Thu 30 Mar 2023

KAROSHI x KAROJISATSU

เมื่องานหนักมักฆ่าคน ทำความรู้จัก ‘คะโรชิ’ และ ‘คะโรจิซัตสึ’

ภาพ: ms.midsummer

     ข่าวการเสียชีวิตของพนักงานในขณะปฏิบัติหน้าที่ของสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่งในไทย คงทำให้หลายคนได้ตระหนักถึงปัญหาของ ‘การทำงานหนักจนตัวตาย’ (หรือที่ภาษาญี่ปุ่นเรียก 2 แบบคือ ‘คะโรชิ’ ที่หมายถึงทำงานหนักจนเสียชีวิตไปเอง กับ ‘คะโรจิซัตสึ’ ที่หมายถึงการฆ่าตัวตายเนื่องจากการทำงานหนัก) ว่าควรจะเป็นวาระระดับชาติได้แล้ว 

     เดิมทีนั้นเรามักจะได้ยินเรื่องการทำงานหนักอย่างไม่น่าเชื่อจากที่ญี่ปุ่นเป็นหลัก เช่น จากนิยายเรื่อง ยังไงฉันก็จะเลิกงานตรงเวลาค่ะ ที่กล่าวถึงความยากลำบากในการกลับบ้านให้ตรงเวลาเลิกงานของระบบบริษัทญี่ปุ่น หรือซีรีส์ญี่ปุ่นที่มีเรตติ้งสูงที่สุดในประวัติศาสตร์ยุค Heisei อย่างเรื่อง เฉือนคมนายธนาคาร ก็กล่าวถึงความโหดร้ายในการทำงานของญี่ปุ่นทั้งในแง่ของชั่วโมงการทำงานที่ยาวนาน และในแง่ของการเมืองอันโหดร้ายในที่ทำงานที่อาจนำไปสู่หายนะของชีวิตส่วนตัว เป็นต้น จึงไม่น่าจะมีใครคาดคิดว่าเหตุการณ์คล้าย ๆ กันนี้จะเกิดขึ้นที่เมืองไทย 

     ชาติแรกที่เป็นผู้บัญญัติคำศัพท์คำนี้เอาไว้เลยคือชาวญี่ปุ่นนั่นเอง ซึ่งเป็นชนชาติที่บ้างานมากเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยชาวโลก แต่เมื่อโลกแห่งทุนนิยมดำเนินต่อมาไม่หยุด ทำให้เริ่มมีกรณีคล้ายๆ กับญี่ปุ่นคือมีการทำงานจนเสียชีวิตเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยสถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่า ในแต่ละปีมีชาวโลกเสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินไปถึงเกือบๆ แปดแสนคนเลยทีเดียว

ที่มาของคำศัพท์ทั้งสองคำ

     คำว่า ‘คะโร’ () ที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า ‘คะโรชิ’ และ ‘คะโรจิซัตสึ’ 

     อักษร ‘คะ’ () หมายถึง เกินไป, เลยเถิดไป 

     อักษร ‘โร’ () หมายถึง ใช้แรงงาน, ทำงาน

     รวมกันจึงกลายเป็น ‘คะโร’ ที่แปลว่า ทำงานหนักเกินไป โดยการทำงานหนักจนตายนี้ยังแยกย่อยเป็นสองกรณี

     คะโรชิ (労死) คือทำงานหนักจนเสียชีวิตไปเอง เช่น เส้นเลือดในสมองอักเสบ หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หรือปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่ทำให้เสียชีวิตเนื่องจากการทำงานหนักเกินขีดจำกัดของร่างกายและจิตใจ สะสมติดกันเป็นเวลานาน

     คะโรจิซัตสึ (労自殺) คือการฆ่าตัวตายเนื่องจากการทำงานหนักเกินเหตุจนเกิดปัญหาสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นสุขภาพกาย สุขภาพจิต หรืออาจโดนกลั่นแกล้งในที่ทำงาน จนทำให้ตัดสินใจฆ่าตัวตายเพื่อจะได้ไม่ต้องรับรู้ปัญหาใดๆ อีกต่อไป

ทำไมชาวญี่ปุ่นถึงบ้างานจนเข้าขั้นคะโร?

