Wed 10 Aug 2022

I THINK OUR SON IS GAY, AND THAT’S OK

มังงะที่โอบกอดความหลากหลายด้วยความเข้าใจและความรักจากแม่

ภาพ: ms.midsummer

     ช่วงที่ผ่านมา เราเห็นสื่อบันเทิงจากญี่ปุ่นนำเสนอเรื่องราวของคู่รักเพศเดียวกันมากขึ้น ที่โดดเด่นเห็นจะเป็น What Did You Eat Yesterday? (เมื่อวานคุณทานอะไร) ที่นำเสนอชีวิตของคู่รักชาย-ชายวัยกลางคนผ่านการทำอาหารหลากหลายเมนูที่ชวนให้ท้องหิวแต่อิ่มใจ หรือ Cherry Magic (ถ้า 30 ยังซิงจะมีพลังวิเศษ) เรื่องรักออกแฟนตาซีเล็กๆ ของสองหนุ่มวัยทำงาน โดยทั้งสองเรื่องนี้เริ่มต้นจากการเป็นมังงะ ถูกนำมาสร้างเป็นซีรีส์ ก่อนจะต่อยอดเป็นภาพยนตร์ และถูกนำมาฉายที่บ้านเรา ยังไม่นับรวมถึงซีรีส์, มังงะ BL (Boy Love) หรือนิยายวายต่างๆ ที่เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่า ความรักของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงอย่างแพร่หลายมากขึ้นในประเทศญี่ปุ่น (ถึงจะยังมีกำแพงหนาหนักของระบอบเดิมๆ หรือการปกครองด้วยกลุ่มคนหัวเก่าครอบอยู่ก็ตามที)

     ท่ามกลางคอนเทนต์ความรักชวนฟินจิ้นจนใจเจ็บนั้น มีมังงะเรื่องหนึ่งที่ทัชใจเราจนอยากแนะนำให้ทุกคนได้รู้จัก

     ลูกชายฉันดูเหมือนจะเป็นเกย์ (I Think Our Son Is Gay) เป็นมังงะที่ถูกเขียนโดย อ.โอคุระ (Okura) เผยแพร่ผ่านทวิตเตอร์เมื่อปี 2018 ก่อนจะได้รับความนิยมจนถูกนำมารวมเล่ม และถูกแปลเป็นภาษาไทยเพื่อวางจำหน่ายในบ้านเราโดยสำนักพิมพ์ DEXpress เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา (ระหว่างที่เขียนการ์ตูนเรื่องนี้ อ.โอคุระก็ได้บอกกับแม่ว่าเขาเป็นเกย์และเรื่องราวที่เขากำลังเขียนก็เกี่ยวข้องกับคนที่เป็นเกย์)

     อ่านชื่อเพียงรอบเดียวผ่านก็น่าจะเดาได้ไม่ยากว่ามังงะเรื่องนี้เกี่ยวกับอะไร อธิบายเพิ่มอีกสักหน่อยคือ ภายในบ้านตระกูลอาโอยามะประกอบไปด้วย โทโมโกะ—คุณแม่, อากิโยชิ—คุณพ่อ, ฮิโรกิ—ลูกชายคนโต และ ยูริ—ลูกชายคนเล็ก วันหนึ่งคุณแม่เกิดสงสัยขึ้นมาว่าลูกชายของตัวเองอาจจะเป็นเกย์ แล้วเรื่องราวก็ค่อยๆ เผยให้เห็นการเติบโตของตัวละครผ่านลายเส้นเรียบง่ายสะอาดตา เล่าเรื่องอย่างกระชับเหมือนการ์ตูนสั้นๆ หลายๆ ตอนมาเรียงร้อยต่อกัน

     แต่ภายใต้คำถามที่เป็นชื่อเรื่องนั้นยังมีคำถามอีกมากมายที่มังงะเรื่องนี้จะชวนเรามาขบคิดไปด้วยกัน

ถ้าลูกชายของฉันเป็นเกย์ แล้ว…

     บนโต๊ะอาหาร แม่และลูกชายทั้งสองคนกำลังกินข้าวเย็นกันอยู่ (เพราะคุณพ่อต้องไปทำงานต่างจังหวัดอยู่บ่อยๆ) ในขณะที่กำลังคุยเรื่องแกงกะหรี่ใส่ข้าวโพดสูตรพิเศษของแม่อยู่นั้น ฮิโรกิก็บอกว่า ถ้าในอนาคตเขาอยากกินแกงกะหรี่สูตรนี้ เขาก็จะหา ‘แฟนหนุ่ม’ ที่ทำอาหารเก่งๆ มาทำให้เขากิน

