Fri 29 Jul 2022

People / Face / Money

คน / หน้า / เงิน

     ตลอดครึ่งปีแรกที่ผ่านมา เราได้เห็นการรายงานข่าวอันเคร่งเครียดเกี่ยวกับ ‘วิกฤตเศรษฐกิจ’ อยู่ตลอดเวลา ค่าเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง สินค้าในชีวิตประจำวันแพงขึ้น ขณะที่เงินเดือนหรือค่าขนมไปโรงเรียนของพวกเรายังคงเท่าเดิม… เช่นเดียวกับใบหน้าของบุคคลในธนบัตรที่ก็ยังเป็นหน้าเดิม

     คอลัมน์ DATA JOURNALREAD ประจำเดือนนี้เลยจะพาไปสำรวจ ‘ใบหน้าของบุคคลในธนบัตร’ มาดูกันว่าพวกเขาเหล่านั้นเป็นใคร ประกอบอาชีพ หรือมีผลงานอะไรจึงถูกเลือกให้ไปอยู่ในธนบัตร 

     จากแผนภูมิรูปภาพ (ที่พวกเราคุ้นเคยกันดีสมัยประถม) จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘ผู้นำทางการเมือง’ คือ อาชีพที่มีใบหน้าปรากฏอยู่บนธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดมากที่สุด โดยมีทั้งหมด 8 คน ตัวอย่างเช่น ‘เหมา เจ๋อตุง’ (Mao Zedong) ในธนบัตร 100 หยวนจีน ‘มหาตมะ คานธี’ (Mahatma Gandhi) ในธนบัตร 1,000 รูปีอินเดีย และ ‘เนลสัน แมนเดลา’ (Nelson Mandela) ในธนบัตร 200 แรนด์แอฟริกาใต้ ฯลฯ ส่วนมากประเทศที่เลือกผู้นำทางการเมืองให้มาอยู่บนธนบัตรที่มูลค่าสูงที่สุดมักจะเป็นประเทศที่ผ่านสมรภูมิทางการเมือง, การเรียกร้องสิทธิ เสรี ความเท่าเทียม, การเรียกร้องประชาธิปไตยและการเรียกร้องการประกาศอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมมาก่อน หรือในอีกกรณีคือเป็นผู้นำเผด็จการทหารที่เชิญตัวเองขึ้นไปอยู่ก็มีเช่นกัน 

     อาชีพต่อมาคือ ‘นักวิทยาศาสตร์’ ผู้ค้นคว้า ประดิษฐ์ และคิดค้นทฤษฎีที่เปลี่ยนความคิดของผู้คนทั้งโลก มีทั้งหมด 5 คนด้วยกัน ตัวอย่างเช่น ‘อลัน ทัวริง’ (Alan Turing) นักคณิตศาสตร์ที่ถอดรหัสนาซี และมีส่วนช่วยในการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 ในธนบัตร 50 ปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ ‘มารี คูรี’ (Marie Curie) ในธนบัตร 500 ฟรังก์ฝรั่งเศส (ปัจจุบันฝรั่งเศสใช้สกุลเงินยูโร) และ ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) ในธนบัตร 100 ดอลลาร์สหรัฐ 

     อาชีพสุดท้ายมี 4 และ 3 คนตามลำดับ คือ ‘นักเขียน’ และ ‘ศิลปิน’ สิ่งที่น่าสนใจคือการมีบุคคลที่มีอาชีพเกี่ยวข้องกับความคิดสร้างสรรค์ปรากฏบนธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุดอย่างธนบัตร 10,000 เยนญี่ปุ่น ปรากฏใบหน้าของ ‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ (Fukuzawa Yukichi) นักเขียนผู้แปลพจนานุกรม อังกฤษ-ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี 1860 ในยุคเมจิ และธนบัตร 50,000 วอนเกาหลีใต้ใช้รูป ‘ชิน ซาอิมดัง’ (Shin Saimdang) จิตรกรหญิงในช่วงราชวงศ์โชซ็อน

     จากแผนภูมิโลลลี่ป๊อป (Lollipop chart) ที่ถูกตั้งชื่อมาจากลักษณะของแผนภูมิที่มีจุดและแท่งเหมือนอมยิ้ม เมื่อเห็นชาร์ตนี้ ทุกคนน่าจะมีความหวังขึ้นแน่นอน เพราะนี้ผู้นำทางการเมืองที่มีแนวคิดสนับสนุนประชาธิปไตยถูกเลือกมาอยู่บนธนบัตรเยอะกว่าจำนวนของผู้นำที่มีแนวคิดเผด็จการทหาร โดยที่มูลค่าของธนบัตรที่แต่ละบุคคลอยู่เมื่อคำนวณเป็นสกุลเงินบาทไทยแล้วจะอยู่ที่ช่วง 100-500 บาท 

