Mon 29 May 2023

NAMSAI AND DATA

คุยกับ ‘น้ำใส ศุภวงศ์’ นักออกแบบผู้หลงใหลในดาต้า

     เพื่อนๆ ได้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งกันไหม?

     รู้ไหมว่าการเลือกตั้งครั้งนี้มีองค์กรอิสระจำนวนมากอาสาเข้ามาช่วยสื่อสารให้การเลือกตั้งเข้าถึงประชาชนได้ง่ายมากขึ้น 

     หนึ่งในนั้นคือ ‘WeVis’ องค์กรที่ทำงานด้าน Data Storytelling เล่าเรื่องที่ซับซ้อนผ่านการเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมากให้กลายเป็นภาพที่เข้าใจง่ายขึ้น

     สำหรับเดือนนี้ คอลัมน์ Data Journalread เดินทางมาครบ 1 ปีแล้ว (เย่!) เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง เดือนนี้จึงขอไปพูดคุยกับ ‘น้ำใส ศุภวงศ์’ รุ่นพี่ในวงการออกแบบสื่อสารข้อมูล อาร์ตไดเรกเตอร์แห่ง Punch Up และ WeVis ว่ามีวิธีจัดการข้อมูลและสื่อสารสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นภาพได้อย่างไร

ช่วงสองเดือนก่อนเลือกตั้ง งานของ WeVis เป็นอย่างไรบ้าง

     ปกติแล้ว WeVis ทำงานด้านฐานข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง โดยจะทำอยู่สองส่วนหลักๆ คือทำอย่างไรก็ได้ให้ประชาชนมีข้อมูลก่อนไปเลือกตั้งมากที่สุดกับรายงานผลเลือกตั้ง 

     แต่การเลือกตั้งปีนี้ (2566) ทางทีมคุยกันแล้วว่าจะไม่รายงานผลการเลือกตั้ง เพราะเห็นสื่ออื่นทำกันเยอะแล้ว และทุกคนก็ทำออกมาได้ดีมาก กับความจริงอีกอย่างคือการทำรายงานผลการเลือกตั้งที่เห็นคะแนนขยับไปเรื่อยๆ มันใช้พลังงานในการออกแบบเยอะมากกกก แต่คนก็ดูกันแค่คืนที่รายงานผลการเลือกตั้ง ทางทีมจึงหันมาเน้นงานด้านให้ข้อมูลประชาชนก่อนไปเลือกตั้ง ทำให้ประชาชนเห็นภาพรวมมากที่สุดก่อนจะตัดสินใจเลือกใครมาทำงาน

ยกตัวอย่างโปรเจกต์ให้ดูหน่อยได้ไหมว่าทำอะไรไปบ้าง

     ปกติแล้ว WeVis จะทำงานกันเป็นทีม มีทั้ง Data Storyteller ทำหน้าที่หาข้อมูลและเรียบเรียงเรื่อง Developer ทำหน้าที่ออกแบบกลไกบนเว็บไซต์ ส่วนเราเป็นดีไซเนอร์ก็จะทำหน้าที่ด้านการออกแบบทั้งหมด ทำงานรวมกันเป็นทีมแบบนี้ต่อหนึ่งโปรเจกต์ แต่สำหรับโปรเจกต์ที่ซับซ้อนก็จะมีหลายคนช่วยกัน

     ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างเช่น They Work For Us เป็นงานที่มีคอนเซปต์เป็นสมุดพกนักการเมืองแบบออนไลน์ มีประวัติการทำงานของเขาตลอดสี่ปี ว่าลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบอะไรบ้าง งานชิ้นนี้เป็นตัวอย่างของงานที่เรามีฐานข้อมูลอยู่แล้วและนำข้อมูลนั้นมาเล่าใหม่

     นอกนั้นก็มีโปรเจกต์ทดลองจัดตั้งรัฐบาลของตัวเอง ให้ประชาชนมาลองมาทายดูว่าจาก 400 เขตเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่ละพรรคการเมืองจะได้ที่นั่ง ส.ส.เขตจำนวนเท่าไหร่กันบ้าง 

ขอสามโปรเจกต์ที่ชอบที่สุดตั้งแต่ทำงานมา

     เราชอบโปรเจกต์ Political Network — ที่สุดของตระกูลการเมืองไทย ถิ่นไหน.. ใครครอง มาก ไม่มีอันไหนมาล้มแชมป์ได้เลย เป็นการรวบรวมข้อมูลนักการเมืองระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ โดยดูว่านักการเมืองระดับท้องถิ่นที่มีอิทธิพลในพื้นที่มีตระกูลอะไรบ้าง จากนั้นก็นำมาอธิบายเรื่องอิทธิพลของตระกูลผ่านยุคสมัยต่างๆ คนจากตระกูลนี้เคยได้รับตำแหน่งอะไร และก็ตั้งคำถามต่ออีกว่าตระกูลการเมืองไหนมีอิทธิพลตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน ตระกูลไหนยังคงมีอิทธิพลอยู่ในท้องถิ่น

