Mon 24 Oct 2022

MIRANDA JULY

ศิลปินมากความสามารถ ผู้รักความปกติธรรมดาของชีวิต

ภาพ: ms.midsummer

1

     ผมจำไม่ได้ว่า ครั้งแรกที่ได้ยินชื่อ ‘มิแรนดา จูลาย’ (Miranda July) คือเมื่อไหร่ เป็นไปได้ว่าคงเป็นหลักสิบปีขึ้นไป ย้อนกลับไปสู่สมัยมหา’ลัยที่ผมเพิ่งจะเคยได้ยินคำว่า ‘ฮิปสเตอร์’ เป็นครั้งแรก

     คงไม่ต้องมานั่งเสียเวลาอธิบายว่าฮิปสเตอร์คืออะไร เพราะเชื่อว่าผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับคำนี้ดีอยู่แล้ว เพียงแต่หากจะรำลึกความหลังสักเล็กน้อย ความเข้าใจที่ผมมีต่อคำนี้ในช่วงแรกๆ ดูจะยึดโยงอยู่กับ ‘รสนิยม’ เป็นหลัก 

     รสนิยมที่ว่านี้ก็มีพิมพ์เขียวกำหนดไว้คร่าวๆ เช่น ฮิปสเตอร์จะต้องดูหนังของผู้กำกับ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ฮิปสเตอร์จะต้องเล่นกล้องฟิล์ม และฮิปสเตอร์จะต้องอ่านงานของนักเขียนอย่าง เดวิด ฟอสเตอร์ วอลเลซ (David Foster Wallace), เจ. ดี. ซาลินเจอร์ (J. D. Salinger) และมิแรนดา จูลาย

     ด้วยความอยากเป็นฮิปสเตอร์กับเขาบ้าง นั่นเลยเป็นสาเหตุให้ผมไปหาภาพยนตร์ของเวส แอนเดอร์สัน มาดู ไปซื้อกล้องฟิล์มมาลองถ่ายอย่างไม่ค่อยจะรู้เรื่องรู้ราว แล้วก็แน่นอนว่าผมพยายามไปหาหนังสือของนักเขียนเหล่านั้นมาอ่าน ปัญหาก็คือ ผมอ่าน Infinite Jest ไม่รู้เรื่อง ส่วน The Catcher in the Rye ก็จูนไม่ค่อยจะติดนัก แต่ผมกลับตกหลุมรัก No One Belongs Here More Than You เข้าอย่างจัง 

     “Who is Miranda July?” ผมเสิร์ชประโยคนี้กับกูเกิล หลังจากอ่านเรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้ไปประมาณสองตอน

2

     การจะนิยามว่ามิแรนดา จูลาย เป็นใครนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมผมจึงตั้งชื่อบทความนี้ว่า ‘หลายใบหน้า’ 

     ในวิกิพีเดีย ลิสต์ว่าจูลายคือผู้กำกับภาพยนตร์ชาวอเมริกัน นักเขียนบท นักร้อง นักแสดง และนักเขียน อีกทั้งเมื่อปีที่ผ่านมาเรายังมีโอกาสได้เห็นเธอไปปรากฏกายบนรันเวย์ของแบรนด์ดังอย่าง Gucci อีกด้วย 

     แน่นอนว่าผมคงไม่สามารถบอกเล่าเรื่องราวของจูลายในหมวกใบต่างๆ ได้อย่างครบถ้วน เพราะฉะนั้น บทความนี้จึงจะพาไปทำความรู้จักสองใบหน้าที่ผมพอคุ้นเคยด้วยที่สุด นั่นคือจูลายในฐานะผู้กำกับและนักเขียน แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เรามาทำความรู้จักแบ็กกราวนด์ของศิลปินหญิงมากความสามารถคนนี้กันสักหน่อยดีกว่า

     จูลายเกิดที่รัฐเวอร์มอนต์ แต่มาเติบโตที่เมืองเบิร์กลีย์ รัฐแคลิฟอร์เนีย พ่อแม่ของเธอเป็นนักเขียน และจูลายก็ดูจะได้รับอิทธิพลเรื่องการเขียนมาเต็มๆ นั่นเพราะในวัย 16 ปี จูลายได้เขียนและกำกับ The Lifers ละครเวทีเรื่องแรกในชีวิต ซึ่งสร้างขึ้นจากบทสนทนาทางจดหมายที่เธอเขียนโต้ตอบกับนักโทษคดีอุกฉกรรจ์เป็นเวลาสองปี

     หลังจากเรียนจบไฮสคูล จูลายเข้าศึกษาต่อที่ University of California, Santa Cruz ในสาขาภาพยนตร์ ก่อนจะตัดสินใจลาออกหลังจากเรียนไปได้สองปี โยกย้ายถิ่นฐานไปอาศัยอยู่ในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน และเริ่มต้นเส้นทางใหม่ในสาย performance art ซึ่งก็เป็นช่วงที่เธอย้ายมาพอร์ตแลนด์นี่เอง ที่ชื่อของเธอโด่งดังเป็นพลุแตกจากโครงการที่เธอเป็นผู้ก่อตั้งอย่าง ‘Joanie4Jackie’

     อย่างคร่าวๆ Joanie4Jackie คือชื่อของ ‘เครือข่ายหนังใต้ดิน’ (underground film network) ที่สร้างขึ้นภายใต้จุดประสงค์อยากสร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ให้เหล่าผู้กำกับและศิลปินหญิงได้ส่งต่อผลงานวิดีโอของแต่ละคน ต้องเข้าใจด้วยว่า ในปี 1995 ที่จูลายเริ่มต้นโครงการนี้ขึ้นมา แพลตฟอร์มวิดีโออย่างยูทูบยังไม่ถือกำเนิด เช่นเดียวกับที่ฮอลลีวูดเองก็ยังไม่ให้ความสำคัญกับผู้กำกับผู้หญิงสักเท่าไหร่ ในแง่นี้ ไม่เพียงแต่ Joanie4Jackie จะมุ่งมั่นสานความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำกับหญิงด้วยกันเท่านั้น หากโครงการนี้ยังเป็นเสมือนการวิพากษ์ฮอลลีวูดในฐานะพื้นที่แห่งความไม่เท่าเทียมทางเพศ

     “ตอนนั้นฉันยังไม่มีหนังเป็นของตัวเอง แล้วฉันก็รู้สึกว่าต้องการใครสักคนที่จะมาเป็นต้นแบบให้กับฉันได้ ฉันก็เลยทำแผ่นพับขึ้นมาเพื่อเชิญชวนผู้หญิงหลายๆ คนให้ส่งหนังของตัวเองมา แล้วฉันก็จะส่งคืนเทปพร้อมกับหนังของผู้กำกับหญิงคนอื่นๆ ตอนนั้นการจะมีโอกาสได้ดูหนังของกันและกันยังไม่ใช่เรื่องง่าย มันยังไม่มียูทูบด้วยซ้ำ สำหรับฉัน การได้รับรู้ว่ายังมีผู้กำกับหญิงคนอื่นอยู่อีกเปลี่ยนแปลงตัวฉันไปมากจริงๆ” จูลายเล่าในบทสัมภาษณ์กับนิตยสาร ELLE

     โครงการ Joanie4Jackie ได้รับความร่วมมืออย่างล้นหลาม มีวิดีโอกว่าสองร้อยชิ้นจากผู้กำกับหญิงทั่วอเมริกาส่งมาถึงจูลาย ผลงานเหล่านั้นถูกรวบรวมอยู่ในเทปกว่ายี่สิบสองม้วน และในเวลาต่อมา ถูกนำออกเดินทางไปจัดแสดงในแกลเลอรีทั่วโลก ชื่อของจูลายกลายเป็นที่รู้จักในฐานะศิลปินหญิงผู้น่าจับตาที่สุดคนหนึ่ง 

     Joanie4Jackie กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจูลาย ก่อนที่ในเวลาต่อมา เธอจะกลายมาเป็นเจ้าแม่แห่งวงการฮิปสเตอร์

3

     แม้จูลายจะได้ชื่อว่าเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ก็จริง ทว่านับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน เธอกลับกำกับภาพยนตร์เพียงแค่สามเรื่องเท่านั้น นั่นคือ Me and You and Everyone We Know (2005) The Future (2011) และ Kajillionaire (2020)

     มองเผินๆ 17 ปีกับภาพยนตร์เพียงแค่สามเรื่องอาจจะฟังดูน้อยไปบ้าง แต่ในบทสัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Talk ผู้กำกับสาวได้กล่าวถึงกฎของเธอที่ว่า หลังจากเธอเขียนหนังสือเสร็จสักเล่มหนึ่ง เธอถึงจะกำกับภาพยนตร์ แล้วหลังจากที่เธอกำกับภาพยนตร์เสร็จเรื่องหนึ่ง เธอก็จะเขียนหนังสือ 

     “มันเป็นเพราะว่าการทำอะไรพวกนี้ใช้เวลามหาศาล สมมติถ้าว่าฉันต้องกำกับภาพยนตร์สองเรื่องติดต่อกัน ฉันก็คงสูญเสียความคล่องแคล่วในฐานะนักเขียนไป ไม่รู้สิ มันไม่ใช่ว่าจะมีใครสักคนมาขโมยไพ่นักเขียนของคุณไปหรอกถ้าคุณไม่ผลิตผลงานอะไรสักอย่าง แต่เพราะฉันมีส่วนร่วมอยู่กับโลกนั้น วัฒนธรรมนั้น แล้วมันก็เป็นเรื่องของระดับความคิดสร้างสรรค์ที่ฉันไม่อยากจะสูญเสียมันไปด้วย”

     พูดอีกอย่างคือจูลายเองก็ไม่อยากจะสร้างสรรค์ผลงานภายใต้ ‘สื่อ’ (medium) เดิมๆ ซ้ำๆ ติดต่อกันตลอดเวลา นั่นจึงเป็นคำอธิบายว่า ถึงแม้ปริมาณภาพยนตร์ของเธอจะไม่เยอะ ทว่าในช่องว่างระหว่างภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ศิลปินสาวก็ยังคงผลิตผลงานอยู่เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสั้น หนังสั้น นวนิยาย ไปจนการแสดง

     ภาพยนตร์ของจูลายสะท้อนให้เห็นจุดร่วมบางอย่างที่น่าสนใจ ซึ่งจะว่าไปก็อาจเรียกได้ว่าเป็นประเด็นที่ต่อยอดมาจากโครงการ Joanie4Jackie ของเธอ

     แคธลีน เอ. แม็คฮิวจ์ (Kathleen A. McHugh) ผู้เขียนบทความวิชาการ Miranda July and The New Twenty-First-Century Indie ชี้ให้เห็นว่า หนึ่งในประเด็นที่จูลายดูจะให้ความสนใจอยู่เสมอคือ ‘สภาพแวดล้อมทางสายตาร่วม’ (shared visual environment) หรือพูดอีกอย่างคือ พื้นที่ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นบ้าน อพาร์ตเมนต์ รถยนต์ สถานที่ทำงาน โรงเรียน ชุมชน พิพิธภัณฑ์ศิลปะ และอินเทอร์เน็ต

