I HEAR TOO
จดหมายที่บอกเล่าความเครียดและความกลัว ในวันที่การจัดการของรัฐบาลล้มเหลว จนทำให้ใครหลายคนสูญเสียคนใกล้ตัวไปฉับพลัน
เรื่อง: ธิติภัทร รวมทรัพย์
ภาพ: erdy
#ผู้นำโง่เราจะตายกันหมด ไม่ได้เป็นวลีเปรียบเปรยเล่นๆ แล้ว เพราะมันเริ่มชัดเจนขึ้นในสถานการณ์โควิด-19 มีประชาชนจำนวนมากเสียชีวิตจากการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่สามารถให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีได้
อีกทั้งโควิด-19 ก็เป็นโรคติดต่อที่พรากชีวิตไปแบบฉับพลันมากๆ อาจเป็นคนใกล้ตัวที่ก็คาดไม่ถึง ไม่ทันได้บอกลา จากเดิมที่เราไม่ได้คิดถึงเรื่องความตายมากนัก รู้สึกว่าเป็นเรื่องทั่วไปที่ถ้าเกิดก็คงต้องเกิด พอเริ่มเห็นผู้คนค่อยๆ หายไปแบบไม่ทันเตรียมใจ นอกจากพะวงว่าตัวเองจะติดไม่ติด ก็เริ่มรู้สึกกลัวว่าจะเกิดกับคนใกล้ตัว คนรู้จักเหมือนกัน
พอคิดมากเข้าก็สนใจเรื่องแนวทางการดูแลจิตใจของคนที่คนใกล้ตัวจากไปแบบฉับพลัน หากมันเกิดกับเรา เราควรจะมูฟออนยังไง (จริงๆ โรคนี้มันก็อาจจะคล้ายกับการเกิดอุบัติเหตุเหมือนกันเนอะ) แต่ในภาวะแบบนี้เราว่าจิตใจคนมันหนักไปสองเท่าด้วย ทั้งจากการเสียคนรักไป กับการที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ที่คิดว่าจะติดไหม และยังมองไม่เห็นอนาคตที่ดีได้เลย
ประชาชนคนหนึ่ง
ความย่ำแย่ของสถานการณ์โควิด-19 ครั้งนี้ บวกกับการจัดการของรัฐบาลที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้เราได้นี่มันคงยิ่งทำให้พวกเราเครียดหนัก ในสถานการณ์แบบนี้ที่ความตายเริ่มใกล้ตัวเข้ามาทุกที มันก็เป็นเรื่องที่ธรรมดาที่จะรู้เริ่มสึกกลัวว่า เฮ้ย วันนึงมันจะเป็นเราหรือคนใกล้ตัวเรามั้ยวะ
จากที่คุณประชาชนคนหนึ่งเล่ามาจะเห็นได้เลยว่าความกลัวหรือวิตกกังวลเหล่านี้ เป็นความรู้สึกที่เรามีต่อความคิดหรือภาพบางอย่าง ซึ่งเป็นเหตุการณ์ในอนาคต ที่อาจจะมีโอกาสเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่เกิดขึ้นจริง ดังนั้น สิ่งที่ทำได้อันดับแรกคือ ลองสังเกตตัวเองว่ามีอะไรที่มักจะกระตุ้นให้เราเกิดความคิดเหล่านี้ ข่าวหรือเปล่า โซเชียลมีเดียหรือเปล่า การที่คนใกล้ตัวไปข้างนอกมาหรือเปล่า หรือมันคืออะไร เมื่อเจอสิ่งที่กระตุ้นแล้วก็ลองลิสต์วิธีจัดการกับสิ่งเร้าเหล่านั้นดู เพื่อลดความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น เช่น ลดการเสพข่าวลง เลี่ยงการปฏิสัมพันธ์ถ้าไม่จำเป็น เป็นต้น
ขั้นต่อมา…สังเกตตัวเองว่าตอนนี้เรากำลังมีความคิดและกำลังรู้สึกอะไรอยู่ เช่น เรากำลังคิดว่าอาจมีคนในครอบครัวหรือคนใกล้ตัวเราจากไปด้วยโควิด-19 เรารู้สึกเครียดแล้วก็กลัวมาก ฯลฯ เมื่อระบุความคิดและความรู้สึกของตัวเองชัดเจนแล้ว ลองฝึกทำงานกับความรู้สึกของตัวเองดู