     ประเทศญี่ปุ่นตั้งอยู่ในบริเวณวงแหวนไฟ (Ring of Fire) ที่มีแผ่นดินไหว ภูเขาไฟระเบิด หรือคลื่นยักษ์ถี่กว่าบริเวณอื่น ทำให้ชาวญี่ปุ่นต้องประสบกับภัยธรรมชาติระดับใหญ่ๆ มาตั้งแต่โบราณ ตั้งแต่ในยุคที่ยังไม่มีเทคโนโลยีใดๆ จะควบคุมหรือป้องกันได้ ญี่ปุ่นจึงเป็นชาติพันธุ์ที่มีแนวโน้มจะทุ่มเทเพื่อกลุ่มที่ตัวเองสังกัดอยู่มากกว่าคนในเผ่าพันธุ์อื่นๆ โดยจุดมุ่งหมายคือสละส่วนน้อยเพื่อส่วนใหญ่ สละชีวิตตัวเองเพื่อคนในหมู่บ้าน เป็นต้น ซึ่งการทุ่มเทเพื่อกลุ่มที่ตนเองสังกัดเป็นไปก็เพื่อเอาชีวิตรอดจากธรรมชาติอันโหดร้ายมาตลอดระยะเวลาหลายพันปีก่อนที่มนุษยชาติจะมีเทคโนโลยีมากเท่าในปัจจุบัน

     อีกทั้งในยุคศักดินาแบบโชกุนซึ่งครองประเทศญี่ปุ่นอยู่ถึง 200 ปี (ค.ศ. 1603-1868) ทำให้ลัทธิ ‘ถวายชีวิตเพื่อเจ้านาย’ เช่น การยอมคว้านท้องฆ่าตัวตายเมื่อทำภารกิจล้มเหลว หรือการยอมทิ้งชีวิตส่วนตัวทุกมิติเพื่อปฏิบัติภารกิจให้ลุล่วงเพื่อเจ้านายเหนือหัว หยั่งรากลึกลงในจิตวิทยาของชาวญี่ปุ่นทั้งประเทศ 

     แม้ว่าปัจจุบันจะไม่มีลัทธิศักดินาดังกล่าวในญี่ปุ่นแล้ว แต่ ‘การถวายชีวิตเพื่อหน้าที่’ ยังคงฝักรากลึกอย่างเหนียวแน่นในสังคมและในจิตใจของชาวญี่ปุ่น คือทำงานราวกับว่ามีแต่งานเท่านั้นเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต วัฒนธรรมองค์กรในภาคธุรกิจของญี่ปุ่นปัจจุบันจึงยังประเมิน ‘ความทุ่มเท’ ของพนักงานกันเป็นกระแสหลักอยู่ อย่างเช่นพ่อของโนบิตะและพ่อของชินจังที่มีวิถีชีวิตของ Salaryman อันโหดร้ายให้เห็นอยู่หลายตอน หรือซีรีส์เรื่อง Weakest Beast ที่แสดงโดยนางเอกดังอย่าง อะระงะกิ ยุย (Aragaki Yui) พนักงานบริษัทที่แบกทุกอย่างของบริษัทและทำงานแทนพนักงานทุกตำแหน่งจนชีวิตตัวเองพังพินาศในทุกมิติ เป็นต้น

     หากเป็นประเทศอื่น เมื่อพนักงานทำงานได้สมบูรณ์แบบ ถูกต้องตามเป้าหมาย ตาม KPIs (ดัชนีชี้วัดผลงาน) หรือตาม OKRs (เป้าหมายและผลสัมฤทธิ์สำคัญ) แล้ว พนักงานย่อมจะได้รับการประเมินความดีความชอบเป็นอย่างดี แต่ในญี่ปุ่นนั้น หากเป็นบริษัทญี่ปุ่นแท้ๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่ได้มีผู้บริหารหัวใหม่หรือมีหัวทางกิจการแบบ Start-up แล้วล่ะก็ ถ้าพนักงานทำทุกอย่างสมบูรณ์แบบ สิ้นปีพวกเขาจะได้คะแนนประเมินเพียงเกรด C หรือ D เท่านั้น เพราะ ‘เพียงแค่ทำได้ตามหน้าที่เท่านั้น’ ดังนั้นหากอยากจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ต้องทำให้เกิน 100% ไปอีก คือหน้าที่ควรทำมีเท่าใด ต้องทำได้มากกว่านั้นไปอีก 

