Sat 28 Nov 2020

LET ME REST

คอลัมน์ตอบจดหมายคลายใจจากทางบ้าน โดยนักจิตวิทยาให้คำปรึกษา

ภาพ: erdy

     “ด้วยสถานการณ์บ้านเมืองตอนนี้ ทั้งการทำงานของภาครัฐที่ไม่เคยโปร่งใส เรื่อยมาจนการจับกุมประชาชน หรือแม้แต่ปัญหาสังคมที่มักจะอยู่ในเทรนด์ตลอดเวลา เราเป็นคนหนึ่งที่ต้องคอยเสพข่าวเยอะมากๆ จากที่ไม่ค่อยเล่นโซเชียลฯ ก็ต้องคอยติดตามตลอด ทุกๆ วันจะต้องไถทวิตเตอร์ก่อนนอน ดูแฮชแท็ก อัพเดตเรื่องต่างๆ ว่าไปถึงไหนแล้ว จะมีอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า 

     แรกๆ เราก็เสพข่าวด้วยความโมโห และอยากกระจายข้อมูลที่ถูกต้องออกไป แต่พอหลังๆ ที่เริ่มมีการชุมนุมหลายครั้ง และเราก็ไปร่วมชุมนุมอยู่บ้าง เราได้เห็นการเรียกร้องโดยชอบธรรมของประชาชน ปัญหาโครงสร้าง ปัญหาต่างๆ ที่มันควรได้รับการแก้ไข เราเห็นความทุเรศทุรังของรัฐบาลที่พยายามปิดกั้นความคิดหรือการเรียกร้องของประชาชน และพอเหตุการณ์สหายการชุมนุม 16 ต.ค. 63 เรานั่งดูเหตุการณ์นี้ผ่านไลฟ์ ตอนนั้นโมโห โกรธมากๆ ครับ เราว่ามันไม่ได้แล้ว ทำไมประชาชนที่ออกมาเรียกร้องความชอบธรรม และไม่มีอาวุธต้องคอยมาหาวิธีป้องกันตัวเองจากคนที่เป็นรัฐ 

     วันนั้นเราดาวน์มากนอนหลับตอนตีสี่ (ปกตินอกจากปั่นงานให้ทันเดดไลน์ก็ไม่เคยเป็นขนาดนี้) มันทำให้การเสพข่าวของเราหนักข้อขึ้น เข้าทวิตเตอร์เป็นบ้าเป็นหลัง เรายิ่ง concern ว่าเหตุการณ์จะเป็นยังไง ยิ่งวันที่ไม่ได้ไปม็อบ เราก็ทำอะไรไม่ได้เลย ต้องเปิดไลฟ์นั่งดูไปด้วย หรือบางทีวันต่อไปเราก็ไม่มีอารมณ์จะออกไปซื้อของ กินข้าว หรือแม้แต่การไปเจอภาพคนที่ใช้ชีวิตปกติในเวลาที่มีม็อบ เราก็เผลอตั้งคำถามไปดื้อๆ เหมือนกันว่า ทำไมๆๆๆ คนอื่นถึงเหมือนอยู่คนละโลกขนาดนี้ คือมันหนักไปถึงขั้นที่คิดกับตัวเองว่า การที่เราออกไปใช้ชีวิตปกติข้างนอกสักวันมันจะเป็นกลายเป็นคน ignorance หรือเปล่าด้วย

     เราเริ่มรู้สึกว่ามันมีผลกระทบกับสุขภาพจิตของเรา และหลายๆ คนก็อาจเป็นเหมือนกันหรือเปล่า ซึ่งถ้าเป็นแบบนี้มันจะส่งผลกับสุขภาพจิตเราทางไหนอีกมั้ย แล้วเราจะหลุดจากอาการนี้หรือผ่อนปรนมันได้ยังไงบ้างหรือเปล่า”

อาทิตย์

     สวัสดีครับ จากที่อ่านดู สัมผัสได้หลากหลายอารมณ์ความรู้สึกผ่านตามตัวอักษรออกมาเลย ซึ่งมีหลายประเด็นที่ผมน่าจะพอช่วยได้ และหวังว่าจะตอบได้ครอบคลุม 

     ผมสรุปประเด็นหลักๆ ในจดหมายได้ 5 ข้อดังนี้ครับ

1. ปกติเป็นคนตามข่าวทางออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ ยิ่งช่วงที่มีเหตุการณ์ก็ยิ่งตามข่าวหนัก ดูไลฟ์ จนการพักผ่อนเสีย

     จากที่เขียนมาบอกว่าชอบตามข่าว ‘ก่อนนอน’ ทุกวัน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือกำหนดเวลาครับ เช่น จะไม่อ่านข่าวหรือไม่เข้าไปดูแฮชแท็กการเมืองก่อนเวลานอนหนึ่งชั่วโมง (เวลาไม่ได้ตายตัวนะครับ ขึ้นอยู่กับแต่ละคนเลย) 

