Drive My Car
ภาพยนตร์มากรางวัล ผลงานมาสเตอร์พีซของ ‘ริวสุเกะ ฮามากูชิ’ ว่าด้วยรถ คน และความสัมพันธ์ในชีวิต
เรื่อง: Watchman
ภาพ: ms.midsummer
บทความชิ้นนี้มีการเผยแพร่เนื้อหาของภาพยนตร์
ตอนได้ยินว่า Drive My Car ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ ริวสุเกะ ฮามากูชิ (Ryusuke Hamaguchi) ที่ดัดแปลงจากเรื่องสั้นชื่อเดียวกันในหนังสือ Men Without Women ของนักเขียนชาวญี่ปุ่นชื่อดังอย่าง ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) มีความยาวถึงสามชั่วโมง สารภาพตามตรงว่ารู้สึกเป็นท้อตั้งแต่ยังไม่ได้ดู แม้ใจหนึ่งจะอยากดู แต่ใจหนึ่งก็กลัวหลับคาโรง ไม่ก็สติหลุดไปเสียก่อน เพราะช่วงหลังๆ ผมสมาธิสั้น ดูอะไรไม่ค่อยจบอยู่ด้วย
ถึงอย่างนั้น ผมก็ตัดสินใจดูอยู่ดี ก่อนจะพบว่าผิดคาด เพราะรู้สึกเอนจอยและใจจดใจจ่อกับหนังอย่างบอกไม่ถูก ทั้งยังกระฉับกระเฉงและดวงตาเบิกโพลงแม้จะดูในช่วงเวลาที่ดึกก็ตาม อาจเพราะก่อนหน้านี้ผมเคยเสพงานของฮามากูชิอยู่บ้างเลยรู้จักมักจี่กับรสชาติและสไตล์การกำกับของนายคนนี้ประมาณนึงว่าเป็นผู้กำกับที่ค่อนข้างจะให้ความสำคัญกับการแสดงเรียบๆ จังหวะเรื่อยๆ บทสนทนา และการเล่าด้วยปากเปล่าให้เห็นภาพ
Drive My Car คว้าสามรางวัลจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ รางวัลลูกโลกทองคำ และอีกหลายเวที รวมถึงมีคนเก็งกันว่าจะชนะรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมต่างประเทศในเวทีออสการ์ด้วย แต่ก็ถือเป็นหนังรางวัลที่ดูง่าย มีความสากลไม่กระโตกกระตาก และเป็นเหมือนงานมาสเตอร์พีซของฮามากูชิ จากองค์ประกอบหลายๆ อย่างที่ผมจะมากล่าวให้ฟังพร้อมกับเป็น all the reasons why this movie is so worth watching ในคอลัมน์ POPCONT. ที่จะเขียนถึงหนังป๊อปๆ ดูแบบคอนต์ๆ ไม่กดพอส ณ บัดนาว ด้วยการพาไปรู้จักกับหนังที่มีความยาวราวกับอ่านหนังสือจบหนึ่งเล่มเรื่องนี้ ตั้งใจคัดมาด้วยเหตุผลครึ่งหนึ่งคือหนังดีอยากให้ดู และอีกครึ่งหนึ่งคือคิดว่าเขียนบทความลงเว็บหนังสือก็ต้องมีอะไรสักอย่างเกี่ยวข้องกับหนังสือบ้างสิ แม้ว่าหลังจากนี้อาจจะเกี่ยวบ้างไม่เกี่ยวบ้างก็ตาม
Drive My Car นับว่าเป็นหนังที่มีองค์ประกอบของ ‘เรื่องราว’ กับ ‘เรื่องราวซ้อนเรื่องราว’ แบบอินเซปชั่นที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ขับเคลื่อนด้วยบทสนทนา ห้วงเวลา เซ็กซ์ และการเดินทาง
แต่ก่อนที่จะพูดลงดีเทลไปยังสิ่งเหล่านั้น floor ของมันว่าด้วยเรื่องของ ยูซูเกะ ฮาฟูกุ ชายคนหนึ่งที่เป็นนักแสดงและผู้กำกับละครเวที มีภรรยาแสนสวยแสนดีนามว่า โอโตะ ทั้งคู่อยู่กินฉันสามีภรรยา ซึ่งแน่นอนว่าหากไม่มีความขัดแย้งก็คงจะไม่เกิดเรื่องใดๆ ขึ้น และความขัดแย้งที่ว่าคือยูสุเกะพบภรรยาของเขากำลังบรรเลงเพลงรักกับชายหนุ่มคนอื่นบนโซฟาในห้องของตัวเอง (นี่อาจฟังดูเป็นตัวจุดชนวนให้ความสัมพันธ์พังทลาย แต่ความน่าสนใจคือความสัมพันธ์นี้เพิ่งมาพังหรือพังตั้งแต่เมื่อไหร่กันแน่?)
น่าเสียดายว่าก่อนที่โอโตะจะได้บอกอะไรบางอย่างกับยูซูเกะ เธอดันเสียชีวิต แล้วเรื่องราวก็ตัดไปที่สองปีหลังจากนั้น ยูซูเกะมีโอกาสกำกับ Uncle Vanya (ลุงแวนยา) ละครเวทีระดับอินเตอร์ที่ใช้นักแสดงหลากเชื้อชาติ ดัดแปลงจากละครคลาสสิกของ อันตอน เชคอฟ (Anton Chekhov นักเขียนชาวรัสเซีย) โดยทางเทศกาลมีกฎว่า ระหว่างซ้อมละครเรื่องนี้ ต้องให้หญิงสาวชื่อ มิซากิ วาตาริ มาขับรถให้ เนื่องจากทีมโปรดักชั่นไม่ต้องการให้เกิดอุบัติเหตุหรือเรื่องเสียหายใดๆ กับตัวผู้กำกับซึ่งอาจจะกระทบกับงาน
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวในหนังที่เพิ่งจะขึ้นไตเติลเครดิตบอกแก่คนดูเมื่อหนังดำเนินไป 40 นาทีแล้ว และแน่นอนว่าการทำแบบนี้นั้นมีความหมาย หนังต้องการจะบอกกับคนดูว่าทุกๆ เรื่องราวย่อมมีชื่อเรื่อง ทุกๆ เรื่องราวของชีวิตมักมีเรื่องราวก่อนหน้าเป็น prelude สำหรับบทต่อไปเสมอ
สำหรับ Drive My Car ชีวิตสมรสของยูซูเกะกับโอโตะคือปฐมบท ก่อนที่บทต่อไปจะเกี่ยวกับชายคนเดิม กับรถรุ่น SAAB 900 TURBO สีแดงที่ขับมา 15 ปี กับคนขับรถคนใหม่ และชีวิตของทั้งคู่ต่อจากนั้น
ถึงแม้ Drive My Car จะบอกว่าดัดแปลงจากเรื่องสั้นในชื่อเดียวกัน แต่หนังก็ไม่ได้เที่ยงตรงกับต้นฉบับพอๆ กับที่ภรรยาไม่ได้ซื่อสัตย์และนอกใจนอกกายตัวเอกของเรา
เดิมทีต้นฉบับของเรื่องสั้นนั้นมี 40 หน้า ซึ่งฮามากูชิกับ ทาคามาสะ โอเอะ ร่วมกันดัดแปลงสู่ภาพยนตร์โดยใช้อภิสิทธิ์ของความเป็น adaptation ในการเสริม เติมแต่ง แก้ไข ปรับตามที่ทั้งสองเห็นสมควรว่าสิ่งไหนควรคงไว้หรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เหมาะกับการเล่าเรื่องด้วยภาพ ไม่ว่าจะเป็นสีรถที่ไม่เหมือนในเรื่องสั้น ไดอะล็อกส่วนมาก ไปจนถึงการนำองค์ประกอบสำคัญจากเรื่องสั้นเรื่องอื่นๆ ของมูราคามิที่อยู่ในเล่ม Men Without Women มาผสม อย่างการเล่าเรื่องหลังมีเซ็กซ์ของตัวละคร การเห็นภรรยามีเซ็กซ์กับชายคนอื่นต่อหน้า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นด้วยว่าเข้าท่าที่สุดอย่างการเปลี่ยนโลเคชั่นจากโตเกียวเป็นฮิโรชิมา ทำให้หนังน่าสนใจขึ้นในแง่ของความเป็น road movie เข้ากับธีมของการเริ่มต้นใหม่ และบรรยากาศ ทัศนวิสัยที่ดูโล่งๆ กับความเป็นเมืองที่น้อยกว่าโตเกียวทำให้ยูซูเกะได้มีเวลาคิดคำนึงถึงสิ่งต่างๆ มากขึ้น
Drive My Car จึงเป็นหนังที่ใช้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นในฐานะโครงกับเสาเข็ม ส่วนดีไซน์ของตัวบ้านนั้นออกแบบเอง หาวัสดุเอง รับเหมาสร้างบ้านตัวเอง
ถึงตรงนี้ ผมขอขยายความคำพูดที่กล่าวไปข้างต้นว่านี่คือเรื่องราวที่มี ‘เรื่องราวซ้อนเรื่องราว’ อยู่ในนั้นซ้อนกันหลายเลเยอร์ คือนอกจากชีวิตของยูซูเกะกับภรรยาจะเป็นเรื่องราวชั้นบนแล้ว ยังมีชั้นล่างที่ประกอบไปด้วยเรื่องราวของละครเวที เรื่องที่โอโตะเล่าให้สามีฟังหลังเสร็จสมอารมณ์หมาย เรื่องราวในการกำกับ Uncle Vanya ของยูซูเกะ ไปจนถึงแบ็กกราวนด์ของมิซากิ และเรื่องราวของเพื่อนร่วมงานที่ชื่อ ยุนสุ กับภรรยานักแสดงหญิงผู้เป็นใบ้
นอกจากนี้ ยูซูเกะยังมีกิจวัตรประจำวันคือซ้อมพูดบทละครขณะขับรถ ซึ่งเมื่อมีมิซากิคอยขับให้เขาก็ยังทำสิ่งนี้ต่อไป ด้วยการเปิดเทปซ้อมต่อบทกับเสียงของภรรยาที่เสียชีวิตแล้ว และก็ทำเหมือนมิซากิไม่มีตัวตนอยู่ ซึ่งในหนังสือ บทบาทของมิซากิไม่มีอะไรมาก แต่ฉบับหนังเลือกให้สารถีมีอายุไล่เลี่ยกับลูกสาวของเขา (หากยังมีชีวิตอยู่) แถมยังมีหน้าตาและบทบาทที่ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของยูซูเกะอีกด้วย
ยูซูเกะใช้โอกาสเรื่องที่พักอยู่ไกลกับที่ทำงานในการซ้อมบทแบบนี้เสมอ และการต้องมาต่อบทแบบนี้เป็นอะไรที่ค่อนข้างเสียดแทงใจเขาพอสมควร เพราะนอกจากเสียงที่ทำให้รู้สึกเจ็บในทรวงแล้ว ตัวเนื้อหาและประโยคพูดในบทยังสะท้อนอะไรบางอย่างกลับมายังตัวเขา ตัวโอโตะ การนอกใจของโอโตะ และความสัมพันธ์ของทั้งคู่ด้วย
นี่คือจุดที่บอกว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงห้วงเวลาและความรู้สึกนึกคิดของตัวละคร ซึ่งทุกๆ วินาทีที่เวลาผ่านไป ความสัมพันธ์ระหว่างยูซูเกะกับมิซากิก็ได้พัฒนา ไม่ใช่ในเชิง sexual แต่เป็นในฐานะคนกับคน ไม่ใช่คนกับอากาศ ทั้งคู่ได้คุยกันมากขึ้น และรู้เรื่องราวของกันและกัน สนิทสนม เกิดความไว้วางใจและอุ่นใจที่มีเธอขับให้ถึงแม้ว่ายูสุเกะจะใช้รถคันนี้มา 15 ปีแล้วและชอบที่จะขับเองเสมอก็ตาม
ถึงตรงนี้ก็ได้เวลาพูดถึงเรื่อง ‘รถ’ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของหนังเรื่องนี้ เพราะ Drive My Car ใช้รถเป็นสัญญะในการเชื่อมโยงไปยังความคิดของยูซูเกะได้อย่างคมคาย จะมองว่ารถเป็นชีวิตก็ได้ หรือหากมองในเชิงความสัมพันธ์ รถคันนี้ก็สามารถเปรียบเสมือนตัวแทนของความสัมพันธ์ระหว่างเขากับโอโตะได้ด้วยเช่นกัน
รถ 1 คันจึงแทนได้ถึง 3 สิ่ง
ชีวิตกับความสัมพันธ์ของคนเราก็เหมือนการขับรถ เราต้องวางแผนเดินทาง เราต้องขับอย่างไม่ประมาท เราต้องมองตรง เราต้องจับพวงมาลัยให้มั่น เหนื่อยก็พักจอดได้ น้ำมันหมดก็เติม และคงเป็นเรื่องดีถ้าจะมีใครสักคนมานั่งข้างๆ คอยชวนคุยไม่ให้เหงาหรืออีกคนหนึ่งช่วยดูทางไม่ให้เราหลงหรือเดินทางผิดจากที่หมายปลายทาง
