Fri 12 Feb 2021

LOVE HAS NO HEART

เมื่อคอมมิวนิสต์พราก ‘หัวใจ’ ออกไปจากคำว่า ‘รัก’

ภาพ: ms.midsummer

     หนึ่งในคำจีนที่คนไม่รู้ภาษาจีนทุกคนน่าจะรู้จักแน่ๆ คือ ‘ไอ้/อ้าย’ (หว่ออ้ายหนี่) ที่แปลว่า ‘รัก’

     แต่สิ่งที่หลายคนไม่รู้คือคำนี้เขียนได้สองแบบ (เหมือนกับคำจีนอีกหลายคำที่สามารถเขียนได้ทั้งสองแบบ ซึ่งเราจะว่ากันต่อไป) คือ กับ  

     เดิมทีโครงสร้างของคำว่า ‘รัก’ จะมี ‘หัวใจ’ เป็นชิ้นส่วนสำคัญที่ประกอบกลายเป็นคำ แต่อยู่มาวันหนึ่ง ‘หัวใจ’ ก็หายไป จนเกิดเป็นข้อถกเถียงว่ามันหายไปได้อย่างไร 

     ย้อนกลับไปราว 1700 ปีก่อนคริสตศักราชในสมัยราชวงศ์ซาง มีการค้นพบจารึกภาพบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์ (甲骨文 — เจี๋ยกู่เหวิน) ส่วนใหญ่จะเป็นการสลักภาพของธรรมชาติ เช่น ภูเขา ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ สายน้ำ ซึ่งต่อมาได้กลายมาเป็นอักษรกระดองเต่าที่เป็นอักษรจีนโบราณยุคแรก 

     ต่อมาความหมายและการตีความของตัวอักษรต่างๆ เริ่มซับซ้อนและเป็นนามธรรมมากขึ้น จึงมีการจัดระบบระเบียบให้กับมันเสียใหม่ และเริ่มบันทึกด้วยการหลอมลงบนโลหะอย่างกระถางสามขา เราเรียกอักษรยุคนั้นว่า จินเหวิน (金文) หรืออักษรสัมฤทธิ์ 

     คำว่ารัก () เกิดขึ้นตอนนั้น

     มีการพบภาพที่สันนิษฐานว่าเป็นมนุษย์กำลังใช้สองมือโอบอุ้มอวัยวะส่วนหนึ่งของร่างกายซึ่งมีรูปร่างคล้ายหัวใจ และปากกำลังกู่ร้องบางอย่าง แทนความหมายถึงสิ่งที่มาจากความรู้สึกภายในจิตใจ 

     นั่นคือ ‘ความรัก’ ที่พบในยุคอักษรสัมฤทธิ์ และแม้จะวิวัฒนาการมาหลายต่อหลายรอบ แต่ในคำว่า ‘รัก’ ก็ยังคงปรากฏ ‘หัวใจ’ อยู่เสมอ 

     ดังนั้น (ซิน) จึงไม่ใช่เพียงคำนามแทนอวัยวะหัวใจ แต่ยังรวมไปถึงจิตใจ ความรู้สึกนึกคิด ใจกลาง หรือศูนย์กลาง (中心 — จงซิน) ของผู้คน

     แต่แล้วราวปี 1949 เมื่อจีนเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบคอมมิวนิสต์ ทางการจีนก็มีความพยายามที่จะปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอักษรจีนอย่างเป็นทางการ และคำว่ารักก็เป็นหนึ่งในคำที่ถูกปรับโครงสร้างการเขียนจาก กลายเป็น  

     หัวใจ () ถูกตัดออกไป 

     ตัดออกไปทำไม และพวกเขาใช้อะไรแทน

     หัวใจในคำว่ารักถูกตัดออกไปในสมัยรัฐบาลพรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดย เหมา เจ๋อตง (Mao Tse-tung) ในขณะนั้น โดยคณะกรรมการปฏิรูประบบการเขียนภาษาจีน (ที่แต่งตั้งโดยรัฐบาล) ได้เลือก (yǒu — โหย่ว) ในความหมายของมิตรสหายหรือมิตรภาพเข้ามาแทนที่

     ‘รัก’ จึงถูกพราก ‘หัวใจ’ ออกจากโครงสร้างของคำไปเสียดื้อๆ 

     ต่อมาคำนี้กลายเป็นหนึ่งในประเด็นถกเถียงที่พบบ่อยครั้ง พวกเขานิยามว่ามันคือ 爱无心 (อ้ายอู๋ซิน) หรือรักที่ไร้หัวใจ

     มีทั้งกลุ่มคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการย่อตัวอักษรในลักษณะนี้ กลุ่มที่เห็นด้วยอ้างว่า ‘มิตรภาพ’ ที่พัฒนาไปเป็น ‘ความรัก’ ย่อมยั่งยืนกว่าไม่ใช่หรือ ส่วนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยก็อ้างว่า ‘รัก’ ที่ปราศจากจิตใจ (หัวใจ) และความรู้สึกนึกคิดนั้น มันจะกลายเป็นความรักได้อย่างไร  

     หากพิจารณาคำที่ถูกใช้แทนอย่าง ก็จะเห็นว่าคำนี้ในอักษรโบราณคือภาพของสองมือประคองคู่กัน สื่อความหมายถึงมิตรสหาย มิตรภาพ และเพื่อนพ้อง ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่านั่นอาจเป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์ก็เป็นได้

     ในปี 1967 มีการปรากฏภาพเยาวชนเรดการ์ด (Red Guard) กำลังทุบทำลายพระพุทธรูปและอักษรจีนดั้งเดิมด้วยค้อน พร้อมคำโปรย “ทำลายโลกเก่า สร้างโลกใหม่” 

     ช่วงเวลานั้นเป็นการต่อสู้ระหว่างชนชั้นอย่างรุนแรง มีการเผาทำลายข้าวของทางประวัติศาสตร์จำนวนมาก รวมถึงหนังสือที่เขียนขึ้นก่อนการปกครองของเหมา เจ๋อตง ก็จะต้องถูกทำลายไปด้วย เพราะหนึ่งในเป้าหมายของการปฏิวัติวัฒนธรรม คือ “การขจัดองค์ประกอบที่เป็นทุนนิยม ประเพณีและวัฒนธรรมจีนเดิมออกจากวัฒนธรรมคอมมิวนิสต์” และเนื้อหาหนึ่งของลัทธิเหมาก็คือ “ศิลปะจะต้องรับใช้การต่อสู้ทางชนชั้นเท่านั้น โดยรัฐบาลจะแบ่งสันปันส่วนให้ทุกคนอย่างเท่าเทียม” และ “เราทุกคนคือสหาย!”

     ไม่ใช่แค่คำว่ารักเท่านั้น เพราะอีกกว่าสามพันคำที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ก็ถูกปรับเปลี่ยนไปด้วยทั้งหมด 

     อักษรจีนที่ใช้กันในปัจจุบัน มองผิวเผินอาจเข้าใจได้ว่ามีเพียงรูปแบบเดียว คือเหล่าเส้นขีดรุงรังที่ประกอบกันเป็นคำหลายความหมาย แต่แท้จริงแล้ว อักษรจีนเหล่านั้นได้ถูกจำแนกออกเป็นสองรูปแบบ คือ ‘อักษรจีนตัวเต็ม’ (Traditional Chinese Character) และ ‘อักษรจีนตัวย่อ’ (Simplified Chinese Characters) 

     ด้วยความเป็นอักษรภาพ หนึ่งตัวแทนได้หนึ่งคำ ทำให้อักษรจีนมีจำนวนมหาศาล และต่างจากภาษาอื่นที่ใช้ระบบผสมอักษรในการสะกด จึงมีการพยายามปรับเปลี่ยนโครงสร้างของอักษรจีนเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังเป็นต้นมา แต่ก็เป็นการใช้กันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น 

     การปฏิรูประบบการเขียนถูกคัดค้านมาหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการทำลายอักษรดั้งเดิม จนกระทั่งปี 1955 คณะกรรมการปฏิรูประบบการเขียนภาษาจีนซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลจีน ได้ปรับปรุงโครงสร้างอักษรจีนครั้งใหญ่และประกาศใช้อย่างเป็นทางการ โดยให้ใช้ตัวอักษรย่อจำนวน 2,238 ตัว จากตัวหนังสือทั้งหมดที่มีอยู่ 56,000 ตัวเศษ 

     ไม่ใช่ในนามของตัวเลือก แต่เป็นการบังคับใช้อย่างเด็ดขาด 

     รัฐบาลคอมมิวนิสต์จีนที่นำโดยเหมา เจ๋อตง มีความเห็นว่าโครงสร้างของอักษรจีนดั้งเดิมมีทั้งความซับซ้อน ความยุ่งยากในการเขียน และไม่เป็นระบบระเบียบ ทำให้ยากต่อการจดจำ รวมไปถึงเป็นอุปสรรคต่อการอ่านออกเขียนได้ของประชาชน และเพื่อลดช่องว่างเหล่านั้น พรรคคอมมิวนิสต์จึงประดิษฐ์อักษรจีนรูปแบบใหม่ขึ้นมา โดยลดทอนความซับซ้อนที่ว่าให้เขียนและจดจำง่ายขึ้น เช่น การลดเส้นขีด เลือกตัดส่วนประกอบที่ไม่จำเป็น (ในสายตารัฐ) ออกไป และบังคับใช้อย่างเป็นทางการในสาธารณรัฐประชาชนจีน (จีนแผ่นดินใหญ่) สิงคโปร์ มาเลเซีย และชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลบางส่วน 

