Wed 22 Jun 2022

CURRENTLY READING

รีวิว NOSE NOTE

ภาพ: ms.midsummer

NOSE NOTE

กันต์นที นีระพล เขียน

สำนักพิมพ์ Avocado Books

     สำนักพิมพ์เขากำลังจะออกเล่มใหม่แล้ว คนรีวิวถึงเล่มนี้ไปค่อนประเทศแล้ว (…) ไอ้เราเพิ่งได้ฤกษ์หยิบมาอ่าน! แต่ไม่เป็นไร เพราะการซื้อหนังสือ (ในเศรษฐกิจยุค อตอห) คือความเสี่ยง โปรดอ่านรีวิวก่อนตัดสินใจ เผื่อใครยังคิดลังเล หรือกำลังเล็งๆ ไว้อยู่จะได้ลองอ่านประกอบการตัดสินใจดูอีกนิด ไปค่ะ เริ่ม

     เล่มนี้เล่าเรื่องราวของ ‘กลิ่น’ ในมิติต่างๆ ตั้งแต่ที่มาที่ไปว่ากลิ่นเกิดขึ้นได้ยังไง ใครเป็นตัวเปิด แมสขึ้นมาช่วงไหน กลิ่นมีความสำคัญในชีวิตหรือเชิงประวัติศาสตร์ยังไง ไปจนความหมายของชื่อกลิ่นที่ไม่ได้ตั้งกันเล่นๆ เพราะนางมีสตอรี่ โดยพาเราย้อนไปสูดกลิ่นตั้งแต่ในอดีตอันไกลโพ้น ออกไปนอกจักรวาล ก่อนจะกลับมาที่ปัจจุบัน

     เดิมทีเรื่องกลิ่นเป็นอะไรที่เรารู้แบบผิวเผินเอามากๆ จึงคิดว่าเล่มนี้มันทำงานได้ดีในแง่การเปิดโลกแห่งกลิ่นที่เราอาจรู้ เคยรู้ และไม่รู้ไปอีกสเต็ป เนื้อหาหลายภาคส่วนทำให้เราว้าวเพราะไม่เคยรู้มาก่อน หลายจุดเปลี่ยนภาพจำในหัวที่เคยมีเกี่ยวกับกลิ่นไป อย่างเช่นกลิ่นตัวขึ้นอยู่กับยีนในร่างกาย แล้วคนเกาหลี-ญี่ปุ่นจะมียีนชนิดนั้นน้อย ทำให้เขาไม่ค่อยมีกลิ่นตัว (หรือนี่ทุกคนรู้อยู่แล้ว…) การกอดที่ช่วยให้สบายใจหรือคลายเครียดนั้น เจ้ากลิ่นก็มีส่วนช่วยด้วย (หรือนี่ทุกคนก็รู้!) กลิ่นเค็มที่ทะเลไม่ได้มาจากเกลือ และฟีโรโมนมันไม่มีกลิ่น! (…ขออภัยที่มืดบอดความรู้ทั่วไป)

     นอกจากนี้ ยังช่วยคลี่คลายความคิด ความทรงจำในวัยเด็กของเราให้แจ่มชัดขึ้นอย่างทำไมเราถึงชอบบรรยากาศในธนาคารและมักจะติดสอยห้อยตามพ่อแม่ไปเสมอ หรือกลิ่นโรงพยาบาลที่เราไม่ชอบนักไม่ชอบหนามันมีก็ปัจจัยอื่นมาผสมด้วยแฮะ

     เนื้อหาอาจมีทั้งเชิงประวัติศาสตร์บ้าง เคมีก็มา ชีววิทยาก็มี งานวิจัยก็แนบไว้ แต่เพราะวิธีการเล่าของคุณนักเขียนที่ใช้ศัพท์ง่าย อธิบายไม่ยุ่งยาก แวะเล่นมุกไปเรื่อยบ้าง (คนเส้นตื้นหน่อยน่าจะถูกใจใช่เลย) เวียนไปร้องเพลง เล่าเรื่องอื่น แล้วค่อยวนกลับมาเรื่องกลิ่นใหม่ มันเลยให้ฟีลนั่งอ่านสเตตัสเพื่อนที่เนิร์ดเรื่องกลิ่น รวมถึงการหยิบประเด็นหรือกลิ่นที่เชื่อมกับชีวิตประจำวัน ทำให้เราพลิกอ่านต่อได้เรื่อยๆ

     ไม่รู้คิดไปเองไหม เวลาอ่านเล่มนี้ชอบมีเพลงที่วนเวียนเกี่ยวกับกลิ่นผุดขึ้นมา ซึ่งของเราเป็นเพลง ‘กลิ่นดอกไม้’ ของ Plastic Plastic (youtube.com/watch?v=ljAF3mo6Qh4) เผื่อว่าใครอ่านแล้วนึกถึงเพลงเหมือนกัน หรือจะไปเปิดฟังขณะอ่านก็ไม่แย่นะ (อ้าว ดูออกเหรอคะว่าหาทางจบ ?)