีเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าหมายในแบบของมัน เพียงแต่ผมก็อยากชี้ชวนให้ตระหนักว่า บางทีแบบผังบ้านที่เราเห็นอาจถูกเขียนขึ้นในขนาดสัดส่วนที่ไม่ได้สมจริง 100 เปอร์เซ็นต์ และถ้าเลือกได้ ก็อยากแนะนำให้ดูแบบผังบ้านที่มีการใส่เลขระยะครบถ้วนดีกว่า

    ส่วนขนาดสัดส่วนต่างๆ ของผังบ้านตัวอย่างจากหนังสือ ก็มีความดูผิดแปลกไปอยู่บ้างโดยที่ผมยอมรับและเข้าใจได้ แต่ก็จะมีบางความกว้างของขนาดช่องทางเดินที่ดูแคบมากๆ จนรู้สึกเอ๊ะได้เช่นกัน 

     ทั้งหมด 3 ข้อนี้คือเกร็ดการดูผังบ้านเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมลองหยิบมาฝากซึ่งใช้เทียบประกอบการอ่านหนังสือ บ้านวิกลคนประหลาด ได้ ซึ่งเป็นเกร็ดความรู้ที่หากไม่รู้เลยก็อาจจะทำให้อ่านหนังสือได้สนุกยิ่งกว่า (อ้าว) เพราะคงต้องมากังวลและนั่งสงสัยเช่นผม 

     แต่ก็เชื่อได้ว่าหากเพื่อนๆ ได้ความรู้พื้นฐานเรื่องนี้ไว้บ้าง เวลามีโอกาสศึกษาผังบ้านมือสองหรือคอนโดใดๆ ถ้าเกิดเจอสิ่งประหลาดๆ ในผังบ้าน ไม่ว่าจะผนังหรือช่องว่างแปลกๆ แล้วนั้น…จะได้ไม่ต้องมีความสงสัยใดๆ เกิดขึ้น

     แต่หากว่าอยากจะสนุกไปความสงสัยซับซ้อนใดๆ ที่ซ่อนอยู่ในผังบ้าน ผมแนะนำให้ไปลองหยิบหาหนังสือ บ้านวิกลคนประหลาด แล้วปล่อยตัวปล่อยใจไปกับความสยองขวัญระดับ 5 กะโหลก….ที่จะอาจทำให้เราเห็นบ้านมือสองไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปดูครับ