Wed 17 Feb 2021

LOVE IN THE TIME OF REVOLUTION

เรื่องราวของความรักเมื่อคราวปฏิวัติของนักกฎหมายที่ล้มเหลวในอุดมการณ์ประชาธิปไตย

ภาพ: ms.midsummer

     ความรักที่ไม่สมหวัง หรือไม่อาจเป็นจริงได้ ถือเป็นรูปแบบหนึ่งของความรักที่ได้รับการยกย่องว่า ‘โรแมนติก’ หรือ ‘สร้างความสะเทือนใจ’ มากที่สุดสำหรับมนุษยชาติ 

     นับจากตำนานความรัก โรมิโอกับจูเลียต (Romeo and Juliet) มาถึง แวร์เธอร์ระทม (Die Leiden des jungen Werthers) ที่เป็นนวนิยายขายดีในปลายศตวรรษที่ 18 ทั้งหมดล้วนแล้วแต่มีจุดจบแบบโศกนาฏกรรม (Tragedy) ที่คู่รักต่างไม่สมหวัง หากไม่ตายจากกันก็ไม่อาจครองคู่กันได้

     เรื่องราวที่จะบอกเล่าต่อไปนี้ก็จัดว่าเข้าข่ายความรักที่กล่าวมา ซึ่งได้ถูกรจนาไว้ในนวนิยาย L’Éducation Sentimentale (1869) หรือ Sentimental Education ของ กุสตาฟ โฟลแบรต์ (Gustave Flaubert) นักประพันธ์เอกชาวฝรั่งเศสแห่งศตวรรษที่ 19 โดยความน่าสนใจของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความแปลกพิสดาร เพราะนักวิชาการด้านวรรณคดีบางคนเล็งเห็นว่า เราสามารถอ่านให้เป็นงานประเภทโศกนาฏกรรมสะเทือนใจ หรือเป็นงานล้อเลียน (Parody) วิพากษ์แนวการเขียนประเภทรักน้ำเน่าก็ได้ 

     Sentimental Education เป็นผลงานเรื่องท้ายๆ ในชีวิตของโฟลแบรต์ที่เขาเพียรเขียนเพียรแก้อยู่หลายต่อหลายร่าง ร่างสุดท้ายที่ได้รับการตีพิมพ์นั้นเป็นร่างที่ 3 หรือ 4 ซึ่งตีพิมพ์ภายหลังจากนวนิยายเรื่องดังของเขา Madame Bovary (1856) นานนับทศวรรษเลยทีเดียว 

     แม้ในแง่ยอดขาย Sentimental Education จะไม่ประสบความสำเร็จมากเท่า Madame Bovary แต่สำหรับนักเขียน-ปัญญาชนจำนวนหนึ่งแล้ว นวนิยายเล่มนี้ถือเป็นหมุดหมายใหม่ทั้งในเชิงแนวคิดและลีลาการเขียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้รายละเอียดของฉากบรรยากาศ และข้อมูลอันสมจริงในเชิงวัตถุวิสัย (objective) ที่โฟลแบรต์เชี่ยวชาญ ผสานกับ ‘เสียง’ ที่เปล่งออกมาเวลาอ่าน—โฟลแบรต์ปฏิบัติกับนวนิยายของเขาดุจดังบทกวี 

     รูปประโยคของเขามักจะเป็นกริยากาลกำลังกระทำ (l’imparfait) หรือ imperfect tense ซึ่งทำให้อ่านได้ในแง่ที่เป็นคำบรรยายของผู้ประพันธ์ ความนึกคิด หรือมุมมองของตัวละครที่มีต่อเหตุการณ์ต่างๆ ก็ได้ ดังที่ มาร์แซ็ล พรุสต์ (Marcel Proust) ตั้งข้อสังเกตไว้ในงาน Contre Sainte-Beuve และตั้งฉายาให้โฟลแบรต์ว่าเป็น ‘เจ้าแห่งความไม่สมบูรณ์’ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ผู้ที่เชี่ยวชาญการใช้กริยา ‘กาลกำลังกระทำ’ บอกเล่าเรื่องราวต่างๆ