     ตัวอย่างเช่น ‘อับราฮัม ลินคอร์น’ (Abraham Lincoln) ผู้ประกาศเลิกทาสในสหรัฐอเมริกา ปรากฏอยู่ในธนบัตร 5 ดอลลาร์สหรัฐ เมื่อคำนวณด้วยเรตเงินเฟ้อปัจจุบันจะอยู่ที่ราวๆ 183 บาทไทย นอกจากนี้ประเทศที่เลือกผู้นำทางการเมืองให้มาอยู่บนธนบัตร มักจะเป็นประเทศที่มีการเรียกร้องสิทธิ เสรี ความเท่าเทียม, การเรียกร้องประชาธิปไตย และการเรียกร้องการประกาศอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคมมาก่อน เช่น อินเดีย, อินโดนีเซีย, อาร์เจนตินา, เวียดนาม และคิวบา เป็นต้น  

     ทางด้านธนบัตรของฝ่ายเผด็จการทหารก็มีหนึ่งประเทศที่พวกเราคุ้นเคยกันดีคือ ประเทศเกาหลีเหนือ ธนบัตรมูลค่าสูงสุดอย่าง 5,000 วอนเกาหลีเหนือ ปรากฏใบหน้าของอดีตผู้นำสูงสุดคนแรก ‘คิม อิลซุง’ (Kim il-sung) บิดาผู้สร้างชาติ หรือปู่ของ ‘คิม จองอึน’ (Kim Jong-un) นั่นเอง 

     แม้บุคคลภายนอกจะทราบกันดีถึงความเป็นเผด็จการทหาร แต่จริงๆ แล้วธนบัตรของเกาหลีเหนือไม่ได้มีแต่รูปของคิม อิลซุง เพียงคนเดียว แต่อีกด้านหนึ่งยังมีสถานที่ ดอกไม้ประจำชาติ และธรรมชาติอันสวยงามของเกาหลีเหนือที่ไม่ได้เปิดให้คนทั้งโลกรับรู้อยู่ด้วย ซึ่งแตกต่างมากกับประเทศจีนที่ด้านหน้าของธนบัตรปรากฏเพียงแค่ใบหน้าของเหมา เจ๋อตุง อดีตผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนแต่เพียงผู้เดียว 

     ถ้าหากวันหนึ่ง ไทยใช้กรอบความคิดแบบนี้ ผู้นำทางการเมือง บุคคลที่เรียกร้องประชาธิปไตย หรือรัฐบุรุษคนไหนจะได้อยู่ในธนบัตรไทยกันนะ?

     ‘นิโคเลาส์ โคเปอร์นิคัส’ (Nicolaus Copernicus) มีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1473-1543 ทำงานเกี่ยวกับดาราศาสตร์และคณิตศาสตร์ คิดค้นและศึกษาทฤษฎี ‘โลกไม่ใช่ศูนย์กลางของระบบสุริยจักรวาล ดวงอาทิตย์ต่างหากที่เป็นศูนย์กลาง’ โคเปอร์นิคัสปรากฏอยู่ในธนบัตร 1,000 ซโลตีโปแลนด์ อดีตธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโปแลนด์ โดยในช่วงเวลาที่โคเปอร์นิคัสยังมีชีวิตอยู่ เขามีส่วนในการผลักดันสกุลเงินซโลตีมาเป็นสกุลเงินหลักของชาติด้วย   

