WRITER, DIRECTOR, AND ARCHITECT
การเขียนสคริปต์แบบลงรายละเอียดทุกกระเบียดนิ้ว และสไตล์การทำงานของเวส แอนเดอร์สัน
เรื่อง: ทานเกวียน ชูสง่า
ภาพ: ms.midsummer
1
ลายเซ็นเด่นชัดอย่างหนึ่งของ เวส แอนเดอร์สัน (Wes Anderson) ที่พบเห็นได้ในหนังทุกเรื่องของผู้กำกับคนนี้ คือการวางองค์ประกอบในเฟรมภาพให้ออกมามีความสมมาตรแบบเป๊ะๆ สิ่งของหรือตัวละครในหนังของแอนเดอร์สันมักจะปรากฏให้เห็นตรงกึ่งกลางเฟรมภาพ ไม่ก็อยู่ฝั่งซ้ายและขวาอย่างสมดุล
โรเบิร์ต ดี. โยแมน (Robert D. Yeoman) ผู้กำกับภาพที่ร่วมงานกับแอนเดอร์สันมาแล้วถึง 10 เรื่อง (นับรวม Asteroid City (2023) หนังใหม่ของแอนเดอร์สันที่กำลังจะเข้าฉาย และ The Wonderful Story of Henry Sugar หนังเรื่องถัดไปของแอนเดอร์สันที่เพิ่งจะปิดกล้องไปหมาดๆ) เคยเล่าถึงวิธีการทำงานในกองถ่ายของผู้กำกับรายนี้ว่า ความสมมาตรในเฟรมคือสิ่งที่แอนเดอร์สันต้องเช็กเป็นอย่างแรกในการถ่ายทำแต่ละช็อต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นซีนภายใน แอนเดอร์สันมักจะให้ทีมงานวัดระยะของผนังแต่ละฝั่ง เพื่อให้แน่ใจว่าตำแหน่งของกล้องจะอยู่ ณ จุดกึ่งกลางของห้อง รวมถึงตรวจเช็กตำแหน่งของนักแสดงและพร็อพประกอบฉาก เพื่อให้แน่ใจว่าทุกสิ่งอยู่ในจุดที่ควรอยู่จริงๆ
เพราะแอนเดอร์สันเป็นผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับวิชวลของหนังในระดับที่ทุกอย่างต้องออกมาเป๊ะทุกกระเบียดนิ้ว แทบทุกช็อตในหนังของเขาจึงถูกจัดวางองค์ประกอบไว้เป็นอย่างดี หากพร็อพชิ้นไหนไม่อยู่ในตำแหน่ง เขาจะเดินไปจัดวางมันเสียใหม่ หากเริ่มถ่ายไปแล้วนักแสดงคนไหนยืนไม่ตรงจุดที่มาร์กไว้ เขาจะขอให้นักแสดงช่วยเล่นใหม่อีกเทค เพื่อให้องค์ประกอบในเฟรมออกมาเป็นอย่างที่ต้องการ
ไม่เพียงเท่านั้น แอนเดอร์สันยังมีส่วนร่วมในรายละเอียดแทบทุกอย่างของหนัง ทั้งโทนสีของเครื่องแต่งกาย พร็อพประกอบฉาก ฟอนต์ที่ปรากฏบนป้าย ข้อความไม่กี่บรรทัดบนกระดาษที่ตัวละครจะได้อ่าน หรือแม้แต่บทความยาวเหยียดในหนังสือพิมพ์ซึ่งอาจปรากฏในหนังเพียงไม่กี่วินาที แอนเดอร์สันก็เป็นคนลงมือเขียนเองด้วย
ความละเอียดและพิถีพิถันของแอนเดอร์สันส่งผลให้งานด้านภาพของเขาโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ชนิดที่ว่าเปิดดูหนังของเขาเพียงไม่กี่นาที เราก็สามารถเดาได้ไม่ยากว่าเป็นผลงานของใคร
ด้วยความสนใจในรายละเอียดที่ปรากฏในแต่ละเฟรมอย่างเอาจริงเอาจังขนาดนี้ อาจทำให้เราเข้าใจว่าแอนเดอร์สันเป็นผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับงานด้านภาพของหนังมากกว่าการเขียนสคริปต์เพื่อปั้นตัวละคร ไดอะล็อกหรือพล็อตเรื่องคงไม่ใช่ขั้นตอนที่เขาให้ความสำคัญเท่าไรนัก