     แต่แน่นอนว่านั่นคือข้ออ้างที่อาจฟังไม่ขึ้น อักษรจีนตัวย่อถูกเมินจากบางพื้นที่เช่นกัน อย่างไต้หวัน ที่เมื่อความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋งและคอมมิวนิสต์จีนสิ้นสุดลง พรรคคอมมิวนิสต์สถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ส่วนสาธารณรัฐจีนที่อยู่ภายใต้การนำของก๊กมินตั๋งก็ย้ายเมืองหลวงไปยังเกาะไต้หวัน รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งจึงลงความเห็นว่าตัวอักษรย่อเป็นผลผลิตของคอมมิวนิสต์ที่ทำลายวัฒนธรรมและคุณค่าโบราณนับพันปีของจีน” 

     นอกจากนี้ ฮ่องกง มาเก๊า รวมถึงชุมชนชาวจีนโพ้นทะเลที่รวมกลุ่มก่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงนี้ (แน่นอนว่านับชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศไทยด้วย) ก็ยังคงใช้อักษรจีนดั้งเดิมอย่างเป็นทางการจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้คนที่ยังใช้อักษรตัวเต็มสามารถเข้าถึงตำราเก่าแก่ได้อย่างง่ายดาย แถมยังสามารถเชื่อมต่อเรื่องราวในประวัติศาสตร์ได้เป็นอย่างดี ในขณะที่คนจีนแผ่นดินใหญ่ถูกตัดขาดจากอดีต ด้วยการถูกทำให้ไม่สามารถอ่านงานเขียนที่เกิดก่อนปี 1949 ได้อีกต่อไป

     แต่ใช่ว่าจะทำสำเร็จได้ในทีเดียว เพราะยังมีการแอบใช้อักษรตัวเต็มในจีนแผ่นดินใหญ่อยู่บ้าง จนท้ายที่สุดรัฐบาลจีนก็อนุญาตให้ใช้อักษรตัวเต็มได้ในโอกาสพิเศษ อย่างการเขียนพู่กัน เทศกาลเฉลิมฉลอง และงานประเพณี 

     การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของตัวอักษรยังคงเป็นที่ถกเถียงกันจนถึงปัจจุบันว่าเป็นการตัดตอนประวัติศาสตร์บางช่วงหรือไม่ หรือเป็นการทำลายค่านิยมดั้งเดิม ศาสนา และศิลปวัฒนธรรมจีนหรือเปล่า เพราะทั้งหมดนี้ถูกกระทำในนามพรรคคอมมิวนิสต์ซึ่งสอดคล้องไปกับนโยบายการปฏิวัติวัฒนธรรม นั่นก็คือการจำกัดสี่เก่า—อุดมคติ จารีต วัฒนธรรม และความเคยชิน (The Four Olds were: Old Ideas, Old Culture, Old Habits, and Old Customs) รัฐบาลจีนคิดว่าการจำกัดความสามารถในการเรียนรู้ผ่านการอ่านและเขียนเป็นเครื่องมือสำคัญอันดับต้นๆ เป็นจุดเริ่มต้นในการทำให้ผู้คนไม่สามารถเข้าถึงความคิดแบบเก่า การเปลี่ยนแปลงที่เหลือต่อจากนั้นก็คงไม่ยากอะไร 

     สำหรับพวกเขาแล้ว ‘ความรัก’ จึงอาจไม่จำเป็นต้องมีหัวใจอีกต่อไป ขอแค่จงอย่าสงสัยอดีต จงเชื่อฟังรัฐและมองไปข้างหน้าพร้อมกัน 

     และหากยังอยากจะใช้หัวใจอยู่ละก็ ใครสักคนอาจบอกให้คุณออกจากแผ่นดินรูปไก่นี้ไปเสีย

อ้างอิง: 

• A Graphic Compendium of Chinese Characters 《汉字图解字典》,顾建平 เขียน

• 汉语漫谈,任景文 เขียน

• เจาะอักษรจีน. ชัยรัตน์ กิตติคุณผดุง เขียน

silpa-mag.com/history/article_2619

en.wikipedia.org/wiki/Four_Olds

th.wikipedia.org/wiki/อักษรจีนตัวย่อ