Fri 29 Oct 2021

H. P. LOVECRAFT

เรื่องราวเบื้องหลังของผู้สร้างจักรวาลชวนคลั่ง

ภาพ: NJORVKS

     แม้ว่าคุณอาจไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคยกับนักเขียนที่มีชื่อว่า ‘เอช. พี. เลิฟคราฟท์’ (H. P. Lovecraft) แต่อย่างน้อย คุณก็อาจจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เขาสร้างขึ้นอย่างท่านเทพปลาหมึกหนวดงามร่างเขียวนามว่า ‘คธูลู’ (Cthulhu) เพราะเทพตนนี้ปรากฏอยู่ในทุกที่ไม่ว่าจะในรูปแบบของมีมบนโลกออนไลน์ (เช่น มีมล้อเลียนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ) หนังสือฝึกอ่านสำหรับเด็ก (C Is for Cthulhu: The Lovecraft Alphabet Book) ถูกหยิบยืมนามไปอ้างถึงในภาพยนตร์ (Underwater, 2020) มีสายพันธุ์ของแมงมุมที่ตั้งชื่อตามมัน (Pimoa Cthulhu) ปรากฏกายในฐานะภัยอันใหญ่ยิ่งในมังงะ (เสียงกระซิบจากคนตาย โดย Sachiko Hiyodori) เป็นแรงบันดาลใจของชาวเฮฟวี่เมทัล (เพลง Dream No More ของ Metallica) และเคยแม้กระทั่งถูกจับไปประลองกับเหล่าอสูรกายในตำนานอีกหลายครั้ง ฯลฯ

     นอกจากนี้ อิทธิพลจากผลงานของเลิฟคราฟท์ยังปรากฏอยู่ในวัฒนธรรมร่วมสมัยที่ทุกท่านอาจจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ตัวอย่างก็เช่นโลกของน้ำแข็งและอัคคีที่ถูกสร้างโดย จอร์จ อาร์. อาร์. มาร์ติน (George R. R. Martin) ผู้เขียน บทกวีแห่งน้ำแข็งและอัคคี (A Song of Ice and Fire) หรือซีรีส์ Game of Thrones ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งที่อ้างถึงเทพและอสูรกายของเลิฟคราฟท์ เกมชื่อดังที่หลายท่านรักอย่าง Bloodborne ก็มีหลายสิ่งที่ได้รับอิทธิพลจากตำนานคธูลู หรือทีวีซีรีส์ในตำนานอย่าง Doctor Who ก็มีการกล่าวถึงสิ่งที่ถูกจินตนาการขึ้นโดยเลิฟคราฟท์ให้ได้ยินและได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ  

     อิทธิพลความบ้าคลั่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยชายผู้มีนามปากกาว่าเอช. พี. เลิฟคราฟท์ แทรกซึมอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในวรรณกรรม ภาพยนตร์ เกมคอมพิวเตอร์ หรือทีวีซีรีส์ ว่าแต่นักเขียนในตำนานผู้นี้อุตริสร้างจักรวาลชวนคลั่งนี้ขึ้นมาได้อย่างไรกัน?

     เพื่อที่จะเข้าใจจุดเริ่มต้นของตำนานคธูลู เราคงต้องย้อนเวลากลับไปสู่ปลายศตวรรษที่ 19 เพื่อที่จะดูความเป็นมาของชายผู้มีนามว่าเอช. พี. เลิฟคราฟท์ กันสักนิด

     เอช. พี. เลิฟคราฟท์ เป็นนามปากกาของนักเขียนชาวอเมริกันผู้มีชื่อจริงว่า โฮเวิร์ด ฟิลลิปส์ เลิฟคราฟท์ (Howard Phillips Lovecraft) เขาลืมตาดูโลกในวันที่ 20 สิงหาคม ปี 1890 ที่เมืองพรอวิเดนซ์ รัฐโรดไอส์แลนด์ ชีวิตวัยเด็กของเขาไม่สวยงามเท่าไหร่ เสียบิดาไปตั้งแต่ยังเล็ก อีกทั้งตัวของเขายังไม่มีโอกาสที่จะไปโรงเรียนอย่างต่อเนื่องเหมือนกับเด็กคนอื่นเพราะปัญหาสุขภาพ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ครอบครัวต้องเผชิญกับปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ซ้ำร้ายยังไม่มีสิทธิเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัยบราวน์เหมือนดังที่คาดหวัง เพราะเขาเรียนไม่จบไฮสคูลอันเป็นผลมาจากปัญหาสุขภาพจิต