ทว่าความจริงแล้วตรงกันข้าม ยิ่งพิถีพิถันกับการทำงานในแต่ละเฟรมมากเท่าไร สคริปต์ที่แอนเดอร์สันเขียนก็ยิ่งเต็มไปด้วยรายละเอียดไม่ต่างกัน
2
“มันคือความทรงจำเกี่ยวกับจินตนาการของผม เป็นเหมือนอัตชีวประวัติช่วงที่เล่าถึงบางสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงๆ”
ประโยคดังกล่าวคือคำนิยามที่แอนเดอร์สันมีต่อ Moonrise Kingdom (2012) หนังที่เขาได้แรงบันดาลใจมาจากจินตนาการที่เคยคิดฝันในวัยเด็ก เกี่ยวกับความเป็นไปได้ระหว่างตัวเขาในวัย 12 ปีกับเด็กผู้หญิงเพื่อนร่วมชั้นที่เขาแอบชอบอยู่ห่างๆ
ถึงแม้ว่าในที่สุด แอนเดอร์สันจะไม่ได้เข้าไปทำความรู้จักหรือพูดคุยกับเด็กคนนั้นอย่างลึกซึ้ง แต่ภาพฝันที่เขามีต่ออีกฝ่ายก็ยังประทับอยู่ในใจ
“ผมจำความรู้สึกของการตกหลุมรักในช่วงวัยนั้นได้ จำได้ว่ามันมีพลังขนาดไหน มันเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัวและไม่อาจอธิบายได้ ถึงแม้ว่าเรื่องของผมจะไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม แต่ผมคิดว่าความเพ้อฝันที่มีในตอนนั้นใช้เป็นต้นแบบของตัวละครสองคนที่ตกหลุมรักกันตั้งแต่แรกพบ และมุ่งมั่นที่จะทำตามหัวใจของตัวเองได้”
Moonrise Kingdom เล่าถึง แซม (รับบทโดย จาเรด กิลแมน) กับ ซูซี (รับบทโดย คารา เฮย์เวิร์ด) เด็กชายและเด็กหญิงวัย 12 ขวบที่อาศัยอยู่คนละฟากฝั่งของเกาะ แต่มีความผูกพันและเข้าใจกันอย่างลึกซึ้ง ผ่านจดหมายที่ทั้งคู่แอบเขียนติดต่อกันอย่างลับๆ เพื่อเล่าระบายปรับทุกข์เรื่องราวปัญหาในชีวิตกันและกันตลอดหนึ่งปีเต็ม
แซมอาศัยอยู่ในบ้านเด็กกำพร้า ด้วยความที่เป็นคนปลีกวิเวก อีกทั้งยังมีนิสัยชอบฉี่รดที่นอนและละเมอเดินตอนกลางดึก จึงทำให้ถูกมองเป็นตัวประหลาด แซมมักถูกเด็กผู้ชายคนอื่นรังแกเป็นประจำ จนบางครั้งเขาต้องตอบโต้กลับด้วยความรุนแรง และนั่นส่งผลให้เขาถูกกลั่นแกล้งหนักยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อเห็นโอกาสในการหลบหนีจากการเข้าค่ายลูกเสือในช่วงซัมเมอร์ เขาจึงไม่รอช้า
ส่วนซูซีเองก็ไม่ต่างกัน เธอปรับตัวเข้ากับสังคมในโรงเรียนไม่ได้ มีเรื่องทะเลาะวิวาทกับเด็กผู้หญิงคนอื่นบ่อยครั้ง ถึงแม้จะมีบ้านมีครอบครัวพร้อมหน้า แต่เธอกลับรู้สึกโดดเดี่ยว และเมื่อเธอค้นพบว่าครอบครัวกำลังจะล่มสลายจากการที่แม่แอบนอกใจพ่อ ก็ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เธออยากหนีออกจากบ้านยิ่งกว่าเดิม ดังนั้นเมื่อแซมเอ่ยปากชักชวนในจดหมายให้หนีออกจากบ้าน เธอจึงไม่ลังเล