การทำงานในที่นี้คือการลองไม่ต้องตัดสินความรู้สึกที่เกิดขึ้น ว่ามันดีหรือไม่ดี กลัวเท่ากับกลัว กลัวไม่ได้เท่ากับไม่ดี ให้มองมันอย่างกลางๆ และลองอยู่กับมัน มองดูมันเหมือนผู้สังเกตการณ์ เพราะปกติเวลาเรามีความรู้สึกอะไรก็ตาม เราจะไม่ได้เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ แต่เราจะเป็นผู้รักษาความปลอดภัย คือจะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อกำจัดความรู้สึกนั้นให้ได้ไวที่สุด (เพราะเรายังมองว่า กลัวเท่ากับไม่ดี)
ขั้นต่อมา…เมื่อเรามองมันอย่างเป็นกลางได้ ไม่ได้ตอบสนองมันไวเหมือนแต่ก่อน ทีนี้ลองคิดว่าสิ่งที่เราต้องการคืออะไร อาจจะเป็นอยากให้เราและครอบครัวปลอดภัย ก็เริ่มจากตรงนี้ว่าทำอะไรได้บ้าง (ซึ่งผมก็คิดว่าทุกคนคงคิดเรื่องนี้กันมานานแล้วแหละ)
ที่กล่าวมาทั้งหมดเป็นทักษะที่อาจจะยากในการฝึกตัวเองช่วงแรกๆ แต่ค่อยๆ ฝึกไปไม่ต้องกดดันตัวเองมากนะครับ
จบไปในส่วนของการจัดการความรู้สึกตัวเอง ต่อมาถ้ามันมีการสูญเสียเกิดขึ้นจริงๆ เราจัดการยังไงได้บ้าง
คุณหมอโคลิน ปาร์กส์ (Colin Parkes) จิตแพทย์ชาวอังกฤษ ที่ศึกษาเรื่องผลกระทบจากการสูญเสีย แนะนำวิธีการปฏิบัติตัวเบื้องต้นไว้ในหนังสือ Bereavement: Studies of Grief in Adult Life (1991)
เวลาเราเจอใครที่เพิ่งเผชิญการสูญเสียและดูอาการไม่ค่อยสู้ดีไว้ดังนี้ (ข้อแนะนำในวงเล็บเป็นความคิดเห็นของผมที่เพิ่มเติมเข้าไปนะครับ)
1. ช่วยตัดสินใจเรื่องง่ายๆ เช่น การลางาน ยกเลิกแพลนต่างๆ
2. บอกเขาถึงสิ่งที่ต้องทำต่อ เช่น ในกรณีที่ยังช็อก บอกเรื่องการจองวัด แจ้งญาติ แจ้งที่ทำงาน เคลียร์ตารางงาน หรืออะไรที่เราทำได้ ให้บอกเขาว่าเดี๋ยวจัดการให้
3. ช่วยเรียบเรียงความคิดของเขา และเป็นผู้ฟังที่ดี (เน้นฟังและทำความเข้าใจความรู้สึกของเขา พยายามไม่พูดหรือแนะนำอะไรเยอะ)
4. คอยสอบถามเช็กชีวิตการเป็นอยู่ของเขาบ่อยๆ กินอะไรหรือยัง นอนหลับมั้ย วันนี้ทำอะไรบ้าง
5. แต่ก็ต้องระวังอย่ายุ่มย่ามล้ำเส้นจนเกินไป เหมือนคอยดูอยู่ห่างๆ ประคับประคองแต่ไม่ก้าวก่าย
6. จัดการสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นอารมณ์ทางลบออกไปเท่าที่ทำได้
7. แสดงออกถึงความเข้าใจ เราต้องมั่นคงและนิ่งพอจะรองรับอารมณ์ของเขา (ถ้ารู้ว่าเราอารมณ์ไม่ดี และยังไม่พร้อมก็อย่าฝืน เพราะจะพังทั้งคู่)
8. อย่าแสดงออกถึงความน่าสงสาร เวทนา ทั้งในสีหน้าและคำพูด หากรู้ว่าทำไม่ได้ให้เลี่ยงการสื่อสาร จัดการตัวเราให้ได้ก่อน อยู่เงียบๆ ไม่ต้องพูดเยอะ
9. หากเกินกำลัง หาทางพาไปพบแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจ
ที่พูดมาคือกรณีเราดูแลคนอื่น แต่ถ้ามันเกิดขึ้นกับเราล่ะ?
