MITR-THOLOGY
เรื่องราวของพระเอกหนังไทยตลอดกาลที่ถูกนำมาเล่าในนิทรรศการที่เปิดเปลือยชีวิตแทบทุกแง่มุม
เรื่อง: ชาญชนะ หอมทรัพย์
ภาพ: NJORVKS
บทเรียนประวัติศาสตร์บ้านเรามักถูกทำให้เป็นเรื่องน่าเบื่อ เหตุการณ์สำคัญๆ ที่ส่งผลสะเทือนสังคมอย่างรุนแรงในช่วงเวลาของมันมักถูกย่อยให้เหลือแค่บรรทัดเดียว จนไม่เห็นความสำคัญของเหตุการณ์นั้นๆ ทั้งที่บางเหตุการณ์อาจจะเปลี่ยนความคิด ความรับรู้ บางเหตุการณ์อาจสร้างสิ่งใหม่ บางเหตุการณ์อาจเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ ของประวัติศาสตร์ที่มีความเชื่อกันว่า ถ้า ‘ไม่เกิด’ เหตุการณ์ดังกล่าวนั้น ปัจจุบันก็อาจเปลี่ยนไปอีกแบบ
หนึ่งในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ที่เป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญของสังคมไทยในเชิงวัฒนธรรมบันเทิง คือการเสียชีวิตของ ‘มิตร ชัยบัญชา’
ผมผู้เกิดไม่ทันช่วงชีวิตของมิตร ชัยบัญชา และการที่บทเรียนประวัติศาสตร์บ้านเราไม่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์บันเทิงเอาเสียเลย กว่าจะรู้จักมิตรก็ปาเข้าไปครึ่งชีวิตวัยรุ่นแล้ว ประวัติศาสตร์หนังไทยในบทเรียนบอกไว้เพียงว่า “การตายของมิตรทำให้ยุคของหนัง 16 มิลลิเมตรจบลง และเปิดศักราชสู่การสร้างหนัง 35 มิลลิเมตรตามมาตรฐานสากล”
ทำไมมิตรจึงเป็นดาราคนเดียวที่มีอิทธิพลต่อประวัติศาสตร์ขนาดนั้น ถึงขนาดที่ว่า ความตายของเขาในวันที่ 8 ตุลาคม 2513 ทำให้วงการหนังไทยถึงกับเปลี่ยนไปตลอดกาล…
คำตอบนี้อยู่ในนิทรรศการ ‘มิตรศึกษา’ ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคมที่ผ่านมานี้ครับ
คืนชีวิตให้มิตรใน ‘มิตรศึกษา Mitr-Mythology’
นิทรรศการนี้จัดขึ้นที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จังหวัดนครปฐม โดยใช้ห้องจัดแสดงนิทรรศการบนชั้น 3 อาคารสรรพสาตรศุภกิจ หรืออาคาร ‘ซีเนมาเทค’ อาคารแห่งนี้เป็นศูนย์รวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ไทยแห่งใหม่ และงาน มิตรศึกษา ถือเป็นงานไฮไลต์เปิดตัวในส่วนการจัดแสดงนิทรรศการเต็มรูปแบบครั้งแรก
ความน่าสนใจคือการเรียนรู้มิตรในนิทรรศการนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่การจัดข้าวของเก่า เสื้อผ้าจากหนัง หรือมีหนังบางส่วนให้ได้ชม แต่ยังมีข้อมูลแวดล้อมที่ทำให้เราเข้าใจมิตร ชัยบัญชา ในฐานะสัญลักษณ์ของวงการหนังไทยในอดีตมากขึ้น
เริ่มตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไปในห้องเลยครับ ด่านแรกที่ผู้ชมจะได้พบคือผนังที่เต็มไปด้วย ‘ข่าวหน้าหนึ่ง’ บนหัวหนังสือพิมพ์แทบทุกฉบับในช่วงเดือนตุลาคม 2513 อันเป็นช่วงเวลาหลังข่าวการเสียชีวิตของมิตรเป็นที่รับรู้กันทั่วประเทศ
ความน่าสนใจอยู่ที่บรรดาหน้าหนังสือพิมพ์ที่เลือกมาจัดแสดงนั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปยังการนำเสนอรายละเอียดการเสียชีวิตของพระเอกขวัญใจชาวไทยแต่อย่างใด ตรงกันข้ามหนังสือพิมพ์ส่วนใหญ่กลับเลือกนำเสนอ ‘อภินิหาร’ ของวิญญาณมิตร ชัยบัญชา ในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งการขุดคุ้ยข้อมูลชีวิตส่วนตัว ทั้งเรื่องครอบครัวและความรักที่บรรดาแฟนหนังไม่เคยรับรู้มาก่อน
ผู้เขียนเติบโตมากับชุดความเชื่อหนึ่งในวงการบันเทิง ความเชื่อที่ว่าถ้าดาราคนไหนเปิดเผยชีวิตรักส่วนตัว/ชีวิตครอบครัวแล้วล่ะก็ ความนิยมของคนคนนั้นจะลดฮวบทันที โดยเฉพาะดาราระดับแม่เหล็กพระเอก-นางเอกนั้น ต้องเก็บซ่อนเรื่องครอบครัวเอาไว้ให้พ้นหูตาสื่อมากที่สุด
เป็นไปได้ว่าสำหรับคนดูแล้ว ดาราก็คือคนที่พวกเขาเห็นบนจอเงิน พวกเขาจึงรู้สึกรักและหวงแหนคนที่อยู่ในจอ สอดคล้องกับการที่หนังไทยสมัยมิตร โดยเฉพาะตัวมิตรเองนั้น ถูกวิจารณ์ว่าแทบจะแสดงเป็นตัวเองในหนังทุกเรื่อง ดังคำกล่าวของพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรมงคลการ ผู้สร้างหนังไทยเจ้าของบริษัท ละโว้ภาพยนตร์ ที่ทรงเคยทรงกำกับมิตรในหนังทำเงินอย่าง เงิน เงิน เงิน (2508) และ อีแตน (2511)
“ที่เป็นเช่นนั้นเพราะมิตร ชัยบัญชา ไม่ใช่นักแสดง เล่นหนังเล่นละครกับใครเขาไม่เป็นทั้งนั้น เวลาเล่นหนังก็เอาตัวจริงของเขาใส่เข้าไปในหนัง จะเล่นเป็นเศรษฐี ยาจก หรือนักเรียนนอก หรือบทที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ เช่น พระลอ หรือนักร้องลูกทุ่ง บางครั้งกำลังวาดลวดลายบทรักอยู่บนเตียง จู่ๆ ก็ลุกขึ้นมาร้องเพลงอย่างนั้น ซึ่งแฟนภาพยนตร์ก็ยอมรับและพอใจ เขาเป็นเพียงมิตร ชัยบัญชา ไม่ว่าจะอยู่บทใดๆ”
ความรักในตัวดาราที่ยิ่งใหญ่เหนือกว่าชีวิตจริงของเขา ทำให้การตายของมิตรกลับกลายเป็นการ ‘คืนชีวิตจริง’ ให้แก่มิตร ตัวตนที่แฟนหนังไม่เคยรู้จักค่อยๆ ถูกนำเสนอผ่านข่าวหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ ดารา คนรอบข้าง จนถึงครอบครัวต่างพูดถึงมิตรในแง่มุมต่างๆ ทั้งด้านที่น่าฟังและไม่น่าฟังนัก ข่าวเสียๆ หายๆ สลับกับข่าวชื่นชมในคุณงามความดีทำให้ภาพข่าวหน้าหนึ่งบนฝาผนังด้านนี้ คืนความเป็นมนุษย์ให้แก่มิตร เตรียมพร้อมให้ผู้ชมเข้าไปรู้จักมิตรเพิ่มขึ้นในส่วนถัดไปของนิทรรศการ
โถงชีวิต—มิตร ชัยบัญชา
หลังผ่านทางเข้าที่เป็นกำแพงข่าวหน้าหนึ่ง ไกด์ทัวร์นิทรรศการซึ่งคอยแนะนำประวัติความเป็นมาของงานนี้รวมทั้งประวัติชีวิตมิตรคร่าวๆ จะพาเราเข้าสู่ห้องโถงใหญ่ที่ถูกจัดแบ่งเป็นโซนๆ ไว้เพื่อจัดฉาย ‘ฉากชีวิต’ หลายๆ ฉากของมิตร อาทิ
• จอ ‘รวมมิตร’ ที่ตัดเอาฉากในภาพยนตร์เรื่องเด่นของเขาหลายเรื่องมาให้เราเห็นเขา ‘มีชีวิตบนจอ’ อีกครั้ง
• นางเอกของมิตร ตั้งแต่ เรวดี ศิริวิไล, เกศริน ปัทมวรรณ, อมรา อัศวนนท์, ภาวนา ชนะจิต, พิศมัย วิไลศักดิ์ จนถึงนางเอกคู่ขวัญตลอดกาล เพชรา เชาวราษฎร์ รวมทั้ง อรัญญา นามวงศ์ นางเอกที่จะมีบทบาทสำคัญในหนังไทยช่วงยุคหลังมิตรเสียชีวิตไปแล้ว (ภายหลังอรัญญาเป็นคู่ขวัญจอเงินคู่กับ สมบัติ เมทะนี ยาวนานนับสิบปี)
• โปสเตอร์หนังเรื่องเด่นๆ ของมิตร
• โควตคำพูดคนดังที่พูดถึงมิตร อาทิ โดม สุขวงศ์ (ผู้ก่อตั้งหอภาพยนตร์), เศก ดุสิต (ผู้เขียนนิยายชุด อินทรีแดง)
• เสื้อผ้าชุดจริงที่มิตรใส่แสดง (ชุดอินทรีแดง)
• ประวัติของมิตรในเชิง ‘เกร็ด’ ที่น้อยคนนักจะรู้ อาทิ มิตรมีชื่อถึงห้าชื่อ ตั้งแต่ชื่อตอนเกิด บุญทิ้ง ระวีแสง จนถึงชื่อสุดท้ายก็คือ พิเชษฐ์ ชัยบัญชา ที่เขาใช้ในการลงสมัครเลือกตั้งผู้แทน
ในส่วนของโถงชีวิตนี้ เราจะได้รู้จักมิตรมากขึ้นจากมิติชีวิตด้านภาพยนตร์ของเขา
ตามสถิติผลงานการแสดงตลอดชีวิตเขาแล้ว ช่วงพุทธศักราช 2501-2513 มิตรมีผลงานการแสดงถึง 266 เรื่อง นึกภาพดูสิครับ ลำพังจำนวนหนังที่มิตรเล่นตลอดราว 12 ปี เฉลี่ยแล้ว มิตรจะมีหนังออกฉาย 22 เรื่องต่อปี! ในยุคที่ใครๆ ก็ลงทุนถ่ายหนังได้ จึงแข่งกันด้วยการทำเร็วเข้าว่า คิวถ่ายทำในแต่ละวันของมิตรจึงต้องเล่นหนังมากกว่าสองเรื่อง บางวันมีถึงสี่เรื่อง! คุณภาพสนุกบ้างไม่สนุกบ้าง ตามแต่คุณภาพผู้สร้างแต่ละราย บางเรื่องคนดูบ่นอุบว่าดูโปสเตอร์ยังสนุกกว่าอีก แต่พอมีหน้ามิตรอยู่ ก็เลยทำให้มีทั้งคนรักหนังไทยเพราะมิตร และมีคนเกลียดหนังไทยเพราะมิตรเช่นกัน
ถึงอย่างนั้น การเดินเล่นในห้องโถงแห่งนี้ทำให้ผู้ชมค่อยๆ รู้จักมิตรในมิติของคนทำงานมากขึ้น เขาไม่ใช่แค่ดาราที่คิดแต่จะแสดงหนังเท่านั้น แต่เขายังคิดจะเป็นผู้สร้างเองด้วยเพื่อยกระดับมาตรฐานหนังไทยให้ทัดเทียมสากลโลก หนึ่งในความทะเยอทะยานเข้าขั้นบ้าระห่ำของเขานั้นปรากฏใน อินทรีทอง (2513) ผลงานการแสดงเรื่องสุดท้ายในชีวิตของเขา ทั้งการถ่ายทำในระบบสี 35 มม.ตามมาตรฐานภาพยนตร์โลก ซึ่งนับว่าใช้เงินในการสร้างสูงกว่าการถ่ายในระบบ 16 มม.แบบเดิม มิตรกำกับการแสดงเองและนำเสนอฉากเสี่ยงตาย โดยเฉพาะฉากการโหนเฮลิคอปเตอร์เพื่อหนีตำรวจอันเป็นฉากจบเรื่อง อินทรีทอง ซึ่งถือเป็นฉากจบของชีวิตมิตรเช่นกัน
นอกจากนี้ มิตรยังเป็นคนที่สร้างมาตรฐานชายไทยในขณะนั้น ด้วยรูปร่างสูงใหญ่ อารมณ์ดี มีเสน่ห์ บู๊ถึงอกถึงใจ ชายไทยคนไหนก็ล้วนแล้วแต่อยากหล่อเท่แบบมิตร ผู้หญิงเองก็ใฝ่หาสุภาพบุรุษแบบเขา แต่ด้วยความที่หนังในยุคนั้นส่วนใหญ่ถ่ายทำด้วยกล้อง 16 มม. (เดิมถูกใช้เป็นกล้องถ่ายหนังข่าว/สารคดี ความละเอียดและขนาดเล็กกว่ากล้อง 35 มม.พอสมควร) ไม่มีการบันทึกเสียง เมื่อถ่ายมาจึงเป็นหนังใบ้ แล้วใช้วิธีจ้างนักพากย์สดในแต่ละรอบฉาย คนดูในยุคนั้นจึงแทบไม่มีใครเคยได้ยิน ‘เสียงจริงๆ’ ของมิตรเลย หากทุกคนก็จำหน้ามิตรได้แม่นแท้ เขาอยู่บนโปสเตอร์หนัง เขาอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ เขาอยู่ในหน้านิตยสาร เมื่อเขาลงเล่นการเมือง คนก็เห็นหน้าเขาบนป้ายหาเสียงผู้แทนอีก!
ห้องโถงชีวิตแห่งนี้จึงไม่ใช่แค่เพียงบอกเล่าตำนานของมิตรในฐานะนักแสดง ในฐานะคนรักหนังไทยคนหนึ่ง แต่ยังบอกเล่าในฐานะมนุษย์ที่ต่อสู้เพื่ออุดมการณ์บางอย่าง อุดมการณ์ที่ถือว่าล้ำสมัยเกินไปสักหน่อยในยุคสมัยนั้น อย่างการช่วยนักแสดงให้การแสดงเป็นอาชีพที่มั่นคง มีสวัสดิการ ได้รับการดูแลเหมือนอาชีพเฉพาะทางอื่นๆ อีกอย่างคือมิตรไม่ชอบนักการเมืองที่ใช้ดาราเป็นเครื่องมือหาเสียง เขาอยากจะยกเลิกระบบทาสนี้เสีย และทางที่มิตรเห็นว่าจะทำได้ก็คือการลงเล่นการเมืองเสียเอง โดยเริ่มจากเพื่อนๆ นอกวงการชักชวนให้ลงเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลกรุงเทพเมื่อ 1 กันยายน 2511 ถึงขนาดพักงานแสดงหนึ่งเดือนเพื่อหาเสียงในเขตบางรัก ยานนาวา สัมพันธวงศ์ ป้อมปราบศัตรูพ่าย แต่เขาก็ไม่ได้รับเลือก
ในปีถัดมา มิตร ตัดสินใจลงเล่นสนามใหญ่ลงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คราวนี้ถึงขั้นนำบ้านหนึ่งหลังไปจำนองเพื่อระดมทุนในการหาเสียงเลือกตั้ง ทว่าสุดท้ายก็ไม่ได้รับเลือกเช่นเคย
คำบอกเล่าของไกด์นำชมเล่าตำนานหนึ่งให้ผมฟังว่า สาเหตุที่มิตรไม่ได้รับเลือกตั้งและแพ้คะแนนผู้แทนจากพรรคประชาธิปัตย์เพียงพรรคเดียวในการลงเลือกตั้ง ก็เพราะพรรคคู่แข่งหาเสียงโจมตีว่าถ้าหากเลือกมิตรเป็นผู้แทน มิตรจะไม่มีเวลาเล่นหนังให้ได้ดูกันอีก ฟังดูแล้วกึ่งฝันกึ่งจริงทีเดียวว่าอิทธิพลของดาราคนหนึ่ง จะทำให้เขาเป็นที่รักจนคนไม่อยากให้เขาห่างหายจากจอภาพยนตร์ได้ขนาดนั้นเชียวหรือ?
