NOTICE TO READER
บทความชวนอ่านภาพถ่ายที่เรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือ และชวนหาความหมายที่แฝงอยู่ภายในและบริบทโดยรอบของภาพ
เรื่อง: วิทิต จันทามฤต
ภาพ: NJORVKS
หากจะให้ผู้เขียนลำดับทักษะการ ฟัง พูด อ่าน เขียน คงต้องขอน้อมรับและแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่า การเขียนเป็นทักษะใหม่ที่เพิ่งกลับมาฝึกฝนอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ บทความชุด Reading Image ซึ่งเป็นบทความที่จะเล่าถึงการอ่านภาพถ่ายที่เรียบเรียงออกมาเป็นหนังสือ และการอ่านภาพถ่ายในลักษณะมองหาความหมายที่แฝงอยู่ภายในและบริบทโดยรอบของภาพ จึงถือเป็นบทความต่อเนื่องขนาดยาวชุดแรกที่เขียนขึ้น
สำหรับผู้ที่สงสัยว่าเราจะอ่านภาพได้อย่างไร ผู้เขียนคงต้องขอย้อนกลับไปเล่าถึงสองเรื่องหลักๆ ก่อน นั่นก็คือ ‘จุดกำเนิดของภาพถ่าย’ กับ ‘การพบกันของหนังสือและภาพถ่าย’ ซึ่งทั้งสองเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 โดยภาพถ่ายเป็นผลผลิตของกระบวนการทดลองทางวิทยาศาสตร์ และการเผยแพร่ผลงานภาพถ่ายผ่านหน้าหนังสือยังจำกัดอยู่แค่ในวงครอบครัว เพื่อน และกลุ่มชนชั้นนำ
1
ภาพถ่ายภาพแรกๆ ที่หลงเหลือเป็นหลักฐานบนโลกก็คือภาพ View from the Window at Le Gras โดย โจเซฟ นิเซฟอร์ เนียฟซ์ (Joseph Nicéphore Niépce) นักคิดค้น นักประดิษฐ์ และนักวิทยาศาสตร์ชาวฝรั่งเศส ที่บันทึกเอาไว้ราวปี 1826
คุณผู้อ่านเห็นอะไรในภาพบ้าง?
กรอบสี่เหลี่ยมที่ภายในมีรูปทรงสามเหลี่ยมคว่ำ? สามเหลี่ยมบนรูปทรงของสี่เหลี่ยม พื้นที่เปิดกว้างคล้ายท้องฟ้า และพื้นที่ในส่วนเงามืด?
ตามข้อความที่บันทึกต่อกันมา View from the Window at Le Gras เป็นภาพของความพยายามที่จะบันทึกธรรมชาติเอาไว้ในภาพถ่าย ภาพนี้เกิดขึ้นในพื้นที่ห้องทดลองของเนียฟซ์ โดยแทนที่เขาจะวาดภาพลอกลายอย่างจิตรกรยุคก่อนหน้า เนียฟซ์ได้ทดลองใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์แทนการวาดภาพเสมือนจริง ด้วยการหันกล้องออกไปยังข้างนอกห้อง ผ่านกรอบหน้าต่างที่อยู่บนชั้นสองของบ้านที่แคว้นบูร์กอญ ประเทศฝรั่งเศส แล้วใช้ส่วนผสมของน้ำมันดินและน้ำมันจากดอกลาเวนเดอร์ ชโลมลงบนแผ่นดีบุกผสมตะกั่ว จากนั้นจึงบรรจุแผ่นโลหะไว้ในกล้องออบสคิวสรา (camera obscura) เปิดช่องรับแสงให้แสงอาทิตย์ส่องผ่านเข้ามาเป็นเวลานานแปดชั่วโมง จากนั้นนำแผ่นโลหะไวแสงออกมาล้าง แล้ว ‘ภาพ’ ที่บันทึกก็ปรากฏและคงสถานะอยู่ในวัตถุนั้น จนกลายเป็น ‘ภาพถ่าย’ ขึ้นมา
