Wed 28 Apr 2021

IT LOOKED LIKE SPLIT MILK

หนังสือภาพและการตั้งคำถามกับความจริง ว่าสิ่งที่เราเห็น อาจไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นเห็นเสมอไป

เรื่อง: Antigone

ภาพ: ms.midsummer

     ใครที่คุ้นเคยกับนิทานสำหรับเด็กที่มีเนื้อเรื่องเรียบง่าย ขึ้นต้นด้วยกาลครั้งหนึ่ง ลงท้ายด้วยมีความสุขตลอดไปแล้วมีสุภาษิตสอนใจอย่างตรงไปตรงมา ขอให้ลืมหนังสือสำหรับเด็กแบบนั้นไปก่อน เราอยากให้ลองเปิดใจอีกครั้ง เพราะคุณอาจค้นพบปรัชญาอันล้ำลึก หรือกลับมาใคร่ครวญถึงอะไรต่อมิอะไรที่ผ่านมาในชีวิตได้อีกหลายวัน หลังจากไม่กี่นาทีที่อ่านหนังสือว่าด้วย ‘นมหก’ เล่มนี้จบ

     It Looked Like Spilt Milk เป็นหนังสือภาพสำหรับเด็กที่เขียนขึ้นในปี 1947 โดย ชาร์ลส์ จี. ชอว์ (Charles G. Shaw) ศิลปินอเมริกันผู้บุกเบิกศิลปะแนวแอ็บสแตร็ก (Abstract art) ในสหรัฐฯ 

     ชอว์เติบโตในยุคสมัยระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เขาเริ่มต้นวาดภาพตั้งแต่อายุ 6 ขวบ เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเยล (Yale University) ก่อนจะไปเรียนด้านสถาปัตยกรรมที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) และเรียนวาดภาพที่สถาบัน Art Students League of New York จากนั้นชอว์ใช้อภิสิทธิ์เด็กบ้านรวยโปรไฟล์เริ่ด ท่องเที่ยวไปทั่วยุโรปผูกมิตรกับศิลปินดังหลายต่อหลายคน จึงไม่น่าแปลกใจที่เขามีผลงานหลากรูปแบบ ทั้งการวาดภาพ การเขียนหนังสือ ช่างภาพมือสมัครเล่น และนักสะสมบอร์ดเกมตัวยง

     ในหนังสือ Charles Green Shaw: Timeless Forms ของ Weinstein Gallery ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ชอว์ทดลองเรียนรู้ศิลปะเกือบทุกรูปแบบ ราวกับจะทดสอบว่าในฐานะศิลปินคนหนึ่งเขาทำอะไรได้บ้าง ชอว์เลือกเส้นทางศิลปะแนวแอ็บสแตร็กที่ผสมผสานความเป็นคิวบิสม์ (Cubism) ภาพวาดของชอว์มักหยิบเอาตึกระฟ้าในนิวยอร์กมาลดทอนเป็นรูปทรงเรขาคณิตเรียบง่าย แต่เต็มไปด้วยรายละเอียดของฝีแปรงที่แต้มสีสันเข้มสดลงไป ลากเส้นตรงที่ดูเหมือนจะเป็นเหลี่ยมมุมตึก แต่มองอีกทีก็อาจเป็นเพียงแสงเงาเพื่อล้อเล่นกับมิติการรับรู้ทางสายตาของผู้ชม

     ส่วนในด้านการเขียนหนังสือนั้น ชอว์มีผลงานทั้งการเขียนนวนิยายเรื่อง Heart in a Hurricane (1927) เขียนบทกวีในนิตยสาร The New Yorker และ Vanity Fair ซึ่งด้วยความสนใจที่หลากหลาย ทำให้เมื่อโอกาสที่จะได้ลองเขียนหนังสือสำหรับเด็กอยู่ตรงหน้า ชอว์จึงคว้าเอาไว้ทันทีที่ มาร์กาเร็ต ไวส์ บราวน์ (Margaret Wise Brown) เพื่อนนักเขียนหนังสือเด็กชื่อดังเอ่ยปากชวน 

     หนังสือสำหรับเด็กเล่มแรกของชอว์ชื่อว่า The Giant of Central Park (1940) เป็นเรื่องแต่งและมีภาพประกอบตามขนบทั่วไป จนกระทั่งเขาทดลองนำศิลปะแนวแอ็บสแตร็กมาใช้ในการเล่าเรื่อง ผลลัพธ์ที่ออกมาก็โดดเด่นสมกับเป็นศิลปินที่ไม่ยอมไหลไปตามค่านิยมแห่งยุคสมัย

     หน้าแรกของ It Looked Like Spilt Milk ด้านขวาปรากฏรูปทรงอิสระสีขาวเหมือนหยดน้ำนมบนพื้นสีฟ้า ตัวหนังสือบนหน้ากระดาษด้านซ้ายเขียนว่า “Sometimes it looked like Split Milk. But it wasn’t Split Milk” (ดูเหมือนเป็นนมที่หกอยู่บนพื้น แต่ก็ไม่ใช่เสมอไปหรอกนะ) เมื่อพลิกหน้าถัดไปเรื่อยๆ รูปร่างของสีขาวบนพื้นกระดาษสีฟ้าก็เปลี่ยนไปเป็นกระต่ายหูยาว นกสีขาวกางปีกกว้าง ต้นไม้ใหญ่พุ่มใบหนา ไอศกรีมโคนใหญ่ และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายสิ่ง แล้วจึงเฉลยในหน้าสุดท้ายว่า 

     แม้จะดูเหมือนน้ำนมที่หกลงบนพื้น แต่จริงๆ แล้วมันคือ… 

     Spoil Alert! 