     เงียบไปสักพัก ฮิโรกิเพิ่งรู้สึกตัว เขาจึงแก้ตัวกับแม่เป็นพัลวันว่า ‘แฟนสาว’ ต่างหากล่ะครับที่ผมพูดถึง

     นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ฮิโรกิพูดว่า ‘แฟนหนุ่ม’ แทนที่จะเป็น ‘แฟนสาว’ และเขินจนเสียอาการอยู่บ่อยๆ 

     ความคิดที่ว่า ‘ลูกชายคนโตของฉันดูเหมือนจะเป็นเกย์’ จึงค่อยๆ ปรากฏชัดขึ้นในใจของผู้เป็นแม่ แต่โทโมโกะก็แค่เก็บความคิดนั้นไว้ในใจ เธอไม่ได้มองว่ามันเป็นปัญหาหรือเรื่องราวหนักอก ไม่มีฉากคุณแม่นั่งกุมหัวอยู่ที่โต๊ะกินข้าวหลังลูกๆ หลับ เปิดไฟเพียงดวงเดียวส่องเหนือหัวเพื่อขับเน้นความเศร้าหมอง มันเป็นเพียงเรื่องหนึ่งที่เกิดขึ้นได้อย่างปกติธรรมดา สิ่งที่เธออยากทำก็เพียงแค่ทำความเข้าใจและทำให้เขามีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองเป็นเท่านั้นเอง

     บางทีการบ่งบอกอย่างเงียบๆ ว่ามีคนที่เข้าใจอยู่ที่บ้านเสมอก็อาจจะเพียงพอแล้วก็ได้

ถ้าเป็นผู้ชายก็ต้อง…น่ะสิ

     “ถ้าเป็นผู้ชาย ก็ต้องไม่กลัวหนังผีสิ”

     “ถ้าเป็นผู้ชาย ก็ต้องไม่อ่านไอ้นี่สิ”

     “ถ้าเป็นผู้ชาย ก็ต้องสนใจผู้หญิงสิ”

     “ถ้าเป็นผู้ชาย ก็ต้อง…สิ” 

     “ถ้าเป็นผู้ชาย ก็ต้องไม่…สิ”

     เชื่อว่าหลายๆ คนต้องเคยได้ยินคำพูดประมาณนี้ ไม่ว่าจะได้ยินกับตัว ได้ยินคนอื่นพูด หรือแม้กระทั่งอาจจะเคยเป็นคนพูดประโยคเหล่านี้เสียเอง

     ไม่เว้นแม้ในมังงะเรื่องนี้ ที่ผู้พูดก็ไม่ใช่ใครที่ไหนไกล แต่เป็นอากิโยชิ พ่อที่ไม่ค่อยได้กลับบ้าน เพราะต้องออกไปทำงานต่างจังหวัดอยู่บ่อยๆ เมื่อกลับบ้านก็อยากทำหน้าที่พ่อที่ดี อัพเดตชีวิตพลางชวนลูกชายที่เริ่มเข้าวัยแรกรุ่นเปิดอกคุยกันแบบแมนๆ หารู้ไม่ว่ามันเป็นการมอบแรงกดดันและทำให้ลูกชายอึดอัดโดยไม่รู้ตัว

     “ผมก็เป็นผู้ชาย แต่ผมไม่สนใจเรื่องโรแมนติกหรือผู้หญิงเลย แล้วมันทำไมเหรอฮะ” ยูริ น้องเล็กของบ้านบอกกับคุณพ่อ

     “แค่ในบ้านยังไม่เหมือนกันขนาดนี้ คำว่า ‘ผู้ชายต้องเป็นแบบนี้’ เนี่ย อาจไม่มีอยู่จริงก็ได้นะ” โทโมโกะพูดขึ้น

     หลังจากนั้น คุณพ่อก็ดูเหมือนจะเริ่มเข้าใจอะไรขึ้นมาบ้าง

     สิ่งที่เราชอบในมังงะเรื่องนี้คือ การพยายามกล่อมเกลาโน้มน้าวกรอบของการ stereotype แบบเดิมๆ ด้วยท่าทีละมุนละม่อม อ่อนโยน ไม่ได้เป็นการฟาดฟันกันด้วยคำพูดรุนแรงหรือการตำหนิก่นด่าเหยียดหยาม และไม่ได้พยายามวาดภาพคนที่ยังติดอยู่กับชุดความเชื่อเดิมๆ ว่าเป็นคนไม่ดีหรือน่ารังเกียจ ตัวอากิโยชิเองก็ไม่ใช่พ่อใจโหดที่อยากกดดันหรือทำร้ายลูกด้วยคำพูด เขาเป็นเพียงพ่อผู้หวังดีที่ยังติดอยู่กับแนวความคิดแบบเดิมๆ ซึ่งสามารถเปลี่ยนได้ด้วยการอธิบายจากคนรอบข้างและการเปิดใจของเจ้าตัว

เป็นเกย์ = น่าเสียดาย?

