A PERFECT DAY FOR THE HARUKI MURAKAMI LIBRARY
บันทึกการเดินทางไปห้องสมุด ‘ฮารูกิ มูราคามิ’ ของนักเขียนไทยผู้ไปพำนักชั่วคราวในญี่ปุ่น
เรื่อง: นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์
ภาพ: ms.midsummer
เวลาบ่ายโมง ณ มหาวิทยาลัยวาเซดะ
ฝนตกบางเบา หากต่อเนื่องยาวนานตั้งแต่เช้า พาอุณหภูมิให้ลดต่ำ
ผมกระชับร่มในมือแน่น ห่อตัวฝ่าความหนาวเดินลึกเข้าไปในทิวแถวของต้นไม้ที่ขยับรับล้อกับจังหวะกระทบของฝนอย่างเงียบงัน
ด้วยความช่วยเหลือของกูเกิลแมปส์ ผมไม่ต้องงุนงงอย่างหนาวๆ นานเกินไปนัก ตรงนิด เลี้ยวหน่อย ผมก็มาถึงจุดหมาย
ตัวอักษรบอกชื่อสถานที่ถูกปกคลุมด้วยต้นไม้สีเขียวจนทั่วตั้งอยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ไม่ฉูดฉาด ไม่ประกาศตัวโอ่อ่า
The Waseda International House of Literature หรือ The Haruki Murakami Library ห้องสมุดที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้นักเขียนที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งในประเทศญี่ปุ่น และศิษย์เก่าเอกการละครคนนี้
ห้องสมุดแห่งนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ปี 2021 ที่ผ่านมา โดยเปิดให้เข้าชมเป็นรอบ กำหนดรอบละหนึ่งชั่วโมงครึ่ง
เวลาสิบสามนาฬิกาสี่สิบนาที เมื่อรับป้าย Visitor จากเคาน์เตอร์ การเยี่ยมชมห้องสมุดมูราคามิของผมก็เริ่มขึ้น
ห้องสมุดแห่งนี้มีทั้งหมดห้าชั้นรวมชั้นใต้ดิน โดยชั้นที่เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้าเยี่ยมชมคือชั้น B1 ซึ่งเป็นชั้นใต้ดิน ชั้น 1 ที่เป็นชั้นเดียวกับทางเข้า และชั้น 2 ที่ในวันนี้ยังอยู่ในระหว่างเตรียมนิทรรศการ
เพียงหนึ่งรอบการกวาดสายตา ก็กะประมาณพื้นที่ของห้องสมุดนี้ได้ว่าไม่ได้ใหญ่นัก แถมผู้คนไม่พลุกพล่าน ใช้เวลาไม่นานก็คงสามารถเดินได้ทั่ว
เบื้องหน้าผมคือชั้นหนังสือที่โค้งเข้าหากันเป็นรูปโดม ซึ่งอยู่รูปโปรโมตจากทุกสื่อที่ผมได้เห็น
แต่ก่อนอื่น ผมเลี้ยวซ้ายเป็นลำดับแรก
“การเรียนรู้ไม่ต่างอะไรจากการหายใจ”
นี่คือคำทักทายจากมูราคามิผู้ไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองเป็นนักเรียนที่ดี
และเขาหวังว่าห้องสมุดนี้จะเป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ที่คุณสามารถหายใจได้อย่างปลอดโปร่ง
ภายในห้องบรรจุผลงานของมูราคามิที่ถูกแปลเป็นภาษาต่างๆ มากมาย ว่ากันตามจริง แค่ผลงานของเขาคนเดียว เมื่อรวมกันทุกภาษา ก็สามารถเติมห้องสมุดขนาดย่อมให้เต็มได้แล้ว
แน่นอนว่าต้องมีภาษาไทย (และ บันทึกนกไขลาน ถึงจะไม่ใช่ปกนี้ ก็เป็นหนังสือของมูราคามิเล่มแรกที่ผมเลือกอ่าน)
ที่ผนังอีกด้าน ภาพโต๊ะทำงานของมูราคามิถูกติดตั้งอยู่
นอกจากความน้อย เรียบ เป็นระเบียบแล้ว สิ่งที่ดึงดูดสายตาของผมคือกระดาษต้นฉบับบนโต๊ะ
ไม่ใช่ว่าเพราะเข้าใจเนื้อหา
แต่เป็นร่องรอยการขีดเขียนเพื่อแก้ไขมัน
นักเขียนระดับมูราคามิก็ไม่ได้เขียนงานถูกต้องแม่นยำภายในดราฟต์แรกเหรอเนี่ย
ครั้งหน้าที่ได้รับคอมเมนต์หรือการสั่งแก้จากกองบรรณาธิการ ผมคงรู้สึกสบายใจขึ้น
(ดูอย่างมูราคามิสิ! เขายังต้องแก้ต้นฉบับเลย!!)