     พื้นที่เหล่านี้เองที่จูลายได้ถักทอเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครต่างๆ ที่แสนจะสามัญในภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเซลส์ขายรองเท้าพ่อหม้ายลูกสองกับคนขับแท็กซี่และศิลปินฝึกหัดใน Me You and Everyone We Know หรือใน The Future ที่ฉายภาพความสัมพันธ์ของคู่รักวัยสามสิบกว่า ที่คนหนึ่งเป็นคุณครูสอนเต้น ส่วนอีกคนเป็นพนักงานไอที ความธรรมดาสามัญของชีวิตทำนองนี้เองที่จูลายมองว่ามักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว มันมีบางอย่างที่น่าสนใจซุกซ่อนอยู่ “ฉันคิดว่า มันมีบางอย่างที่พิเศษมากๆ หลบซ่อนอยู่ในฉากชีวิตประจำวันที่แสนจะดาษดื่นนะ” จูลายเล่าในบทสัมภาษณ์หนึ่ง

     จูลายให้ความสนใจในชีวิตธรรมดาถึงระดับที่ว่า ในปี 2008 ขณะที่เธอกำลังตื้อตันกับการเขียนบทภาพยนตร์เรื่องที่สองนั้น อยู่ๆ ก็เกิดไอเดียโทรศัพท์ไปคุยกับคนแปลกหน้าเพื่อจะขอสัมภาษณ์ชีวิตของพวกเขา

     “ฉันไม่อยากกลับไปยังคอมพิวเตอร์ ไม่ใช่แค่เพราะเรื่องบทหรอก แต่อินเทอร์เน็ตก็ด้วย มันกัดกินฉันมากๆ ตอนนั้นฉันเลยตัดสินใจหยิบโทรศัพท์ขึ้นมา กดเบอร์ที่ฉันเห็นบนใบปลิวขายสินค้า แล้วบอกกับปลายสายว่า ‘ฉันอยากจะขอสัมภาษณ์คุณเกี่ยวกับชีวิต และทุกอย่างเกี่ยวกับคุณสักหน่อยค่ะ แน่นอนว่าฉันจะจ่ายค่าเสียเวลาให้แน่ๆ’”

     เรื่องราวของคนแปลกหน้าเหล่านั้นไม่เพียงจะกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของบทภาพยนตร์เรื่อง The Future หากจูลายได้ต่อยอดมันจนออกมาเป็นหนังสือ It Chooses You ที่บันทึกฉากชีวิตธรรมดาซึ่งเธอได้รับรู้จากบทสนทนากับเหล่าบุคคลที่ไม่รู้จัก

     จะเห็นได้ว่า ผลงานของจูลายสลับสับเปลี่ยนกันไปมา และไม่ได้จำกัดว่าจุดหมายปลายทางของการทำงานอย่างหนึ่ง จะต้องลงเอยที่ผลลัพธ์เดียวเสมอไป โดยที่เรื่องราวของผู้คนเหล่านี้ที่ดำเนินชีวิตอยู่ใน ‘สภาพแวดล้อมทางสายตาร่วม’ ที่ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างคนดูกับผลงานได้อย่างแนบสนิท นั่นเพราะตัวละครในเรื่องราวของเธอก็เป็นปุถุชนคนธรรมดา ที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมซึ่งไม่ต่างอะไรกับเรานัก

     นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเราจะรู้สึกร่วมกับบรรดาตัวละครของจูลาย เพราะพวกเขาต่างก็เป็นคนธรรมดาที่ประดักประเดิด เงอะงะงุ่มง่าม ตัดสินใจผิดพลาดอยู่บ่อยครั้ง ตัวละครที่เราจะสามารถสวนทางกับพวกเขาได้ง่ายๆ ในชีวิตประจำวัน 

     ตัวละครที่เรารับรู้ได้ว่าพวกเขาก็เป็นมนุษย์คนหนึ่งเหมือนกัน เหมือนอย่างเช่นพวกเรา

4

     No One Belongs Here More Than You คือรวมเรื่องสั้นเล่มดังที่ส่งให้ชื่อของจูลายเป็นที่พูดถึงในวงการนักเขียน ซึ่งก็เช่นเดียวกับภาพยนตร์ที่เธอเขียนบทและกำกับ หนังสือเล่มนี้พาเราไปทำความรู้จักตัวละครที่ต่างก็ล้มเหลวและผิดหวัง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวของคนงานแก่ๆ ในโรงงาน ความวุ่นวายของสองเพื่อนสาวที่เพิ่งจะย้ายจากชนบทไปอาศัยในเมืองใหญ่ เรื่องราของหลายชีวิตที่วุ่นวาย เพ้อฝัน และมัวหม่นจากการเกิดมาเป็นคนธรรมดา

