NO RULES FOR ETERNALITY
ภาวะอมตะเป็นพิษ และการลงทุนที่ไม่มีคำว่านิรันดร์
เรื่อง: ลงทุนศาสตร์
ภาพ: NJORVKS
ผมไม่เคยอยากมีชีวิตเป็นอมตะ ส่วนหนึ่งคงเพราะหนังที่ผมชอบที่สุดเรื่องหนึ่ง
ตลอดชีวิตผมดูหนังมามากมายนับไม่ถ้วน เวลาที่ถูกถามว่าชอบหนังเรื่องไหนมากที่สุด หนังเรื่อง The Age of Adaline จะลอยขึ้นมาในหัวเป็นชื่อแรกเสมอ
ผมรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รักหนังเรื่องนี้ไปเสียหมดจดขนาดนั้น แต่แนวคิดอะไรบางอย่างในเรื่องช่างกระทบกระแทกใจผมเหลือเกิน โดยเฉพาะ ‘ความเหงา’ ของการมีชีวิตอมตะ ความลำบากยากเย็นที่จะมีชีวิตอยู่ รวมถึงกระทั่งเรื่องเงิน
อะดาไลน์ โบว์แมน (Adaline Bowman) เป็นเด็กทารกหญิงแสนธรรมดาที่เกิดในประเทศสหรัฐฯ เมื่อปี 1908 แต่เมื่อเธออายุครบ 29 ปี เธอก็ประสบอุบัติเหตุอย่างรุนแรง ผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เธอไม่สามารถแก่ไปกว่านี้ได้อีกตลอดชีวิต
ความสาวอันเป็นนิรันดร์ไม่ใช่เรื่องโรแมนติกนัก อย่างน้อยก็สำหรับอะดาไลน์ เธอต้องปลอมแปลงตัวเอง ย้ายถิ่นฐานเป็นประจำ ไม่สามารถรักและอยู่กับใครได้อย่างจริงจัง เพราะว่าวันหนึ่งทุกคนจะรู้ว่าเธอไม่เคยแก่เลย
ตอนที่ดูหนังเรื่องนี้ ผมติดจะมหัศจรรย์ใจกับการต่อสู้ชีวิตของนางเอกอยู่มากเสียหน่อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องเงิน ลองจินตนาการว่าตัวเองต้องมีชีวิตอยู่เป็นอมตะ ในชื่อปลอม ที่อยู่ปลอม ไม่สามารถลงหลักปักฐานได้ การทำงานหาเลี้ยงชีพคงไม่ใช่เรื่องง่าย
แต่ความน่ารักของเรื่องนี้คือ อะดาไลน์ได้ตัดสินใจซื้อหุ้นไว้หนึ่งตัวและถือมันไว้ตลอดชีวิต หุ้นตัวนั้นชื่อ XRX หรือ Xerox Holdings Corporation เจ้าของเทคโนโลยีเครื่องถ่ายเอกสารที่เรารู้จักกันดี
หุ้น XRX เข้าตลาดหุ้นครั้งแรกเมื่อปี 1936 ในชื่อ The Haloid Company ก่อนจะเปลี่ยนชื่อมาเป็น Xerox ในภายหลัง หากเทียบช่วงเวลาแล้วก็ถือว่าเป็นช่วงหนึ่งปีก่อนที่อะดาไลน์จะกลายเป็นอมตะ และหากนับจากระดับราคาเกือบ 100 ปีที่เธอถือหุ้นนี้มา ผลตอบแทนก็ไม่ได้เรียกว่าสูงมาก เพราะหุ้นนี้เข้าตลาดหุ้นที่ราคาราว 20 ดอลลาร์สหรัฐ และในปัจจุบันราคาหุ้นก็อยู่แถวๆ 20 ดอลลาร์สหรัฐไม่ไปไหน แต่ยังดีที่มีผลตอบแทนเป็นเงินปันผลปีละ 5%