     ข้อความต่อจากนี้มีการเปิดเผยเนื้อหานะ ถ้าใครอยากเห็นด้วยตัวเอง เราแนะนำให้ไปเปิดดูในหนังสือก่อน

     .

     .

     .

     .

     ก้อนเมฆบนท้องฟ้าต่างหาก

     ทักษะทางศิลปะแบบแอ็บสแตร็กและคิวบิสม์ที่ชอว์เชี่ยวชาญนั้น เข้ากันได้ดีกับคอนเซปต์ของหนังสือที่อยากให้เด็กได้ฝึกจินตนาการ เขาใช้เพียงสองสีตัดกันทำให้จุดสนใจของผู้อ่านจับจ้องไปยังรูปร่างของพื้นที่สีขาวซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ แม้แต่เด็กเล็กก็ดูออกได้ไม่ยากว่าเป็นภาพอะไร แต่ความสนุกคือขณะเวลาสั้นๆ ภายในเสี้ยววินาทีที่พลิกผ่านจากหน้าหนึ่งไปยังอีกหน้าว่าสิ่งที่เห็นอยู่กำลังจะกลายเป็นอะไรได้อีก  

     การใช้คำซ้ำๆ ว่า “Sometimes it looked like… But it wasn’t…” (—บางทีก็ดูเหมือน… แต่ไม่ใช่…) ตั้งแต่ต้นจนจบเป็นการท้าทายความคิด ความเชื่อ การตีความของผู้อ่านอย่างต่อเนื่อง ไม่ยอมให้เราหยุดอยู่กับความจริงเพียงหนึ่งเดียว เพราะความจริงที่แต่ละคนรับรู้นั้นแตกต่างกันไปไม่รู้จบ เช่นที่ชอว์เคยเขียนบทความโต้ตอบผู้ที่โจมตีงานศิลปะของเขาในปี 1938 มีใจความโดยสรุปว่า ศิลปะคือการรับรู้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสมจริง ต่างคนต่างมองหาบางสิ่งที่ทำงานกับสุนทรียภาพของตัวเอง

     เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบก็ทำให้เรานึกถึงคำถามที่ว่า “ทำไมเราจึงมองประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกันต่างกันเหลือเกิน” จากบทสัมภาษณ์ CONVERSATION WITH ธงชัย วินิจจะกูล โดย WAY magazine ซึ่งในคลิปวิดีโอสัมภาษณ์นี้ ธงชัยยกตัวอย่างให้เห็นภาพโดยเปรียบกับแก้วที่มีหูจับ แต่ละฝ่ายมองได้จากคนละมุม คนหนึ่งบอกว่าหูแก้วอยู่ทางขวา อีกคนบอกว่าหูแก้วอยู่ทางซ้าย อีกคนมองจากมุมที่เห็นเป็นแก้วไม่มีหู ซึ่งเป็นตัวอย่างใกล้ตัวที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าเพราะอะไร คนในสังคมจึงเห็นต่างกัน ทั้งที่เรามีข้อเท็จจริงเดียวกัน ยืนอยู่ในเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์เดียวกัน การคิดไม่เหมือนกันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่สังคมไทยอาจเพียงต้องการเสรีภาพทางความคิดมากกว่านี้ เพื่อให้เรายอมรับได้ว่าต่างเรายืนมองแก้วใบเดียวกันอยู่คนละมุม อะไรที่เราเห็นกับตาและยึดถือมันคือความถูกต้องหนึ่งเดียวนั้น อย่าลืมว่าบางทีมันก็ไม่ใช่เสมอไป

     ตามธรรมเนียมการอ่านหนังสือสำหรับเด็กที่เมื่ออ่านจบแล้ว เรามักจะหันหน้าปกให้เด็กๆ ดูอีกครั้ง เมื่อพลิกกลับมาพบกับตัวหนังสือสีขาว It Looked Like Spilt Milk บนหน้าปก ก็ทำให้เรานึกถึงสำนวน Don’t cry over spilt milk ที่ใช้เปรียบเปรยถึง การไม่หันหลังกลับไปคร่ำครวญถึงสิ่งที่ผ่านไปแล้ว ดูจะเป็นการย้ำเตือนให้เราหันมองความผิดพลาดในอดีตอย่างไม่จมดิ่ง ยอมรับว่าโลกเต็มไปด้วยความจริงที่บิดผันไปตามการรับรู้ที่แตกต่างกันของคนในสังคม แล้วก้าวข้ามไปสู่บทต่อไปของชีวิตได้อย่างไม่ทุกข์ตรมจนลืมแหงนมองความเป็นไปได้ใหม่ๆ บนท้องฟ้า

     ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นเพียงไม่กี่แง่มุมที่ผู้เขียนครุ่นคิดได้จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ หากคุณมีโอกาสหยิบขึ้นมาอ่าน อาจจะพบประเด็นที่น่าสนใจให้คิดต่อได้อีกนับไม่ถ้วน เพราะหนังสือหนึ่งเล่มมีร้อยพันวิธีรับรู้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของผู้อ่านแต่ละคน

อ้างอิง:

weinstein.com/exhibitions/charles-green-shaw-timeless-forms/

aaa.si.edu/collections/interviews/oral-history-interview-charles-green-shaw-12363#transcript

americanart.si.edu/artist/charles-shaw-4404

youtu.be/27ZDDjUm4Dk