Thu 20 Jul 2023

WHEN A STORY IS BEST TOLD BACKWARDS

การเล่าเรื่องแบบย้อนกลับในหนัง ‘MEMENTO’ ของคริสโตเฟอร์ โนแลน

ภาพ: ms.midsummer

     กรกฎาคม ปี 1997 คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) ในวัย 27 ปี ตัดสินใจว่าจะย้ายจากชิคาโกไปอยู่แอลเอ เพื่อโอกาสความก้าวหน้าในวิชาชีพผู้กำกับหนัง เขาเลือกวิธีเดินทางด้วยการขับรถข้ามรัฐ โดยมีโจนาธาน น้องชายซึ่งยังเป็นนักศึกษาในตอนนั้นร่วมเดินทางไปด้วย 

     ระหว่างการเดินทางกว่าสองพันไมล์ โจนาธานเล่าไอเดียของเรื่องสั้นที่กำลังเขียนให้พี่ชายฟัง พล็อตเกี่ยวกับชายคนหนึ่งผู้พยายามสืบหาตัวคนร้ายที่ฆ่าข่มขืนภรรยาของเขา แต่ปัญหาของชายคนนั้นคือตัวเขาถูกทำร้ายร่างกายจากเหตุการณ์เดียวกัน และผลกระทบจากเหตุการณ์นั้นทำให้เขามีภาวะความจำเสื่อม สมองไม่อาจจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นได้ เขาต้องใช้วิธีการจดบันทึก ใช้กล้องโพลารอยด์ หรือแม้แต่สักข้อความไว้ตามร่างกายเพื่อช่วยในการจดจำ เก็บทุกข้อมูลที่จำเป็นในการตามล่าหาตัวคนร้าย

     โนแลนซึ่งเป็นผู้กำกับหน้าใหม่ไฟแรงในตอนนั้นชื่นชอบไอเดียดังกล่าวเป็นอย่างมาก เขาขออนุญาตน้องชายเพื่อเอาไอเดียนี้ไปลองเขียนเป็นบทหนัง และเมื่อโจนาธานตอบตกลง สคริปต์ของ Memento (2000) ก็เริ่มต้นขึ้น

     สิ่งที่โนแลนสนใจไม่ใช่เรื่องที่ว่าใครคือคนร้าย หรือชายคนดังกล่าวจะตามล่าล้างแค้นสำเร็จหรือไม่ โนแลนสนใจสภาวะที่ตัวละครเอกต้องเผชิญ อาการความจำเสื่อมแบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) ส่งผลให้ตัวละครพร้อมจะหลงลืมเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่ปัญหาก็คือจะทำอย่างไรให้คนดูเข้าใจสภาวะเหล่านั้น โนแลนพยายามคิดหาวิธีเล่าผ่านมุมมองบุคคลที่ 1 โดยที่ยังสามารถทำให้คนดูรู้สึกมีส่วนร่วมไปกับอาการความจำเสื่อมของตัวเอกได้

     และวิธีการที่โนแลนใช้ก็คือ การเล่าเรื่องแบบย้อนกลับ

     ความเป็นคนถนัดซ้ายของโนแลน ทำให้เขามักเปิดอ่านนิตยสารจากปกหลังกลับมาปกหน้า เพราะถือถนัดมือกว่า เขาจึงหยิบวิธีการอ่านของตัวเองมาปรับใช้กับการเล่าเรื่องของ Memento กล่าวคือแทนที่จะเล่าเรื่องแบบตามลำดับทั่วไปจาก 1 ไปหา 10 เขาเลือกที่จะเล่าจาก 10 แล้วย้อนกลับมาหา 1 เพื่อทำให้คนดูตกอยู่ในสภาวะอาการเดียวกับตัวเอกของเรื่อง 

     Memento เปิดเรื่องด้วยการที่ เลนเนิร์ด (รับบทโดย กาย เพียร์ซ) สังหารชายคนหนึ่ง เรายังไม่เห็นว่าชายคนนั้นเป็นใคร หรือมีความสัมพันธ์อย่างไรกับเลนเนิร์ดกันแน่ จนกระทั่งหนังย้อนกลับไปเล่าเหตุการณ์เมื่อไม่กี่นาทีก่อนว่าเกิดอะไรขึ้น เล่าว่าเลนเนิร์ดกับชายคนนั้นมาถึงที่เกิดเหตุได้อย่างไร และเหตุใดเขาจึงคิดว่าชายคนนี้คือคนร้ายที่เขาตามหาตัวมาโดยตลอด

     จากนั้นหนังก็ย้อนกลับไปเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นอีก เล่าว่าเขาได้เบาะแสมายังไง รวมถึงเล่าว่าเขาปะติดปะต่อเชื่อมโยงเบาะแสเหล่านั้นเข้ากับชุดข้อมูลที่มีอยู่ ทั้งรูปถ่ายและรอยสักบนร่างกายแบบไหน 