     ผมเข้าใจว่ามันไม่ง่าย เพราะต้องอาศัยวินัยและความใจแข็งของตัวเองด้วย แต่สาเหตุที่ผมแนะนำแนวทางนี้ ก็เพราะข่าวคือตัวเปิดสวิตช์ ทำให้ความรู้สึกนึกคิดมันพรั่งพรู อยู่ไม่สุข ดังนั้นหากเราให้เวลาสัก 1-2 ชั่วโมงเพื่อดึงตัวเองออกมา เราก็จะมีเวลาทำให้ความรู้สึกที่วิ่งพล่านสงบลง หรือใช้เวลาช่วงนั้นจัดการกับความรู้สึกตัวเองได้ด้วย โดยเราอาจจะไปทำอย่างอื่นหรือเสพคอนเทนต์ประเภทอื่นแทนก็ได้ (ส่วนวิธีจัดการอารมณ์ที่พรั่งพรูสามารถลองทำตามข้อสองได้นะครับ)

     ผมอยากจะขอเสริมเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวพฤติกรรมการนอนไว้อีกนิด…ความคิด อารมณ์ ร่างกาย (พฤติกรรม) ไม่สามารถแยกการทำงานออกจากกันได้ เมื่อคิดจึงรู้สึกจึงเกิดพฤติกรรม หากเราเครียดมากๆ ก็อาจส่งผลต่อคุณภาพการนอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เช่น นอนกัดฟัน ตื่นกลางดึก หรือฝันร้าย 

     พฤติกรรมเหล่านี้จึงรบกวนการนอนและอาจไปกระทบกับการดำเนินชีวิตของเราได้นะครับ อย่างน้อยๆ ก็จะทำให้เราพักผ่อนไม่เพียงพอนี่แหละ 

 2. ดูข่าวแล้วอารมณ์เสียมากๆ โกรธมากๆๆๆ

     มีเทคนิคการจัดการอารมณ์หนึ่งของการบำบัดสาย mindfulness ซึ่งเป็นการบำบัดที่ทำให้เรากลับมาอยู่กับปัจจุบันและรู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น ซึ่งเทคนิคที่จะแนะนำต่อไปนี้ผมว่าทำได้ง่าย และค่อนข้างได้ผลในการช่วยหยุดความคิด ทำให้ความรู้สึกสงบนิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นๆ ในชีวิตประจำวันได้ด้วย เช่น โกรธเจ้านาย คิดถึงแฟนเก่า หงุดหงิดเพื่อน

     การทำเทคนิคนี้ เราสามารถกำหนดเวลาในการทำที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลย แต่ขอให้ไม่ต่ำกว่า 15 นาที โดยอาจจะทำครั้งละ 15 นาที วันละ 3 ครั้ง หรือครั้งละ 30 นาที วันละ 1 ครั้งก็ได้ 

     มาดูขั้นตอนการฝึกกัน

     1. นั่งหรือนอนในท่าสบายๆ

     2. หลับตาลง และหายใจเข้า-ออก ลึกๆ ช้าๆ 

     3. ค่อยๆ ปรับความคิดความรู้สึกให้ช้าลงตามจังหวะการหายใจ

     4. เมื่อปรับจังหวะได้แล้วลองฟังเสียงรอบตัว

     5. ลองหาเสียงรอบตัวให้ได้ 20 เสียง เมื่อได้ยินเสียงอะไร ให้พูดกับตัวเองเบาๆ เช่น เสียงแอร์ เสียงคนเดิน ฯลฯ 

     6. บางคนพอตั้งเป้าว่า 20 เสียงจะรู้สึกกดดัน เอาจริงๆ ไม่ต้องกดดันว่าจะต้องหาให้ครบนะครับ ค่อยๆ ฟังและหาไปเรื่อยๆ หากช่วงไหนไม่ได้ยินเสียงอะไรเลย ให้จดจ่อที่ลมหายใจและพยายามฟังเสียงรอบตัวต่อไป

     7. หากหาได้ไม่ครบ ให้ทำไปจนครบเวลาที่ตัวเองกำหนด  

     8. ถ้าหาเสียงได้ครบหรือหมดเวลาที่กำหนดแล้ว ค่อยๆ ลืมตา และสำรวจความรู้สึกตัวเองดู

     9. หากยังไม่สงบ สามารถทำอีกรอบได้  

     เทคนิคนี้สามารถฝึกทำได้ทุกวัน หากฝึกบ่อยๆ เวลาอารมณ์พรั่งพรูก็จะนิ่งและสงบเร็วขึ้น

3. เห็นคนที่ไม่ได้ไปร่วมม็อบก็รู้สึกว่าทำไมเขาไม่รับรู้ ไม่ตื่นตัว

     จุดนี้มีข้อควรระวังอยู่ครับ คือเรากำลังตัดสินคนอื่น (judge) โดยไม่รู้ตัวอยู่หรือเปล่า เพราะการที่เราเห็นใครคนใดคนหนึ่งไม่ไปร่วมม็อบ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเขาไม่เคยไปม็อบครั้งก่อนๆ เขาไม่ได้โอนเงินเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้ม็อบ หรือในอนาคตเขาก็จะไม่ไปเหมือนอย่างที่เราเห็น 

     คำตอบคือเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่านอกจากช่วงเวลาสั้นๆ ที่เราเห็นเขาเดินอยู่ เขาใช้ชีวิตเป็นมาอย่างไร สิ่งที่เราควรทำก่อนจึงอาจเป็นการสำรวจความคิดว่าเราเผลอไปตัดสินใครหรือไม่ เริ่มจากคอยถามตัวเองว่าการที่เรารู้สึกว่าเขาไม่สนใจนั้นมีหลักฐานอะไรมายืนยันเพียงพอหรือเปล่า

     ถ้าเรายังตอบตัวเองไม่ได้ นั่นแปลว่าเรากำลังรู้สึกไปเอง และสิ่งนั้นอาจจะไม่จริงก็ได้ ดังนั้นเราควรพยายามหยุดคิดก่อนครับ

4. มีความกังวลว่าเราไม่ไปร่วมม็อบวันใดวันหนึ่ง จะทำให้เรากลายเป็น ignorance หรือเปล่า 

     ก่อนอื่นผมอยากให้ลองนิยามคำว่า ignorance ของตัวเราเองก่อนครับ ว่าเราให้ความหมายของมันอย่างไร

     ถ้าความหมายของคำว่า ‘ignorance’ คือกลุ่มคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คนที่ไม่ใส่ใจ หรือเพิกเฉย ซึ่งจากที่ผมอ่านข้อความของคุณแล้ว ผมว่าคุณน่าจะเป็นคนที่มีความตื่นตัวประมาณหนึ่งเลยครับ

     และถ้าให้ผมลองตีความจากตัวหนังสือที่คุณเขียนมาต่อไป ผมเข้าใจว่าคุณอาจจะมองว่าการสนับสนุนการเรียกร้องประชาธิปไตยครั้งนี้คือการไปเข้าร่วมม็อบ การที่คุณไม่ไปร่วมม็อบอาจทำให้คุณรู้สึกเป็น ignorance และทำให้รู้สึกผิด (อันนี้ผมก็ไม่มั่นใจ เพราะเป็นการตีความผ่านตัวหนังสืออีกที) ถ้าใช่…ดังนั้นลองถามตัวเองดูก็ได้ครับว่าการที่คนคนหนึ่งไม่ไปร่วมม็อบนั้นผิดยังไง มีปัจจัยอะไรบ้างที่เป็นเงื่อนไขทำให้เขาไม่ได้ไป และการที่คนคนหนึ่งตื่นตัวแต่ไม่ได้ไปร่วมม็อบแปลว่าคนนั้นเป็น ignorance หรือไม่

     ผมเจอคนรอบตัวที่มีปัจจัยหลายอย่างทำให้ไม่ได้ไปเข้าร่วมม็อบ แต่ก็เรียกร้องประชาธิปไตยร่วมไปกับม็อบด้วยวิธีต่างๆ ที่เขาทำได้ ศิลปินสร้างงานศิลปะเพื่อสร้างการตระหนักรู้ ดีเจทำเพลย์ลิสต์เพลงที่มีเนื้อหาต่อสู้กับอำนาจไปเปิดที่ร้าน 

     หากคุณมีเป้าหมายและแรงปรารถนา มันมีวิธีอื่นที่คุณทำได้อีกหรือไม่ หรือจริงๆ คุณอาจจะทำมันอยู่แล้วก็ได้…ลองสำรวจตัวเองดูครับ 🙂

5. กังวลว่าจะกระทบกับสุขภาพจิต มีวิธีรับมือหรือไม่ อย่างไร

     ข้อนี้ผมว่าคล้ายข้อแรก คือต้องหมั่นควบคุมตัวเองครับ รู้ลิมิตตัวเองว่าแค่ไหนที่ไม่รบกวนชีวิตจนเราลำบาก เช่น ถ้าเราไปม็อบสามวันติด จนตัวเองเพลียและทำงานผิดพลาด นอกจากสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่เสียไป อาจทำให้งานเราแย่ไปด้วย อย่าลืมว่าเราก็คือมนุษย์คนหนึ่ง มีข้อจำกัดของตัวเอง และจริงๆ ตรงนี้ก็เชื่อมโยงกับข้อ 4 ได้เหมือนกันครับ เหมือนเราเคยให้ม็อบเต็มร้อย แล้ววันหนึ่งเราให้ได้ไม่เท่าเดิม อาจจะด้วยสภาพร่างกาย การงาน เลยจะรู้สึกผิดกับตัวเอง ดังนั้นทำในสิ่งที่เราทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ ถ้าปล่อยได้ก็ปล่อยวางลงบ้าง 

     นอกจากนี้ คอยสำรวจอารมณ์ตัวเองขณะเสพข่าวด้วยครับ ว่าอารมณ์มันมาหรือยัง มันมาตอนไหน มันมีสัญญาณเตือนเรามั้ย ถ้าเราจับสัญญาณได้ ให้พักครับ เพราะถ้าไปต่อมันก็จะเกินลิมิตของเราจนทำให้เกิดความเครียด และอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตได้