Wed 02 Nov 2022

PREPAYMENT RISK

ความเสี่ยงของการจ่ายเงินก่อนคือการไม่ได้รับอะไรกลับคืนมา

ภาพ: NJORVKS

     ผมเป็นคนชอบดูสารคดีเป็นพิเศษ

     เพราะทุกครั้งที่ดู หัวของผมจะเตือนเสมอว่านี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นจริง นั่นยิ่งทำให้เรื่องราวทรงพลังอย่างมาก และสารคดีเรื่องหนึ่งที่ขึ้นหิ้งในดวงใจของผมตลอดกาลคือ Fyre: The Greatest Party That Never Happened สารคดีว่าด้วยการปาหี่ครั้งใหญ่ของโลกที่ฉายทาง Netflix

     สารคดีบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับ บิลลี แม็คฟาร์แลนด์ (Billy McFarland) นักธุรกิจสตาร์ทอัพชื่อดังที่เริ่มต้นจากการทำแอพพลิเคชั่นหาคู่ บิลลีเป็นนักธุรกิจแบบสมัยนิยม หน้าตาดี บุคลิกภาพเนี้ยบ พูดจาน่าเชื่อถือ และอยู่ในแวดวงชั้นสูง 

     บิลลีกับเพื่อนวางแผนสร้างธุรกิจที่สามารถระดมเงินจากนักลงทุนระดับมโหฬาร จึงคิดจัดงานเปิดตัวแอพ Fyre ให้ยิ่งใหญ่จนกลายเป็นที่จดจำในชั่วข้ามคืน ความคิดหนึ่งที่ถูกเสนอในที่ประชุมก็คือ ‘งานเทศกาลดนตรีสุดยิ่งใหญ่ริมทะเล’ 

     และนี่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง 

     บิลลีจัดแผนโปรโมตสุดยิ่งใหญ่ ระดมดารา เซเลบ และเน็ตไอดอลมาช่วยกันโฆษณา บิลลีขายบัตรและได้เงินไปมหาศาล—แต่งานเทศกาลดนตรีที่ว่าไม่เคยเกิดขึ้นจริง

     บิลลีลอยแพทุกคนไว้ที่เกาะร้างห่างไกลแถบบาฮามาส คนจำนวนมากแห่แหนไปที่นั่นเพื่อพบกับความว่างเปล่า เที่ยวบินก็มีไม่เพียงพอให้คนเดินทางกลับ ที่พักไม่มีให้อยู่ แม้แต่เต็นท์ราคาถูกยังหายาก อาหารมีค่าราวกับทองคำ ซ้ำร้ายคือบิลลีไม่ได้หักหลังแค่คนที่ไปดูคอนเสิร์ต แต่เขาหักหลังทุกคน ซัพพลายเออร์จำนวนมากทุ่มเงินมหาศาลกับงานนี้ ทั้งฝ่ายสถานที่ ฝ่ายอาหาร ฝ่ายสวัสดิการ หากว่าไม่มีใครได้เงินเลยสักคน 

     Fyre เป็นตัวอย่างอันดีของธุรกิจที่ลูกค้าต้อง ‘จ่ายก่อน รับของทีหลัง’

     หากจะพูดให้ถูกในสองแง่มุมคือ ธุรกิจนี้เป็นธุรกิจที่ยอดเยี่ยมมากสำหรับคนทำธุรกิจ แต่ไม่น่าจะเป็นธุรกิจที่ดีเท่าไหร่สำหรับลูกค้า เพราะเมื่อลูกค้าจำเป็นต้องจ่ายเงินก่อนที่จะได้รับสินค้าหรือบริการ นั่นก็แปลว่ามีโอกาสเหมือนกันที่ลูกค้าจะถูกลอยแพหรือเบี้ยวไปเสียเฉยๆ

     ตัวอย่างที่น่าสนใจในธุรกิจนี้ ได้แก่ ธุรกิจสายการบิน ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจจัดแสดงมหรสพ ธุรกิจโรงแรม หรือธุรกิจที่ต้องวางเงินมัดจำสูง เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย เป็นต้น 

     ธุรกิจแบบนี้มีลักษณะร่วมคล้ายกัน คือลูกค้าต้องจ่ายเงินสดก่อนได้รับสินค้าหรือบริการ ยิ่งจ่ายล่วงหน้านานเท่าไหร่ ยิ่งเป็นประโยชน์ต่อบริษัทมาก และยิ่งเป็นความเสี่ยงของลูกค้าเช่นกัน 

     ลูกค้ามีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับสินค้าหรือบริการตามตกลง หรือหากได้รับก็อาจไม่ได้ตามมาตรฐานที่สมควร ยกตัวอย่างสายการบินที่ประสบวิกฤตการเงินช่วงโควิด-19 ลูกค้าจำนวนมากไม่สามารถขอเงินค่าจองตั๋วเครื่องบินคืนได้ หรืออย่างบริษัทประกันภัยหลายแห่งก็ล้มละลายกลางวิกฤต อย่าว่าแต่คืนทุนประกันชดเชยจากการครอบคลุมตามกรมธรรม์ แม้แต่เบี้ยประกันที่ส่งไปก็ไม่มีทีท่าจะได้คืน

     ลูกค้าหรือซัพพลายเออร์ที่จะทำธุรกรรมกับบริษัทกลุ่มนี้จึงต้องดู ‘ความน่าเชื่อถือ’ ของบริษัทให้มากๆ อย่างการทำประกันภัย ทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย ผมจะเน้นย้ำเสมอว่าให้เลือกบริษัทประกันที่น่าเชื่อถือ อาจเคยผ่านวิกฤตเศรษฐกิจในอดีตมาได้ หากเป็นไปได้ก็ควรเป็นบริษัทลูกของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพื่อความปลอดภัยและน่าเชื่อถือว่าจะมีสายป่านยาวพอ

     อีกกลุ่มธุรกิจที่จ่ายก่อนได้ของทีหลังก็คืองานรับเหมาก่อสร้าง หากใครเคยมีประสบการณ์มาบ้างจะทราบว่า บริษัทเหล่านี้ต้องทำสัญญาและเบิกเงินก้อนแรกไปซื้อวัสดุอุปกรณ์ ปรากฎการณ์ ‘ช่างหาย’ ไม่ใช่เรื่องแปลกเลยในวงการอสังหาริมทรัพย์ เบิกเงินไปแล้วชิ่งบ้าง เบิกเงินไปแล้วทำงานไม่ได้ตามสัญญาบ้าง ปัญหาเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดอ่อนอีกอย่างของธุรกิจที่ต้องมีการสร้างอสังหาริมทรัพย์บ่อยๆ เช่น ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจห้างสรรพสินค้า หรือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เช่าหรือจำหน่าย

     ย้อนกลับมามองในอีกแง่หนึ่ง บริษัทที่ได้เงินมากอดไว้ก่อนก็ใช่ว่าจะมีแต่ข้อดีเสมอไป เพราะบริษัทที่รับเงินมาก่อนมักจะตีมูลค่าสินค้าและบริการจากวันที่ทำสัญญาหรือวันที่รับเงินเป็นหลัก นั่นหมายความว่าหากเวลาผ่านไปแล้ว เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ทำให้มูลค่าของสินค้าและบริการเปลี่ยนไป บริษัทก็อาจจะขาดทุนเละเทะได้

     ยกตัวอย่าง ธุรกิจสายการบินที่ขายตั๋วล่วงหน้านานๆ ถ้าเวลาผ่านไปแล้วราคาน้ำมันพุ่งขึ้นสูงมาก ไตรมาสนั้นก็เตรียมตัวขาดทุนได้เลย เพราะราคาตั๋วที่ขายไปแล้ว คิดจากราคาน้ำมันอ้างอิงเดิม 

     หรือธุรกิจประกันภัยที่คิดค่าความเสี่ยงจากตอนขายกรมธรรม์ เมื่อเวลาผ่านไป อุบัติการณ์ของความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น โควิด-19 ที่แพร่ระบาดรุนแรงเกินคาด นั่นทำให้บริษัทประกันภัยที่ขาย ‘เจอ-จ่าย-จบ’ ต้องจบชีวิตธุรกิจลงได้เหมือนกัน

     การจะทำธุรกรรมหรือซื้อสินค้าและบริการจากบริษัทเหล่านี้ เราจึงต้องเข้าใจสถานะทางการเงินของบริษัทให้ดีว่าน่าเชื่อถือพอหรือไม่ บริษัทเหล่านี้จะนำเงินของเราหนีหายเข้ากลีบเมฆไปไหม แล้วจะส่งมอบสินค้าและบริการได้ตามเงื่อนไขหรือเปล่า

     แต่ถ้ามองในมุมนักลงทุน เราก็ต้องอ่านให้ขาดว่าบริษัทเหล่านี้เอาเงินสดจำนวนมากมาบริหารอย่างมีประสิทธิภาพหรือเปล่า อย่างบริษัทประกันที่มักจะมีเงินมากองอยู่เยอะๆ ก็ต้องสำรวจดูว่าบริษัทเอาไปลงทุนอะไร หรือบริษัทที่ได้เงินมาเก็บไว้มากๆ อย่างสายการบิน เราต้องตั้งคำถามกลับกันว่า หากวันหนึ่งเงินไม่ไหลเข้ามาเยอะๆ แบบนี้ เช่น เกิดสถานการณ์ที่ทำให้การเดินทางลดลงอย่างมาก บริษัทจะยังมีสภาพคล่องพอจะเอาชีวิตรอดได้ไหม

     Fyre: The Greatest Party That Never Happened จึงเป็นสารคดีที่ทำให้ผมสนใจธุรกิจที่มีเงินสดหมุนเวียนอยู่มาก ธุรกิจเหล่านี้สามารถหลอกลวงและนำมาซึ่งการทุจริตได้ง่ายมาก เพราะมีลักษณะที่เอื้อให้ทำได้ง่ายอยู่แล้ว บริษัทอาจจะยอมส่งมอบสินค้าและบริการจริงให้ลูกค้าตายใจก่อน พอถึงเวลาที่สะสมเงินได้ก้อนใหญ่มากๆ ก็คว้าเงินทั้งหมดแล้วหนีหายไป

     เรา—ไม่ว่าจะในฐานะไหน ลูกค้า นักลงทุน หรือคนที่จะร่วมทำธุรกิจด้วย—จึงจำเป็นต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของบริษัทที่เราจะไปเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ยิ่งเป็นธุรกิจที่ต้องลงเงินไปก่อนแล้วได้ของทีหลังแบบนี้ยิ่งต้องระวังให้มาก อย่างหลายกรณีที่เกิดขึ้นในไทยก่อนหน้านี้ เช่น เปิดขายบัตรคอนเสิร์ตก่อนจะล้มโปรเจกต์แล้วไม่คืนเงิน

     สารคดีเรื่องนี้จึงบอกกับเรากลายๆ ว่า ครั้งหน้าก่อนจะควักเงินให้ใคร คิดแล้วคิดอีกให้มากๆ อ้อยเข้าปากช้างเมื่อไหร่ ช้างส่วนมากจะหนีไป ยอมติดคุก ยอมเป็นจำเลยสังคมเลยก็ได้ …แต่ไม่ยอมคายอ้อยคืน