     ‘กาลิเลโอ กาลิเลอี’ (Galileo Galilei) ถือกำเนิดหลังจากการเสียชีวิตของโคเปอร์นิคัสเพียงแค่ 21 ปี โดยโคเปอร์นิคัสเสียชีวิตในปี 1543 ส่วนกาลิเลโอเกิดในปี 1564 แต่สิ่งที่โคเปอร์นิคัสศึกษามาตลอดทั้งชีวิตเป็นแรงบันดาลใจในด้านดาราศาสตร์ให้กับกาลิเลโอเต็มๆ ตลอดช่วงเวลา 78 ปีของกาลิเลโอ เขาศึกษาความลับของจักรวาลออยู่เสมอ ตัวอย่างเช่นการประดิษฐ์กล้องส่องทางไกลเมื่อ 413 ปีที่แล้วในปี 1609, การค้นพบดวงจันทร์ทั้งสี่ดวงของดาวพฤหัสบดี และเรียกสิ่งที่เขาค้นพบว่า ดวงจันทร์ของกาลิเลโอ (Galilean moons) เมื่อการมีชื่อตัวเองบนดวงจันทร์ของดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยจักรวาลก็ทำมาแล้ว การจะมีใบหน้าตัวเองอยู่บนธนบัตรก็ไม่ใช่เรื่องยากอะไร โดยใบหน้าของกาลิเลโอเคยปรากฏอยู่ในธนบัตร 2,000 ลีราอิตาลี แต่น่าเสียดายที่พวกเราไม่สามารถพบธนบัตรรุ่นนี้ได้แล้ว เพราะเป็นธนบัตรที่ถูกใช้งานช่วง 1982-2000 ก่อนที่จะเปลี่ยนรุ่นของธนบัตร

     เรื่องที่น่าเหลือเชื่อคือ กาลิเลโอและ ‘ไอแซค นิวตัน’ (Isaac Newton) มีชีวิตคลาดกันแค่นิดเดียว โดยกาลิเลโอเสียชีวิตในปี 1642 และนิวตันเกิดปี 1643 ถึงแม้ว่านักดาราศาสตร์และนักฟิสิกส์ทั้งสองคนจะเกิดไม่ทันกัน แต่แรงบันดาลใจด้านวิทยาศาสตร์ของนิวตันก็ได้รับมาจากกาลิเลโอเต็มๆ คราวนี้เขาไม่ศึกษาความลับนอกโลกแล้ว แต่หันมาศึกษาเรื่องโลกของเราเองและได้คิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วงขึ้น เราสามารถพบใบหน้าของนิวตันได้ในธนบัตร 1 ปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษรุ่นซีรีส์ D ปี 1978-1988 ทั้งนี้นิวตันถือเป็นคนสุดท้ายที่ปรากฏอยู่ในธนบัตร 1 ปอนด์ ก่อนที่จะยกเลิกไปใช้แค่เหรียญเพียงอย่างเดียว  

     ถึงแม้ว่าสหรัฐอเมริกาจะเป็นดินแดนที่ขึ้นชื่อเรื่องเสรีภาพและประชาธิปไตย และเลือกนักการเมืองให้ปรากฏอยู่บนธนบัตรมากมาย แต่ธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุดอย่าง 100 ดอลลาร์สหรัฐ กลับไม่ใช่ใบหน้าของนักการเมือง แต่เป็น ‘เบนจามิน แฟรงคลิน’ (Benjamin Franklin) นักวิทยาศาสตร์ที่คิดค้นสายล่อฟ้า ซึ่งจริงๆ จะบอกว่าไม่เกี่ยวกับการเมืองก็ไม่เชิง เพราะแฟรงคลินก็เป็นหนึ่งในรัฐบุรุษผู้สร้างชาติอเมริกา

     ในบรรดาประเทศทั้งหมด อังกฤษเป็นประเทศที่มักจะเลือกผู้ศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ขึ้นมาอยู่บนธนบัตรเป็นประจำ เช่น ‘ชาร์ลส์ ดาร์วิน’ (Charles Darwin) นักธรรมชาติวิทยาผู้คิดค้นทฤษฎีวิวัฒนาการ และ ‘ฟลอเรนซ์ ไนติงเกล’ (Florence Nightingale) ผู้บุกเบิกด้านพยาบาลศาสตร์ยุคใหม่ ซึ่งทั้งคู่อยู่บนธนบัตร 10 ปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษแต่คนละรุ่น ไนติงเกลอยู่รุ่นซีรีส์ D ปี 1975-1994 และดาร์วินอยู่รุ่น E (Variant) ช่วงปี 2000-2018 

     (Fun Fact ประจำคอลัมน์เดือนนี้ จริงๆ แล้ว ไนติงเกลไม่ได้มีชื่อเสียงด้านพยาบาลเพียงอย่างเดียว แต่ยังเป็นบุคคลกลุ่มแรกๆ ที่ริเริ่มการประยุกต์ผลทางสถิติมาเป็น Data Visualization โดยการเอาข้อมูลผู้ป่วยจากค่ายทหารมาอธิบายเป็น Rose chart หรือ Rose Diagram กราฟวงกลมที่แสดงจำนวนของผู้ป่วยแบ่งแยกตามอาการในปี 1856 หรือ 166 ปีที่แล้ว  