ข้างๆ กันนั้น ‘มนุษย์แกะ’ ตัวละครเด่นจาก ไตรภาคแห่งมุสิก (สดับลมขับขาน, พินบอล 1973, แกะรอยแกะดาว) และ เริงระบำแดนสนธยา คนดีคนเดิมนั่งรอผู้มาเยือนพร้อมโต๊ะและเก้าอี้สองตัวตรงหน้าให้ถ่ายรูปคู่หรือรูปหมู่กันได้
เดินออกจากห้องรวมผลงาน ก็เห็นกราฟยาวเหยียดกินพื้นที่เต็มผนัง
นี่คือไทม์ไลน์ผลงานทั้งหมดของมูราคามิ
ทั้งงานเขียน งานแปล หรือแม้กระทั่งผลงานการเป็นดีเจ
ผมกวาดสายตามองทั้งหมดด้วยความทึ่งในความขยันและสม่ำเสมอของเขา
ถ้าเทียบกับเขา ผมคงเพิ่งอยู่ในช่องแรกของขวบปีแรกเท่านั้น
ลงไปที่ชั้นใต้ดิน นอกจากจะมีคาเฟ่เล็กๆ ให้คนสามารถนั่งพูดคุย อ่านหนังสือ หรือทำอะไรก็ตามแต่แล้ว ส่วนที่น่าสนใจที่สุดน่าจะเป็นห้องจำลองห้องทำงานของมูราคามิที่ของประดับบางชิ้นนั้น มูราคามิบริจาคให้กับห้องสมุด อย่างเช่นคอลเลกชั่นแผ่นเสียงที่วางอยู่บนชั้น เป็นต้น
กลับมาที่ชั้นหนังสือแลนด์มาร์ก
นอกเหนือจากการถ่ายรูปเก็บเป็นหลักฐานไว้ยืนยันกับความทรงจำที่บางครั้งก็เชื่อถือได้ยากหรือหลงลบลืมได้ง่ายว่า ครั้งหนึ่งผมได้มาถึงห้องสมุดที่สร้างขึ้นเพื่ออุทิศให้นักเขียนที่ผมเคารพรักจริงๆ แล้ว ผมสำรวจหนังสือที่วางอยู่บนชั้น (ซึ่งว่ากันตามสัตย์จริง ขั้นบันไดของชั้นหนังสือนี้ไม่ได้เดินง่ายนัก)
นอกเหนือจากการอ้างอิงถึงนิยายแนวต่างๆ สำหรับผู้สนใจ ก็ยังมีหนังสือที่มูราคามิใช้อ้างอิงถึงในการเขียนงานอีกทีหนึ่ง โดยส่วนใหญ่งานที่มูราคามิอ่านจะเป็นงานคลาสสิก เช่น War and Peace (Leo Tolstoy เขียน), The Brothers Karamazov (Fyodor Dostoevsky เขียน) หรือ Alice’s Adventures in Wonderland (Lewis Carroll เขียน) มูราคามิไม่ค่อยอ่านงานของประเทศญี่ปุ่น เพราะพ่อของเขาเป็นครูสอนภาษาญี่ปุ่น เขาเลยอยากลองอะไรที่แตกต่างออกไปบ้าง
อยากเขียนได้ ต้องอ่านด้วย
จากนั้นจึงเป็นห้องสุดท้าย
ดนตรีแจ๊ซหวานหูลอยล่องเข้าโสตประสาทอย่างนุ่มนวลทันทีที่ก้าวเท้าเข้ามา
ห้องนี้คือห้องเก็บแผ่นเสียงเพลงแจ๊ซของมูราคามิ ซึ่งเขาก็บริจาคให้กับห้องสมุดแห่งนี้เช่นกัน (โดยรวมทั้งสิ้น มูราคามิบริจาคแผ่นไวนิลให้ห้องสมุดนี้ทั้งหมดกว่า 20,000 แผ่น)
หลายชื่อบนหน้าปก คนที่อ่านหนังสือของเขาน่าจะเคยผ่านตามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น จอห์น โคลเทรน (John Coltrane), บิลลี่ ฮอลิเดย์ (Billie Holiday), บิล อีแวนส์ (Bill Evans), แนต คิง โคล (Nat King Cole) และอีกมากมาย
ที่พิเศษกว่านั้น บางคนอาจจะรู้ และหลายคนอาจจะไม่รู้ว่ามูราคามิเคยเป็นเจ้าของบาร์แจ๊ซนาม ‘Peter Cat’ ในย่านเซนดะกายะ
ในห้องก็มีการจัดโชว์แผ่นเสียงที่เคยถูกเล่นที่ร้านนั้นจริงๆ โดยมีตราประทับของร้านที่ออกแบบโดยมูราคามิ และชื่อร้านที่เขียนด้วยลายมือของมูราคามิเป็นเครื่องยืนยัน
เมื่อรับชมเสร็จทุกห้อง ยังเหลือเวลาราวๆ ครึ่งชั่วโมง ผมตัดสินใจนั่งอยู่ในห้องนี้ อ่านหนังสือ และฟังเพลงแจ๊ซที่ถูกบรรเลงผ่านลำโพงที่ติดตั้งอยู่ที่ใดที่หนึ่งภายในห้อง รู้สึกราวกับได้สัมผัสประสบการณ์ร่วมบางอย่างกับนักเขียนที่ผมเฝ้าอ่านผลงานของเขามาตั้งแต่ยังเป็นเด็กมัธยมปลาย
ผมตัดสินใจคืนบัตร Visitor ก่อนครบกำหนดเวลาราวห้านาที
ภายนอก ฝนยังคงตกอยู่
ผมกางร่ม ใส่หูฟัง
ในแอพพลิเคชั่นมิวสิกสตรีมมิ่ง ผมค้นหาอัลบั้ม Anita Sings The Most
เมื่อเสียงเพลงบรรเลง ผมรู้สึกว่าบางอย่างได้รับการเติมเต็ม
ผมยกร่มขึ้นเหนือศีรษะ แล้วเดินเข้าสู่พร่างพรายของฝนพรม
ผู้ที่อยากมาเยี่ยมเยือนและสัมผัสส่วนหนึ่งของตัวตนของฮารูกิ มูราคามิ สามารถมาได้ทุกวันจันทร์ถึงอาทิตย์ (ห้องสมุดปิดวันพุธ) ที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ ลงสถานีรถไฟวาเซดะแล้วเดินเพียง 300 เมตร
เวลา 10:00-17:00 น.
ไม่เสียค่าใช้จ่าย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ waseda.jp/culture/wihl/en