Fri 24 Nov 2023

THE TRAGEDY OF CAPITALISM

‘พระจันทร์มันไก่’ กับผู้คนในโลกทุนนิยม

ภาพ: ms.midsummer

     “ทุนนิยมมีหัวใจหรือเปล่า”

     คำถามนี้ผุดพรายขึ้นเสมอขณะรับชมละคร Moonlight Chicken พระจันทร์มันไก่ ละครสะท้อนสังคมจากฝีมือการกำกับของ ออฟ—นพณัช ชัยวิมล โดยค่าย GMMTV เผยแพร่ครั้งแรกร่วมกับละครชุด Midnight Series ทาง Disney+ Hotstar ก่อนจะเผยแพร่สาธารณะทางช่อง GMM25 และ Youtube ในภายหลัง

     พระจันทร์มันไก่ บอกเล่าเรื่องราวของ ลุงจิม เจ้าของร้านพระจันทร์มันไก่ที่เผลอไปมีความสัมพันธ์ชั่วข้ามคืนกับ เหวิน ลูกค้าคนหนึ่งซึ่งเมาหลับอยู่ที่ร้านจนกลายเป็นความสัมพันธ์ยุ่งเหยิง

     ฟังเรื่องย่อแล้วควรจะเป็นละครรักสักเรื่อง หากความจริง พระจันทร์มันไก่ นั้นเข้มเสียจนเกือบขม

     ละครเรื่องนี้ได้รับรางวัล Gold Award จาก ContentAsia Awards 2023 ในหมวด Best LGBTQ+ Programme Made in Asia และได้รับอีกหลายรางวัลในระดับประเทศด้วย ซึ่งนี่อาจสะท้อนถึงแก่นบางอย่างภายในเรื่องที่ชวนให้ผู้ชมตั้งคำถามไปไกลกว่าเซ็กซ์ชั่วข้ามคืน

     ประเด็นหนึ่งที่ พระจันทร์มันไก่ ตั้งคำถามใส่คือสิ่งที่เรียกว่า ‘ทุนนิยม’ ผ่านคำกล่าวของตัวละครหลักทั้ง 7 ตัว ได้แก่ ลุงจิม (คนที่มีรายได้น้อย) เหวิน (คนพลัดถิ่น) หลี่หมิง (เยาวชน) ฮาร์ท (ผู้มีความบกพร่องทางร่างกาย) ไก่ป่า (คนต่างจังหวัด) อลัน (คนที่มีความหลากหลายทางเพศ) และ ซาเล้ง (กลุ่มชาติพันธุ์)

     ตัวละครสำคัญทั้ง 7 บอกเล่าปัญหาชีวิตในมุมของตนเอง ผ่านการวิพากษ์ระบอบทุนนิยมทั้งทางตรงและทางอ้อม

     ลุงจิมบอกเล่าถึงชีวิตคนมีรายได้น้อย ปากกัดตีนถีบ ต่อสู้เพื่อหาเงินมาหมุนใช้จ่ายในแต่ละวัน จนไม่เหลือความฝัน ไม่เหลือชีวิต ไม่เหลือมุมมองอื่นต่อโลก

     หลี่หมิงเป็นตัวแทนเยาวชนรุ่นใหม่ที่เบื่อหน่ายความเหลื่อมล้ำในประเทศ อยากหนีไปที่อื่น แต่การจะหนีไปจากบ้านก็ต้องใช้เงิน

     ฮาร์ทเป็นผู้มีความบกพร่องทางการได้ยิน สะท้อนให้เห็นถึงระบบการศึกษา การทำงาน และระบบเศรษฐกิจที่ไม่เอื้อให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตเท่าเทียมกับคนอื่นๆ

     ซาเล้งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สถานะเป็นคนต่างด้าว ใช้ชีวิตด้วยค่าแรงรายวัน มุมมองต่อโลกและสังคมของเขาก็อยู่เพียงเรื่องรอบตัว การมีชีวิตรอด การเลี้ยงดูครอบครัว

     ส่วนเหวิน อลัน และไก่ป่า คือการวิพากษ์ทุนนิยมด้วยมุมมองที่เหมือนกระเถิบตัวไกลออกมา

     เหวินเป็นคนพลัดถิ่น บ้านอยู่กรุงเทพฯ แต่ย้ายมาทำงานต่างจังหวัด สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำทางโอกาสระหว่างพื้นที่

     อลันเป็นตัวแทนของชีวิตที่เรียบง่าย มีทุกอย่างสมบูรณ์พร้อม แต่เป็นเกย์ ความสัมพันธ์ของเขาจึงตั้งคำถามถึงระบบที่เอื้อต่อการคบกันในระยะยาวของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ อย่างเช่นการสมรสเท่าเทียม

     ไก่ป่าสะท้อนถึงความเป็นเมืองในต่างจังหวัด เขาเป็นคนรวย มีการศึกษา แต่ถึงแม้ชีวิตจะมีครบทุกอย่าง เมื่อเขามีชีวิตอยู่ต่างจังหวัด โอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรก็ไม่ครบครันเท่ากับคนเมืองใหญ่อยู่ดี