นี่คือเรื่องราวของเด็กมีปัญหาสองคนที่ออกเดินทางไปด้วยกัน ไม่มีจุดหมายปลายทาง ขอเพียงได้หนีไปให้พ้นจากสิ่งที่เป็นอยู่
แซมกับซูซีเดินทางไปจนถึงชายหาดและตัดสินใจตั้งแคมป์พำนักกันที่นั่น ทั้งคู่กระโดดลงน้ำอย่างลิงโลด เปิดเพลงจากเครื่องเล่นแผ่นเสียง แล้วเต้นรำด้วยกันอย่างสนุกสนาน
“แล้วพอโตขึ้นเธออยากเป็นอะไร” แซมถาม
“ไม่รู้สิ คงอยากออกไปผจญภัยล่ะมั้ง ไม่ติดอยู่กับที่ไหนนานๆ แล้วเธอล่ะ” ซูซีว่า
แซมหยุดคิดนิดหนึ่ง แล้วกล่าว “ก็คงผจญภัยเหมือนกัน แล้วก็ไม่ติดอยู่กับที่เหมือนกัน แต่ยังไงเราก็ทำนายอนาคตไม่ได้หรอก”
Moonrise Kingdom คือชื่อที่พวกเขาตั้งให้กับชายหาดบริเวณนั้น ราวกับว่ามันเป็นอาณาจักรส่วนตัวของพวกเขา และแม้ว่าสุดท้าย ทุกอย่างจะผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่ความทรงจำที่ทั้งคู่มีร่วมกันบนชายหาดแห่งนั้นคือสิ่งที่ใครก็พรากไปไม่ได้
แอนเดอร์สันต้องการหวนกลับไปสำรวจวัยเด็กของตัวเอง สำรวจความรู้สึกของเด็กอายุ 12 ปีว่ามองโลกด้วยสายตาแบบไหน หรือมีความรู้สึกต่อสังคมรอบข้างอย่างไร หลายสิ่งที่ปรากฏในหนังจึงมาจากชีวิตในวัยเด็กของเขา ทั้งการที่พ่อแม่แยกทางกันตอนเขาอายุ 8 ขวบ (ซึ่งอาจจะเกิดกับพ่อแม่ของซูซี) การเคยเรียนวิชาลูกเสือในช่วงสั้นๆ (ชุดที่แซมใส่เกือบตลอดทั้งเรื่องคือชุดลูกเสือ) การแสดงละครเวทีเรื่อง Noye’s Fludde ที่มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับเรือของโนอาห์ (ซูซีเป็นนักแสดงละครเวทีเรื่องดังกล่าว ส่วนแซมเป็นหนึ่งในคนดู ทั้งคู่พบกันครั้งแรกที่นั่น) และการได้พบใบปลิว วิธีการรับมือกับเด็กมีปัญหา ที่พ่อแม่ของเขาแอบเก็บซ่อนเอาไว้ (หนังสือที่ซูซีเจอบนตู้เย็นมีชื่อว่า Coping with the Very Troubled Child)
อาจกล่าวได้ว่าแซมกับซูซีคือตัวตนในอดีตของแอนเดอร์สันเมื่อครั้งเยาว์วัย ทั้งความรู้สึกของการตกหลุมรักใครสักคนเป็นครั้งแรก ผสมกับความโดดเดี่ยวสับสน และโหยหาใครสักคนที่เข้าอกเข้าใจ ในห้วงเวลาสุดท้ายที่โลกอนุญาตให้ความไร้เดียงสาได้แอบอิงอาศัยอยู่ในเรือนร่าง
3
INT. BISHOP’S HOUSE. DAY
A landing at the top of a crooked, wooden staircase. There is a threadbare, braided rug on the floor. There is a long, wide corridor decorated with faded paintings of sailboats and battleships. The wallpapers are sun-bleached and peeling at the corners except for a few newly-hung strips which are clean and bright. A small easel sits stored in the corner.