แต่น่าเศร้าที่เมื่อยูซูเกะขับรถคันนี้กลับบ้านเพียงลำพังในช่วงต้นเรื่อง เขากลับพบภรรยากำลังมีสัมพันธ์ทางกายอย่างเร่าร้อนกับชายหนุ่มคนแล้วคนเล่า ต่างจากการมีเซ็กซ์ของเขากับภรรยาที่เมื่อพ้นระยะสายตา ทั้งคู่ต่างก็มีใบหน้าเรียบเฉยราวกับไม่รู้สึกอะไรให้กันอีกแล้วแม้จะกำลังอยู่ระหว่างกิจกรรมอย่างว่าก็ตาม เซ็กซ์ควรเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ดี และมันเคยเป็นเช่นนั้น แต่ทั้งคู่กลับใช้มันเป็นกาวใสเพื่อปกปิดรอยร้าว ซึ่งรอยยังเห็นชัดและดูร้าวลึกแบบโบกปูนโปะก็ยังซ่อมยาก
ในวันที่โอโตะต้องการที่จะพูดอะไรบางอย่างกับยูซูเกะ เขากลับเลือกที่จะออกจากบ้านแล้วถ่วงเวลากลับบ้านให้ช้าที่สุด ซึ่งผลของมันก็คือทั้งเขาและคนดูไม่มีวันรู้ไปตลอดกาลว่าโอโตะกำลังจะพูดอะไร รู้สึกยังไง และมีอะไรอยากบอกกันแน่
หนังทำตรงนี้ให้เราอยากรู้อยากเห็น ด้วยการใช้ความตายของโอโตะทำให้เราเสียดายแทนตัวละครที่อดรู้เรื่องนี้ได้ดี และอดคิดไม่ได้ว่ามันจะเป็นยังไงนะถ้าเขากลับไปทัน มันจะมีอะไรดีขึ้นมั้ย หรือมีอะไรแย่ลงหรือเปล่า แน่นอนว่ายังไงก็ไม่มีวันได้รับคำตอบ มันเป็นไปได้แค่ในจักรวาลคู่ขนาน เพราะในโลกใบนี้เหลือไว้เพียงแต่ความค้างคาเท่านั้น
นอกเหนือจากความสัมพันธ์และชีวิต สิ่งที่รถ SAAB สีแดงคันนี้เป็นตัวแทนชัดที่สุดคือ ‘ความคิด’ ที่อยู่ในหัวของยูซูเกะ เขาชอบใช้เวลากับมัน รักมัน เขาขับมันคนเดียวและไม่เคยไว้ใจใคร รถจึงเปรียบเสมือนอีโก้หรือความเป็นตัวตนของยูซูเกะ การที่เขากลับบ้านช้าแสดงถึงการอยู่ในคอมฟอร์ตโซนของตัวเองที่ไม่ต้องการจะพูดบางเรื่องหรือบ่ายเบี่ยงมันจากความจริงที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ ยูซูเกะเป็นคนจับพวงมาลัยควบคุมมันตลอด
นอกจากรถแล้ว ‘เส้นทาง’ ก็มีส่วนช่วยในการเล่าเรื่อง หนังจะมีการใช้ช็อตซ้ำๆ มุมเดิมๆ เพื่อแสดงให้เห็นว่ายูซูเกะใช้เส้นทางประจำในการเดินทางไปไหนมาไหน ไม่ว่าจะจากบ้านหรือกลับบ้าน เขาใช้เส้นทางเดิม ปลายทางเดิม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเมื่อไปถึงที่นั่นแล้วทุกอย่างจะเป็นเหมือนที่มันเคยเป็น อย่างที่เขาหวังว่ามันจะเป็น และเข้าใจว่ามันจะเป็นเช่นนั้น
ต่อมาหลังจากภรรยาเสียชีวิต เสียงของโอโตะในเทปเป็นเหมือนเสียงของผีในอดีตที่คอยหลอกหลอนและย้ำเตือน ซึ่งเมื่อมีมิซากิเป็นคนขับรถ นั่นเป็นครั้งแรกที่ยูซูเกะได้ลองเปลี่ยนจากที่นั่งคนขับมานั่งที่เบาะหลังและมองภาพรวมของถนนหนทางมากขึ้น เขาผ่อนคลายที่มีคนขับให้ มีเวลาคิดและซ้อมบทอย่างมีสมาธิกว่าเดิม อีกทั้งมิซากิยังทำให้เขาโล่งใจที่มีใครสักคนรับฟังในสิ่งที่เขาอัดอั้นตันใจ