แต่มิตรก็คงเป็นที่รักของผู้คนจริงๆ และผมก็รู้สึกขอบคุณที่นิทรรศการนี้ไม่ลืมการการต่อสู้นอกจอของมิตร แม้เขาจะไม่ชนะ แม้บางการต่อสู้ของเขาจะหมิ่นเหม่อยู่บนความทระนงโอหังเกินไป (ในสายตาบางคน) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามันเป็นเรื่องที่ควรถูกลืม
ส่วนสุดท้ายของนิทรรศการพูดถึง ‘อภินิหารของมิตร’ หลังการเสียชีวิตไปแล้ว มีคนตั้งศาลมิตร ชัยบัญชา ขึ้นที่บริเวณหาดจอมเทียน พัทยาใต้ ปัจจุบันก็ยังมีชาวบ้านในละแวกนั้นไปทำบุญวันเสียชีวิตของเขาทุกปี ทั้งห้องนี้เราจึงเห็นการเดินทางจากเด็กชายคนหนึ่ง สู่การเป็นทหารรับราชการ เป็นดารา เป็นขวัญใจคนทั่วประเทศ ลงสมัครผู้แทน เสียชีวิตอย่างกะทันหัน เป็นตำนาน และเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้ายสุด
ราวกับว่าผู้คนยังอยากให้เขาอยู่คู่เมืองไทยสืบไป แม้ภาพยนตร์ไทยในอดีตจะตายตามเขาไปแล้ว หากมิตรยังคงดำรงอยู่ในความเชื่อชุดนี้
ตำนานมิตร
เมื่อเดินล่วงออกจากตัวนิทรรศการ ผมก็กลับสู่โลกปัจจุบัน โลกที่เรื่องราวของมิตรกลายเป็นตำนาน เป็นเรื่องเล่าขาน นอกห้องยังมีตู้กระจกอีกหลายบานที่เก็บของจากหนังไทยยุคต่างๆ เอาไว้ กล้องที่เคยถูกใช้ถ่ายหนัง เสื้อผ้าที่ดาราเคยสวมใส่ บทภาพยนตร์และสเลตที่เคยรับใช้คนทำหนัง หรือกระทั่งสมุดจดคอนทินิวเสื้อผ้า เพื่อย้ำให้ฝ่ายเสื้อผ้าแน่ใจได้ว่าฉากที่เพิ่งถ่ายทำไปวันก่อน นักแสดงสวมเสื้อผ้าชุดอะไร สีอะไร มีเครื่องประดับชิ้นใดบ้าง
โลกของภาพยนตร์ก็เป็นเช่นนี้ วันหนึ่งทุกอย่างจะกลายเป็นอดีต ชีวิตของคนในกองถ่ายก็จะกลายเป็นอดีต ไม่ว่าจะเป็นดาราหน้ากล้องหรือทีมงานหลังกล้อง แต่มิตรจะไม่ถูกลืม เพราะเขาคือดาราตัวแทนแห่งยุคสมัย ในยุคที่ทุกสิ่งอย่างใหญ่โตเกินจริง โรงหนังมีเพียงจอเดียว ผู้คนนับพันเบียดเสียดทะนานแย่งกันดู ยุคที่หนังยังเป็นจุดสูงสุดของความบันเทิง หนังไทยและชีวิตของมิตรจึงกลายเป็นตำนานเกินจริงไปมากก็มี
50 ปีที่มิตรจากไป ประเทศไทยเปลี่ยนไปมากเหลือเกิน มากอย่างที่ถ้ามิตรยังอยู่ก็คงคาดไม่ถึง น่าเสียดายถ้าคนรุ่นหลังหรือแม้กระทั่งคนรุ่นที่ร่วมสมัยในช่วงชีวิตที่มิตรยังโลดแล่นอยู่ จะไม่ได้มีโอกาสเข้าชมนิทรรศการนี้
มิตรศึกษา Mitr-Mythology สำหรับผู้เขียนคือการคืนความเป็นมนุษย์ให้มิตร คืนความมีชีวิตให้พระเอกตลอดกาลผู้นี้ ให้เรา—ผู้ชม มองเขาเป็นมากกว่าแค่ตำนาน มองเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่ง คนที่มีด้านดีน่าจดจำและด้านที่ไม่ค่อยมีใครอยากพูดถึง ชีวิตที่มิตรไม่เคยบอกให้คนดูที่รักเขารู้ เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่
เพราะไม่มีใครควรถูกจดจำเพียงด้านเดียว
‘มิตรศึกษา’ เปิดให้ผู้ชมทั่วไปเข้าชมตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม อันเป็นวันรำลึกการจากไปของมิตร จนถึง 31 มกราคม 2564 ที่หอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) ศาลายา เปิดให้บริการทุกวันอังคาร-อาทิตย์ เวลา 10:00-17:00 น. ไม่เสียค่าใช้จ่าย