Wed 23 Dec 2020

SURREAL LOVES

หนึ่งนิยายหลายความรักใน Nadja ผลงานที่สร้างจากความสัมพันธ์อันไม่สมหวังของ ‘อ็องเดร เบรอตง’

ภาพ: NJORVKS

บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของหนังสือ

     ทุกเรื่องราวล้วนมีจุดเริ่มต้นและจุดจบ แต่เรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้ เมื่อนำเอาความจริงที่อยู่เบื้องหลังทาบทับลงไป ทั้งจุดเริ่มต้นและจุดจบดูจะพิสดารพันลึก ส่วนจะแปลกประหลาด น่าเศร้า หรือสะเทือนอารมณ์เพียงใด ขอผู้อ่านทุกท่านเป็นผู้พิจารณา

     วันที่ 4 ตุลาคมของปี 1926 ไม่ใกล้ไม่ไกลจากซุ้มประตูแซ็งต์-เดนีส์ ชายหนุ่มที่เพิ่งจะย่างเข้าสู่เลขสามกำลังทอดน่องไปอย่างไม่มีจุดหมายแน่ชัด ระหว่างเดินอยู่นั้นเขาพลันสังเกตเห็นหญิงสาวร่างแบบบางเดินผ่านทางมา ท่วงท่าและลักษณาการของเธอดูแปลกต่างจากคนทั่วไป ทั้งการเชิดหน้าและจังหวะเยื้องย่างที่ดูเหมือนเท้าไม่สัมผัสพื้น ในชั่วขณะที่ทั้งสองกำลังจะเคลื่อนคล้อยผ่านกันไปในฐานะของคนแปลกหน้า เขาได้เริ่มต้นเอื้อนเอ่ยทักทายและเริ่มต้นบทสนทนาที่ไม่มีใครทันได้ตระเตรียมไว้ล่วงหน้า หากจะมีก็เป็นเพียง ‘ความบังเอิญ’ เท่านั้นที่เป็นผู้กำกับหรือบงการคนทั้งสอง

     เธอบอกแก่เขาด้วยน้ำเสียงเรียบๆ ว่า กำลังจะไปหาช่างทำผม ซึ่งเขาได้รู้ว่าเป็นเพียงคำอ้างอันเลื่อนลอย เพราะภายหลังจากคุยกัน เธอหลุดปากออกมาว่า ไม่มีที่ไปแน่ชัด และตอนนี้กำลังลำบากเรื่องการเงิน เห็นได้จากการแต่งกายโทรมๆ ของเธอ จากนั้นเขาก็เชื้อชวนเธอไปคาเฟ่ใกล้ๆ กับสถานีรถไฟแกร์ ดู นอร์ด 

     เขาได้พินิจดวงตาของเธอชัดๆ เป็นครั้งแรก ดวงตาซึ่งบางครั้งแสดงความหดหู่มัวหม่น บางครั้งกลับทอประกายลุกวาวทรนง จากจุดนั้น เรื่องราวในชีวิตของเธอก็พรั่งพรูออกมาดุจตาน้ำแห่งเรื่องเล่า ตั้งแต่ชีวิตในเมืองบ้านเกิดไปจนเหตุโชคร้ายในความรักความสัมพันธ์ที่ทำให้เธอตัดสินใจเดินทางมาปารีส

     เธอขอให้เขาเรียกเธอว่า นัดฌา (Nadja) มันเป็นชื่อที่เธอตั้งให้ตัวเอง “เพราะคำนี้เป็นพยางค์แรกของคำว่า ความหวัง ในภาษารัสเซีย และเพราะมันเป็นจุดเริ่มต้น” 

     เขาได้ทราบจากเธอว่า ในเวลาทุ่มตรงของทุกวัน เธอจะจับรถไฟใต้ดินชั้นสอง ร่วมขบวนไปกับผู้โดยสารที่เพิ่งจะเลิกงาน จ้องมองสีหน้าท่าทางคนเหล่านั้น เพื่ออ่านความรู้สึกและความคิดที่อยู่เบื้องหลังดวงหน้าอันเหนื่อยล้า อาจเป็นเพียงภาระคงค้าง สิ่งที่พวกเขาต้องทำในวันรุ่งขึ้น หรืออาจเป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาผ่อนคลายหรือตึงเครียดมากยิ่งขึ้น แต่สำหรับเธอแล้ว คนเหล่านี้ก็เป็นเพียงคนธรรมดาๆ ไม่ได้มีพิษภัยอะไร หรือเป็นคนที่เรียกได้ว่า ‘คนดี’

     ไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด เมื่อได้ยินคำว่า ‘คนดี’ เขาที่นิ่งฟังอยู่นานสองนานก็ฉุนเฉียวขึ้นมา เขาโต้แย้งกลับไปว่า มันผิดประเด็น เพราะ ‘คนดี’ ที่หมกมุ่นอยู่กับเรื่องของตนเอง หรือปัญหาเฉพาะหน้าย่อมไม่สามารถคิดถึงปัญหาของมนุษย์คนอื่นๆ ได้ การจะปลุกพวกเขาให้รับรู้ถึงปัญหาใหญ่กว่า หรือเพื่อกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นเรื่องยาก หรืออาจเข้าขั้นว่าเป็นไปไม่ได้ สุดท้าย ‘คนดี’ เหล่านี้เองที่จะกลายเป็นอุปสรรคและส่วนหนึ่งของปัญหา

     คำโต้แย้งของเขายืดยาวราวกับการอ่านแถลงการณ์ในวันแรงงานสากล แต่ถึงอย่างนั้นเธอก็ตั้งใจฟังโดยมิได้หาเหตุผลใดๆ มาโต้แย้ง

     ทั้งคู่ออกเดินพูดคุยกันต่อจนไปถึงตรอกโฟบูร์ก-ปัวซงนิแยร์ ก็เป็นเวลาของมื้อค่ำพอดี เธอถามเขาว่า มีนัดกับใครหรือเปล่า เขาตอบไปเรียบๆ ว่า

     “ภรรยาของผมเอง”

     “คุณแต่งงานแล้ว! ว้าว ถ้างั้นก็…”

     แล้วเธอก็พูดต่อไปด้วยน้ำเสียงที่เคร่งเครียดจริงจังเพื่อเน้นย้ำว่า เธอเพิ่งจะได้เข้าใจความคิดของเขา ความคิดที่เปรียบเหมือนดวงดาว และเธออาจไม่ได้เห็นดวงดาวนี้อีกแล้ว คำพูดของเธอทำให้เขาสะเทือนใจ เขาพยายามเปลี่ยนประเด็นด้วยคำถามพื้นๆ ว่า เธอมีแผนจะกินมื้อค่ำที่ไหน เธอชี้นิ้วไปข้างๆ ถ้าไม่ตรงนั้นก็ถัดไปตรงโน้น จะที่ไหนก็คงไม่ต่างกันเท่าไหร่นัก ก่อนทั้งคู่จะแยกจากกันไป เขาเอ่ยถามเธอว่า “คุณเป็นใคร” เธอตอบว่า “ฉันเป็นแค่วิญญาณดวงหนึ่งที่ติดอยู่ในลิมโบ”

     การพบกันโดยบังเอิญของคนสองคนน่าจะจบลงเพียงเท่านี้ แต่ทั้งคู่กลับนัดเจอกันอีกครั้ง โดยฝ่ายชายสัญญาว่าจะเอาหนังสือของเขาติดมือมาให้เธอด้วย

     การกลับมาพบกันของนัดฌากับชายวัยสามสิบ หรือ อ็องเดร เบรอตง (André Breton) ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของผลงานที่มีชื่อว่า Nadja (1928) หนังสืออันกลายเป็นตำนานและรูปธรรมวรรณกรรมของขบวนการเคลื่อนไหวเซอร์เรียลลิสม์ (Surrealism) 

     เบรองตงนั้นเป็นผู้นำขบวนการ ผู้มีบทบาท และอิทธิพลอย่างสำคัญ เป็นผู้กำหนดชี้วัดและประเมินสมาชิกภาพของคนในกลุ่ม ดังนั้นแม้จะเป็นผู้เริ่มก่อตั้งขบวนการด้วยกันมา แต่หากเขาไม่ถูกใจ หรือเล็งเห็นว่าผู้นั้นทำผิดหลักการก็จะมีการลงคะแนนเพื่อขับออกจากสมาชิก จึงไม่แปลกที่ท่อนแรกของ Nadja จะเป็นเหมือนบทบันทึก หรือรายงานกิจกรรมของเพื่อนร่วมขบวนการที่เบรอตงแวะเวียนไปหา (หรือแวะเวียนมาหาเขา) ดังที่เราจะเห็นได้จากภาพถ่ายที่แทรกเข้ามา ไม่ว่าจะเป็น โรแบรต์ เดสโน (Robert Desnos) กวีหน้าง่วง ผู้เขียนงานภายหลังจากสะลึมสะลือตื่นขึ้นมา หรือปอล เอลูอาร์ด (Paul Éluard) กวีต่อต้านฟาสซิสม์ ซึ่งในอนาคตอันยาวไกลจะหันไปสนับสนุนเผด็จการสตาลินและค่ายกูลัก และสุดท้าย แบ็งฌาแม็ง เปเรต์ (Benjamin Péret) กับรอยยิ้มมีเลศนัยของเขา 

     เรื่องราวระหว่างเบรอตงกับนัดฌามาเริ่มต้นจริงๆ ก็เมื่อผ่านเนื้อหาหนึ่งในสามของเล่มไปแล้ว น่าฉงนใจเป็นอย่างยิ่งว่า นับจากตีพิมพ์ครั้งแรกกับสำนักพิมพ์กัลลิมารด์ (Gallimard) ซึ่งนับเนื่องได้เกือบหนึ่งศตวรรษแล้วนั้น ไม่ปรากฏภาพถ่ายที่ยืนยันตัวตนของนัดฌาเลย หากจะมีก็เพียงภาพวาด หรือลายมือของเธอที่เบรอตงแทรกใส่ไว้ในเล่ม 

     จนเมื่อไม่นานมานี้ ภายหลังจากผลงานและภาพถ่ายต่างๆ ที่เป็นสมบัติของเบรอตงกลายเป็นสาธารณะสมบัติ (Public Domain) ซึ่งสาธารณชนสามารถอ่านและเข้าถึงได้ เราจึงได้เห็นหน้า และได้ทราบว่า หญิงสาวผู้เรียกตัวเองว่า ‘นัดฌา’ มีชื่อจริงๆ ว่า เลโอนา-กามีล-ฌีสแลน แด็ลกูรต์ (Léona-Camille-Ghislaine Delcourt) เกิดเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 1902 และเมื่อพบกับเบรอตงหนแรกสุดนั้น เธอมีอายุได้ 24 ปีเท่านั้น

     นัดฌามีภูมิกำเนิดจากเมืองลีลล์ เธอแต่งงานและมีลูกหนึ่งคนตอนอายุ 18 ปี แต่หลังจากความสัมพันธ์สิ้นสุดลง เธอก็ฝากลูกไว้กับพ่อแม่ เพื่อมาทำงานในกรุงปารีส

     ชื่อนัดฌาของเธอจริงๆ แล้วไม่ได้มาจากคำรัสเซียดังที่เบรอตงปรุงแต่งไว้ใน Nadja หากทว่ามาจากชื่อที่ใช้ในการแสดงของนักเต้นชาวอเมริกันคนหนึ่ง

     ส่วนข้อมูลต่างๆ ที่ว่าทั้งคู่พบกันครั้งแรกเมื่อ 4 ตุลาคม 1926 นั้นตรงกับความจริง แต่เนื้อหาภายในก็เป็นการรายงานความจริงในมุมมองของเบอรตง ซึ่งทำให้กล่าวได้ว่า Nadja อาจประกอบขึ้นจากความสัมพันธ์กับหญิงสาวอีกอย่างน้อยสองคน

     ด้วยความที่งานเขียนเชิงชีวประวัติในแต่ละเล่มของเบรอตงมักเป็นการอุทิศให้แก่คนรักในแต่ละห้วงเวลา อย่าง L’amour fou หรือ Mad Love ก็เป็นงานที่มอบให้แด่ ฌาคลีน ล็องบา (Jacqueline Lamba) จิตรกรหญิงชาวฝรั่งเศส Arcane 17 มอบให้แด่ เอลีซา แบ็งด์ออฟฟ์ (Elisa Bindhoff) ภรรยาคนที่สามและคนสุดท้ายของเขา 

     แต่ในกรณีของ Nadja นั้นออกจะเป็นผลงานที่มีความสลับซับซ้อนเกินกว่าที่จะบอกได้ว่าเป็นงานที่อุทิศให้แด่ ‘นัดฌา’ หรือ เลโอนา แด็ลกูร์ ดังที่ผมจะเล่าต่อไป

ลิส เดออาร์ม

     ช่วงก่อนตุลาคม 1926 มีเรื่องราวมากมายเกิดขึ้น เหตุการณ์แรกที่ไม่กล่าวถึงเลยคงไม่ได้ก็คือ ช่วงที่เบรอตงพบกับนัดฌาครั้งแรกนั้น เขาเพิ่งจะแต่งงานกับ ซีโมน คาห์น (Simone Kahn) ภรรยาคนแรกครบห้าปี 

     ความสัมพันธ์ระหว่างเบรอตงและคาห์นนั้นแม้จะเรียกได้ว่าสนิทแนบแน่น แต่ก็เป็นไปในแบบของเพื่อนคู่คิดมากกว่าเพื่อนคู่ใจ ซึ่งทำให้ราวสองปีก่อนหน้า เบรอตงได้เกิดมีใจปฏิพัทธ์ต่อกวีสาวผู้มีนามว่า ลิส เดออาร์ม (Lise Deharme) ที่เข้ามาสนิทสนมด้วยเพราะเขาเป็นนักเขียนคนดัง เป็นบุคคลดาวเด่นในสังคมศิลปะวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่เพราะหวังจะเข้ามาเป็นผู้หญิงของเขา 

     ตลอดเวลาร่วมสามปี เบรอตงพยายามทุกวิถีทางเพื่อเอาชนะใจเดออาร์ม แต่มันก็ไม่ต่างจากการส่งใจไปหาคนที่ไม่มีใจให้เรา เบรอตงจึงมีช่วงเวลาของหวังและสิ้นหวังระคนกันไป จดหมายรวมถึงบทกวีนับไม่ถ้วนชิ้นถูกเขียนแล้วส่งไปหาเดออาร์ม หากเขาก็ไม่สามารถครองใจเธอได้ 

     แม้ Nadja จะมีเพียงฉากตอนเดียวที่เดออาร์มปรากฏตัวในฐานะหญิงสาวผู้สวมถุงมือฟ้า แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เธอคือหนึ่งในผลกระทบสำคัญที่ทำให้เบรอตง หรือ ‘ข้าพเจ้า’ ผู้เล่าเรื่องเดินทอดน่องจิตใจล่องลอยจนไปพานพบกับนัดฌาแล้วก่อกำเนิดเป็นเรื่องราว

     คาห์น ภรรยาของเบรอตง รับรู้และรับทราบความเป็นไปในเรื่องดังกล่าวตั้งแต่ต้นจนจบ เธอดูจะไม่หวั่นวิตกใดๆ ในเรื่องของเดออาร์ม เมื่อเทียบกับการคบหาเลโอนา แด็ลกูรต์ หญิงสาวผู้เป็นที่มาของนัดฌา

เลโอนา แด็ลกูรต์

     “ผมไม่ได้รักชอบผู้หญิงคนนั้น และต่อให้เหมือนว่าเป็นเช่นนั้นมันก็ไม่ใช่เลย” 

     เดือนพฤศจิกายนของปี 1926 เบรอตงพยายามหว่านล้อมให้ภรรยาของเขาเชื่อว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับแด็ลกูร์ไม่ได้เป็นไปในแบบชู้รัก เขาพยายามชักแม่น้ำทั้งห้าเพื่ออธิบายว่า สำหรับเขาแล้ว เลโอนา แด็ลกูรต์ หรือนัดฌานั้นเป็นอัจฉริยะอิสรชน (free genius) หรือจิตวิญญาณล่องลอยที่ผลักดันให้เขาสร้างสรรค์ การคบหากับเธอคือการค้นพบเครื่องมือสำคัญในการเก็บเกี่ยวพลังความคิด ซึ่งไม่อาจมองข้ามไปได้ 

     แน่นอนว่าในความเป็นจริงแล้วนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างเบรอตงกับเลโอนา แด็ลกูรต์ เรียกได้ว่าเป็นไปในแบบชู้สาวอย่างยากปฏิเสธ เพราะเขายังได้เล่าประสบการณ์ให้เพื่อนฟังอย่างคึกคะนองว่า การมีสัมพันธ์กับเธอ “เหมือนดังการร่วมรักกับโจน ออฟ อาร์ก”

     เบรอตงเก็บงำฉากความสัมพันธ์ระหว่างเขากับเธอไว้ใน Nadja ในบทบันทึกวันที่ 12 ตุลาคม ภายหลังจากที่เขาและเธอนั่งรถไฟออกไปนอกเมืองและเข้าพักที่โรงแรมแห่งหนึ่ง

     กล่าวได้ว่านัดฌาที่ปรากฏใน Nadja มีความลึกลับและดูเป็นไปในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าบุคคลจริงที่มีหัวใจและมีเลือดเนื้อ หรือนัดฌาผู้ซึ่งมีความรักและความเจ็บปวดเหมือนมนุษย์อย่างเราๆ ผู้ปรารถนาให้เบรอตงเขียนเรื่องราวของเธอออกมาตามที่เป็นจริง

     “อ็องเดร… อ็องเดร คุณจะต้องเขียนนวนิยายของฉันออกมา ฉันแน่ใจว่าคุณจะเขียนมันขึ้นมา (…) จงระวัง ทุกสิ่งเลือนจางไป ทุกสิ่งอันตรธานหาย บางสิ่งระหว่างเราอาจคงเหลือไว้…”

     นี่คือสิ่งที่นัดฌาบอกกล่าวแก่เบรอตง เขาบันทึกเอาไว้ แต่มิได้ใส่ลงไปใน Nadja เพราะเบรอตงเลือกนำเสนอเพียงแค่ด้านที่สอดคล้องกับความเชื่อของเขา เธอต้องการให้นัดฌาเป็นวิญญาณล่องลอย เป็น ‘อัจฉริยะอิสรชน’ 

     ดังนั้น ยามที่นัดฌาได้อ่านต้นร่างบางส่วน เธอจึงอดไม่ได้ที่จะตัดพ้อกับเขาว่า “ฉันจะทนอ่านข้อเขียนชิ้นนี้… ภาพบุคคลบิดเบี้ยวนี้ โดยไม่รู้สึกแข็งขืนต่อต้าน หรือแม้กระทั่งร้องไห้ออกมาได้อย่างไร”

     เช่นเดียวกับจุดจบของความสัมพันธ์ระหว่างเบรอตงกับนัดฌา ที่แท้จริงแล้วอาจไม่ได้เป็นไปอย่างที่บอกกล่าวไว้ใน Nadja ด้วย เพราะหลังจากมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับเบรอตง นัดฌาได้ย้ายมาอยู่ใกล้ๆ กับย่านที่เบรอตงและภรรยาพำนัก เธอส่งจดหมายและข้อความสั้นๆ หาเขาไม่เว้นแต่ละวัน ครั้งเดียวที่เขาตอบกลับ ก็คือตอนที่นัดฌาขอสมุดจดที่มีภาพวาดคืนจากเขา และภายหลังจากได้รับสมุดคืนมา เธอก็เขียนข้อความสั้นๆ สอดผ่านธรณีประตู เพื่อขอบคุณและบอกลาเขาเป็นครั้งสุดท้าย

