IMAGES OF DISAPPEARING TEXTS
ชวนอ่านความหมายของภาพถ่าย ที่ต่อให้เป็นแค่กระดาษขาว แต่ก็มีนัยมหาศาล
เรื่อง: วิทิต จันทามฤต
ภาพ: NJORVKS
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ได้มีผู้รวบรวมภาพถ่ายป้ายผู้ประท้วงจากหลายกิจกรรมที่เกิดขึ้นตลอดหลายเดือนที่ผ่านมา ไว้ในแอ็กเคานต์ชื่อว่า messageofprotesters
ชุดภาพถ่ายเหล่านี้สะท้อนความคิดเห็นของบุคคลนิรนามในภาพถ่ายและช่างภาพนิรนามได้อย่างชัดเจน หลายภาพถูกเน้นย้ำ ขีดเส้นใต้ให้ข้อความด้วยไวยากรณ์ของภาพถ่าย แสงแฟลชที่สะท้อนกระดาษขาวให้สว่างวาบในความมืด ขีดเส้นใต้วัตถุตรงหน้าเลนส์เอาไว้ ยั่วยุและล่อให้ตาเราต้องเพ่งมอง
ยกตัวอย่างเช่นภาพถ่ายป้ายข้อความ “WHERE IS DEMOCRACY” บนกระดาษสีขาว
เราเห็นแค่มือและรูปทรงของอนุสาวรีย์ที่ทุกคนคงรู้จักดี ซึ่งหากอ่านความหมายให้มากกว่าถ้อยคำที่อยู่ในป้าย ก็จะพบว่าเราไม่เห็น ‘พานรัฐธรรมนูญ’ อันเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ประชาธิปไตย อยู่ในภาพของการชูป้ายที่หน้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แม้แต่ใบหน้าของผู้ชูป้าย เราก็ไม่เห็น
ถ้าอย่างนั้นความสำคัญของเหตุการณ์ในภาพคืออะไร?
หากสถานการณ์สงบสุข ป้ายและข้อความตั้งคำถามจะออกมาแสดงอยู่ตรงนั้นไหม?
การเรียกร้องและถามหาตามข้อความในป้ายเกิดขึ้นในบริบทใด ณ เวลาที่ภาพนั้นถูกบันทึก
ไม่แปลกเลยที่เราจะได้เห็นกระดาษและข้อความต่างๆ ที่ผู้ร่วมชุมนุมคิดสร้าง ประกอบคำ เข้ารหัสเพื่อสะท้อนถึงความในใจอันอยากจะตะโกนออกไปในการประท้วงตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 (ก่อนที่การชุมนุมตั้งแต่ต้นเดือนกันยายนจะทะลุเพดาน หลายข้อความได้เปลี่ยนไปสู่คำพูดและขยายเสียงออกไปจริงๆ)
เหล่าผู้ชุมนุมตั้งใจและต่างรู้ดีว่าข้อความเหล่านี้จะมีพลังยิ่งขึ้นเมื่อมันถูกแปลงไปสู่ภาพถ่าย ในฐานะเครื่องมือช่วยเผยแพร่สาร เมื่อความคิดเห็นและการแสดงออกถูกบันทึกภาพ เมื่อข้อความประท้วงเปลี่ยนสภาพไปสู่แฮชแท็กในโซเชียลมีเดียที่กระบวนการพิมพ์แล้วโพสต์ แชะแล้วแชร์ ยังทำงานได้อย่างต่อเนื่อง และกลับไปกลับมาจากอินเทอร์เน็ตสู่โลกจริงอย่างไม่หยุดหย่อน ถึงแม้ว่าจะถูกตรวจสอบและห้ามมิให้เข้าถึงได้บ้างภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง หรือ พ.ร.บ.ควบคุมคอมพิวเตอร์ แต่ก็ไม่สามารถปิดกั้นการเผยแผร่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์อีกต่อไป นอกเสียจากว่าการชุมนุมโดยสันติจะถูกเจ้าหน้าที่มาขัดขวางการแสดงออกทางความคิดเห็น หรือป้ายผ้าถูกยึด และถูกทำให้หายไปเสียก่อน