     นอกจากนี้ สมาคม Data Visualization Society มีนิตยสารออนไลน์สำหรับคนที่ทำงานและศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับดาต้า โดยใช้ชื่อว่า Nightingale เพื่อเป็นการอุทิศและยกย่องให้กับผลงานของเธอ ซึ่งเราเองในฐานะคนที่ทำงานด้านนี้ก็เป็นสมาชิกของสมาคมเหมือนกัน)  

     ปี 1900-1950 เป็นช่วงเวลาที่นักวิทยาศาสตร์ 8 คนมีชีวิตอยู่ และถูกรับเลือกให้ปรากฏอยู่บนหน้าธนบัตร โดยแต่ละคนศึกษาศาสตร์ที่แตกต่างกัน ตั้งแต่นักจิตวิทยา นักเคมี นักเคมีธรณี นักแบคทีเรียวิทยา แพทย์ และนักคณิตศาสตร์ 

     หนึ่งในประเทศที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในปี 2022 คือยูเครน ซึ่งธนบัตรมูลค่าสูงสุดของประเทศอย่าง 1,000 ฮริฟเนียยูเครน เป็นรูปของนักเคมีธรณี ‘วลาดิเมียร์ เวอร์นัดสกี้’ (Vladimir Vernadsky) ผู้ศึกษาเคมีทั้งพื้นดินและใต้ดิน รวมถึงแร่ เพื่อนำมาพัฒนาหารังสีต่างๆ 

     ทางด้านธนบัตร 500 ฟรังก์ฝรั่งเศสก็เป็นนักเคมีเช่นกัน เป็นใบหน้าของ ‘มารี คูรี’ (Marie Curie) นักเคมีหญิงผู้ครอบครองสองรางวัลโนเบล ทั้งรางวัลโนเบลสาขาฟิสิกส์ในปี 1903 จากการค้นพบกัมมันตภาพรังสี และรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1911 จากการค้นพบธาตุเรเดียมและพอโลเนียม คูรีเป็นผู้หญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถคว้ารางวัลโนเบล และเป็นคนแรกในประวัติศาสตร์โลกที่คว้ารางวัลโนเบลเป็นครั้งที่สอง แน่นอนว่าคูรีเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวที่มีใบหน้าปรากฏอยู่ในธนบัตรฟรังก์ฝรั่งเศส และยังเป็นธนบัตร 500 ฟรังก์ที่มีมูลค่ามากที่สุดของประเทศด้วย แต่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้ว เนื่องจากการเข้าร่วม EU ของฝรั่งเศส ทำให้ต้องเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินยูโรแทน  

     ถ้าหากวันหนึ่ง ประเทศของเราใช้กรอบความคิดแบบนี้ นักวิทยาศาสตร์ไทยคนไหนจะได้อยู่ในธนบัตรเงินบาทกันนะ?

     ถึงแม้ว่าจะเขียนหนังนิทานสำหรับเด็กเล็ก แต่อายุของ ‘ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน’ (Hans Christian Andersen) ตอนที่ The Little Mermaid ตีพิมพ์ครั้งแรกที่เดนมาร์ก เขาก็อายุ 31 ปีแล้ว หนังสือประสบความสำเร็จสร้างชื่อเสียงและรายได้มากมาย จนทำให้เขาได้มาอยู่บนธนบัตร 10 โครนเดนมาร์ก เป็นระยะเวลา 20 ปี ตั้งแต่ปี 1952-1964  

     ‘เจน ออสเตน’ (Jane Austen) ตีพิมพ์ Pride and Prejudice ครั้งแรกตอนอายุ 38 และได้รับเลือกให้เป็นผู้หญิงชาวอังกฤษคนที่สามที่ได้มาอยู่บนธนบัตร 10 ปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษในปัจจุบันต่อจากไนติงเกลและดาร์วิน