     ถึงแม้ช่วงเริ่มต้นชีวิตของเลิฟคราฟท์จะเต็มไปด้วยเรื่องดราม่าราวกับหนังชีวิต แต่เขาก็มีความสามารถทางด้านการอ่านและเขียนตั้งแต่เด็ก โดยมีผู้สนับสนุนหลักเป็นคุณตาที่ชอบสรรหาวรรณกรรมเก่ามาให้เขาอ่านตั้งแต่เริ่มอ่านหนังสือได้ และก็เป็นคุณตาเองนี่แหละที่มักจะเล่าเรื่องสยองให้หลานชายฟัง ความกลัวจึงเป็นอารมณ์ที่เลิฟคราฟท์รู้จักและคุ้นเคยมานับตั้งแต่นั้น

     เลิฟคราฟท์ยังไม่ได้เริ่มต้นเขียนเรื่องราวจากจินตนาการของตนเองอย่างเป็นเรื่องเป็นราว จนกระทั่งเขาเข้าร่วมสมาคมสื่อสมัครเล่น (United Amateur Press Association หรือ UAPA) ในปี 1914 เขาถึงเริ่มจรดปากกาลงบนหน้ากระดาษและสร้างเรื่องราวอันน่าจดจำขึ้นมา โดยหนึ่งในผลงานน่าสนใจที่ว่าก็คือ เดกอน (Dagon, 1919)

     เดกอน กล่าวถึงชายผู้โชคร้ายที่ต้องลอยคออยู่อย่างโดดเดี่ยวกลางมหาสมุทร จนกระทั่งบังเอิญไปพบเจอกับเกาะร้างที่ผุดขึ้นจากใต้ทะเลลึก ทำให้เขาได้เผชิญกับบางสิ่งอันชั่วร้ายราวกับหลุดมาจากฝันอันบ้าคลั่ง

     เดกอน นับเป็นหนึ่งในเรื่องสั้นอ่านง่ายของเลิฟคราฟท์ และถูกยกให้เป็นผลงานแนว ‘เลิฟคราฟท์เธียน’ (Lovecraftian) ชิ้นแรกของเขา ซึ่งก่อนหน้าที่เลิฟคราฟท์จะเริ่มเสกสร้างตำนานของตนขึ้นผ่านปลายปากกา มีงานเขียนชื่อดังบางชิ้น เช่น The King in Yellow (1895) ของ โรเบิร์ต ดับเบิลยู. แชมเบอร์ส (Robert W. Chambers) ที่มักจะถูกผู้อ่านนำมาผนวกรวมเข้ากับตำนานคธูลูในภายหลัง The King in Yellow จึงมักจะถูกนับเป็นผลงานแนวเลิฟคราฟท์ที่เก่าแก่ที่สุดชิ้นหนึ่งที่มาก่อนกาล เนื่องจากเลิฟคราฟท์ได้หยิบยืมบางนามจากหนังสือรวมเรื่องสั้นหลากอารมณ์เล่มนี้ไปใช้ เช่น ตราสีเหลือง (Yellow Sign) หรือทะเลสาบแห่งฮาลี (Lake of Hali) (อย่างไรก็ตาม ผลงานชิ้นนี้ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องสยองเพียงเท่านั้น เรื่องสั้นบางเรื่องในเล่มก็มีความเป็นไซไฟ บางเรื่องก็เป็นเรื่องประหลาด และบางเรื่องก็มีความโรแมนติก)

     ‘Lovecraftian Horror’ คือเรื่องสยองแบบเลิฟคราฟท์ หรือเราสามารถเรียกงานเขียนประเภทนี้ว่า ‘Cosmic Horror’ ก็ได้ คือเป็นผลงานที่แตกต่างไปจากเรื่องสยองทั่วไปอยู่ไม่น้อย เพราะแทนที่จะเน้นสร้างความกลัวด้วยการปรากฏตัวของสิ่งลี้ลับหรือการไล่ล่าของฆาตกร ความกลัวที่เราจะได้เผชิญผ่านผลงานแนวนี้ก็คือ ‘ความกลัวในสิ่งที่เราไม่รู้จัก’