หากจะพูดในมุมมองการลงทุน อะดาไลน์ถือเป็นนักลงทุนชั้นเยี่ยมคนหนึ่ง เพราะหุ้น XRX เคยให้ผลตอบแทนระดับมหาศาลในช่วงที่คนเริ่มต้นหันมาใช้เทคโนโลยีเครื่องถ่ายเอกสาร เรียกได้ว่า XRX เป็นหุ้นชื่อดังในบทเรียนอีกตัวหนึ่งที่นักลงทุนหลายคนคงจะได้รู้จักจากการศึกษาประวัติศาสตร์
แต่หากให้สอบเทียบขั้นจริงๆ แล้ว เธอก็อาจจะต้องถูกหักคะแนนไปไม่น้อย ในข้อหา ‘ถือหุ้นนานเกินไป’
ความจริงแนวคิดเรื่องการมองภาพอุตสาหกรรมและการถือหุ้นอย่างยาวนานของเธอ ทำให้ผมนึกถึงสุดยอดตำราการลงทุนอย่างหนังสือ Common Stocks And Uncommon Profits and Other Writings (หุ้นสามัญกับกำไรที่ไม่สามัญ) ของ ฟิลิป เอ. ฟิชเชอร์ (Philip A. Fisher) นักลงทุนที่ได้ชื่อว่าเป็นเสาหลักของการลงทุนในหุ้นเติบโต เพราะอดาไลน์ถือว่ามองภาพการเติบโตของอุตสาหกรรมในระยะยาวได้อย่างเฉียบขาดในช่วงที่เทรนด์การถ่ายเอกสารกำลังจะแพร่กระจายไปทั่วโลก
แต่ปัญหาคือไม่มีบริษัทใดอยู่ได้ค้ำฟ้า เป็นอมตะอย่างอะดาไลน์ แม้แต่ตัวเธอเองก็ต้องกลับมาเป็นปกติในวันหนึ่ง หุ้นทุกตัวก็เหมือนกับชีวิตของมนุษย์ที่มีจุดเริ่มต้น เติบโต รุ่งเรือง และร่วงโรยไปตามเวลา แม้แต่หุ้นระดับตำนานอย่าง XRX เพราะเทรนด์การถ่ายเอกสารค่อยๆ ถดถอยจากการมาถึงของโลกออนไลน์ ทุกวันนี้มันกลายเป็นหุ้นระดับดาดๆ เสียแล้ว ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีไม่มาก ไม่มีเรื่องราวน่าสนใจหรือชวนให้ใครมาลงทุนเท่าไหร่ เพราะส่วนหนึ่งก็เห็นได้ชัดว่าถนนข้างหน้าของตัวธุรกิจหลักไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนเดิม
นักลงทุนควรจะอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดของบริษัท กอบโกยผลตอบแทนมาให้มากที่สุด และเอ่ยคำลาในวันที่เหมาะสม แม้จะดูใจร้าย แต่นี่ก็เป็นหน้าที่ที่นักลงทุนต้องทำ เพราะโดยทั่วไปเงินที่นักลงทุนใช้ซื้อหุ้นจะสูงกว่าเจ้าของกิจการอยู่แล้ว แต่นั่นก็แลกมากับความคล่องตัวที่จะมาจะไปจะซื้อจะขายเมื่อไหร่ก็ได้ตามใจชอบ เรียกได้ว่าถ้าอยู่บนลำน้ำก็คงเป็นผู้โดยสารจำพวกกระโดดขึ้นเรือโน้นลงเรือนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ลงหลักปักฐานที่ใดจริงจัง เพราะรู้อยู่แก่ใจว่าไม่ช้าไม่นาน เรือทุกลำก็ต้องจมลง
ผมนั่งดูหนังแล้วก็คิดถึงครั้งหนึ่งที่เคยพูดคุยกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียนคนหนึ่งในประเทศไทย ผมถามว่าเขาคิดอย่างไรกับภาพอนาคตห้าปีข้างหน้าของบริษัทตัวเอง เขาตอบว่าไม่รู้