เหตุที่ผู้เขียนเกริ่นนำว่าภาพนี้เป็นภาพถ่ายภาพแรกๆ ที่หลงเหลืออยู่ เป็นเพราะผู้เขียนคาดเดาว่าเนียฟซ์น่าจะได้ทำการทดลองเช่นนี้มาหลายต่อหลายครั้ง แต่เมื่อผ่านระยะเวลามาหลายร้อยปี ภาพเหล่านั้นก็ค่อยๆ สึกกร่อนและจางหายไป หรืออาจจะมีภาพอื่นๆ ที่ไม่ได้ถูกจัดเก็บอย่างดีนัก วิทยาการและกระบวนการทางภาพถ่ายในช่วงเริ่มต้นจึงได้อันตรธานหายไปและเหลือภาพนี้เป็นภาพสุดท้าย
สำหรับผู้อ่านที่สงสัยว่า สิ่งที่ตัวเองเห็นจากรูปข้างต้นนั้น แท้จริงแล้วต่างหรือเหมือนกับภาพที่เนียฟซ์เห็นอย่างไร ในปี 1952 เฮลมุต เกิร์นสไฮม์ (Helmut Gernsheim) นักประวัติศาสตร์ภาพถ่ายชาวสวิตเซอร์แลนด์ ได้ให้ผู้เชี่ยวชาญจากบริษัท Eastman Kodak นำภาพ View from the Window at Le Gras มาทำซ้ำและปรับแต่งภาพอย่างสุดความสามารถ เพื่อทำให้สิ่งที่มองไม่เห็นเป็นสิ่งที่มองเห็นได้ แต่สุดท้าย ภาพในเวอร์ชั่นปี 1952 ก็เป็นเพียงภาพซ้ำของภาพร่างที่ชัดเจนที่สุดของภาพทิวทัศน์จากภายนอกหน้าต่างที่ Le Gras
เรามองเห็นเพียงหลังคาลาดเอียง สิ่งปลูกสร้างที่มีหน้าต่างทางซ้ายมือ สิ่งที่คล้ายพุ่มไม้ สิ่งที่คล้ายหลังคาตรงกลางภาพ หรือสนามหญ้า (?) และอาคารกับจั่วหลังคาทางขวามือของกรอบภาพเท่านั้น
2
ในปี 1843 หรือ 17 ปีถัดมาหลังจากเนียฟซ์ถ่ายภาพ View from the Window at Le Gras ได้มีการรวบรวมภาพถ่ายและจัดทำออกมาเป็นรูปเล่มครั้งแรกในโลก
หนังสือเล่มนี้ไม่ได้ถูกผลิตจากช่างภาพอาชีพ แต่ทว่าเป็นผลงานของ แอนนา แอตกินส์ (Anna Atkins) นักพฤกษศาสตร์หญิงชาวอังกฤษ ที่ได้มอบหนังสือชุด Photographs of British Algae: Cyanotype Impressions ให้กับราชสมาคมแห่งลอนดอน
หนังสือชุดนี้บันทึกภาพของพืชจำพวกสาหร่ายนานาชนิด แต่แทนที่จะมีภาพประกอบเป็นภาพวาดลายเส้นอย่างหนังสือพฤกษศาสตร์เล่มอื่นๆ แอตกินส์กลับเลือกใช้วิธีการทางภาพถ่ายที่เรียกว่า Cyanotype print พิมพ์ภาพสาหร่ายหลายร้อยสายพันธุ์ และรวมเล่มเข้าด้วยกันกว่าสี่ร้อยหน้า ก่อนที่จะเผยแพร่ออกไปสู่สาธารณชน ซึ่งถือว่าเป็นการพบกันของหนังสือและภาพถ่ายเป็นครั้งแรกในโลก