     ‘ยาค็อบ’ และ ‘วิลเฮล์ม กริมม์’ (Jacob & Wilhelm Grimm) คือชื่อจริงของนักเขียนที่เด็กทุกคนรู้จักพวกเขาดีในนาม ‘พี่น้องตระกูลกริมม์’ (Brothers Grimm) สองพี่น้องรวบรวมเรื่องเล่าพื้นบ้านและตำนานปรัมปราของยุโรปในอดีต เพิ่มความแฟนตาซีและเหนือธรรมชาติลงไปในงาน กลายเป็นความทรงจำของเด็กตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นิทานที่สองพี่น้องรวบรวมมาตีพิมพ์ครั้งแรกในช่วงที่ทั้งคู่อายุราวๆ 27 ปี และ 22 ปีตามลำดับ ครั้งหนึ่งใบหน้าของสองพี่น้องเคยปรากฏอยู่บนธนบัตร 1,000 มาร์กที่มีมูลค่าสูงที่สุดของเยอรมนี แต่ได้ยกเลิกไปในปี 1999 เพื่อเข้าร่วม EU การที่ครั้งหนึ่งเยอรมนีเลือกพี่น้องกริมม์ให้มาอยู่ธนบัตรสูงสุดของประเทศเป็นการแสดงออกที่ชัดเจนว่าประเทศให้ความสำคัญกับการอ่านวรรณกรรมเยาวชนและนิทานสำหรับเด็ก โดยทั้งสองคนถือเป็นบุคคลที่เป็นความภาคภูมิใจของประเทศ

     ประเทศในโซนเอเชียของพวกเราก็เลือกนักเขียนมาอยู่บนธนบัตรถึงสองคน โดยธนบัตร 10,000 เยนของประเทศญี่ปุ่นปรากฏใบหน้าของ ‘ฟุคุซาวะ ยูคิจิ’ (Fukuzawa Yukichi) นักเขียนผู้สร้างแนวคิดปฏิรูปยุคเมจิเข้าสู่ญี่ปุ่นยุคใหม่และเป็นผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเคโอ (Keio University) ส่วนธนบัตร 5,000 เยนเป็นใบหน้าของ ‘ฮิงุชิ อิชิโย’ (Higuchi Ichiyo) นักกวีหญิงในยุคเมจิ   

     ถ้าหากวันหนึ่ง ไทยใช้กรอบความคิดแบบนี้ นักเขียนไทยร่วมสมัยคนไหนจะได้ปรากฏอยู่ในธนบัตรบาทไทยกันนะ?

     หลังจากอ่านดาต้าและเรื่องราวมากมายเกี่ยวกับบุคคลในธนบัตรไปแล้ว ตั้งแต่ ผู้นำทางการเมือง, นักวิทยาศาสตร์, นักเขียน ก็มาถึงกลุ่มบุคคลสุดท้ายอย่าง ‘ศิลปิน’ 

     เวลาพูดถึงประเทศออสเตรียก็ต้องนึกถึงดนตรีคลาสสิก ตลอดชีวิตเพียงแค่ 35 ปีของ ‘โมซาร์ต’ (Mozart) เขาสร้างสรรค์ผลงานเพลงคลาสสิกจำนวน 600 บทเพลง ยกตัวอย่างเช่นการแต่งเพลง ‘Serenade No.13 in G major’ ในปี 1787 ตอนอายุเพียงแค่ 31 ปี ถึงแม้ว่าชื่อเพลงจะไม่คุ้นหูของคนทั่วไป แต่ถ้าเพลงนี้ถูกเล่นเมื่อไหร่ ทุกคนจะต้องร้อง “อ๋อ” แน่นอน

     ประเทศออสเตรียซึ่งเป็นบ้านเกิดของนักดนตรีอัจฉริยะคนนี้จึงเลือกให้โมซาร์ตอยู่ในธนบัตรมูลค่าสูงที่สุดอย่าง 100 ชิลลิงออสเตรีย (schilling) ที่ปัจจุบันยกเลิกไปแล้วเช่นกัน เพราะออสเตรียเข้าร่วมกับ EU

     ‘กุสตาฟ ไอเฟล’ (Gustave Eiffel) เป็นวิศวกรที่มีผลงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในการออกแบบโครงสร้าง ถึงแม้ว่าตลอดชีวิตของเขาจะออกแบบผลงานแค่ 65 ชิ้น แต่ผลงานชิ้นโบว์แดงอย่างหอไอเฟลก็กลายมาเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศฝรั่งเศส เป็นสถานที่ที่ทุกคนต้องไป ผลงานชิ้นนี้ก็เพียงพอแล้วสำหรับการปรากฏตัวอยู่ในหน้าธนบัตร 2,000 ฟรังก์ฝรั่งเศส