กลับมาที่สคริปต์ของแอนเดอร์สันกันต่อ
ใน Moonrise Kingdom สไตล์การวางองค์ประกอบในเฟรมปรากฏให้เห็นเด่นชัดตั้งแต่ย่อหน้าแรกของสคริปต์ ไม่ใช่เพียงแค่ระบุว่าเรื่องราวจะเกิดขึ้นภายใน/ภายนอก (INT./EXT.) หรือกลางวัน/กลางคืน (DAY/NIGHT) แต่แอนเดอร์สันเขียนลงไปในสคริปต์ด้วยว่าจะมีอะไรอยู่ในเฟรมบ้าง ทั้งขั้นบันไดที่ทำจากไม้ พรมถักบนพื้น ภาพวาดที่แขวนตกแต่งอยู่บริเวณทางเดิน วอลล์เปเปอร์ที่ส่วนใหญ่โดนแดดเลียจนเริ่มหลุดลอก และบางส่วนที่ติดตั้งใหม่ซึ่งยังสะอาดสดใสอยู่ นอกจากนั้นยังมีขาตั้งภาพวางอยู่ที่มุมห้อง
A ten-year-old boy in pajamas comes up the steps carefully eating a bowl of cereal as he walks. He is Lionel. Lionel slides open the door to a low cabinet under the window. He takes out a portable record player, puts a disc on the turntable, and sets the needle into the spinning groove.
ไม่กี่ย่อหน้าถัดมา แอนเดอร์สันเปิดตัวละครน้องชายของซูซีที่ชื่อไลโอเนล ซึ่งถึงแม้จะไม่ใช่ตัวละครหลัก และจะว่าไปแล้วก็ไม่ใช่ตัวละครที่สำคัญอะไรกับเรื่องราวนัก แต่แทนที่จะเขียนแค่ว่าเป็นเด็กผู้ชายคนหนึ่ง เขากลับเขียนระบุทั้งคอสตูม (ชุดนอน), ท่าทางการเดิน (อย่างระมัดระวัง), พร็อพที่ตัวละครถือ (ชามซีเรียล) รวมถึงเขียนแจกแจงอย่างละเอียดว่าตัวละครตัวนี้ทำอะไรบ้าง (กิน หยิบแผ่นเสียงออกมาจากตู้ วางแผ่นลงบนเครื่องเล่น และเลื่อนหัวเข็มมาวางบนร่องแผ่นเสียง)
เท่านั้นไม่พอ เมื่ออ่านสคริปต์ไปเรื่อยๆ เราจะพบลายเซ็นอื่นๆ อีกมากมายของแอนเดอร์สัน ทั้งการแทรกช็อต (Insert Shot) เพื่อถ่ายให้เห็นข้อความบนจดหมายที่ตัวละครอ่าน หรือให้เห็นแผนที่ของเกาะเพื่อเล่าว่าตัวละครอยู่จุดไหน (และด้วยความที่เป็นเกาะสมมติ นั่นหมายถึงว่าแอนเดอร์สันต้องวาดแผนที่สมมติขึ้นมาเอง) รวมถึงการแบ่งครึ่งจอ (Split-Screen) เมื่อถึงซีนที่ตัวละครโทรศัพท์คุยกัน แอนเดอร์สันระบุในสคริปต์กระทั่งว่าเขาจะตัดต่อ (Cut to) ไปหาช็อตต่อไปตรงจุดไหนบ้าง
หากจะเปรียบว่าแอนเดอร์สันเขียนสคริปต์เหมือนสถาปนิกเขียนแบบแปลนอาคารก็คงไม่ผิดไปจากความจริง เพราะนอกจากการเป็นผู้กำกับหนัง สถาปนิกคืออีกหนึ่งอาชีพที่แอนเดอร์สันในวัยเด็กหลงใหลใฝ่ฝัน และภาพยนตร์ก็คือสถาปัตยกรรมที่แอนเดอร์สันกำลังสร้าง
“จากวิธีการเขียน จากสไตล์การเซ็ตฉากและถ่ายทำ คนดูสามารถบอกได้เลยว่าเป็นผม แต่ผมไม่ได้ตั้งใจกำหนดให้เป็นแบบนั้นหรอก มันเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มันก็แค่เป็นบุคลิกในการทำงานของผมเท่านั้น”