ลองสมมติว่าเราอยู่ในยุคของการประท้วงก่อนการเกิดขึ้นของกล้องดิจิทัลและระบบโซเชียลมีเดีย กว่าหนึ่งภาพเหตุการณ์จะปรากฏให้ผู้ชมเห็นอาจจะต้องใช้เวลากว่าครึ่งวัน และมีขอบเขตผู้ชมจำนวนน้อยกว่าอย่างเทียบไม่ได้เลย ดังนั้น หากการแสดงความคิดเห็นทำได้สำเร็จ และเผยแพร่ออกไปด้วยภาพหรือทางสื่อออนไลน์ได้แล้ว สิ่งนั้นก็ย่อมจุดติดความคิด ปลูกฝัง เปลี่ยนแปลง หรือตั้งคำถามอะไรบางอย่างกับผู้ชม ก่อให้เกิดการวิพากษ์ตามมาได้อย่างรวดเร็วขึ้นแน่นอน
ก่อนหน้าการชุมนุมในประเทศไทย เราได้เห็นภาพการชุมนุมฝ่ายเรียกร้องประชาธิปไตยจากประเทศฮ่องกงกันมาสักพักแล้ว ซึ่งการแสดงออกถึงจุดยืนทางความคิดและอุดมการณ์ผ่านป้ายข้อความกับตัวอักษรก็ถูกใช้เช่นกัน แต่ทว่าในวันที่ 6 กรกฎาคม 2563 กลุ่มผู้ชุมนุมที่ประเทศฮ่องกงได้ชูกระดาษเปล่าสีขาวจำนวน 8 ใบ แทนคำในภาษาจีนที่ว่า ‘Liberate Hong Kong; revolution of our times’ ซึ่งเป็นอุดมการณ์หลักของการประท้วง แต่กลายเป็นข้อความที่ขัดกับหลักกฎหมายความมั่นคงแห่งฮ่องกงที่ออกโดยรัฐบาลจีน จึงทำให้ไม่สามารถแสดงออกในที่สาธารณะได้อีก และเมื่อมีกฎหมายออกมาจับกุมผู้ที่ต่อต้านความมั่นคงของรัฐ ผู้ชุมนุมก็ต้องหาช่องทางและวิธีการใหม่ๆ ในการยืนยันถึงอุดมการณ์ที่ตัวเองมี
เมื่อข้อความเหล่านั้นเริ่มย้อนกลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวผู้ส่งสาร ทำให้ตกอยู่ในอันตราย ทั้งทางกฎหมายหรือความปลอดภัยส่วนบุคคล ข้อความที่อยู่ในกรอบกระดาษก็ได้อันตรธานหายไป เหลือไว้แต่การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ตามภาพ โดยเป็นความตั้งใจของผู้ส่งสารเอง ที่ถึงจะไม่มีถ้อยคำแล้ว ความเข้าใจในข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและจุดยืนของกลุ่มเรียกร้องประชาธิปไตยก็ได้ก่อรูปร่างอย่างชัดเจนแล้วในจิตใจของผู้เห็นภาพหลายคน
วิธีการแสดงออกทางสัญลัษณ์ดังกล่าวถูกนำมาใช้ในประเทศไทยเช่นกัน
เที่ยงวันของวันที่ 31 กรกฎาคม ภาพของผู้ชุมนุมกับกระดาษสีขาวที่กลางสี่แยกปทุมวันปรากฏเป็นข่าว เราไม่เห็นข้อความใดๆ เลยในกระดาษ จำนวนของกระดาษทั้งหมดไม่ถูกระบุในภาพ แต่เราเห็นขอบของกระดาษทั้งสามแผ่นเลยล้นออกไปจากขอบเฟรมของภาพถ่าย แสดงถึงขนาดของกระดาษที่มีแผ่นใหญ่กว่าปกติชนิดที่สามารถบรรจุข้อความต่างๆ ได้มากมาย
เราเห็นแววตาของชายใส่แว่น ศีรษะที่แหงนขึ้น ดวงตากร้าวสู้แสงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน ที่ส่องตรงลงบนใบหน้า ด้วยมุมมองจากกล้องเสยขึ้นเล็กน้อย และท่าทางที่ส่งเสริมการแสดงออกของเขาในวันนั้น ยิ่งแสดงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าต่อสิ่งที่เขากำลังทำอยู่
ไม่กี่วันหลังจากภาพชายถือกระดาษสีขาวที่แยกปทุมวัน กิจกรรมในรูปแบบดังกล่าวก็ถูกขยายวงกว้างไปสู่หลายแห่งทั่วประเทศ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งเมื่อเราลองป้อนคำค้นในเสิร์ชเอนจินว่า ‘ชูกระดาษขาว’ เราจะพบภาพกิจกรรมที่ส่วนมากมีฉากหลังเป็นโรงเรียนและมีนักเรียนในเครื่องแบบเป็นผู้ประกอบกิจกรรม
