Tue 12 Sep 2023

THE WORLDCHANGER

‘OPPENHEIMER’ กับมูลค่าของการทดลอง

ภาพ: ms.midsummer

     หนังเรื่อง Oppenheimer ที่เข้าฉายไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมานั้น ขึ้นแท่นกลายเป็นหนังวิทยาศาสตร์ในตำนานเรื่องหนึ่งไปแล้ว

     Oppenheimer คือหนังชีวประวัติที่เล่าคู่ขนานกับเรื่องราวเชิงวิทยาศาสตร์และการเมือง ว่าด้วยระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโรชิมาและนางาซากิในสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยผู้กำกับชื่อดังอย่าง คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) เล่าเรื่องของ เจ. โรเบิร์ต ออปเพนไฮเมอร์ (J. Robert Oppenheimer) อ้างอิงจากหนังสือ American Prometheus: The Triumph and Tragedy of J. Robert Oppenheimer ของ ไค เบิร์ด (Kai Bird) และ มาร์ติน เจ. เชอร์วิน (Martin J. Sherwin) โดยพาคนดูไปรู้จักกับผู้สร้าง ผู้คิดค้น รวมไปถึงผู้ควบคุมอำนวยการหน่วยงานเฉพาะกิจจนสร้างอาวุธเปลี่ยนโลกได้สำเร็จ

     หนังเรื่องนี้เขย่าวงการภาพยนตร์ได้อย่างหนักหน่วง ได้รับความนิยมและได้รับการต่อยอดนำไปพูดถึงในคอนเทนต์ต่างๆ ส่งแรงกระเพื่อมไปถึงโครงสร้างอื่นเป็นวงกว้าง รวมถึงการฉายแสงไปยังสองวงการที่อาจไม่ป๊อปมากในเวทีโลกอย่างประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์

     หากหยิบหัวใจของ Oppenheimer หรือ ‘วิทยาศาสตร์’ มาจับกับตลาดหุ้น เราจะพบสิ่งที่น่าสนใจอย่างหนึ่งคือ ตลาดหุ้นกับวิทยาศาสตร์ไปด้วยกันได้ไม่ค่อยดีนัก 

     สังเกตง่ายๆ คือหุ้นที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์มีให้เห็นน้อยมากจนแทบจะเรียกได้ว่าไม่มีอยู่เลย

     ความจริง ‘สิ่งที่นักลงทุนชอบ’ กับ ‘สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เป็น’ ค่อนข้างจะขัดแย้งกันโดยธรรมชาติอยู่แล้ว 

     วิทยาศาสตร์มักจะพูดถึงการค้นพบข้อเท็จจริงใหม่ในธรรมชาติ และนำองค์ความรู้นั้นมาต่อยอด ในทางตรงกันข้าม นักลงทุนไม่ต้องการสิ่งใหม่หวือหวา หากต้องการความเรียบง่าย แน่นอน จับต้องได้ คาดการณ์ได้มากพอสมควร

     หุ้นยอดนิยมของนักลงทุนจึงมักเป็นหุ้นที่เข้าใจง่าย หุ้นค้าปลีก—ซื้อมาขายไป หุ้นอาหาร—ทำอาหารขาย หุ้นธนาคาร—รับเงินมาปล่อยกู้ กินส่วนต่างดอกเบี้ย หรือแม้แต่หุ้นโรงพยาบาลยอดนิยมในไทย เกือบทั้งหมดก็เน้นไปที่การให้บริการทางการแพทย์ กระทั่งบริษัทเภสัชภัณฑ์ในประเทศไทยยังไม่มีการคิดค้นยาใหม่เลย

     สวนทางกับต่างประเทศโดยสิ้นเชิง เพราะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อีกอย่างของหุ้นต่างประเทศคือหุ้นกลุ่มยาและเภสัชภัณฑ์ บริษัทพวกนี้จะลงทุนทำวิจัยและพัฒนาเพื่อค้นหายาใหม่ที่นำมาใช้รักษาโรค ซึ่งหากทำได้จริง นั่นหมายถึงการเปลี่ยนโลกและดึงเงินให้ไหลเข้าบริษัท สร้างผลกำไรมหาศาล

     อาจพูดได้ว่าการคิดค้นยาก็ไม่ต่างจากงานของหน่วยงานเฉพาะกิจที่ออปเพนไฮเมอร์ทำ 

     บริษัทยาจะเริ่มจากการจดสิทธิบัตร เพื่อเริ่มทำวิจัยและพัฒนายา สู่การทดลองในคอมพิวเตอร์ สู่หลอดทดลอง สู่ร่างกายสัตว์ และสุดท้ายคือการทดลองในร่างกายคน