     โนแลนใช้การเล่าเรื่องแบบย้อนกลับไปเรื่อยๆ เพื่อให้คนดูตกอยู่ในสภาวะไร้ความทรงจำแบบเดียวกับเลนเนิร์ด ทุกครั้งที่เริ่มซีเควนซ์ใหม่ เลนเนิร์ดจะถามตัวเองเสมอว่ากำลังทำอะไรอยู่ เพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเองมาอยู่ ณ สถานที่นี้ได้ยังไง หรือไม่รู้จักบุคคลที่กำลังพูดคุยกับเขาแม้แต่น้อย เราจะได้รับรู้ข้อมูลไปพร้อมๆ กับเลนเนิร์ดก็ต่อเมื่อมีคนอื่นบอกเขาว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น หรือจนกว่าเขาจะหยิบรูปถ่ายและข้อมูลที่จดไว้ก่อนหน้านี้ออกมาปะติดปะต่อเชื่อมโยงเรื่องราวเอาเอง 

     “สำหรับ Memento ความตั้งใจของเราคือการปิดกั้นข้อมูลจากมุมมองของตัวละครให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เช่น เมื่อเขา (เลนเนิร์ด) เดินเข้าไปในห้องๆ หนึ่ง คุณจะเฝ้ารอว่ามีอะไรเกิดขึ้นบ้าง คุณจะสำรวจรอบๆ ห้องไปพร้อมกันกับเขา” 

     การเล่าเรื่องแบบย้อนกลับ ไม่เพียงเปิดโอกาสให้คนดูได้เห็นสิ่งเดียวกับที่เลนเนิร์ดเห็น เข้าอกเข้าใจความรู้สึกที่เลนเนิร์ดกำลังเผชิญ แต่ช่องว่างของความทรงจำในแต่ละซีนยังเปิดโอกาสให้โนแลนบิดผันสร้างสรรค์เรื่องราวความเป็นไปได้ที่มากไปกว่าพล็อตแบบหนังล้างแค้นทั่วไป 

     ความน่าสนใจของ Memento ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป แต่อยู่ที่ว่ามันเกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้ เลนเนิร์ดบอกว่าความทรงจำเป็นสิ่งที่บิดเบือนแปรผันได้ เขาเชื่อถือข้อมูลจากบันทึกหรือรูปถ่ายมากกว่า แต่คำถามก็คือข้อมูลเหล่านั้นเชื่อถือได้จริงๆ หรือ

     ความเหนือชั้นของ Memento คือโนแลนไม่ได้เล่าเรื่องแบบย้อนกลับเท่านั้น แต่ยังใส่อีกเส้นเรื่องคู่ขนาน ที่เล่าแบบปกติจาก 1 ไปหา 10 กล่าวคือหนังมีสองไทม์ไลน์ที่เล่าสวนทางกัน และตัดสลับกันไปมา โดยเส้นเรื่องที่เล่าย้อนกลับจะเป็นภาพสี ส่วนเส้นเรื่องที่เล่าแบบปกติจะเป็นภาพขาวดำ 

     แรกทีเดียวดูเหมือนจุดประสงค์ของเส้นเรื่องแบบปกติจะถูกวางไว้เพื่อคั่นจังหวะไม่ให้คนดูสับสนหรือเหนื่อยล้าเกินไปกับการเล่าเรื่องแบบย้อนกลับครั้งแล้วครั้งเล่า เพราะมันดูเป็นเรื่องราวที่ไม่สลักสำคัญหรือเกี่ยวข้องกับเส้นเรื่องหลักเท่าไร ทว่า เมื่อเรื่องราวดำเนินไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าโนแลนหยอดปริศนามากมายทิ้งไว้ตามรายทางของทั้งสองไทม์ไลน์ ก่อนจะเฉลยคลี่คลายในตอนท้ายว่าทั้งสองไทม์ไลน์นี้เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันอย่างไร

     แม้การเล่าเรื่องที่เล่นกับเวลาดูเหมือนจะเป็นงานยากในขั้นตอนการเขียนสคริปต์ แต่มันกลับเป็นงานถนัดของโนแลน ดังจะเห็นได้จากหนังหลายๆ เรื่องของเขาที่มักมีพล็อตหรือลูกเล่นเกี่ยวกับเงื่อนไขของเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง ทั้งใน Inception (2010), Interstellar (2014), Tenet (2020) หรือกระทั่ง Dunkirk (2017) ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอพยพทหารอังกฤษและฝรั่งเศสออกจากชายหาดเมืองดันเคิร์ก ซึ่งดูเป็นเรื่องราวที่ไม่ซับซ้อนเท่าไร โนแลนก็ยังใช้การเล่าเหตุการณ์จากสามมุมมองและสามช่วงเวลาตัดสลับกันไป เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้กับหนัง