แอนเดอร์สันบอกว่าการจัดการวางแผนโดยละเอียดและพิถีพิถันแบบนี้ทำให้เขาทำงานง่ายกว่า และความจริงแล้วเขาก็ไม่ใช่ผู้กำกับประเภทที่เคร่งครัดจะเอาทุกอย่างให้ได้ตามที่ต้องการ แม้จะเขียนสคริปต์อย่างละเอียด แต่เขาก็พร้อมจะปรับเปลี่ยนแก้ไขเสมอ ถ้าหากเงื่อนไขและข้อแม้ในกองถ่ายไม่อนุญาตให้เขาเนรมิตภาพในเฟรมให้ออกมาเป็นอย่างที่ตั้งใจไว้
4
สุดท้ายการจะบอกว่าแอนเดอร์สันเป็นผู้กำกับที่ให้ความสำคัญกับวิชวลของหนัง หรือให้ความสำคัญกับความสมมาตรในเฟรมมากกว่าเลือดเนื้อของตัวละคร ก็อาจไม่ใช่ความจริงเสียทีเดียว เพราะจากสคริปต์ของ Moonrise Kingdom เราจะเห็นได้ชัดว่าตัวละครของแอนเดอร์สันมีรายละเอียดที่ซุกซ่อนอยู่ไม่น้อย
ตัวละครแต่ละตัวใน Moonrise Kingdom ไม่มีใครนั่งหรือยืนอยู่เฉยๆ ในครั้งแรกที่เราได้เห็นพวกเขา ทุกคนล้วนปรากฏตัวพร้อมการกระทำบางอย่าง
ไลโอเนลโผล่มาพร้อมชามซีเรียลที่เขาถือเดินไปกินไป ด้วยความเป็นเด็ก อยู่ดีๆ เขาก็ผละความสนใจเปลี่ยนไปหยิบเครื่องเล่นแผ่นเสียงออกมาดื้อๆ แล้วจากนั้นชามซีเรียลก็ไม่อยู่ในความสนใจของเขาอีกต่อไป
หัวหน้ากลุ่มลูกเสือของแซมกำลังสูบบุหรี่และเดินตรวจตราอย่างใจเย็น จนกระทั่งพบว่ามีเด็กคนหนึ่งหายไป เขาจึงเริ่มร้อนรนและโทรหานายอำเภอ
เสียงโทรศัพท์ดังขึ้นตอนที่นายอำเภอกำลังตกปลา บ่งบอกเราว่าปกติแล้วเกาะแห่งนี้ไม่ค่อยมีเหตุด่วนเหตุร้ายเท่าไรนัก
จากนั้นนายอำเภอรุดไปที่ทำการไปรษณีย์เพื่อโทรแจ้งพ่อแม่บุญธรรมของเด็กคนที่หายตัวไป เราได้เห็นว่าเบ็กกี พนักงานหญิงที่ประจำอยู่ที่นั่นกำลังกินแซนด์วิชที่โต๊ะโอเปอเรเตอร์ เธอทำงานไปด้วยกินไปด้วย
ชามซีเรียล บุหรี่ เบ็ดตกปลา และแซนด์วิช สิ่งที่เราเห็นคือวิถีชีวิตปกติของตัวละคร ในขณะที่มือเขียนบทคนอื่นอาจใช้ไดอะล็อกหรือเสียงบรรยายเพื่อบอกเล่าเรื่องราวของตัวละครว่าเป็นใคร แต่แอนเดอร์สันใช้พร็อพในฉากเพื่อบอกเล่าสิ่งเหล่านั้น
ซีนแรกที่เราได้เห็นซูซี แอนเดอร์สันเขียนให้เธออุ้มแมวเดินลงมาจากบันได ซึ่งการได้เห็นว่าเธอหอบหิ้วแมวติดตัวไปไหนมาไหน ทำให้เราไม่ประหลาดใจที่หลังจากนั้นเมื่อซูซีหนีออกจากบ้าน แมวตัวนั้นจึงเป็นของสำคัญที่เธอหอบหิ้วติดไปด้วย
ตัวละครเดียวที่แอนเดอร์สันไม่ได้ระบุการกระทำลงไปคือแซม เราได้เห็นเขาครั้งแรกตอนที่แซมไปดูละครเวทีของซูซี แอนเดอร์สันเขียนซีนเปิดตัวแซมในสคริปต์ไว้ดังนี้
Sam sits on the aisle. He looks bored.