     ผมคงไม่เล่าว่าเรื่องสั้นแต่ละเรื่องในหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไรบ้าง ด้วยคิดว่ามันน่าจะเข้าท่ากว่าหากปล่อยให้ผู้อ่านได้ค้นพบความพิศวงของ No One Belongs Here More Than You ด้วยตัวเอง อย่างไรก็ตาม ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและคล้ายจะปรากฏอยู่ในหลายๆ ผลงานของจูลายคือ การเลือกใช้สรรพนาม (pronoun) อย่าง I, We และ You ในการตั้งชื่ออยู่บ่อยๆ

     No One Belongs Here More Than You และ It Chooses You ต่างก็มี ‘You’ ปรากฏในชื่อเรื่อง หรืออย่าง Me You and Everyone We Know ที่มี ‘Me’ ‘You’ และ ‘We’ อย่างครบครัน ไม่เพียงเท่านั้น คำถามคือ สรรพนามเหล่านี้กำลังบอกอะไรอยู่

     ในบทสัมภาษณ์หนึ่ง จูลายเล่าว่า “ฉันพยายามอย่างมากที่จะให้คนคนหนึ่งรู้สึกว่า ฉันสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อพวกเขา ฉันเลยคิดว่า ถ้าฉันใส่คำว่า ‘you’ ลงไปในประโยคมันจะช่วยให้เขารู้สึกว่า ฉันกำลังพูดกับเขาอยู่” 

     ในแง่นี้ ชื่อเรื่องของเธอจึงพยายามสร้างความรู้สึก ‘ใกล้ชิด’ (intimate) ให้กับคนอ่านนั่นเอง ถึงตรงนี้หากเราลองเชื่อมโยงกลับไปยังประเด็น ‘สภาพแวดล้อมทางสายตาร่วม’ ก็ยิ่งจะชัดเจนว่า การสร้างบรรยากาศของความใกล้ชิดระหว่างผลงานและผู้เสพผลงานจึงเป็นจุดร่วมที่เห็นได้ชัดในผลงานของจูลาย

     ภายใต้การสร้างความใกล้ชิดของภาษาและการสร้างความรู้สึกร่วมผ่านพื้นที่ในชีวิตประจำวัน ผมคิดว่าสิ่งที่จูลายอยากจะชี้ชวนให้เห็นนั้นคือความพิเศษของการเป็นคนตัวเล็กตัวน้อยที่แสนธรรมดา เพราะแม้ว่าคุณจะเป็นเจ้าหน้าที่โอเปอเรเตอร์ พนักงานบัญชี หรือแคชเชียร์ในซูเปอร์มาร์เก็ตที่รู้สึกว่า ชีวิตของฉันช่างไม่สลักสำคัญเพียงใด จูลายก็พร้อมจะบอกกับคุณด้วยน้ำเสียงที่เชื่อมั่นว่า อย่าได้ทำหน้าจ๋อยหรือรู้สึกไร้ค่าไปเลย เพราะทุกชีวิตล้วนมีเรื่องราวที่น่าสนใจ และมีคุณค่าในตัวเอง

     ก็อย่างที่ชื่อหนังสือของจูลายบอกไว้อย่างอบอุ่นใจนั่นแหละว่า 

     ‘ไม่มีใครควรอยู่ตรงนี้เท่ากับคุณอีกแล้ว’

อ้างอิง

elle.com/culture/books/reviews/a19769/only-connect/

• McHugh A. Kathleen. Miranda July and the New Twenty-first-century. Indie Reframed: Women’s Filmmaking and Contemporary American Independent Cinema. 2016. Edinburgh University Press.