I'M GLAD MY MOM DIED
I’m Glad My Mom Died โดย Jennette McCurdy
เรื่อง: ธีรดา มูลศิริ
ภาพ: ms.midsummer
I’m Glad My Mom Died
Jennette McCurdy เขียน
สำนักพิมพ์ Simon & Schuster
Trigger warning: ความผิดปกติทางการกิน (Eating disorder), การทารุณกรรมเด็ก (Child abuse), การทำร้ายทางจิตใจ (Emotional abuse), การเสพติดแอลกอฮอล์ (Addition, Alcoholism)
หากมองผ่านๆ ชื่อหนังสือเล่มนี้อาจทำให้บางคนสตั๊นไปหนึ่งแมตช์ หรือเริ่มตั้งคำถามว่าผู้เขียนเป็นลูกประสาอะไรถึงดีใจที่แม่เสียชีวิต แต่ I’m Glad My Mom Died ไม่ใช่หนังสือด่าแม่เพื่อความสะใจ แต่เป็นบันทึกประสบการณ์ชีวิตหรือ Memoir ของ ‘เจนเนตต์ แม็คเคอร์ดี’ (Jennette McCurdy) ที่สะท้อนความบิดเบี้ยวของอาชีพดาราเด็ก การเสียสละตัวเองเพื่อเติมเต็มความฝันของแม่ และการเติบโตก้าวข้ามความรู้สึกผิดเพื่อใช้ชีวิตในแบบของตัวเอง
หลายคนอาจจะไม่คุ้นชื่อของเจนเนตต์ แม็คเคอร์ดี อดีตดาราเด็กจากฮอลลีวูดสักเท่าไหร่ แต่ถ้าพูดถึงคาแรกเตอร์กวนโอ๊ยอย่าง ‘ซาแมนธา ‘แซม’ พัคเกตต์’ จากซีรีส์สำหรับเด็กสุดฮิตจากช่อง Nickelodeon อย่าง iCarly และ Sam & Cat (นำแสดงร่วมกับป๊อปสตาร์สาว ‘อารีอานา กรานเด’ (Ariana Grande)) อาจจะร้องอ๋อขึ้นมาทันที แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าภาพความตลกโปกฮาที่เห็นในจอทีวีนั้นห่างไกลจากสิ่งที่เกิดขึ้นในจิตใจของเจนเนตต์อย่างลิบลับ
“Mommy I am… so skinny right now. I’m finally down to eighty-nine pounds”
(แม่คะ ตอนนี้หนู…ผอมมากเลยนะ น้ำหนักหนูลงมาอยู่ที่ 89 ปอนด์แล้วนะ)
เจนเนตต์เริ่มเล่าเรื่องของเธอผ่านเหตุการณ์สำคัญตอนแม่อยู่ในภาวะโคม่าจากโรคมะเร็ง ด้วยความหวังที่ว่าแม่จะฟื้นขึ้นมา เธอบอกแม่ว่าเธอผอมลงถึง 89 ปอนด์ (ประมาณ 40 กิโลกรัม) แล้วนะ เพราะ ‘ความผอม’ คือสิ่งที่แม่ให้คุณค่า คาดหวัง และปลูกฝังเจนเนตต์มาตั้งแต่เด็ก ถึงขนาดที่ว่าแม่สอนให้จำกัดแคลอรี ซึ่งส่งผลให้เธอเกลียดกลัวการเติบโตของร่างกาย (เช่น การมีหน้าอกเมื่อเริ่มเป็นสาว) จนเป็นโรคคลั่งผอม (Anorexia) และโรคล้วงคอ (Bulimia) ในเวลาต่อมา
หนังสือแบ่งเป็นสองพาร์ตใหญ่ๆ คือ Before ซึ่งเป็นช่วงที่แม่พาเด็กหญิงเจนเนตต์วัย 6 ขวบไปเข้าคลาส แคสติ้งงานต่างๆ และได้บทดารานำในซีรีส์ ‘iCarly’ และพาร์ต After คือช่วงที่แม่เสียชีวิตจากโรคมะเร็ง และนางสาวเจนเนตต์เริ่มทนกับความท็อกซิกในวงการบันเทิงไม่ไหว จนเธอต้องพบนักบำบัด และยุติบทบาทดาราโทรทัศน์ในที่สุด
“And I fear that I resent my mother. The person I have lived for. My idol. My role model. My one true love.”