     และแทนที่จะใช้การเขียนเอาต์ไลน์เพื่อวางเค้าโครงเรื่อง โนแลนเลือกวิธีการที่ต่างออกไป เขาใช้การวาดแผนผัง ลากเส้นโยงรายละเอียดในแต่ละจุดของเรื่องราว เพื่อให้เห็นภาพรวมของเส้นเรื่องทั้งหมด

     “สิ่งที่ผมทำคือวาดแผนผังไว้หลายๆ อัน โดยเฉพาะถ้าเป็นเรื่องราวที่มีโครงสร้างซับซ้อน ผมจะวาดแผนผังแปะไว้จนเต็มผนังห้องเลย”

     เพราะเมื่อมีแผนผังโครงสร้างของหนัง ก็ทำให้ขั้นตอนที่เหลือเป็นเรื่องง่ายขึ้น โนแลนบอกว่าเขาต้องการเขียนสคริปต์ของ Memento โดยเริ่มจากช็อตแรกของหนังไปหาช็อตสุดท้ายเพื่อให้ได้ความรู้สึกแบบเดียวกับคนดู จากนั้นก็ลองลำดับเรื่องราวย้อนกลับไปมาเพื่อตรวจเช็กความสมเหตุสมผล รวมถึงลองเขียนสคริปต์ออกมาอีกหลายๆ ดราฟต์ จนกว่าจะแน่ใจว่าได้ดราฟต์ที่ดีที่สุด

     “หน้าที่ของผมในฐานะคนเขียนบทและผู้กำกับ คือการพยายามมองจากมุมมองของฝั่งคนดู ผมจึงเขียนสคริปต์โดยเริ่มจากหน้าแรกไปจนถึงตอนจบ โดยที่พยายามคิดว่าตัวเองเป็นคนดูไปด้วยขณะที่เขียน”

     สคริปต์ดราฟต์แรกของ Memento มีความยาวถึง 170 หน้า และเต็มไปด้วยความซับซ้อนของเรื่องราว ก่อนที่โนแลนจะปรับแก้จนลดลงมาเหลือ 127 หน้า โดยตัดรายละเอียดหลายๆ อย่างออกไปเพื่อให้เหมาะสมกับทุนสร้างของหนัง (9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) เช่น ตัดตัวละครบางตัว หรือลดจำนวนโลเคชั่น (ในสคริปต์เวอร์ชั่นดั้งเดิม เลนเนิร์ดเปลี่ยนโรงแรมที่พักไปถึงสามแห่ง แต่ในหนัง เขาพักอยู่ที่โรงแรมเดิมตลอดทั้งเรื่อง) 

     อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นความประนีประนอมที่สุดแล้วของโนแลนในฐานะคนเขียนบทหนัง เพราะเมื่อพูดถึงเรื่องความซับซ้อนของเรื่องราว โดยเฉพาะวิธีการเล่าเรื่อง โนแลนได้ชื่อว่าเป็นคนทำหนังที่ท้าทายสมองของคนดู จนต้องหวนกลับไปดูซ้ำเพื่อทำความเข้าใจอีกรอบเสมอ

     “ผมพิถีพิถันมากในการทำหนัง” โนแลนว่า “ผมอยากทำหนังที่เรียกร้องการดูซ้ำเป็นรอบที่สอง และหวังว่าคุณจะรู้สึกอยากกลับมาดูซ้ำรอบสองจริงๆ

     “ผมเติบโตมาในยุคที่คนมักจะดูหนังกันมากกว่าหนึ่งรอบ ผมรู้สึกถึงความรับผิดชอบในการสร้างผลงานที่ไม่ใช่แค่เรื่องราวจะสอดคล้องกันมากขึ้น หรือสมเหตุสมผลมากขึ้นในการดูรอบที่สอง แต่มันยังให้ประสบการณ์ที่ต่างออกไปในการดูแต่ละครั้งด้วย”

อ้างอิง

indiewire.com/features/general/christopher-nolan-remembers-memento-26713/
creativescreenwriting.com/remembering-where-it-all-began-christopher-nolan-on-memento/
freshmenscreenplay.com/christopher-nolans-writing-process/
medium.com/@parvez__/creative-process-of-christopher-nolan-part-1-bc4aba19c534
youtube.com/watch?v=67e_jl4flpE
youtube.com/watch?v=VuCtOm39eEI&t=295s
youtube.com/watch?v=0GH8hMQAb2w
youtube.com/watch?v=6pFrZ-91lFg
youtube.com/shorts/TqO0nfiO9RQ