     เหตุผลสำคัญที่เบรอตงเลือกจะถอยห่างออกมาจากนัดฌา ก็เพราะเขาไม่ต้องการแลกชีวิตแต่งงานห้าปีกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งถึงที่สุดแล้ว เขาอาจไม่ได้รักเธอมากกว่าที่เธอรักเขา 

     แต่ความยอกย้อนของโชคชะตามิได้สิ้นสุดเพียงเท่านี้ เพราะหลังจากสัมพันธ์ระหว่างเบรอตงและแด็ลกูรต์สิ้นสุดลง เขาก็ได้เริ่มต้นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนและยุ่งเหยิงครั้งใหม่กับ ซูซาน มูซาร์ด (Suzanne Muzard) หญิงสาวผู้ทำให้เบรอตงเปลี่ยนแปลงเนื้อในตอนจบของ Nadja เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่ความรักที่ไม่สมหวัง

ซูซาน มูซาร์ด

     สาวงามร่างระหง แบบบาง ผู้มีดวงหน้างดงามตามแบบชาวยุโรปเหนือ (ในมุมมองของชาวเซอร์เรียลลิสต์) ได้เดินทางมาพร้อมกับ เอ็มมานูแอ็ล แบร์ล (Emmanuel Berl) ชายผู้สนใจจะลงทุนจัดพิมพ์ผลงานของเบรอตง เธอตกเป็นเป้าสายตาและวัตถุปรารถนาของเขาแทบจะในทันทีที่ได้เห็น

     กล่าวได้ว่ามูซาร์ดเป็นสาวที่มีประวัติชีวิตโชกโชน ก่อนหน้านั้นสามปี เธอทำงานอยู่ในสถานบริการที่แบร์ลกับพวกเคยไป เขาดึงตัวเธอออกมา จัดหาที่พัก และพยายามให้เธอศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเอง ผ่านการอ่านเขียนและจัดพิมพ์ต้นฉบับ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ Nadja ที่เธอรู้สึกประทับใจจนขอให้แบร์ลช่วยแนะนำให้รู้จักกับคนเขียน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ระหว่างมูซาร์ดกับเบรอตงที่เรียกได้ว่า เป็นความผูกพันรักใคร่ในเชิงกามารมณ์โดยสมบูรณ์

     มูซาร์ดเปรียบเหมือนภาพตัวแทนของเดออาร์มที่เขาไม่อาจไขว่ขว้า แม้เขาจะเคยสารภาพไว้ว่า ระหว่างเขากับมูซาร์ดแทบจะไม่มีอะไรเหมือนกันเลย เธอไม่สนใจสิ่งที่เขาเขียนจริงๆ ด้วยซ้ำ ถึงอย่างนั้นการมีสัมพันธ์กับเธอก็เป็นสิ่งที่เขาขาดไม่ได้

     ดังนั้นในตอนที่มูซาร์ดจะต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปต่างประเทศพร้อมกับแบร์ล เบรอตงจึงพยายามขัดขวาง หรือแม้กระทั่งพาพรรคพวกของเขาไปเกลี้ยกล่อมไม่ให้เธอไป

     เหตุการณ์ที่เธอตัดสินใจลาจากเขาที่สถานีรถไฟแกร์ ดู นอรด์เพื่อขึ้นขบวนรถไฟเป็นฉากตอนที่สร้างความเจ็บปวดใจให้กับเบรอตงอย่างมาก เขาได้เขียนถ้อยความในตอนจบที่ว่า “ความงามจะต้องทำให้เราสะดุ้งสะเทือน หากไม่เป็นเช่นนั้น มันก็ไม่ใช่ความงาม”

     Nadja จึงเป็นทั้งเรื่องแต่งและเรื่องจริงที่ซุกความสัมพันธ์ซับซ้อนหลากใจของผู้เขียนเอาไว้อย่างเจ็บปวด และซ่อนความเศร้าเอาไว้อย่างแนบเนียน

อ้างอิง:

André Breton. Nadja, translated by Richard Howard. (London: Penguin Books, 1999).

Mark Polizzotti. Revolution of the Mind: The Life of Andre Breton (Massachusetts: Commonwealth Books. 2009).