     คุณลักษณะดังกล่าวนี้เองที่กลายเป็นจุดเด่น ทำให้เราได้มองโลกผ่านสายตาอันจำกัดของตัวละคร มันอาจไม่สมบูรณ์ชัดเจนแบบสายตาพระเจ้า (ในที่นี้หมายถึงการเล่าเรื่องแบบที่ผู้อ่านเห็นเหตุการณ์ทั้งหมด) แต่ก็เป็นการฉายความจริงเฉพาะแบบ หรือโลกการรับรู้ของตัวละครที่เราไม่อาจมองเห็นด้วยตาเราเอง

     ไม่เพียงนักเขียนด้วยกันเท่านั้น ทว่านักสังคมวิทยาอย่าง มักซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ไปจนถึงนักทฤษฎีร่วมสมัยคนสำคัญอย่าง ปิแยร์ บูร์ดิเยอ (Pierre Bourdieu) ก็ยังหยิบยกและอ้างอิงถึงความคิดในผลงานชิ้นนี้ของโฟลแบรต์ กระทั่งบูร์ดิเยอได้เอาเส้นทางเดินและฉากต่างๆ ใน Sentimental Education มาจัดทำเป็นแผนที่เพื่อศึกษาวิถีชีวิตและกรอบคิดแบบกระฎุมพีฝรั่งเศส

     “แม้ฉากหน้าของเรื่องจะเป็นสิ่งที่จินตนาการขึ้น แต่ฉากหลังนั้นเป็นความจริง” 

     โฟลแบรต์กล่าวถึงผลงานของตนเองไว้เช่นนั้น โดย ‘ฉากหลัง’ ที่กล่าวถึงก็คือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1848 ซึ่งเป็น ‘ระลอกเหตุการณ์’ ในประวัติศาสตร์การเมืองที่มีความสำคัญอย่างมากสำหรับประเทศต่างๆ ในยุโรป ณ ตอนนั้น ประชาชน (โดยเฉพาะชนชั้นล่างและผู้ใช้แรงงาน) ในฝรั่งเศสลุกฮือขึ้นต่อต้าน ซึ่งเริ่มต้นอย่างยิ่งใหญ่ มีความหวัง ก่อนจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้และนำพาประเทศกลับไปสู่ระบอบกษัตริย์ กลายเป็นจักรวรรดิฝรั่งเศสที่ 2 

     Sentimental Education เป็นเรื่องราวของ เฟรเดริก มอโร (Frédéric Moreau) เด็กหนุ่มจากต่างจังหวัดผู้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อด้านวิชากฎหมายที่ปารีสในช่วงปี 1840 หรือในบรรยากาศก่อนการปฏิวัติราวแปดปี

     เขาตกหลุมรัก มารี อาร์นูซ์ (Marie Arnoux) ตั้งแต่แรกเห็น เรียกว่าเป็นรักแรกพบก็คงได้ และถึงจะไม่มีโอกาสได้พูดคุยกัน หากใบหน้านั้นก็เป็นภาพติดตาที่ทำให้เขาเหมือนตกอยู่ในมนต์สะกดเรื่อยมา ทั้งในตอนต้นของเรื่องที่เขายังไม่รู้ว่าเธอเป็นใคร หรือแม้แต่ในตอนที่เขารู้จักแล้วก็ตาม ผู้อ่านจะได้เห็นเฟรเดริกพร่ำเพ้อเหม่อลอย หรือ ‘กระทำความหว่อง’ ในหลากหลายวาระด้วยกัน

     กล่าวได้ว่า เฟรเดริกนั้นปรารถนาจะได้มารีมาครอบครอง โดยไม่สนใจด้วยซ้ำว่า เธอเป็นทั้งภรรยาและมารดาของลูกสองคน 

     ในสายตาของเพื่อนๆ นางมารี อาร์นูซ์ เป็นเพียงหญิงที่เรียบๆ ไม่มีอะไรน่าดึงดูดใจ เมื่อเปรียบกับโฉมงามในนครปารีสที่มีอยู่มากล้นกล่นเกลื่อน แต่ในสายตาของเฟรเดริกนั้น เธองดงามราวกับนางฟ้านางสวรรค์

     แม้การสำเร็จวิชากฎหมายจะเป็นเป้าหมายหลักของเฟรเดริก แต่แรงขับเคลื่อนในชีวิตส่วนใหญ่ของเขากลับเป็นการเสาะหาหนทางชนะใจเธอ