เมื่อมองความหมายของรถในสามด้านแล้วกลับมาพูดถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจริงอีกรอบ จะเห็นภาพเคลียร์ยิ่งขึ้นว่าเรื่องราวทั้งหมดนี้มีความหมายอย่างไร
ทุกอย่างคลายความสงสัยเมื่อหนังเฉลยผ่านการนำตัวละคร โคจิ ทาคัตสึกิ หรือชู้รักคนล่าสุดและคนสุดท้ายของโอโตะมานั่งคุยใน ‘รถ’ กับยูซูเกะ
การเข้ามาในรถและนั่งเบาะหลังด้วยกันนี้ทำให้โคจิได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกับยูสุเกะอย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน เปรียบได้กับการเผชิญหน้าครั้งแรกกับความเป็นจริงอีกฝั่งที่ไม่เคยรู้และไม่ได้อยากรู้ หลังจากที่เขาค้นพบฉากติดตานั้น แต่กลับทำเพิกเฉยเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นมาตลอดราวกับว่า ‘ไม่รู้สึก ไม่นึกถึงก็ไม่เจ็บ’
ในที่สุดเราก็จะได้รู้ว่าโคจิไม่ใช่ชู้คนแรกของโอโตะแต่มีชายคนแล้วคนเล่าวนเวียนมาที่รังรักของเขากับภรรยาแห่งนั้น โคจิช็อกไม่น้อยที่ตัวเองเป็นหนึ่งในเครื่องบำบัดความต้องการที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษ พอๆ กับยูซูเกะเองก็ช็อกหลังจากได้รู้ว่าเรื่องราวของเด็กหญิงที่ชาติก่อนเป็นปลาไหลทะเลที่โอโตะเล่าให้เขาฟังหลังมีเซ็กซ์ โคจิรู้เรื่องราวของเรื่องนี้มากกว่าเขา ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่าหากโอโตะไม่ได้จากไปก่อน เรื่องนี้จะดำเนินไปถึงไหน และจะมีหนุ่มคนใดอีกที่จะได้รับรู้เรื่องราวต่อจากนี้ หรือเรื่องใหม่ที่ทั้งสองคนไม่มีวันได้ฟัง?
ยูซูเกะสารภาพออกมาตรงๆ ว่าเขาจงใจที่จะมองข้ามเรื่องนี้ เพราะเขาไม่อยากให้มีอะไรเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์อันดีกับความรักที่เขามั่นอกมั่นใจว่าโอโตะมีให้เขา พอๆ กับที่ยูซูเกะคิดว่ารถ 15 ปีคันนี้ของเขาใช้งานได้ดีและไม่เคยปีปัญหา เขาขับได้ แม้กระทั่งเป็นโรคต้อหินที่จะไปบดบังทัศนวิสัยในการขับรถก็ตาม
ประโยคที่โคจิพูดแล้วยูซูเกะต้องจุกอกเป็นที่สุดคือ “เมื่อคุณต้องการรู้จักหรือเข้าใจใคร ให้คุณมองไปที่ข้างในตัวเอง” นั่นคือช่วงเวลาที่ยูซูเกะตระหนักว่าเขาหลอกตัวเองมาตลอดและมันไม่มีประโยชน์ ถ้ารถของความสัมพันธ์นี้มันพังแล้วก็ควรหยุดขับ ไม่ควรดันทุรังไปต่อ (แม้ในความเป็นจริงมันจะไม่ได้พังก็เถอะ) แต่ใครจะรู้ว่าหากทั้งคู่คุยกันและไม่ปล่อยให้ดำเนินมาถึงจุดนี้มันอาจจะมีอะไรดีขึ้นมาก็ได้