นี่เป็นตัวละครเดียวในเรื่องที่นั่งอยู่เฉยๆ แซมนั่งอยู่ตรงที่นั่งติดทางเดินด้วยสีหน้าแสนจะเบื่อหน่าย และสุดท้ายก็ตัดสินใจลุกจากที่นั่งเพื่อออกไปเดินดูรอบๆ แซมเดินเตร่ไปเรื่อยถึงห้องแต่งตัวของนักแสดง และได้พบกับซูซี
อาจกล่าวได้ว่าแซมเป็นตัวละครที่ไม่มีเรื่องราวหรือจุดมุ่งหมายใดในชีวิต พ่อกับแม่เสียไปตั้งแต่เขายังเด็ก พ่อแม่บุญธรรมไม่ยอมรับเขาไปอยู่ด้วย ปล่อยเขาทิ้งไว้กับบ้านเด็กกำพร้า ในสังคมที่เต็มไปด้วยเด็กคนอื่นที่คอยกลั่นแกล้งรังแก
แซมจึงไม่มีอะไรให้ทำเมื่อถึงซีนเปิดตัวของเขา เพราะชีวิตของเขาไม่มีอะไรนอกจากความเบื่อหน่าย
รักแรกพบอย่างซูซีนั่นเองที่เข้ามาทำให้ชีวิตของแซมมีความหมายขึ้นมา
5
“ผมมีวิธีการถ่ายทำในแบบของตัวเอง รวมถึงวิธีการเซ็ตและดีไซน์ฉาก” แอนเดอร์สันว่า “มีหลายครั้งนะที่ผมคิดว่าจะลองเปลี่ยนวิธีการทำงาน แต่ความจริงก็คือผมชอบในสิ่งที่ตัวเองทำ มันเหมือนเป็นลายเซ็นของผมในฐานะผู้กำกับหนัง”
เฟรมภาพในหนังของแอนเดอร์สันเต็มไปด้วยรายละเอียด สคริปต์ที่เขาเขียนก็เช่นเดียวกัน
เพราะรายละเอียดนั่นเอง คือสิ่งที่สถาปนิกชื่อแอนเดอร์สันใช้สร้างโลกทั้งใบของเขาขึ้นมา
โลกที่มีอีกชื่อหนึ่งว่า ภาพยนตร์
อ้างอิง
• theguardian.com/film/2012/may/19/wes-anderson-moonrise-kingdom
• thewrap.com/wes-anderson-moonrise-kingdom-it-s-memory-fantasy-41376/
• npr.org/2012/05/29/153913922/wes-anderson-creating-a-singular-kingdom
• the-talks.com/interview/wes-anderson/
• industrialscripts.com/wes-anderson-quotes/
• collider.com/wes-anderson-moonrise-kingdom-interview/
• imdb.com/title/tt1748122/trivia/
• en.wikipedia.org/wiki/Moonrise_Kingdom
• youtube.com/watch?v=C_5lCnwDEo4&t=169s
• youtube.com/watch?v=Sdt0oam6O1o&t=393s