     ภัยที่เหล่าตัวละครในผลงานแนวเลิฟคราฟท์เธียนต้องเผชิญมักจะเป็นสิ่งที่น่าสะพรึง แปลกปลอม และซับซ้อนเสียจนมนุษย์ไม่อาจสาธยายเกี่ยวกับพวกมันได้อย่างถูกต้อง หรือเป็นสิ่งประหลาดในระดับที่สามารถทำให้มนุษย์สติหลุดได้เพียงแค่กวาดสายตาไปพบเจอกับมัน สิ่งแปลกปลอมและสิ่งชั่วร้ายเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่สมองอันบอบบางของมนุษย์ไม่สามารถที่จะรู้จักและทำความเข้าใจได้ทั้งสิ้น 

     ถ้าคุณไม่สามารถจินตนาการอารมณ์ดังกล่าวได้ ผมก็ขอให้คุณลองนึกว่าในค่ำวันหนึ่งขณะที่คุณกำลังเดินอยู่เพียงลำพังบนถนนอันไร้ซึ่งผู้คน จู่ๆ ก็มีอสูรกายที่ไร้รูปร่วงหล่นลงมาจากผืนฟ้ายามราตรี มันเป็นบางสิ่งที่มีสภาพไม่เหมือนกับสสารสถานะในโลกที่คุณเคยรู้จัก เป็นสิ่งที่แลดูบิดเบี้ยวและชั่วร้ายเกินกว่าจะสาธยายได้ด้วยถ้อยคำใดๆ อีกทั้งรูปลักษณ์ของมันมีมิติมากเกินกว่าที่จะใช้หน่วยวัดใดมากะเกณฑ์ได้ ไม่ว่าจะเป็นขนาดกว้าง ยาว และลึก ร่างกายของมันวูบไหวขยับด้วยจังหวะอันแปลกประหลาดราวกับต้องการที่จะสื่อสารกับคุณ ทว่ารูปลักษณ์และท่าทีอันแปลกประหลาดและชั่วร้ายผิดสามัญสำนึกกลับทำให้คุณรู้สึกกลัวจนเสียขวัญ คุณเลือกที่จะวิ่งหนี แต่เจ้าสิ่งนั้นมิได้ตามคุณมา คุณรอดชีวิตก็จริง แต่การเผชิญหน้ากับเจ้าสิ่งที่ผิดไปจากสามัญสำนึกนั้น ก็ทำให้มุมมองที่มีต่อโลกของคุณเปลี่ยนไปตลอดกาล  

     เดกอน อสูรกายร่างยักษ์อันมีรูปร่างบิดเบี้ยวแปลกแยกเหมือนกับครึ่งมนุษย์ครึ่งปลาที่น่าเกลียดน่ากลัว จึงเป็นหนึ่งในเทพ (หรืออสูรกาย?) ที่น่าสะพรึงซึ่งเป็นตัวแทนอันเป็นรูปธรรมของแนวคิดอันเป็นนามธรรมดังกล่าว

     หลังจาก เดกอน ได้รับการตีพิมพ์และกลายเป็นที่รู้จัก เลิฟคราฟท์ก็สร้างผลงานออกมาเป็นระยะ ช่วงปลายทศวรรษ 1910s และช่วงต้นทศวรรษ 1920s ผลงานของเขาเริ่มมีความเป็นแฟนตาซีมากขึ้น เพราะได้รับอิทธิพลจาก ลอร์ด ดันซานี (Lord Dunsany) นักเขียนผู้โด่งดังในสายแฟนตาซีแห่งยุคนั้น ก่อให้เกิดผลงานแนวแฟนตาซีหลายชิ้นตามมา โดยหนึ่งในผลงานอันน่าจดจำของเลิฟคราฟท์ในช่วงนี้ก็เช่น The Cats of Ulthar (1920) เรื่องราวที่บอกเล่าเกี่ยวกับที่มาของกฎเหล็กของเมืองอุลธาร์ที่มีอยู่ว่าห้ามฆ่าแมว