กระบวนการทางภาพถ่ายที่เรียกว่า Cyanotype prints คือเทคนิคการนำวัตถุที่ต้องการจะทำให้เกิดภาพนำมาวางลงบนกระดาษที่มีสารเคมีไวแสง Ferric Ammonium Citrate และ Potassium Ferricyanide แล้วนำออกไปตากแดดราว 10-40 นาที หลังจากนั้นก็ใช้น้ำล้างน้ำยาเคมีบนกระดาษออกไป ส่วนที่ถูกแสงอาทิตย์ก็จะปรากฏสีน้ำเงินเข้มขึ้นมา ส่วนของสารเคมีที่ไม่ถูกแสง หรือถูกแสงในปริมาณที่น้อยกว่าก็จะถูกล้างออกไปปรากฏเป็นสีขาวบนกระดาษ ก่อให้เกิดเป็นภาพร่างของวัตถุนั้นๆ
เทคนิคนี้เรียกกันในชื่อเล่นว่า ‘Sun Prints’ หรือ ‘Blueprint’ อันเป็นต้นแบบวิธีการทำพิมพ์เขียวในงานวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมในเวลาต่อมา
แอตกินส์ได้หยิบยืมวิธีการดังกล่าวและปรับปรุงเทคนิคจากเพื่อนนักประดิษฐ์อีกสองคนคือ วิลเลียม เฮนรี ฟอกซ์ ทัลบอต (William Henry Fox Talbot) ผู้คิดค้นเทคนิคการคงสภาพภาพถ่ายบนกระดาษที่เคลือบสารไวแสง และ เซอร์ จอห์น เฮอร์เชล (Sir John Herschel) ผู้คิดค้นเทคนิค Cyanotypes print โดยแอตกินส์นำวิธีการดังกล่าวมาปรับใช้ แทนวิธีการบันทึกรายละเอียดของพืชแบบเก่า คือการวาดภาพด้วยมือ โดยการใช้วิธีนี้ทำให้เธอผลิตภาพได้ว่องไวกว่า ให้รายละเอียดได้มากกว่า ต่างจากก่อนหน้านี้ที่นักวิทยาศาสตร์ใช้เพียงภาพวาด หรือภาพแกะสลักด้วยหินในการบันทึกหลักฐานต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งยุ่งยากและใช้เวลานาน
จะเห็นได้ว่าภาพผลงานของแอตกินส์ไม่ได้มีกรอบของกล้องถ่ายภาพเหมือนผลงานของเนียฟซ์ แต่มีกรอบของกระดาษเป็นพื้นที่ในการรับภาพ บังคับ และกำกับให้เรามองเฉพาะลักษณะของสาหร่ายที่เป็นภาพกราฟิกสีขาวบนกระดาษสีน้ำเงิน
สิ่งที่น่าสนใจในงานของแอตกินส์ คือความคิดสร้างสรรค์ของเธอ เราเห็นร่องรอยของการจัดองค์ประกอบภาพ จัดวางราก กิ่ง ก้าน ใบ ไม่ให้ทับซ้อนกัน บิด-จับสาหร่ายแต่ละต้นให้อยู่ในกระดาษเพื่อให้ดูสวยงาม และเห็นรายละเอียดที่ชัดเจน ในบางหน้าจะสังเกตเห็นว่าเธอเรียงสาหร่ายใบจิ๋วเพื่อเป็นหัวเรื่องของบทในหนังสืออีกด้วย
อาจพูดได้ว่า Photographs of British Algae: Cyanotype Impressions เป็นหนังสือทำมือ และเผยแพร่ด้วยตนเองเล่มแรกของโลก ซึ่งนอกจากเล่มที่เธอมอบให้ราชสมาคมแห่งลอนดอนแล้ว ยังมีการค้นพบหนังสือชุดดังกล่าวอีกเพียง 17 เล่มเท่านั้น และมีเพียง 13 เล่มที่มีลายมือของแอตกินส์อยู่ อีกทั้งหนังสือแต่ละชุดจะมีจำนวนภาพไม่เท่ากัน และความสมบูรณ์ของชุดภาพก็ยังแตกต่างกันอีกด้วย ปัจจุบันหนังสือชุดนี้สามารถหาอ่านได้ตามห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ และสวนพฤกษศาสตร์หลายแห่งทั่วโลก