     พอหาข้อมูลเสร็จก็ค่อยมาออกแบบวิธีการเล่าเรื่อง แทนที่จะเล่าทุกตระกูลพร้อมกัน เราเปลี่ยนเป็นการเล่าแบบให้ผู้อ่านได้กดสุ่มตระกูล เพราะคิดว่าน่าจะเห็นภาพมากกว่า ซึ่งจริงๆ แล้วบ้านใหญ่กับพรรคนั้นค่อนข้างลื่นไหล หลังจากที่ทำโปรเจกต์นี้ก็เพิ่งรู้ว่าบ้านใหญ่ไม่ได้ขึ้นตรงกับพรรคใดพรรคหนึ่ง เขาย้ายไปเรื่อยๆ สุดท้ายเว็บไซต์ก็จะเอาข้อมูลไปเปรียบเทียบในระดับจังหวัดว่าชาวบ้านในพื้นที่เลือกผู้แทนที่ยึดโยงกับพรรคหรือกับตระกูลมากกว่ากัน

     โปรเจกต์ที่สองชื่อว่า ReDesign Our Bangkok — ปักหมุดออกแบบ ‘ย่าน’ ให้กรุงเทพฯ ใหม่ผ่านประสบการณ์ของคุณ เป็นชิ้นที่ทำงานร่วมกับ UDDC (Urban Design and Development Center) ชวนทุกคนนิยามคำว่า ‘ย่าน’ ใหม่ โดยการปักหมุดให้ข้อมูลย่านที่คุณใช้ชีวิตอยู่ในแต่ละวัน และดูว่าขอบเขตของย่านนั้นอยู่ตรงไหน งานชิ้นนี้เป็นประเภท Crowdsourcing (เป็นวิธีการหาข้อมูลและคำตอบด้วยการให้ทุกคนมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์) ซึ่งแตกต่างกับงานก่อนหน้านี้ที่มีข้อมูลทั้งหมดอยู่แล้ว สาเหตุที่ชอบเพราะอยากรู้ว่าแต่ละคนตีความย่านที่ตัวเองอยู่อาศัยหรือย่านที่ไปทำงานออกมายังไง ขอบเขตของย่านอยู่ตรงไหน เป็นการดูเขตที่อยู่อาศัยโดยไม่ยึดโยงกับที่ราชการแบ่งเอาไว้ 

     โปรเจกต์สุดท้ายที่ชอบคือ Promise Tracker — ที่ผ่านมารักษาสัญญาได้แค่ไหน เป็นงานที่แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่นักการเมืองหาเสียงมา นโยบายพรรคต่างๆ ถูกทำขึ้นจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่สัญญาเฉยๆ จากนั้นก็ต่อยอดมาเป็นโปรเจกต์เปรียบเทียบนโยบายของแต่ละพรรค ทาง WeVis ก็จะรวบรวมข้อมูล พร้อมแสดงผลให้คนที่เข้ามาดูเข้าใจมากขึ้น เป็น Data Visualization ที่ง่ายมาก ไม่ซับซ้อน เลยชอบงานนี้ในเชิงของการใช้งาน ซึ่งไม่ได้แสดงข้อมูลแค่บนเว็บไซต์อย่างเดียว แต่จัดแสดงเป็น Installation ในนิทรรศการของวัน Open Data Day ที่หอศิลป์กรุงเทพฯ (Bangkok Art and Culture Centre หรือ BACC) ด้วย โดยลักษณะของกระดาษที่แตกต่างกันจะแทนคำสัญญาที่หาเสียงเอาไว้ ถ้าทำสำเร็จจะอยู่ในกรอบ ถ้าถูกระงับกระดาษจะยับ กระดาษจะถูกห้อยผ่านเส้นด้ายหนึ่งเส้น สีน้ำเงินคือคำสัญญาจากพรรคฝ่ายรัฐบาล สีแดงคือคำสัญญาจากพรรคฝ่ายค้าน 

เห็น WeVis ได้เป็นพาร์ตเนอร์จัดงาน Bangkok Through Poster 2023 และส่งโปสเตอร์เข้าร่วมด้วย มีขั้นตอนการออกแบบโปสเตอร์ยังไงบ้าง 

     ธีมหลักของงานปีนี้คือการรณรงค์ชวนคนไปเลือกตั้ง จึงเอาข้อมูล Vote Turnout (สัดส่วนของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้ง คำนวณจากจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดและจำนวณของคนที่ออกมาเลือกตั้งจริง แสดงค่าออกมาเป็นเปอร์เซ็นต์) จริงๆ แล้วไอเดียหลักของงานนี้คือ Bar Chart ยิ่งเปอร์เซ็นต์ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเห็นชื่อของจังหวัดชัดเจนมากขึ้น

กลับมาเรื่องเลือกตั้ง มีอะไรที่ชอบและไม่ชอบในการเลือกตั้งครั้งนี้

     เราชอบความหลากหลายของคอนเทนต์ที่ใช้ในการหาเสียง การใช้โซเชียลมีเดียของแต่ละพรรคส่งผลต่อความนิยมมากๆ ชอบเวลาอินฟลูเอนเซอร์ในยูทูบทำคอนเทนต์ไปสัมภาษณ์นักการเมือง แล้วก็ชอบใบปลิวด้วย เพราะแสดงสไตล์ของแต่ละพรรคออกมาได้ดี

     สิ่งเฉยๆ ไม่ชอบไม่เกลียดคือหน้าตาและวิธีออกแบบป้ายหาเสียงของแต่ละพรรค

     ส่วนสิ่งที่ไม่ชอบคือป้ายหาเสียงขนาดใหญ่ที่ติดไม่ดี ขวางทางเดิน คลิปวิดิโอของพรรครวมไทยสร้างชาติ แล้วก็ไม่ชอบ กกต.ด้วย

     สุดท้ายในฐานะดีไซเนอร์ เราไม่ชอบที่พรรคการเมืองใช้สี Corporate Identity โทนสีน้ำเงินเยอะมาก ทำให้ลำบากในการทำ Data Visualization สีไม่ควรจะซ้ำหรือใกล้เคียงกัน เพราะคนอ่านจะเข้าใจยาก

ถ้ามีพรรคการเมืองของตัวเอง อยากใช้สี Corporate Identity สีอะไร

     เหลือสีอะไรอีกหว่า คือตอนนี้สีมันก็เยอะมากแล้วนะ ต่างกันแค่โทนสี ยังคิดไม่ออก แต่ขอสีโทนร้อนแล้วกัน 

ประเมินตัวเองช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมาหน่อย

     มาตรฐาน ขยันทำงานและมีความรับผิดชอบ ส่วนความเป็นผู้นำเอาไปน้อยที่สุด 

ตารางชีวิตช่วงเลือกตั้ง

     วันปกตินอนค่อนข้างเยอะ ประมาณเที่ยงคืนตื่นแปดโมงเช้า แล้วก็ทำงาน เลิกงานก็พักผ่อน วันก่อนเลือกตั้งไม่ทำอะไรมีสาระเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้มีสาระมาเยอะแล้ว วันเลือกตั้งไปเลือกตอนเช้า กลับมาบ้าน แล้วก็นอนช่วงบ่าย ส่วนหลังเลือกตั้งก็กลับมาทำงานตามปกติ 

ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา คนให้ความสำคัญและสนใจงานด้าน Data Visualization เยอะมาก รู้สึกอย่างไร

     รู้สึกดีมาก ซึ่งจริงๆ มีคนทำงานด้านนี้มาก่อนอยู่แล้ว แต่ว่าเวลาพูดเรื่องดาต้าคนมักจะคิดถึงเรื่องสถิติอย่างเดียว นึกถึงอาชีพ Data Scientist หรือ Data Analyst พอมาจากสายดีไซเนอร์ซึ่งให้ความสำคัญกับเรื่องงานออกแบบ ให้ความสำคัญด้านการเล่าข้อมูลมากขึ้น ก็เลยแตกต่างจากคนอื่น อาจทำให้คนรู้สึกเข้าถึงง่ายมากขึ้น 

ฝากถึงคนที่สนใจงานด้าน Data Visualization หน่อย

     เอาจริงไม่รู้จะตอบอย่างไรดี  ไม่ฝากได้ไหม แต่ดูใจร้าย งั้นฝากสั้นๆ แล้วกัน

     เราว่าเริ่มจากข้อมูลที่ชอบและสามารถอยู่กับมันไปได้นานๆ เพราะเวลาทำโปรเจกต์หนึ่งมันใช้เวลาเยอะ ถ้าไม่ชอบแล้วต้องอยู่กันไปเรื่อยๆ มันจะน่าเบื่อ แต่ถ้าเริ่มทำงานจากข้อมูลที่มีความสนใจด้านนี้อยู่แล้วจะหาวิธีเล่าให้ข้อมูลมันเจิดจรัสได้