ยูซูเกะเชื่อมาตลอดว่าการเสียลูกไปจากโรคปอดเป็นจุดสิ้นสุดของความสุข และเซ็กซ์เป็นสิ่งที่ทำให้ทุกอย่างดีขึ้นและดีตลอดมา แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าความสัมพันธ์หนึ่งๆ ต้องให้ความสำคัญกับทั้งสองส่วน ฉะนั้นการที่โอโตะมีเซ็กซ์กับคนอื่นไม่ได้หมายความว่าเธอรักชายคนนั้น แต่อาจเพื่อบำบัดความต้องการ ลิ้มรสสิ่งแปลกใหม่ และคลายความ dead inside ของเธอ ในขณะที่การมีเซ็กซ์ของยูซูเกะกับโอโตะก็ไม่ได้เป็นสิ่งการันตีว่าทั้งคู่กำลังรักกันอยู่
ตัวละครยุนสุกับภรรยาชาวเกาหลีที่เป็นใบ้ถูกใส่มาเพื่อบอกยูซูเกะว่า ความรักที่ดีคือความรักที่ต้องสื่อสารกัน ตรงนี้เป็นเมสเซจที่ดีมาก แม้จะต่างภาษาและมีข้อบกพร่องทางการสื่อสาร ความสัมพันธ์ก็สามารถเวิร์กได้หากทั้งคู่เข้าใจตรงกัน รู้ความต้องการกันและกันว่าอีกคนต้องการอะไร และพยายามที่จะเข้าหากันด้วยวิธีที่คนทั้งสองในความสัมพันธ์นั้นต้องการ
ส่วนการเป็นผู้กำกับละครเวทีของยูซูเกะก็เป็นการบ่งบอกว่าเขาอาจเป็นผู้กำกับที่ยอดเยี่ยม แต่เป็นเรื่องแย่สำหรับเขาที่ไม่สามารถกำกับความสัมพันธ์ให้เป็นไปดังที่ต้องการได้เลย
ท้ายที่สุด หนังมาจบลงที่ยูซูเกะกับมิซากิโอบกอดกันและกันท่ามกลางหิมะ เป็นเรื่องน่าประทับใจที่ในวันหนาวเหน็บและอดีตมาทำร้าย ยังมีคนคอยรับฟังและโอบกอดกันโดยที่ไม่เกี่ยวกับสถานะหรือความรู้สึกเชิงรักๆ ใคร่ๆ แต่เป็นในเชิงเพื่อนร่วมทาง
การที่ยูซูเกะมอบรถให้กับมิซากิในตอนท้ายจึงสอดคล้องกับชื่อเรื่องได้เป็นอย่างดี
เพราะ ‘Drive My Car’ ไม่ได้หมายความว่าให้คนอื่นขับรถให้ แต่เป็นการบอกให้มิซากิ ‘Drive My Car’ ได้เลย
สำหรับยูซูเกะ เขาได้ทิ้งอดีต (รถคันนี้) ไปแล้ว ซึ่งเขาจะไปซื้อรถคันใหม่ที่แสดงถึงการเริ่มต้นใหม่ หรือขึ้นรถสาธารณะที่แสดงถึงการปล่อยวางชีวิตและความหนักหน่วงที่ต้องขับเองก็ไม่อาจรู้ได้ แต่สิ่งที่รู้คือเขาพร้อมที่จะเดินไปข้างหน้า และเช่นเดียวกัน สำหรับมิซากิ รถ SAAB สีแดงคันนี้เป็นรถคันใหม่ของเธอ เธอเองก็ได้เติบโต ไม่เสียดาย ไม่เสียใจ ไม่จมกับอดีตที่ไม่สามารถแก้ไขได้อีกต่อไป
แม้ว่า Drive My Car จะมีความยาวถึงสามชั่วโมง แต่นี่ก็ไม่ใช่หนัง slow-burn ที่ค่อยๆ เล่นกับอารมณ์ของคนดู เพราะมีไดนามิกให้เรารู้สึกติดตามไปกับมันได้ตลอดเวลา ทำให้เวลาสามชั่วโมงผ่านไปไวเหมือนโกหก ส่วนบทสนทนาแม้จะยาวและมีจังหวะถ่ายแช่หรือเน้นพูดเล่าเรื่องราว ก็กลับทำให้เห็นภาพจากเรื่องเล่านั้นได้อย่างชัดเจน
และเช่นเดียวกับที่ฮิโรชิมาเป็นที่ที่ยูซูเกะได้คิดคำนึงถึงความสัมพันธ์ของตัวเอง การดูหนังเรื่องนี้ก็เปรียบเสมือนการได้นั่งเบาะหลัง SAAB 900 TURBO แล้วได้สังเกตรายละเอียดและวิวในฮิโรชิมา ไปพร้อมๆ กับมีเวลานั่งคิดอะไรต่างๆ เหมือนกับยูซูเกะ