น่าสนใจว่านักเรียนกับเฟรมเปล่าของกระดาษสีขาวมาปรากฏอยู่ในชุดภาพถ่ายผู้ชุมนุมของปี 2563 ได้อย่างไร? กระดาษที่เว้นว่างไว้ ไม่ใช่ว่าไม่อาจเติมข้อความที่พวกเขาอยากจะระบายออก แต่ความว่างเปล่าในกระดาษอาจหมายถึงอนาคตข้างหน้าที่เด็กนักเรียนเหล่านั้นไม่อาจวาดฝันได้ หากไม่ออกมาแสดงจุดยืนและยื่นข้อเรียกร้องต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เป็นอยู่เช่นนี้
ภาพของสมศักดิ์ เนตรทอง ช่างภาพสื่อมวลชนอีกท่านที่อยู่ในเหตุการณ์ ‘แค่กระดาษใจจะขาดหรือ’ แสดงให้เห็นอะไรบางอย่างที่อ่านและตีความจากภาพถ่ายได้
ภาพเด็กนักเรียนในเครื่องแบบกับกระดาษสีขาวที่หน้าเสาธง ด้วยมุมกล้องที่กดลงเล็กน้อย หัวของเด็กชายที่วางหน้าผากลงบนด้านหลังของกระดาษ นักเรียนหญิงที่กำลังกระซิบอะไรบางอย่างกับเพื่อนของเธอ เราเห็นหูของเด็กอีกคนจากด้านท้ายทอยและกระดาษด้านหลังที่ไม่มีข้อความเช่นกัน
กล้องที่กดต่ำลงไปยังเด็กนักเรียน อาจไม่ได้แทนสายตาของช่างภาพเพียงคนเดียว แต่อาจแสดงถึงสายตาของคุณครู เจ้าหน้าที่ หรืออำนาจที่มองจากที่สูง ซึ่งกดทับและเพ่งเล็งไปยังเด็กชาย-หญิงแต่ละคน
หากว่าใบหน้าของเด็กเหล่านี้ปรากฏบนสื่อออนไลน์ในเย็นวันนั้นหรือบนหนังสือพิมพ์ในเช้าวันรุ่งขึ้น ไม่มีใครกล้ารับประกันความปลอดภัยได้เลยว่าเด็กๆ จะไม่ถูกผู้ปกครองตำหนิด้วยการแสดงออกความคิดเห็นที่แตกต่าง จะไม่ถูกทำร้าย ไล่ออกจากบ้าน หรือเด็กๆ จะไม่โดนอำนาจในโรงเรียน กดดัน หรือถูกดำเนินคดี
เหตุการณ์ประท้วงตลอดปี 2563 มีการพูดถึงประเด็นสำคัญหลายๆ ประเด็น ที่กว้างขวาง และลึกซึ้งอย่างที่เราไม่เคยพบในการชุมนุมไหนๆ มาก่อน รวมถึงประเด็นการรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 ก็ถูกยกกลับมาพูดถึงด้วยเช่นกันหลังจากแกนนำและประชาชนจำนวนมากถูกฟ้องร้องในข้อหานี้ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวก็ต่อเนื่องมาถึงในปีนี้ อย่างเมื่อวันเสาร์ที่ 16 มกราคม 2564 ก็มีการจัดกิจกรรมเขียนป้ายผ้ายาว 112 เมตรที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยโดยกลุ่มการ์ดปลดแอก
กิจกรรมนี้เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่มุ่งเน้นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อรณรงค์ให้ยกเลิกกฎหมายมาตราดังกล่าว แต่ทว่าเหตุการณ์เริ่มได้ไม่นาน ประชาชนยังเขียนข้อความไม่ได้เต็มผืน ก็ถูกกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ายึดป้ายผ้า และจับกุมด้วยอ้างว่ากระทำผิดกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ
ภาพถ่ายของกิจกรรม ภาพถ่ายของข้อความต่างๆ หลุดรอดออกมาให้เห็นในสื่อน้อยมาก ซึ่งอาจพูดได้ว่านี่เป็นอีกครั้งที่การแสดงออกของประชาชนถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาขัดขวาง ข้อความทั้งหลายถูกทำให้หายไป ป้ายผ้าถูกอุ้มขึ้นรถกระบะ เป็นการบังคับสูญหายต่อความคิดเห็นและการแสดงออกของของประชาชนที่ถูกอุ้มหายไปในเวลากลางวันและกลางเมืองหลวงของประเทศไทย (แต่เราสามารถกลับเข้าไปดูภาพได้ใน archive ของเฟซบุ๊กด้วยแฮชแท็ก #ม็อบ16มกรา)
เป็นที่น่าแปลกใจว่าหากเป็นการประท้วงด้วยเหตุผลอื่น รณรงค์เขียนข้อความว่าด้วยเรื่องๆ อื่น การชุมนุมจะสามารถดำเนินต่อไปได้หรือไม่
บางทีเราอาจเริ่มตั้งข้อสังเกตจากภาพที่ปรากฏได้แล้วว่า ในความไม่ปลอดภัยของการชุมนุม เรากำลังกลัวอะไรอยู่กันแน่?
เรากลัวการระบาดของโรคติดต่อและต้องบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการควบคุมโรคตามที่เขาอ้างกัน หรือจริงๆ แล้วเรากำลังถูกควบคุมไม่ให้แสดงออกทางความคิดเห็น มิให้มีการเผยแพร่และทำซ้ำข้อความที่รัฐไม่อยากให้เผยแพร่กันแน่
ถ้าการแสดงออกของเด็กนักเรียน นักศึกษา และประชาชนยังไม่ปลอดภัย ต่อให้จะมีจำนวนกระดาษเปล่ามากมายเท่าไหร่ มีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องไปทั้งปี ก็คงไม่พอที่จะแสดงความรู้สึกของแนวร่วมที่เรียกร้องประชาธิปไตยได้
จากการไล่ดูภาพของช่างภาพพลเมืองคนหนึ่ง ผมพบประโยคหนึ่งที่อาจตอบแทนเหตุการณ์เหล่านี้ไว้แล้ว
ในภาพเราจะเห็น ‘มือที่ไร้ชื่อ’ และ ‘ลายมือนิรนาม’ ที่บอกถึงเหตุของความกลัวที่เกิดขึ้นอยู่
ภาพนี้ถูกโพสต์ลงเป็นโพสต์แรกของแอ็กเคานต์ messageofprotesters ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 วันที่มีการปราศรัยกันที่ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จนทำให้ประชาชนหกคนถูกหมายจับอย่างต่อเนื่องในเวลาต่อมา
ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ก็ยังเกิดขึ้น และวนซ้ำจนถึงปัจจุบัน
* บทความนี้เขียนขึ้นเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2563 และปรับปรุงข้อมูลเมื่อ 17 มกราคม 2564
อ้างอิง:
Instagram from messageofprotesters. (2020) https://www.instagram.com/messageofprotesters/
‘เมื่อความเงียบเสียงดังกว่าคำพูด’ ผู้ชุมนุมในฮ่องกงใช้วิธีถือป้าย-กระดาษเปล่าประท้วงแทน หลังมีกฎหมายความมั่นคง. (2020) https://thematter.co/brief/brief-1595322002/118184
‘ชูกระดาษเปล่า’ กลางสกายวอล์ก มศว คนรุ่นเปลี่ยน จัดกิจกรรมยื่น 3 ข้อเรียกร้องรัฐบาล. (2020) https://thestandard.co/person-holding-blank-paper-political-rally/
เกียมอุดมจัด!! ‘แค่กระดาษใจจะขาดหรือ’. (2020) https://www.facebook.com/PPTVHD36/posts/4679117885439287
#ม็อบ16มกรา from facebook (2020) https://www.facebook.com/hashtag/ม็อบ16มกรา