     ถ้าพูดถึงงานศิลปะยุคเรเนอซองส์ (Renaissance) จะขาดเพื่อนรักหักเหลี่ยมกันเองทั้งสามคนนี้ไปไม่ได้ ได้แก่ ‘เลโอนาร์โด ดา วินชี’ (Leonardo da Vinci) ราฟาเอล (Raphael) และ ไมเคิลแองเจโล หรือ มิเคลันเจโล (Michelangelo) ซึ่งทั้งสามคนก็ปรากฏอยู่บนธนบัตรสกุลเงินลีราอิตาลี โดยดา วินชีอยู่ในธนบัตร 50,000 ลีรา และมิเคลันเจโลอยู่ในธนบัตร 10,000 ลีรา ซึ่งธนบัตรของทั้งคู่ถูกใช้ในช่วงปี 1971-1982 ปัจจุบันมีเพียงเพื่อนร่วมยุคอย่างราฟาเอลในธนบัตร 50,000 ลีราที่เริ่มใช้ในปี 2000 เท่านั้นที่ยังคงใช้อยู่จนถึงทุกวันนี้  

     ถึงแม้ว่าจำนวนการสร้างสรรค์ผลงานของศิลปินชาวอิตาเลียนทั้งสามคนนี้จะไม่เท่ากันตามลักษณะของงานที่แตกต่างกันตามความถนัดของแต่ละคน แต่ทุกคนก็มีผลงานที่โดดเด่นในระดับโลก ดา วินชีวาดภาพ ‘โมนา ลิซ่า’ (Mona Lisa) มิเคลันเจโลแกะสลักรูปปั้น ‘เดวิด’ (Statue of David) และราฟาเอลวาดภาพ ‘สำนักแห่งเอเธนส์’ (The School of Athens) จิตรกรรมฝาผนังในวังพระสันตะปาปาในกรุงวาติกัน ซึ่งทั้งสามชิ้นเป็นหนึ่งในผลงานที่โดนที่สุดของแต่ละคนในยุคเรเนอซองส์

     ถ้าหากวันหนึ่ง ไทยใช้กรอบความคิดแบบนี้ ศิลปินคนไหนจะได้ปรากฏอยู่ในธนบัตรบาทไทยกันนะ?

     ประเทศที่ได้รับอิสรภาพจากเจ้าอาณานิคม เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย อาร์เจนตินา เวียดนาม และคิวบาใช้ธนบัตรที่มีวีรบุรุษของชาติตัวเอง 

     ถึงแม้ว่าด้านหน้าของธนบัตรทุกแบบของอังกฤษจะเป็นรูปสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แต่ด้านหลังของธนบัตรก็มีใบหน้าของนักวิทยาศาสตร์ถึงสี่คน แสดงถึงประวัติศาสตร์ที่ยาวนานของประเทศ ปัจจุบันมีนักคณิตศาสตร์ที่ถอดรหัสนาซี และมีส่วนช่วยในการยุติสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างอลัน ทัวริง อยู่ในธนบัตรที่มีมูลค่าสูงที่สุด 

     คนญี่ปุ่นได้ใช้ธนบัตรที่มีใบหน้าของนักเขียนผู้สร้างสรรค์ผลงานที่ทรงคุณค่าให้กับคนญี่ปุ่นในยุคหลัง  

     ก่อนจะเข้าร่วม EU และเปลี่ยนไปใช้สกุลเงินยูโร ฝรั่งเศส เยอรมนี และออสเตรีย เลือกบุคคลที่มีชื่อเสียงของประเทศในสาขาที่แตกต่างกันขึ้นมาอยู่ในธนบัตรที่มีมูลค่าสูงสุด อย่างมารี คูรี, พี่น้องกริมม์ และโมซาร์ต 

     และสุดท้ายสำหรับคนอิตาลีเคยมีธนบัตรที่มีหน้าของบุคคลระดับโลกถึงสี่คนทั้งกาลิเลโอ, เลโอนาร์โด ดา วินชี, มิเคลันเจโล และราฟาเอลที่ยังอยู่ในธนบัตรรุ่นปัจจุบันและมีมูลค่าสูงที่สุด

     แล้วถ้าวันหนึ่ง ไทยมีกรอบความคิดแบบนี้ ใครจะได้ขึ้นมาอยู่บนธนบัตรในสกุลเงินบาทไทยของพวกเรา?  

อ้างอิง 

en.wikipedia.org/wiki/List_of_people_on_banknotes
personal.umich.edu/~jbourj/money.htm
en.wikipedia.org/wiki/Bank_of_England
nationalgeographic.com/history/article/what-can-faces-on-currency-tell-us-about-country
vox.com/2016/4/21/11456180/women-us-money
personal.umich.edu/~jbourj/money.htm