     ด้วยเหตุนี้ จึงเกิดสภาพที่ทุกคนต้องแข่งกันทุ่มเทเพื่อองค์กร แข่งกันทำให้มากกว่าหน้าที่ จึงกลายเป็นแข่งกันแลกชีวิตและความสุขส่วนตัวเพื่อความทุ่มเทให้องค์กรไปแทน เช่น อดข้าว อดนอน อุทิศเวลาวันหยุดของตัวเองเพื่อไปพบลูกค้า หรือเพื่อดูแลต้อนรับลูกค้า เป็นต้น

     นอกจากนี้ หลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้ญี่ปุ่นประสบปัญหาเศรษฐกิจล้มเหลว องค์กรญี่ปุ่นจึงมีค่านิยมยอมตายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศ และนี่ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้บริษัทญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงมีค่านิยมแบบยอมตายเพื่อบริษัท จนนำไปสู่การเกิดคะโรชิหรือคะโรจิซัตสึอย่างในปัจจุบัน

อาชีพที่เสี่ยงต่อการเกิดคะโรชิและคะโรจิซัตสึ

     1. อาชีพที่เกี่ยวกับการขับรถเป็นระยะเวลานานๆ เช่น คนขับรถบรรทุกส่งของระยะไกล หรือคนขับแท็กซี่

     2. โปรแกรมเมอร์ หรืออาชีพที่ต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานกว่าพนักงานตำแหน่งอื่นๆ โดยเฉลี่ย

     3. ผู้บริหารระดับสูงที่จะต้องมี Business Dinner หรือมีการไปอีเวนต์ที่โน่นที่นี่ ต้องเดินทางอยู่ตลอด เวลาพักผ่อนและเวลากินอาหารไม่มีระบบเหมือนคนปกติ และมีความเครียดสูงเนื่องจากการเมืองภายในองค์กร อีกทั้งแนวโน้มกว่าจะได้ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงก็มักจะอายุเลยวัยกลางคนไปแล้ว ทำให้มีโรคชราเข้ามาเกี่ยวอีกต่างหาก จึงเกิดคะโรชิได้ง่าย

     4. ผู้บริหารระดับกลางที่ถูกเบื้องบนสั่งการลงมา แต่ตัวเองก็ไม่มีอำนาจสั่งการต่อไปยังผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาของตัวเอง กล่าวคืองานระดับปฏิบัติการก็ต้องทำแทนลูกน้อง หรือต้องสอนงานลูกน้อง เพราะลูกน้องไม่เชื่อฟังหรือยังใช้การไม่ได้ แต่งานของระดับสูงก็ต้องทำเช่นกัน โดยเฉพาะอาจต้องมีการไปอีเวนต์ที่โน่นที่นี่หรือต้องไป Business Dinner พร้อมหัวหน้าที่อยู่ระดับบริหารอีกด้วย ทำให้ไม่มีเวลาส่วนตัวสำหรับตัวเองหรือครอบครัวเลย ก็เสี่ยงจะเกิดได้ทั้งคะโรชิและคะโรจิซัตสึ

     5. อาชีพนักเขียนทุกประเภท โดยเฉพาะนักเขียนการ์ตูน เพราะกินนอนไม่เป็นเวลา นั่งทำงานเป็นระยะเวลานาน ต้องแข่งกับเส้นตายวันส่งงานอยู่ทุกสัปดาห์ แล้วยังต้องเครียดกับการลุ้นว่าผลงานส่งไปตีพิมพ์แล้วถ้าไม่ได้รับความนิยมก็อาจถูกสำนักพิมพ์สั่งตัดจบ และมีผลให้ตกงานทันที นอกจากนี้ยังต้องมีการใช้สายตาอย่างหนักผิดปกติอีกด้วย