สิ่งสำคัญมากๆ ที่อยากให้ท่องไว้คือถ้ามันหนักมาก การขอความช่วยเหลือไม่ใช่เรื่องแย่อะไร เพราะหลายคนชอบเกรงใจหรือบอกกับตัวเองว่าเราจะต้องผ่านมันไปด้วยตัวเองให้ได้ ดังนั้น หาใครสักคนหรือถ้ามีมากกว่านั้นก็จะดี ให้สื่อสารกับเขาเลยว่า ช่วงนี้เราไม่ไหว อยากให้เขาช่วยอะไรยังไงบ้าง
ผมขอเล่าเสริมอีกนิดนึงครับ ในประเทศปาปัวนิวกินีจะมีธรรมเนียมปฏิบัติชื่อว่า haus krai หรือ crying house คือเวลาที่ครอบครัวใดมีการสูญเสีย จะมีการเลือกสถานที่กลางซึ่งอาจเป็นบ้านของใครสักคนหรือบ้านของเจ้าตัว ที่คนในครอบครัวใหญ่และเพื่อนฝูงสามารถเดินทางมาเยี่ยมได้สะดวก แล้วจัดกิจกรรมในบ้านนั้นๆ เพื่อดูแลครอบครัวที่สูญเสีย อย่างการทำอาหารกินกัน ผู้ที่มาเยี่ยมก็จะนำอาหารหรือข้าวของมาให้ มีการร้องเพลงเพื่อไว้อาลัยและระลึกถึงคนที่จากไป โดยแนวคิดหลักของกิจกรรมนี้ก็คือการที่ผู้สูญเสียไม่ต้องเผชิญกับช่วงเวลาเลวร้ายนี้เพียงคนเดียว มีผู้คนร่วมแชร์และคอยซัพพอร์ตอยู่ข้างๆ
การมีความรู้สึกเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเครียด กลัว เศร้า ดีใจ ตื่นเต้น ล้วนเกิดขึ้นได้ บางวันก็ดีบางวันก็แย่ บางวันเข้มแข็งบางวันอ่อนแอ แต่หากวันใดที่ความรู้สึกมันยากเกินจัดการ อย่ารีรอที่จะขอความช่วยเหลือ มันไม่ใช่เรื่องน่าอายอะไรครับ
ความอ่อนแอคือเรื่องธรรมดา เพราะเรายังคงเป็นมนุษย์ที่มีชีวิตและจิตใจ
ป.ล. ไม่ต้องโทษใครหรือโทษตัวเองนะครับว่าป้องกันไม่ดี ดูแลคนรอบข้างไม่ได้ เพราะมันเป็นปัญหาที่ใหญ่เกินระดับบุคคลจะจัดการ เราระวังแค่ไหนแต่สุดท้ายเราก็ต้องออกจากบ้านไปใช้ชีวิต ต้นเหตุไม่ใช่เราครับ #ผนงรจตกม
อ้างอิง:
• Parkes, C., (1991). Bereavement: Studies of Grief in Adult Life 2nd edition. London: Penguin Books.