     ความวูบไหวในการทำงานเพื่อค้นพบสิ่งหนึ่งนั้น แกว่งไกวและไร้ความเชื่อมั่นไม่ต่างกับที่ออปเพนไฮเมอร์เจอในการสร้างระเบิดนิวเคลียร์ นักวิทยาศาสตร์ผู้วิจัยยาจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 20 ปีในการวิจัยยาตัวหนึ่งโดยเฉลี่ย ระยะเวลานี้ถือว่ายาวนานมากพอจนเด็กทารกจะเติบโตจนบรรลุนิติภาวะ

     บริษัทที่นักลงทุนสามารถเรียกว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างเต็มปากเต็มคำที่สุดบริษัทหนึ่งคือ Novo Nordisk บริษัททางการแพทย์ผู้คิดค้นวิจัยและจัดจำหน่ายยา เน้นกลุ่มโรคเกี่ยวกับเบาหวานและโรคอ้วน ก่อตั้งตั้งแต่ปี 1923 โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เดนมาร์ก

     สิ่งที่ Novo Nordisk เปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปอย่างสิ้นเชิงคือการสร้างปากกาสำหรับฉีดอินซูลิน

     สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 1 การฉีดอินซูลินจำเป็นมากและต้องฉีดตั้งแต่โรคเริ่มต้น ขณะที่เบาหวานชนิดที่ 2 จะเริ่มฉีดเมื่อผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยากินแล้ว

     ก่อนหน้านี้ การฉีดอินซูลินเป็นเรื่องยุ่งยาก ผู้ป่วยต้องใช้เข็มฉีดยาแบบที่พยาบาลฉีด ดูดยาจากขวด ใช้วิธีปราศจากเชื้อแบบที่พยาบาลทำ เข็มก็มีขนาดใหญ่และสร้างความเจ็บปวดให้ผู้ฉีด จนกระทั่ง Novo Nordisk คิดค้นปากกาสำหรับฉีดยาขึ้นมา ยาและเข็มจึงรวมอยู่ในปากกาแท่งเดียว ปักที่ท้อง ฉีดง่าย และแทบจะไม่เจ็บปวดเลย

     วิทยาการทางการแพทย์ที่ผสมผสานกับการคิดค้นยาใหม่ในการรักษาโรคเบาหวานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ Novo Nordisk เป็นผู้นำในตลาดปากกาฉีดยาโรคเบาหวาน และแน่นอนว่าวิทยาศาสตร์อันเปล่งประกายก็นำมาซึ่งผลประกอบการของบริษัทที่พุ่งสูงยาวนานตั้งแต่เข้าตลาดหุ้นมา

     เมื่อวันที่ 21 มกราคม 1982 หุ้น Novo Nordisk มีราคา 0.2185 ดอลลาร์สหรัฐ (ปรับการแตกพาร์แล้ว) แต่ล่าสุด (30 สิงหาคม 2023) หุ้น Novo Nordisk มีราคา 188.07 เหรียญ 

     เทียบเท่ากับผลตอบแทน 85,941.19% ภายในเวลาประมาณ 41 ปี 7 เดือน ชนะตลาดหุ้นได้อย่างขาดลอย

     หากย้อนเวลากลับไปได้ในปี 1981 ตอนที่หุ้น Novo Nordisk เพิ่งเข้าตลาด (14 ปีหลังออปเพนไฮเมอร์เสียชีวิต) และนักลงทุนซื้อหุ้นไว้ 1,000,000 บาท เวลาผ่านมาจนถึง ณ วันนี้ เงินก้อนนั้นจะมีมูลค่ามากกว่า 860 ล้านบาทแล้ว

     หุ้นที่ขึ้นอยู่กับวิทยาศาสตร์ก็ไม่แตกต่างจากชีวิตนักวิทยาศาสตร์เท่าไหร่นัก มีทั้งความรุ่งโรจน์และการแตกสลายผุพัง 

     ผู้ที่คิดค้นวิทยาการเปลี่ยนโลกได้ จะสิ้นสุดด้วยการเป็นตำนานและถูกจารึกชื่อในหอแห่งเกียรติยศนิรันดร์ 

     ตรงข้ามกับผู้ล้มเหลว ผู้คนจำนวนมากเหล่านั้นร่วงหล่นและไม่ถูกจดจำด้วยซ้ำ

     หุ้นวิทยาศาสตร์ก็เป็นเช่นนั้น หุ้นผู้ชนะจะกลับกลายเป็นหุ้นร้อยเด้ง พันเด้ง หมื่นเด้ง 

     ตรงกันข้าม หุ้นที่ทุ่มเงินลงไปกับการพัฒนายาและสิ้นสุดด้วยความล้มเหลวไปจนถึงบริษัทล้มละลาย ก็ไม่ต่างจากระเบิดนิวเคลียร์ของออปเพนไฮเมอร์เท่าไรห่ 

     เพราะในแสงโชติช่วงชัชวาลนั้น มีเศษซากอยู่ท่ามกลางหมู่ผู้สร้างและผู้ถูกทำลาย