     แน่นอนว่าถ้าเลิฟคราฟท์หลงใหลไปกับโลกแฟนตาซี ตำนานคธูลูก็อาจมิได้ถือกำเนิดเกิดขึ้น ช่วงเวลานั้นเขายังคงเขียนเรื่องสั้นแนวประหลาดอยู่ด้วยเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ไนอาลาโธเทป (Nyarlathotep, 1920) นครไร้นาม (The Nameless City, 1921) และ คืนสู่เหย้า (The Festival, 1925) เหล่านี้คือผลงานที่กลุ่มผู้อ่านปักหมุดให้ว่าเป็นตำนานคธูลูเรื่องแรกๆ ต่อจาก เดกอน เพราะไนอาลาโธเทปจากเรื่องสั้น ไนอาลาโธเทป ก็คือหนึ่งในตัวละครที่เป็นเหมือนกับไอคอนของจักรวาลสยองแห่งนี้ ที่ชาวเลิฟคราฟท์เธียนทั้งหลายต่างก็หลงรักในฐานะตัวร้ายหลักจอมเจ้าเล่ห์ประจำจักรวาล การผจญภัยใน นครไร้นาม ก็ได้บอกเล่าเกี่ยวกับอารยธรรมโบราณที่สาบสูญอันเป็นหนึ่งในธีมหลักที่เลิฟคราฟท์มักจะใช้ และหลายสิ่งที่ถูกกล่าวถึงใน คืนสู่เหย้า ก็ได้ถูกกล่าวถึงในผลงานชิ้นอื่นของเลิฟคราฟท์อีกหลายครั้ง เช่น เมืองอาร์คัม (Arkham) อันเป็นหนึ่งในเมืองสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอยู่บ่อยครั้งในตำนานคธูลูก็ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกในผลงานชิ้นนี้

     ชีวิตบนเส้นทางนักเขียนของเลิฟคราฟท์ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย เพราะนอกจากมีเรื่องสั้นตีพิมพ์อยู่เรื่อยๆ ฝูงหนูหลังกำแพง (The Rats in the Walls, 1924) ผลงานของเลิฟคราฟต์ที่ควรค่าแก่การกล่าวถึงเอามากๆ ก็ปรากฏในช่วงนี้ 

     เรื่องดังกล่าวเป็นนิยายที่ให้อารมณ์สยองแบบโกธิก เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายชาวอเมริกันผู้หนึ่งที่เดินทางกลับไปยังอังกฤษเพื่อบูรณะที่ดินซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นของตระกูล และความพยายามดังกล่าวก็ได้นำมาซึ่งเรื่องราวอันไม่พึงประสงค์ อีกทั้งยังเป็นหนึ่งในผลงานเรื่องสั้นของเลิฟคราฟท์ที่เหล่านักอ่านและนักเขียนแนวเลิฟคราฟท์เธียนหลายท่าน เช่น ลิน คาร์เตอร์ (Lin Carter) นักเขียนแนวแฟนตาซีชาวอเมริกัน ยกย่องว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่เลิฟคราฟท์เคยเขียน 

     ช่วงเวลาดังกล่าว เลิฟคราฟท์ยังมีโอกาสได้จับปากกาและเขียนเรื่องราวให้กับนักมายากลชื่อดังอย่าง แฮร์รี ฮูดินี (Harry Houdini) ออกมาเป็น Imprisoned with the Pharaohs (1924) อีกด้วย ทว่าชีวิตช่วงนั้นของเลิฟคราฟท์ก็ไม่ราบรื่น เพราะหลังจากมารดาเสียชีวิตในปี 1921 เขาก็พบรักกับหญิงสาวผู้มีนามว่า โซเนีย กรีนน์ (Sonia Greene) และย้ายไปใช้ชีวิตคู่อยู่ร่วมกันที่นิวยอร์ก 

     ช่วงแรกของการแต่งงาน ชีวิตของเลิฟคราฟท์มีความสุขสบายดี แต่ในเวลาต่อมา โซเนีย กรีนน์ จำเป็นต้องย้ายไปทำงานต่างเมืองทำให้เขาต้องใช้ชีวิตอยู่เพียงลำพัง 

     สำหรับเลิฟคราฟท์แล้ว การใช้ชีวิตอยู่ตัวคนเดียวในเมืองใหญ่ที่เต็มไปด้วยกลุ่มผู้อพยพเป็นประสบการณ์ที่ไม่พึงประสงค์เท่าไหร่ และนี่อาจจะเป็นแรงบันดาลใจ (ในแง่ลบ) ที่ทำให้เขาเขียนผลงานอย่าง เรื่องสยองในเรดฮุก (The Horror at Red Hook, 1925) ที่มักจะถูกวิจารณ์ในแง่ลบด้วยเหตุผลเรื่องการเหยียดเชื้อชาติและสีผิวขึ้นมา