คำตอบนั่นอ่อนน้อมถ่อมตัวและไม่ได้จงใจจะยียวนกวนประสาท แต่ผมเห็นถึงความจริงที่ซ่อนอยู่ โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป ขนาดผู้บริหารยังไม่กล้ามองภาพห้าปีข้างหน้า แล้วจะเอาอะไรกับการคาดการณ์ของนักลงทุน
หากสรุปง่ายๆ สักข้อก็คงต้องบอกว่าอย่ารักหุ้น หรือจะให้ขยายความมากกว่านั้นก็คงต้องบอกว่าอย่ายึดมั่นถือมั่นในความเชื่อหรือเสียงในหัวของตัวเองมากจนเกินไป โลกทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วในระดับที่ต้องวิเคราะห์กันเดือนต่อเดือน สัปดาห์ต่อสัปดาห์ ไม่ใช่แค่หุ้น บริษัท หรือสินทรัพย์ที่เลือกจะลงทุน แต่เรายังต้องตั้งคำถามไปถึงองค์ความรู้ ความเชื่อ สภาพตรรกะในหัวของเราด้วยว่า สิ่งเหล่านั้นยังเชื่อถือได้และเท่าทันโลกอยู่หรือเปล่า
ผมเชื่อมั่นว่าคนเขียนบทภาพยนตร์ The Age of Adaline จงใจเลือกหุ้นที่ได้ผลตอบแทนระดับมหาศาลเพื่อจะแก้ปมเรื่องเงินของนางเอกให้สะอาดเอี่ยมอ่อง แต่ในฐานะสายตาของคนดูที่เป็นนักลงทุนคนหนึ่ง โจทย์ที่ว่านั้นยากเกินกว่าจะจิ้มเลือกหุ้นมาเพียงตัวเดียวได้ นี่ถ้าหากอะดาไลน์ต้องมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกสักร้อยปีสองร้อยปี เงินก้อนใหญ่ของเธอก็อาจจะหมดสักวันหนึ่ง หากเธอไม่หันมาศึกษาอุตสาหกรรมใหม่ๆ หรือเรียนรู้โลกการลงทุนที่โลดแล่นไปกับปัจจุบัน
นักลงทุนระดับโลกคนหนึ่งอย่าง ปีเตอร์ ลินช์ (Peter Lynch) เคยพูดไว้ว่า “อย่ารักหุ้น” ผมเคยสงสัยมาตลอดโดยเฉพาะช่วงที่เข้าตลาดมาใหม่ๆ ว่าทำไมเราถึงจะรักหุ้นไม่ได้ ในเมื่อหุ้นมันดี หุ้นมันสร้างผลตอบแทนให้เรา แต่ประสบการณ์การลงทุนเกือบ 10 ปีก็สอนให้ผมค้นพบว่า ไม่มีหุ้นไหนที่ไม่เปลี่ยนแปลง
วันหนึ่งการลาจากจะมาถึง การรักหุ้นมากเกินไปจะกลายเป็นปัญหาต่อการขายในที่สุด
อะดาไลน์เก่งเหลือเกินที่ตลอดเวลาเกือบร้อยปีแห่งอายุที่หยุดนิ่ง เธอเลือกที่จะไม่รักใครอย่างจริงจัง แต่เธอเองก็เหมือนจะเผลอรักหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากเกินไปหน่อย ผมยังจำได้ดีว่าตอนดูหนังเรื่องนี้จบ ผมร้องไห้ เช็ดน้ำตาเรียบร้อย หยิบรายการสินทรัพย์ที่ตัวเองมีทั้งหมดขึ้นมาดูว่าผมกำลังเป็นอะดาไลน์ในแง่ใดแง่หนึ่งหรือเปล่า มีหุ้น XRX ตัวไหนปลอมตัวมาอยู่ในพอร์ตผมหรือไม่ นี่อาจจะเป็นอีกเหตุผลที่เชื่อมโยงผมกับหนังเรื่องนี้ไว้ไม่หลุด
ผมคิดว่าความทุกข์ที่สุดของการเป็นอมตะ คือการค้นพบว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ตัวเองทำได้แค่ยืนมองทุกอย่างจากตรงที่เดิม