(ฉันกลัวเหลือเกินที่ฉันรู้สึกโกรธเคืองแม่ คนที่ฉันทุ่มเททั้งชีวิตให้ ไอดอลของฉัน แบบอย่างของฉัน รักแท้หนึ่งเดียวของฉัน)
ในพาร์ต Before นี้ เราได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกสาวที่ค่อนข้างท็อกซิกมากๆ เพราะแม่ของเจนเนตต์อยากจะเป็นดาราตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่สามารถทำตามฝันของตัวเองได้ จึงส่งต่อความฝันพร้อมความคาดหวังและความกดดันสู่ลูกสาวคนสุดท้อง (และก็ไม่ได้ใส่ใจลูกชายสามคนแรกเท่าไหร่)
ด้วยความที่เจนเนตต์รักและเชิดชูแม่มากๆ รวมทั้งกลัวว่าแม่จะตายจากไป เธอจึงยอมทำทุกอย่างที่ทำให้แม่มีความสุข ไม่ว่าจะเป็นการแคสติ้ง เรียนเต้น ตื่นเช้าไปเข้าฉาก ทำงาน 10 ชั่วโมงขึ้น ไปจนถึงจำกัดการกินของตัวเองเพื่อหุ่นที่ผอม รูปร่างตัวเล็ก เพื่อจะได้รับบทคาแรกเตอร์ที่อายุน้อยกว่าอายุจริงของตัวเอง แต่พอเจนเนตต์เริ่มโตขึ้น เธอก็เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับการกระทำของแม่ เธอเริ่มรู้สึกโกรธแม่ แต่ก็รู้สึกผิดในความโกรธของตัวเอง เธอกลัวว่าตัวเองจะเป็นลูกที่ไม่ดี
“My mind is only on one thing—the amount of food I ate and what I’m going to do about it”
(ในหัวของฉันคิดอยู่เรื่องเดียว คิดแค่ว่ากินอาหารเข้าไปเยอะแค่ไหน และจะกำจัดมันยังไงดี)
ในส่วนของพาร์ต After นั้น เมื่อแม่เสียชีวิตจากไป เจนเนตต์จึงได้สัมผัสกับอิสระครั้งแรกในชีวิต แต่แทนที่จะมีความสุข เธอกลับต้องมาต่อสู้กับปัญหาที่ (แม่) ทิ้งปมเอาไว้ ซึ่งเรื่องใหญ่ที่สุดคือความผิดปกติทางการกิน เพราะเจนเนตต์เป็นโรคล้วงคอขั้นรุนแรง ถึงขนาดที่ว่ากรดจากการอาเจียนไปกัดฟันจนกร่อนและหลุดออกมา เธอต้องพบนักบำบัดและค่อยๆ รักษาอาการล้วงคอ ซึ่งใช้เวลานานหลายปีกว่าจะข้ามผ่านไปได้ ซึ่งหนึ่งในไมล์สโตนที่เธอภาคภูมิใจคือเธอไม่ล้วงคอหลังกินอาหารติดต่อกันเป็นเวลานาน 24 ชั่วโมง
นอกจากนี้ เจนเนตต์ยังต้องต่อสู้กับความท็อกซิกในกองถ่าย iCarly และ Sam & Cat เพราะชีวิตวัยเด็กที่ควรจะได้วิ่งเล่นกับเพื่อนในโรงเรียน ตามหาความฝันของตัวเอง กลับถูกลิดรอนไปเพราะหน้าที่การงาน (ที่หาเลี้ยงทั้งครอบครัว) และเธอยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่ช่อง Nickelodeon เสนอ ‘เงินปิดปาก’ (Hush Money) แลกกับการไม่พูดถึงประสบการณ์หรือเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังกล้องและในกองถ่าย โดยเฉพาะพฤติกรรมของโปรดิวเซอร์หรือที่เจนเนตต์เขียนถึงในชื่อ The Creator (ซึ่งแฟนๆ และคนทั่วไปต่างรู้กันว่าคือ ‘แดน ชไนเดอร์’ (Dan Schneider) สุดฉาว) ที่เจ๊าะแจ๊ะและถึงเนื้อถึงตัวกับเธอตั้งแต่ยังเด็ก
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ Memoir ที่ซื่อตรง จริงใจ และปวดร้าวที่สุดที่เราเคยอ่าน I’m Glad My Mom Died ชวนให้เรานั่งทบทวนชุดความคิด ‘ลูกกตัญญู’ และตั้งคำถามว่าขอบเขตของ ‘ความกตัญญู’ อยู่ตรงไหน หรือต้องขยายไปอย่างไม่สิ้นสุดเพียงเพราะประโยคที่ว่า “พ่อแม่ทำไปเพื่อสิ่งที่ดีที่สุดของลูกเสมอ”
เรายังเห็นตัวเองในเจนเนตต์ตอนที่เธอต่อสู้กับ Body Image และบรรทัดฐาน ‘ความสวย’ ของสังคม ผอมแค่ไหนถึงจะผอม? โลกรอบตัวเราโหดร้ายและสุดโต่งเกิดไปรึเปล่ากับ ‘ความผอม’ จนทำให้เจนเนตต์ (และผู้หญิงอีกมากมาย) ต้องอดข้าว อดน้ำ อดอาหาร จนเกือบอดใช้ชีวิตจริงๆ
ขอย้ำอีกครั้งว่า I’m Glad My Mom Died ไม่ใช่หนังสือที่เจนเนตต์ลากแม่มาประจานกลางสี่แยก แต่เป็นการพูดถึง ‘แม่ผู้ล่วงลับไปแล้ว’ ในรูปแบบที่ไม่ได้โรแมนติไซส์ ‘ความตาย’ เพราะเธอเข้าใจแล้วว่าความทุกข์ ความเจ็บปวด ความกดดันที่มลายหายวับไปพร้อมกับความตายของคนใกล้ตัวไม่ใช่เรื่องผิดบาป แต่เป็นส่วนหนึ่งของการยอมรับในความผิด-ชอบ-ชั่ว-ดีที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ไม่ยกเว้นแม้กระทั่งบุพการีที่สังคมสอนให้บูชาไว้บนหิ้ง เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นพ่อแม่ไม่ได้เป็นฝ่ายถูกเสมอไป และลูกก็ไม่ได้เกิดมาเพื่อจำยอมต่อความไม่เข้าท่าอยู่ฝ่ายเดียว
เจนแนตต์ค้นพบและทวงคืนตัวตนผ่านการสะท้อนชีวิต ทำความเข้าใจ และโอบกอดตัวเองผ่านถ้อยคำที่ซื่อสัตย์ที่สุดต่อใจของตัวเอง