     “ผมว่าผมคงเป็นแบบที่พ่ออยากให้เป็นไม่ได้” ฮิโรกิพูดด้วยสายตาเศร้าสร้อย

     ถึงจะเป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่น สิ่งที่มังงะนำเสนอก็ไม่ได้หยุดอยู่แค่การพยายามค้นหาหรือยอมรับว่าตัวเองชอบเพศอะไร แต่ยังครอบคลุมไปถึงแง่มุมอื่นๆ ในชีวิต เช่น ความคาดหวังของคนในครอบครัว (ฮิโรกิพูดประโยคข้างต้นขึ้นมาเพราะพ่อบอกว่าอยากให้ฮิโรกิแต่งงาน มีครอบครัวที่อบอุ่น และมีลูก) ความคาดหวังของคนในสังคม เช่น ฉากที่เพื่อนร่วม

     งานพาร์ตไทม์ของคุณแม่เปิดตัวว่าเป็นเกย์ ก็มีตัวละครหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “น่าเสียดายจัง อุตส่าห์มีผู้หญิงมาชอบตั้งเยอะแยะแท้ๆ” หรือแม้กระทั่งการโดนคาดหวังว่า ถ้าเป็นเกย์ก็น่าจะเก่งเรื่องการให้คำแนะนำเรื่องความสัมพันธ์สิ เป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นเพศไหน บางทีเราก็ยังเผลอติดกับกรอบ stereotype เดิมๆ โดยไม่รู้ตัว

     เช่นเคย มังงะเรื่องนี้ก็เลือกที่จะรับมือกับปัญหาเหล่านั้นด้วยความเข้าใจ และพยายามแก้ไขปัญหาด้วยการพูดคุยให้ทุกคนเปิดใจยอมรับ

โอบกอด เข้าใจ แล้วเติบโตไปด้วยกัน

     ตอนที่เขียนบทความนี้ อยู่ๆ เราก็นึกถึงประโยค “Growth is a group project” ของซีรีส์ Sex Education ซึ่งเราว่าค่อนข้างตรงกับเรื่องราวในมังงะนี้พอสมควร

     ตลอดการดำเนินเรื่อง ลูกชายฉันดูเหมือนจะเป็นเกย์ ไม่ได้โฟกัสแค่เพศสภาพของฮิโรกิ หรือลุ้นว่าเขาจะ ‘คัมเอาต์’ กับครอบครัวเมื่อไหร่ แต่มังงะยังพาเราไปเห็นการเติบโตของตัวละครอื่นๆ ทั้งพ่อที่เริ่มจะเข้าใจอะไรๆ มากขึ้น ทั้งน้องเล็กที่แม้จะมีความสุขุมแบบผู้ใหญ่อยู่แล้ว เราก็ยังได้เห็นพัฒนาการทางความคิดอ่านและคำพูดคมๆ ที่ชวนให้ชื่นชมปนเอ็นดู และตัวละครหลักอย่างแม่ที่ไม่ได้แค่ต้องเฝ้าดูลูกชายที่รัก แต่เธอก็ยังต้องเติบโตขึ้นในฐานะแม่คนหนึ่งเช่นกัน 

     เรื่องราวทั้งหมดนี้เกิดขึ้นได้เพราะทุกคนเปิดใจและโอบกอดกันด้วยความเข้าใจ ยอมรับว่าความหลากหลายแตกต่างเป็นเรื่องแสนสามัญที่เกิดขึ้นได้ แม้จะเป็นครอบครัวเดียวกัน
และถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้เป็นแบบที่เราคิด แต่เขาก็ยังเป็นคนในครอบครัวที่เรารักยิ่งกว่าใครไม่ใช่หรือ? 

     แม้จะเป็นครอบครัว แต่เพราะเป็นมนุษย์ เราจึงแตกต่าง

     หากวันใดมีใครไม่ได้เป็นอย่างที่เราหวัง

     อย่าลืมที่จะโอบกอดเขาไว้ด้วยความเข้าใจนะ