     ก่อนที่ทุกท่านจะเริ่มเบื่อ ก็ได้เวลาที่เราจะกล่าวถึงผลงานชิ้นสำคัญที่ท่านผู้อ่านคงตั้งตารอที่จะได้เอ่ยชื่อกันอย่างเต็มๆ สักที แน่นอนว่า เสียงเพรียกจากคธูลู (The Call of Cthulhu, 1928) คือผลงานที่เลิฟคราฟท์เริ่มเขียนขึ้นในช่วงที่เขากำลังเผชิญวิบากกรรมอยู่ในนิวยอร์กนี้เอง และเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่ได้กล่าวถึงบางสิ่งอันน่าสะพรึงนามว่า ‘คธูลู’ ที่กำลังหลับใหลอยู่ลึกลงไปในนครใต้สมุทรยังจุดที่ไกลห่างจากผืนแผ่นดินที่สุดในแปซิฟิก

     เสียงเพรียกจากคธูลู คือผลงานที่เริ่มแสดงให้เห็นองค์ประกอบอันลงตัวของเรื่องสยองแบบเลิฟคราฟท์ เพราะเราจะได้รับรู้เกี่ยวกับเรื่องต้องห้ามที่มนุษย์ไม่ควรจะรู้ ลัทธิประหลาดที่ชอบจับเหยื่อไปบูชายัญ อำนาจอันสูงส่งที่นำพามาซึ่งหายนะ และมนุษย์ตัวน้อยอันด้อยค่าเมื่อเทียบกับเอกภพอันใหญ่ยิ่งไร้ที่สิ้นสุดแห่งนี้ที่เราไม่มีวันหนีพ้นหรือเอาชนะได้

     และในผลงานชิ้นนี้เองที่เทพนามว่าคธูลูได้ถูกกล่าวถึงเป็นครั้งแรกโดยเลิฟคราฟท์

     คธูลูเป็นสิ่งมีชีวิตจากต่างโลกร่างเขียวที่มีศีรษะคล้ายกับหมึกยักษ์แลดูเหมือนกับมังกร คำอธิบายดังกล่าวอาจจะฟังดูน่าขันมากกว่าชวนให้สะพรึงสำหรับคนในยุคเรา แต่องค์ประกอบอันแปลกประหลาดของเทพผู้กำลังหลับใหลรายนี้ก็ออกจะโดดเด่นและทำให้จดจำได้ทันทีที่พบเห็น และในยุคที่มหาสมุทรยังเป็นเรื่องลึกลับสำหรับมนุษย์ สิ่งมีชีวิตมากมายใต้ผืนน้ำยังไม่ใช่สิ่งที่มนุษย์ส่วนใหญ่รู้จักมักคุ้น ภาพของอสูรร้ายที่มีรูปกายคล้ายกับหมึกยักษ์จากใต้สมุทรจึงเปรียบเสมือนฝันร้ายที่ก้าวหลุดออกมาสู่โลกแห่งความเป็นจริง จึงไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจที่ The Call of Cthulhu จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีในเหล่านักอ่านเรื่องประหลาดยุคนั้น

     เสียงเพรียกจากคธูลู อาจไม่ใช่ผลงานที่นักอ่านในยุคเราบางท่านรู้สึกประทับใจนัก แต่องค์ประกอบที่ถูกริเริ่มใช้ในผลงานชิ้นนี้เองคือสิ่งที่เลิฟคราฟท์นำไปปรับใช้เพื่อสร้างผลงานอันยอดเยี่ยมอีกหลายเรื่องหลังจากที่เขากลับมาอาศัยยังเมืองพรอวิเดนซ์ บ้านเกิดและสถานที่ซึ่งเขาคุ้นเคยอีกครั้ง  