     เริ่มตั้งแต่การเข้าไปในแวดวงศิลปินเพื่อใกล้ชิดกับ ฌากส์ อาร์นูซ์ นายหน้านักค้าศิลปะผู้เป็นสามี หรือแม้แต่บรรดาคนสนิทของเขา พยายามออกงานสังคม มีส่วนร่วมในงานกินเลี้ยง และปรับเปลี่ยนตัวตนให้น่าสนใจ ตั้งแต่ลงทุนตัดเย็บเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายไปจนถึงการมีงานเขียนลงตีพิมพ์ตามหน้านิตยสาร

     หากสุดท้ายเส้นทางคดเคี้ยววกวนของ ‘ชีวิต’ และ ‘การปฏิวัติ’ ที่เฟรเดริกและมิตรสหายมีส่วนร่วมด้วย ได้ชักพาให้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมารีเป็นเพียง ‘ความรักที่เป็นไปไม่ได้’ หรือเป็นได้อย่างมากที่สุดคือรักแบบไม่มีสัมพันธ์ทางกาย (Platonic Love)

     แน่นอนว่าในหลายบทตอนของนวนิยาย เฟรเดริกมักเปรียบเทียบตัวเองเป็น ‘แวร์เธอร์’ ใน แวร์เธอร์ระทม หรือ ‘เรอเน่’ ใน René ของ ชาโตบริอ็องด์ (Chateaubriand) รวมไปถึงพระเอกในนวนิยายรักเรื่องต่างๆ ซึ่งอาจเป็นคนละภาพกับที่โฟลแบรต์ได้แสดงให้เราเห็น เพราะเฟรเดริกใน Sentimental Education มีความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อมากกว่าตัวละครเหล่านั้น เช่น เขาอาจเชื่อในอุดมการณ์ประชาธิปไตย แต่ก็มีจิตใจแบบกระฎุมพีที่เล็งเห็นผลประโยชน์มากกว่าอย่างอื่น หลายครั้งหลายคราเขาต้องปลิ้นปล้อนหลอกลวงเพื่อเอาตัวรอด 

     ภายในตัวเขาจึงเต็มไปด้วยความขัดแย้งและยอกย้อน เขาสามารถทิ้งหญิงที่อุ้มท้องลูกของเขาเพื่อไปแต่งงานกับหญิงหม้ายที่สามารถอุปถัมภ์ค้ำชูเขาได้ เฉกเดียวกับมิตรสหายนักประชาธิปไตยของเขา ที่ถึงที่สุดแล้วก็นึกรังเกียจความเป็นประชาชน หรือชนชั้นล่างอยู่ลึกๆ 

     ความรักที่เราสัมผัสได้ใน Sentimental Education จึงอาจเป็นภาพฝันที่มองผ่านสายตาตัวละครเฟรเดริก ซึ่งทำให้หลายคนที่ได้อ่านอดนำไปเปรียบกับการปฏิวัติที่ล้มเหลวมิได้

     ในบทท้ายๆ ของเรื่อง ที่เฟรเดอริกได้พบกับมารีอีกครั้งในปี 1867 และนั่งลงคุยกันหลังจากต่างคนต่างใช้ชีวิตและห่างหายกันไปนานนับทศวรรษ เพื่อระลึกย้อนความหลังและบอกเล่าความในใจ ก่อนจะแยกย้ายกันไปอีกคราหนึ่งนั้น จึงเป็นมากกว่าบทอวสานธรรมดา 

     แต่มันแสดงให้เห็นอาการตาสว่างจากความรัก ความลุ่มหลง และแม้แต่อุดมการณ์ทางการเมืองของเฟรเดริกเอง

อ้างอิง:

• Gustav Flaubert, A Sentimental Education, translated by Douglas Parmée, (Oxford: Oxford University Press, 2000).

• Green, Anne. “Flaubert: Remembering, Forgetting, Creating.” Nineteenth-Century French Studies, vol. 39, no. 1/2, 2010, pp. 119–130.

• Pasco, A. H. “Literature as Historical Archive.” New Literary History, vol. 35 no.3, 2004, pp. 373–394.