3
เกือบสองร้อยปีต่อมา กระบวนการทำให้เกิดภาพได้เปลี่ยนแปลงจากกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ที่สารเคมีทำปฏิกิริยากับแสงทำให้เกิดภาพบนกระดาษ ไปสู่ยุคของระบบเซนเซอร์ที่แปลงสัญญาณไฟฟ้าเป็นข้อมูลในระบบดิจิตอล ภาพถ่ายจึงถูกผลิตและเผยแพร่อย่างรวดเร็วมากกว่าเดิมด้วยเครื่องมือที่เรียกว่าโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมาพร้อมกับกล้องถ่ายรูป และระบบอินเทอร์เน็ตที่ทำให้การแชะแล้วแชร์เกิดขึ้นได้รวดเร็วครบวงจรภายในเวลาไม่กี่วินาที
เราใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายในหลายบทบาทอย่างซับซ้อนและแตกต่างจากจุดแรกเริ่มของมัน ภาพถ่ายถูกใช้แทนการสื่อสารด้วยตัวอักษรหลายประโยคโดยผู้รับไม่ต้องเสียเวลาอ่าน เพียงเห็นภาพก็เข้าใจความหมายในทันที เช่น เราถ่ายรูปร้านอาหารที่ตั้งใจจะไปแต่พบว่ามันปิด และส่งให้แฟนของเราดูเพื่อยืนยันความโชคร้ายของเรา หรือการใช้ภาพถ่ายในเชิงสัญลักษณ์ เช่น สติกเกอร์หรือมีม ซึ่งก็คือภาพล้อเลียนที่ทำงานด้วยการสื่อสารระดับจิตใต้สำนึกของแต่ละบุคคล เพียงแค่เห็นท่าทางหรือข้อความบางอย่างกระตุกกลไกหรือความคิดสร้างสรรค์ในตัว ผู้อ่านก็จะเข้าใจประเด็นและรู้สึกขบขันไปกับภาพนั้นทันที
ดังนั้น บทความอื่นๆ ที่จะตามมาในคอลัมน์นี้จะเป็นการนำเสนอความเป็นไปได้ของวิธีการอ่านและตีความภาพถ่ายในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพเดี่ยว ภาพชุด หรือในรูปแบบของหนังสือภาพ รวมถึงกระบวนการ ตั้งแต่การคัดเลือกรูปภาพ นำมาลำดับ จัดพิมพ์ เเละเผยแพร่ผลงาน เพื่อเป็นการส่งต่อเรื่องเล่าที่อยู่ในภาพถ่ายให้ออกมาจับต้องได้
บทความนี้จึงไม่ใช่บทสรุปหรือวิธีการบังคับให้ผู้อ่านเห็นตรงกับผู้เขียนเสียฝ่ายเดียว ผู้อ่านสามารถใช้อารมณ์ความรู้สึกในการเชื่อมโยงภาพแต่ละภาพ ขบคิดถึงสิ่งที่ลึกลงไปอยู่เบื้องหลังหรือนอกกรอบของภาพ ด้วยประสบการณ์ชีวิตของแต่ละคนได้อย่างเปิดกว้างเช่นกัน
อ้างอิง:
Cyanotypes of British Algae by Anna Atkins (1843)
IDEAPARTYBLOG. (2013). View from the Window at Le Gras, Joseph Nicéphore Niépce
Kerry Lotzof. Anna Atkins’s cyanotypes: the first book of photographs
Photographs of British Algae: Cyanotype Impressions