     ผลงานอันน่าจดจำที่ว่าก็เช่น สีสันจากห้วงอวกาศ (The Colour Out of Space, 1927) เงาทมิฬเหนืออินส์เมาธ์ (The Shadow Over Innsmouth, 1931) เทือกเขาแห่งความวิปริต (At the Mountains of Madness, 1936) เสียงกระซิบในเงามืด (The Whisperer in Darkness, 1931)  หรือ ผู้มาหลอกหลอนในความมืด (The Haunter of the Dark, 1936)

     อีกหนึ่งสิ่งที่น่าสนใจและยอดเยี่ยมเกี่ยวกับเลิฟคราฟท์คือเขามีเพื่อนที่ติดต่อกันทางจดหมายมากมาย เขาเขียนจดหมายเป็นจำนวนมากนับรวมๆ ได้อย่างน้อยก็เกือบจะแสนฉบับ โดยเพื่อนทางจดหมายหลายคนของเขาคือนักเขียนนิยายและเรื่องสั้นแนวประหลาดเช่นเดียวกัน ซึ่งหลายท่านในกลุ่มนี้ก็เป็นนักเขียนชื่อดังอย่างเช่น โรเบิร์ต อี. ฮาวเวิร์ด (Robert E. Howard) ผู้เขียน โคแนนยอดคนเถื่อน (Conan The Barbarian, 1955), คลาร์ก แอชตัน สมิธ (Clark Ashton Smith) ผู้ให้กำเนิดเทพจากต่างโลกในตำนานคธูลูอีกหลายนาม, โรเบิร์ต บล็อช (Robert Bloch) ผู้เขียน ไซโค (Psycho, 1959) และนักเขียนท่านอื่น ๆ อีกมากเกินกว่าที่จะสามารถเอ่ยนามได้หมด

     เลิฟคราฟท์ไม่มีปัญหาที่จะให้นักเขียนท่านอื่นๆ หยิบยืมแนวคิดของตนไปสร้างเรื่องราวของตัวเองขึ้นมา ตำนานคธูลู (Cthulhu Mythos) จึงเป็นเหมือนกับจักรวาลขนาดใหญ่ที่ถูกต่อเติมเสริมแต่งโดยนักเขียนหลายท่าน และมันก็ยังคงใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ราวกับไม่รู้จบจนถึงปัจจุบัน แม้เหล่าเทพและตัวประหลาดชื่อดังอาจจะมีไม่มากนัก แต่จักรวาลสยองนี้ก็เป็นเหมือนหลุมกระต่ายที่คุณสามารถทิ้งตัวดิ่งลงไปและมั่นใจได้เลยว่าจะไม่มีวันเห็นจุดสิ้นสุด

     เลิฟคราฟท์อาจจะทิ้งเรื่องราวและแนวคิดอันยอดเยี่ยมเอาไว้มากมาย ทว่างานเขียนก็มิได้สร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับเขาสักเท่าไหร่ เขาต้องใช้ชีวิตอย่างอดมื้อกินมื้อ (เหตุผลส่วนหนึ่งก็เพราะเขาเอาเงินไปซื้อหมึกและกระดาษเพื่อเขียนจดหมาย) จนกระทั่งเขาลาจากโลกไปด้วยโรคมะเร็งลำไส้เล็กในวันที่ 15 มีนาคม ปี 1937 ด้วยวัยเพียงแค่ 46 ปีเท่านั้น

     ไม่ว่าจะอย่างไร เมล็ดพันธุ์สยองขวัญที่เลิฟคราฟท์หว่านทิ้งเอาไว้ก็งอกเงยอย่างงดงามหลังจากที่เขาได้ลาจากไปนานหลายทศวรรษ มีสิ่งที่ได้ก่อกำเนิดขึ้นโดยได้รับอิทธิพลจากเขาหลบซ่อนอยู่ทุกที่ (เหตุก็เพราะคุณเลิฟคราฟท์ได้จากเราไปนานเสียจนทำให้ผลงานของเขาได้เปลี่ยนไปกลายเป็นสาธารณสมบัติ ส่งผลให้เหล่านักสร้างสรรค์สามารถที่จะหยิบยืมเทพรวมไปถึงเหล่าอสูรกายของเขาไปใช้ได้อย่างสะดวกมือ) และผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะสนุกที่ได้อ่าน รับชม และได้เรียนรู้เกี่ยวกับจักรวาลสยองอันใหญ่ยิ่งที่นักเขียนผู้เป็นตำนานท่านนี้ได้มอบเอาไว้ให้กับเรา