     6. สื่อมวลชนทุกแขนง รวมทั้งบริษัทโฆษณา เพราะทำงานภายใต้ความกดดันสูง แข่งกับเวลา มีชนชั้นของอำนาจสั่งการ และความเครียดจากการแข่งขันสูงในองค์กร ทำให้นำไปสู่ความตายได้ไม่ยาก

ทำอย่างไรไม่ให้เกิดคะโรชิและคะโรจิซัตสึ

     อย่างไรก็ตาม ประเทศญี่ปุ่นมีการกำหนดสิ่งที่เรียกว่า คะโรชิไลน์ (労死ライン) ไว้คร่าวๆ คือพนักงานไม่ควรมีชั่วโมงทำงานล่วงเวลาเกินกว่าเดือนละ 80-100 ชั่วโมง 

     แม้จะดูเป็นช่วงเวลาที่เยอะ ทว่า เนื่องจากแต่ละวิชาชีพมีวัฒนธรรมองค์กรที่ต่างกัน และอาการของพนักงานก็มีเรื่องอายุเข้ามาเกี่ยว ทำให้ยังไม่มีตัวเลขเอกฉันท์เป๊ะๆ ว่ากี่ชั่วโมงกันแน่ 

     คิดเป็นตัวเลขกลมๆ คือ ทำงานเดือนละ 20 วันถ้วน (ไม่รวมเสาร์อาทิตย์ และไม่รวมวันหยุดราชการ โดยญี่ปุ่นที่มีวันหยุดราชการมากกว่าไทย) หากทำงานล่วงเวลาไม่เกินวันละ 5 ชั่วโมง ก็จะคาบเส้นที่เดือนละ 80 ชั่วโมงพอดี แต่หากทำงานล่วงเวลาวันละ 5 ชั่วโมงก็จะรวมเป็นเดือนละ 100 ชั่วโมง 

     กล่าวกันว่าหากพนักงานทำงานล่วงเวลาเกินวันละ 4 หรือ 5 ชั่วโมง ก็จะเริ่มมีความเสี่ยงต่อคะโรชิหรือคะโรจิซัตสึ ได้แล้ว แต่เนื่องจากสภาพร่างกายและสภาพจิตใจแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงฟันธงไม่ได้ว่าทำงานล่วงเวลาเกินกี่ชั่วโมงแล้วจะเกิดอาการได้แน่ๆ (ญี่ปุ่นจะมีเวลาทำงานตามปกติคล้ายไทยคือ 8:00-17:00 น. หรือ 9:00-18:00 น. แต่บริษัทญี่ปุ่นแท้ๆ เกือบทุกแห่งจะไม่มีใครออกจากงานตรงเวลา เพราะนิยมนั่งทำงานต่อที่บริษัท หรือนัดลูกค้าเพื่อคุยงานไปด้วยระหว่างที่รับประทานมื้อค่ำกับลูกค้า)

     แต่ท้ายที่สุดแล้ว ไม่ได้หมายความว่าบริษัทญี่ปุ่นทุกที่บ้างานแบบนี้ มีอีกหลายบริษัทที่เห็นความสำคัญในคุณภาพชีวิตของพนักงาน และหลีกเลี่ยงการทำงานล่วงเวลาโดยไม่จำเป็น จึงขึ้นอยู่กับพนักงานเองว่าจะปรับปรุงวิธีการทำงานอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ และทำงานล่วงเวลาให้น้อยที่สุด หรือจะเลือกบริษัทที่ตัวเองจะร่วมงานอย่างมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น โดยพยายามเลือกบริษัทที่เรียกว่า White Company ที่เห็นพนักงานเป็นมนุษย์มากกว่าบริษัท Black Company ที่เห็นพนักงานเป็นแค่ตัวหมากใช้แล้วทิ้ง 

     เพราะในที่สุดแล้ว มนุษย์ต้องต้องการประสบการณ์ชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากการทำงานที่บริษัทจนถึงแก่ความตายอย่างแน่นอน