     การดูละครเรื่องนี้จึงชวนให้เรากลับมาตั้งคำถามถึงหัวใจของทุนนิยม

     โลกทุนนิยมสอนให้เรารู้จักกลไกตลาด มือที่มองไม่เห็น คนขยันย่อมได้ผลตอบแทนมาก คนขี้เกียจย่อมได้ผลตอบแทนน้อย รัฐต้องเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องหรือแทรกแซงตลาดให้น้อยที่สุด

     แต่ความเป็นจริงแล้ว ระบบทุนนิยมในปัจจุบันเอื้อต่อคนชายขอบมากแค่ไหน

     โดยเฉพาะการกระจายโอกาสสู่คนที่มีพื้นฐานด้อยกว่าอย่างเท่าเทียม ทั้งสิทธิ์ในการเข้าถึงการศึกษา สวัสดิการพื้นฐาน การรักษาพยาบาล รวมไปถึงการเอื้อให้มนุษย์คนหนึ่งได้มีความหลงใหลใฝ่ฝันอย่างที่สมจะมีสมจะเป็น

     ในโลกที่ทุนนิยมขับเคลื่อนให้ดาวเคราะห์หมุนไป รัฐบาลประกาศตัวเลข GDP ทุกไตรมาส หากแต่เบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้นมีอะไรแฝงอยู่บ้าง ทุนนิยมมองเห็นคนอยู่ในกลไกของระบบเศรษฐกิจมากเพียงพอแล้วหรือยัง

     ผู้คนจำนวนมากเข้าใจว่า ‘คนจน’ คือ ‘คนขี้เกียจ’

     ผมเองคงตอบได้ว่า ‘ใช่บางส่วน’ และ ‘ไม่ใช่บางส่วน’ 

     คนบางคนอาจจะจนเพราะไม่ขวนขวายจะพยายามให้มากกว่านี้จริง แต่บางคนก็พยายามจนถึงที่สุดแล้ว แต่ไปไกลกว่านี้ก็แสนยากลำบาก

     ประสบการณ์ตลอดสิบปีที่ได้พูดคุยกับผู้คนเรื่องชีวิตและการเงินสอนผมหลายอย่าง หนึ่งในเรื่องเหล่านั้นคือ ‘ทุนนิยมต้องมีหัวใจ’ 

     แต่ก่อนจะไปถึงข้อนั้นได้ ‘มนุษย์ต้องมีหัวใจ’ ด้วย

     การชี้หน้าบอกใครต่อใครให้ “เก็บเงินสิ” “ศึกษาการลงทุนสิ” “วางแผนการเงินสิ” เป็นเรื่องง่าย แต่มันไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนจะทำได้โดยง่าย 

     ผมรู้จักคนที่เกิดมาพร้อมหนี้สิบล้าน วางแผนการเงินอย่างไรก็ไม่เห็นทางสว่าง 

     ผมรู้จักคนที่พ่อแม่ติดการพนัน หามาเท่าไหร่ก็มีเจ้าหนี้มาดักรอกระทืบหน้าบ้าน 

     ผมรู้จักคนที่ต้องทำงานเช้าจรดค่ำเพื่อแลกเงินค่าแรงขั้นต่ำ แค่เอาชีวิตแต่ละวันให้ผ่านไปได้ก็เหนื่อยแทบตาย อย่าว่าแต่หยิบอะไรขึ้นมาอ่านเลย

     มนุษย์จึงควรมีหัวใจ ไม่ใช่แค่ในฐานะ ‘คนอื่น’ แต่ต้องมีหัวใจให้ ‘ตัวเอง’ ด้วย

     หลายครั้งมนุษย์ก็โบยตีตัวเองด้วยความสำเร็จ ยอดเงินในบัญชี หรือขนาดบ้าน แต่เราหลงลืมว่าเส้นชัยอันคาดไว้ด้วยเชือกเส้นเดียวกันนี้มีจุดปล่อยตัวนักวิ่งไม่เท่ากัน บางคนต้องผ่านทั้งหล่มทั้งเหวทั้งผา แต่บางคนก็ห่างแค่เอื้อมมือคว้าตั้งแต่ต้น

     เมตตา กรุณาต่อสถานภาพทางการเงินของตัวเองอย่างเข้าใจ วางแผนดูแลลงทุนแต่ไม่บีบคั้นจนทำร้ายทำลายความหวัง ความฝัน และชีวิตของตนเสียป่นปี้ สิ่งสำคัญที่สุดของการอยู่ในโลกทุนนิยมไม่ใช่ความเก่งที่สุด ความขยันที่สุด ความฉลาดที่สุด 

     แต่คือความเข้าใจว่าเราจะเอาตัวรอดในโลกใบนี้ให้มีความสุขที่สุดได้อย่างไรต่างหาก

     ทุนนิยมอาจไม่มีหัวใจ… แต่เราห้ามหลงลืมที่จะมีหัวใจกับมนุษย์ด้วยกันเอง